เลือกตั้งสองครั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 พรรคอันดับหนึ่งไม่เคยได้เป็นนายก!

แม้การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จะผ่านมาแล้วถึงเก้าปี และประเทศไทยได้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วถึงสองครั้ง แต่กลไก กฎหมาย และคณะบุคคลจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยังคงมีบทบาทอยู่ถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ถูกเรียกรวมๆ ว่า “มรดกจากคณะรัฐประหาร” ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการเลือกตั้งทั้งสองครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการสร้างเงื่อนไขที่ทำให้พรรคซึ่งชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ และทำให้หลักการประชาธิปไตยเสียงข้างมากเปราะบางลง แม้จะมีการเลือกตั้งก็ตาม
เครื่องมือสืบทอดอำนาจของ คสช. อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 ได้วางกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจโดยเฉพาะมาตรา 272 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ได้ นั่นจึงกลายเป็นปราการด่านสำคัญที่มีส่วนในการขวางพรรคอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งในปี 2562 และการเลือกตั้งในปี 2566 จากการได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ที่มาอำนาจเลือกนายกฯ ของ ส.ว.ลากตั้ง 

หลังการรัฐประหารปี 2557 คสช.ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นและได้จัดการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งมีการเพิ่ม “คำถามพ่วง” ที่กำหนดให้ห้าปีแรกนับตั้งแต่มีรัฐสภาใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 มีอำนาจร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. 500 คน ซึ่งคำถามพ่วงดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากการทำประชามติ
เมื่อกติกาการเลือกนายกฯ เป็นเช่นนี้ ทำให้จากเดิมในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ การเลือกนายกฯ ให้ใช้เพียงเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น เช่น การเลือกนายกฯ ครั้งสุดท้ายในยุครัฐธรรมนูญ 2550 สภาผู้แทนราษฎรมี ส.ส. 500 คน ต้องใช้เสียงเพียง 251 เสียง สำหรับการเลือกนายกฯ โดย ส.ว.ไม่มีสิทธิในการร่วมเลือกนายกฯ ด้วย ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2560 การเลือกนายกฯ ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจากรัฐสภา คือ 376 เสียง จาก 750 เสียง 
ดังนั้นพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็อาจจะยังไม่มีเพียงพอเพื่อเป็นนายกฯ จึงจำเป็นต้องอาศัยเสียงของวุฒิสภาด้วย

การเลือกตั้งปี 2562: พลังดูด สูตรคำนวณ และสว. ลากตั้ง กลเม็ดเอาชนะพรรคอันดับหนึ่ง

การเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 เกิดขึ้นในปี 2562 การเลือกตั้งครั้งนั้นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ใช้พรรคการเมืองใหม่ คือ พรรคพลังประชารัฐเพื่อสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง ก่อนการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐใช้วิธีการดึงตัว อดีต ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าสังกัดตัวเอง นอกจากนี้ยังออกแบบกติกาการเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว คือ ต้องเลือกทั้ง “คน” ของแต่ละคนเขต และเลือก “พรรค” ที่คนนั้นสังกัดไปด้วย ทำให้ตัวบุคคลมีความสำคัญในการเลือกตั้งมากขึ้น และยังมีการออกแบบสูตรคำนวณหาที่นั่ง ส.ส. ที่ตั้งใจสกัดไม่ให้มีพรรคการเมืองใดมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรได้
ผลการเลือกตั้งในปี 2562 พรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส.เป็นลำดับที่หนึ่ง 136 คน โดยเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมด เนื่องจากการใช้สูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส.ใหม่ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ที่ดูดอดีต ส.ส.มาจำนวนมาก ได้จำนวน ส.ส. ไปทั้งสิ้น 116 คน แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต 97 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 19 คน ตีตื้นขึ้นมาเป็นพรรคอันดับสองใกล้เคียงกับพรรคอันดับหนึ่งอย่างพรรคเพื่อไทย 
แม้กติกาการเลือกตั้งจะทำให้พรรคเพื่อไทยเสียบเปรียบอย่างมาก แต่หลังการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยก็ได้จับขั้วทางการเมืองกับอีกเจ็ดพรรคร่วมเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ประกอบไปด้วยพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทยโดยประกาศว่ามีที่นั่ง ส.ส. จำนวน 255 ที่นั่ง ซึ่งรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร 

อย่างไรก็ตาม วันที่ 5 เมษายน 2562 กกต. ประกาศสูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคใหม่ ทำให้เกิดพรรคเล็กจำนวนมากหรือที่เรียกว่า “พรรคปัดเศษ” ได้เข้าสภาเป็นจำนวนมาก ขณะที่พรรคอื่นๆ เช่น พรรคอนาคตใหม่ ต้องเสีย ส.ส. ไป 7 ที่นั่ง เหลือเพียง 80 ที่นั่ง และทำให้จำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ขั้วพรรคเพื่อไทยลดลงเหลือ 244 ที่นั่ง ขณะที่ขั้วพรรคพลังประชารัฐเพิ่มขึ้น 256 ที่นั่ง ส่งผลให้พรรคร่วมที่พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร 

