เปิดข้อบังคับฯ ประธานรัฐสภาสั่ง “พัก-เลื่อน-เลิก” ประชุมได้ตามที่ “เห็นสมควร”

4 สิงหาคม 2566 เวลา 09.30 น. ที่ประชุมรัฐสภามีการนัดประชุมร่วมรัฐสภาครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจวุฒิสภาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับสภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล เสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้
ก่อนเริ่มพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนเพื่อให้สภาทบทวนมติปมตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ว่าการเสนอชื่อพิธา ให้รัฐสภาลงมตินายกรัฐมนตรีอีกครั้ง  เป็นญัตติซ้่ำ ซึ่งวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา มีความเห็นว่าไม่ควรให้มีการลงมติในญัตติด่วนนี้ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญและหากยอมให้มีการลงมติก็จะทำให้ติดขัดกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะผูกพันกับรัฐสภา จึงถือว่าเรื่องนี้ต้องรอการดำเนินการของศาลก่อน และยังอ้างข้อบังคับ ​ฯ ข้อ 151 ในประเด็นที่ว่าลงมติแล้วถือว่าเป็นเรื่องเด็ดขาด กล่าวคือ เมื่อตีความไปแล้วจะยกเรื่องเดิมมาพิจารณาอีกไม่ได้ 
หลังจากนั้นสมาชิกหลายคนได้ร่วมอภิปรายแสดงความเห็นในเรื่องการดำเนินกระบวนการตามข้อบังคับว่าสรุปแล้วการเสนอญัตติด่วนนั้นทำได้หรือไม่  โดยมีทั้งสมาชิกจากฝั่งของพรรคเพื่อไทย เช่น ชลน่าน ศรีแก้ว สส.จังหวัดน่าน และ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.จังหวัดเชียงใหม่ ที่สนับสนุนว่าการเสนอญัตติของ รังสิมันต์ โรม  นั้นสามารถทำได้ ขณะเดียวกันฝั่งของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เห็นแย้งว่าการเสนอญัตติด่วนดังกล่าวไม่สามารถทำได้ 
แม้ยังไม่ได้ผลสรุปว่าจะดำเนินไปทิศทางไหนแต่ผลสุดท้าย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ก็สั่งเลื่อนและจบการประชุมคราวนี้ทันทีท่ามกลางความงุนงงของทุกฝ่ายโดยอาศัยอำนาจข้อบังคับประชุมรัฐสภา ข้อ 22

ประธานรัฐสภามีอำนาจอิสระสามารถสั่ง “พัก-เลื่อน-เลิก” การประชุมได้ตามที่ “เห็นสมควร”

ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563  ที่เกี่ยวข้องและเรื่องที่กำหนดอำนาจหลักของประธานสภาไว้ดังนี้ 

ข้อ 5 ประธานรัฐสภามีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

  • เป็นประธานของที่ประชุมรัฐสภา และต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ 
  • กำหนดการประชุมรัฐสภา 
  • ควบคุมและดำเนินกิจการของรัฐสภา
  • รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมรัฐสภาตลอดถึงบริเวณรัฐสภา
  • เป็นผู้แทนรัฐสภาในกิจการภายนอก
  • แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใดๆ ตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
  • หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

ข้อ 22 ประธานมีอำนาจปรึกษาที่ประชุมรัฐสภาในปัญหาใดๆ สั่งพักการประชุมรัฐสภา เลื่อนการประชุมรัฐสภา หรือเลิกการประชุมรัฐสภาได้ตามที่เห็นสมควร ถ้าประธานลงจากบัลลังก์โดยมิได้สั่งอย่างใดให้เลิกการประชุมรัฐสภา

ข้อ 150 ถ้าประธานขอปรึกษาหรือสมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติโดยมีสมาชิกรัฐสภารับรอง ไม่น้อยกว่าสี่สิบคน ให้งดใช้ข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่งทั้งหมด หรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวเฉพาะกรณี หากที่ประชุมรัฐสภาอนุมัติก็ให้งดใช้ได้ 

นอกจากนี้ จึงเป็นอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ในเชิงรายละเอียดที่สำคัญ เช่น ข้อ 151 ภายใต้บังคับมาตรา 149 ของรัฐธรรมนูญ ถ้ามีปัญหาที่จะต้องตีความข้อบังคับนี้ ให้เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะวินิจฉัย และเมื่อที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติวินิจฉัยโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เป็นประการใดแล้วให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นเด็ดขาด

จากกรณีดังกล่าวประเด็นสำคัญในเรื่องของ การใช้อำนาจของประธานรัฐสภา ว่ามีขอบเขตความรับผิดชอบและถูกต้องตามข้อบังคับรัฐสภาหรือไม่ ซึ่งการกระทำของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ที่สั่งเลื่อนและปิดประชุมกระทันหันโดยอ้างอำนาจตามข้อบังคับประชุมรัฐสภา ข้อ 22 แม้จะเป็นอำนาจโดยตรงและถือเป็นดุลยพินิจของประธานรัฐสภา แต่อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจตามข้อที่ 22 นี้เป็นการให้ใช้ได้ “ตามที่เห็นสมควร” 

