เปิดคำถามประชามติโดยประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ สสร. เลือกตั้ง 100%

Question_ConforAll
ในการทำประชามติ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การไปออกเสียงประชามติก็คือ “คำถาม” ที่จะให้ประชาชนไปออกเสียงว่าจะเป็นเช่นใด 
เพราะเมื่อประชาชนเดินเข้าคูหา จะมีทางเลือกเพียง “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” กับทั้งคำถามเท่านั้น หากคำถามประชามติมีลักษณะที่กว้างเกินไป และประชาชนลงคะแนนเห็นชอบ ก็อาจจะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐสภาที่ประกอบด้วย สส. และ สว. กำหนดเงื่อนไขบางประการที่จะเข้ามาควบคุมที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หรือเนื้อหาของรัฐธรรมนูญใหม่ได้ภายหลัง
แต่หากคำถามแคบเกินไป หรือมีเงื่อนไขเยอะเกินไปแล้วประชาชนลงคะแนน ไม่เห็นชอบ ก็อาจจะสรุปไม่ได้ว่าสิ่งที่ประชาชนไม่เห็นชอบด้วยนั้นมาจากเหตุผลใด
การริเริ่มทำประชามติ ช่องทางหนึ่งก็คือใช้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามพระราชบัญญัติประชามติ พ.ศ.2564 แต่อีกช่องทางหนึ่งก็คือการเข้าชื่อของประชาชนอย่างน้อย 50,000 คน เสนอต่อ ครม. ให้ทำประชามติด้วยคำถามที่ประชาชนร่วมกันเสนอๆ ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่กว้างหรือไม่แคบจนเกินไป
กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ จึงเปิดแคมเปญ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” เชิญชวนประชาชนเข้าชื่อเพื่อเสนอคำถามสำหรับการทำประชามติต่อ ครม. ชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนี้

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

คำถามนี้ระบุเจาะจงไปที่รัฐสภา ซึ่งรวมทั้ง สส.และสว. ให้เป็นองค์กรที่ต้องทำหน้าที่นำความต้องการของประชาชนไปแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อเปิดทางให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีเนื้อหาหลักสองประการ
ประการแรก คำถามระบุอย่างชัดเจนว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้นต้องทำได้ “ทั้งฉบับ” เหตุที่ต้องระบุเช่นนี้ก็เพราะในขั้นตอนหลังจากประชามติ จะเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาที่ประกอบไปด้วย สส. และ สว. รวมกัน ในการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากคำถามกว้างเกินไป ก็อาจจะเป็นการเปิดช่องให้รัฐสภาปรับแก้หรือเพิ่มเงื่อนไขที่จำกัดขอบเขตในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เช่น ถ้ามีการเพิ่มเงื่อนไขในชั้นการพิจารณาของรัฐสภาว่า ห้ามแก้ไขในหมวดหรือมาตราที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ จะหมายความว่าประตูในการจัดการกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งจะถูกปิดตายทันที
ในด้านของข้อกังวลเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนรูปแบบการปกครองหรือรัฐนั้น ไม่ใช่ข้อที่น่าห่วงกังวล เนื่องจากมาตรา 255 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าว “จะกระทำมิได้” ดังนั้น การยืนยันต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ “ทั้งฉบับ” จึงเป็นไปเพื่อรับประกันว่า สิ่งที่เป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ 2560 โดยคณะรัฐประหาร จะมีโอกาสได้รับการแก้ไขโดย สสร. อย่างแท้จริง
ประการที่สอง คำถามระบุว่า สสร. จะต้องมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ กลุ่มคนที่ประกอบตัวขึ้นเป็น สสร. จะมีความสำคัญสูงสุดในการกำหนดว่าเนื้อหาจะออกเป็นอย่างไร ดังนั้น กระบวนการให้ได้มาซึ่ง สสร. ก็ควรจะชอบธรรมและเป็นประชาธิปไตย ประชาชนจึงต้องมีส่วนร่วมโดยตรงในการกำหนดตัวผู้ที่จะเป็นตัวแทนในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการเลือกตั้ง คำถามที่ระบุชัดเจนว่า สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งจะเป็นการปิดช่องไม่ให้ในระหว่างกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 รัฐสภาสามารถลักไก่ “ล็อคสเปค” ว่า สสร. จะมาจากการสรรหาหรือแต่งตั้ง โดยมีสัดส่วนที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน
ตาม พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ. 2564 การเข้าขื่อเสนอทำประชามติโดยประชาชนจะต้องการผู้ร่วมลงชื่ออย่างน้อย 50,000 คน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีมติอนุมัติ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเร่งเข้าชื่อให้ครบก่อนที่ ครม. ใหม่จะเริ่มเข้าปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะอยู่ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน 2566 เพื่อให้ ครม. สามารถมีมติทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยใช้คำถามประชามติของประชาชนโดยทันทีตั้งแต่ในการประชุมครั้งแรก
สำหรับประชาชนที่สนใจร่วมลงชื่อเสนอให้ทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ http://conforall.com