ซึ่งหากดูข้อเท็จจริงและบริบทแวดล้อมในการประชุมรัฐสภา จะพบว่า

  1. ข้อถกเถียงระหว่างสมาชิกนั้นยังไม่สิ้นสุดหรือยังไม่ได้ข้อยุติเป็นที่เข้าใจกันทุกฝ่าย
  2. การประชุมรัฐสภาพึ่งจะดำเนินมาเพียงแค่สองชั่วโมงนับตั้งแต่เวลานัดหมาย 
  3. ยังมีวาระสำคัญ ซึ่งก็คือ การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 ที่ถูกบรรจุอยู่ในระเบียบวาระเรียบร้อยรอการพิจารณาแล้ว

การที่วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภายุติการประชุมโดยไม่มีการให้เหตุผลที่ชัดเจนว่า “สมควร” อย่างไรถึงได้สั่งเลื่อนและปิดประชุม จึงเป็นการสร้างความไม่ชัดเจนในการตีความข้อบังคับฯ ให้กับกระบวนการรัฐสภาและใช้อำนาจในทางที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

นอกจากนี้ การกล่าวอ้างไม่ให้มีการพิจารณาญัตติด่วนนั้นไม่ใช่อำนาจของประธานรัฐสภา เนื่องจากไม่ได้มีข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อใดที่ให้อำนาจประธานรัฐสภาในการพิจารณาว่าเป็นญัตติด่วนหรือไม่เพราะในการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) ไม่ใช่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดอำนาจประธานสภา ในการวินิจฉัยกรณีญัตติด่วน เป็นคนละกรณีกัน 

ประกอบกับความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวระหว่างการถกเถียงในที่ประชุมรัฐสภาของ ชลน่าน ศรีแก้ว ระบุว่า  

“ด้วยความเคารพเรากำลังอยู่ในกระบวนการประชุมรัฐสภา ขอกลับมาที่กระบวนการนิดนึงส่วนผลจะเป็นอย่างไรยังไม่ต้องพูดถึง… ก่อนที่จะเข้าสู่วาระการพิจารณามีเพื่อนสมาชิกลุกขึ้นเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาญัตติที่ไม่ต้องเสนอเป็นหนังสือล่วงหน้า ตามข้อ 32 (1) มีผู้รับรองถูกต้อง ญัตตินั้นจะชื่ออะไรก็แล้วแต่ ผมจะไม่นำมาเป็นประเด็นอภิปรายแต่กระบวนการเสนอญัตติชอบด้วยข้อบังคับเป็นญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ด้วยวาจา เมื่อมีผู้รับรองถือว่าญัตติถือว่าชอบ ส่วนสภาจะรับไม่รับจะพิจารณาอย่างไรหรือไม่เป็นเรื่องของสภา ท่านประธานไม่มีหน้าที่และอำนาจจะไปวินิจฉัยว่านี่ไม่ใช่ญัตติหรือจะรับญัตติ… นี่คือกระบวนการเพราะฉะนั้นขั้นตอนต่อไปเมื่อมีสมาชิกเสนอญัตติขึ้นมาแล้วรับรองถูกต้องสภาต้องพิจารณาจะให้ความเห็นชอบญัตติที่เสนอหรือมีผู้เสนอญัตติคัดค้านขึ้นมาก็เอาญัตติที่คัดค้านกับญัตติที่เสนอมาพิจารณากัน ต้องให้สมาชิกช่วยกันพิจารณา…”   

ด้าน พรรคก้าวไกล ได้ออกมาแถลงข่าวหลังประธานรัฐสภาสั่งเลื่อนวาระและปิดการประชุมโดยยังไม่มีข้อสรุปในญัตติที่พรรคก้าวไกลเสนอมา ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ตนยังงุนงงอยู่ว่าเป็นการเลื่อน หรือยกเลิกการประชุม ซึ่งพรรคก้าวไกลยืนยันว่าญัตติที่ สส.พรรคก้าวไกลเสนอต่อรัฐสภาให้มีการทบทวน มติที่รัฐสภา ตีความว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติที่ไม่สามารถเสนอซ้ำได้ ความจริงแล้ว วันนี้ประธานรัฐสภาควรจะเปิดให้มีการลงมติ ว่าสมาชิกเห็นชอบต่อญัตตินี้หรือไม่ ในฐานะพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายสนับสนุนให้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานรัฐสภา จึงมีข้อกังวลว่า การเลื่อนประชุมรัฐสภาวันนี้อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าไม่สง่างาม อาจจะเป็นเพราะประธานรัฐสภาเห็นว่าเสียง สว. ไม่มากพอหรือไม่ แต่หวังว่าการประชุมในอนาคตจะดีขึ้น