วันที่ 5 มิถุนายน 2562 มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมตัดสินใจส่ง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดเดตนายกฯ จากพรรคอนาคตใหม่เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่ขั้วพรรคพลังประชารัฐตัดสินใจส่งพลเอกประยุทธ์เข้าแข่งขัน ซึ่งผลคะแนนระบุว่า ธนาธรได้คะแนนจาก ส.ส. ไปทั้งสิ้น 244 เสียง ขณะที่พลเอกประยุทธ์ได้คะแนนจาก ส.ส. ที่ 251 เสียง โดยเป็นเสียงจากพรรคเล็ก 11 เสียง และผสมด้วยเสียง ส.ว. อีก 249 เสียง จึงทำให้พลเอกประยุทธ์มีคะแนนเสียงสนับสนุนถึง 500 เสียงในรัฐสภา 
ดังนั้น ผลการเลือกตั้งปี 2562 จึงไม่ได้ส่งผลให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งอย่างพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และเสียตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่พรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ที่ร่วมกับพรรคสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร รวมทั้งกติกาการเลือกตั้ง และผู้คุมกติกาอย่าง กกต. ที่ออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดพรรคเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด

การเลือกตั้งปี 2566: ส.ว. งดออกเสียง อาวุธใหม่สกัดไม่ให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง แม้ได้คะแนนนำ

หลังจากมีผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการออกมาแล้ว วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกลซึ่งชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง และมีจำนวน ส.ส. ทั้งสิ้น 151 ที่นั่ง ประกาศจัดตั้งรัฐบาล โดยรวมเสียงกับพรรคเพื่อไทย 141 ที่นั่ง พรรคประชาชาติเก้าที่นั่ง พรรคไทยสร้างไทยหกที่นั่ง พรรคเพื่อไทรวมพลังสองที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทยหนึ่งที่นั่ง พรรคเป็นธรรมหนึ่งที่นั่ง และพรรคสังคมใหม่หนึ่งที่นั่ง รวมแล้วเป็น 313 เสียงในสภาผู้แทนราษฏร
ต่อมา การรวมเสียงเหลือเพียง 312 เสียง เนื่องจากมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการจาก กกต. จนเป็นเหตุให้ที่นั่ง ส.ส. ลดลงหนึ่งที่
การรวบรวมเสียงของผู้ชนะอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ แตกต่างจากในการเลือกตั้งปี 2562 ตรงที่ มีความ “ชนะห่าง” จากพรรคขั้วตรงข้ามอย่างเห็นได้ชัด คือ รวมเสียงจนได้ที่นั่ง ส.ส. เกิน 251 เสียงในสภาผู้แทนราษฏร จึงถือว่าเป็นเสียงที่เกินกึ่งหนึ่งแล้ว หากเป็นกติกาปกติในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ย่อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้โดยง่าย
ประเด็นถกเถียงสำคัญก่อนถึงวันลงคะแนน คือ ข้อครหาว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลควรหมดสภาพสมาชิกการเป็น ส.ส. เรื่องจากถือครองหุ้นในบริษัทสื่อมวลชนหรือไม่ เนื่องจากพบว่ามีการถือครองหุ้นสื่ออยู่ที่ 42,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 0.0035 จากหุ้นทั้งหมดในบริษัทสื่อไอทีวี ซึ่งทำให้ข้อถกเถียงว่า ไอทีวียังมีสถานะเป็นสื่ออยู่มากน้อยแค่ไหนหลังยุติการออกอากาศไปแล้วตั้งแต่ปี 2550 และ การถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดกของพิธา นับว่าเป็นการถือหุ้นหรือไม่ กลายเป็นที่พูดคุยในสังคมอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 แม้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจะมีการเสนอชื่อพิธาเพียงชื่อเดียว ไม่มีการเสนออีกชื่อหนึ่งขึ้นมาแข่งขันแบบในปี 2562 เพราะผลคะแนนของพรรคก้าวไกลและการจับขั้วทางการเมืองชนะเด็ดขาด แต่ต้องพ่ายแพ้ไปด้วยคะแนนเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียงมากถึง 199 เสียง เนื่องจากไม่สามารถได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ซึ่งหมายถึงต้องใช้ทั้งเสียง ส.ส. และ ส.ว. รวมกันได้ 
ในวันลงคะแนนเสียง ทั้ง ส.ว. และ ส.ส. ต่างอภิปรายถึงสาเหตุการลงคะแนนเสียงให้พิธาบนหัวข้อ “การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112” อย่างดุเดือด ซึ่งนับว่าเป็นเหตุการณ์ไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ประเด็นมาตรา 112 ถูกนำไปพูดคุยในรัฐสภา หลังจากประเด็นดังกล่าวถูกพูดคุยบนท้องถนนมาอย่างยาวนาน
การลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ มี ส.ว. ลาออกก่อนวันลงคะแนนเสียงหนึ่งคน มี ส.ว. ไม่มาปรากฎตัวในวันลงคะแนน 43 คน มี ส.ว. ลงมติไม่เห็นชอบ 34 เสียง เห็นชอบ 13 เสียง และงดออกเสียง 159 เสียง 
เนื่องจากการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรียังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีจึงต้องใช้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งอยู่ที่ 375 เสียง เนื่องจากมี ส.ว.ลาออกหนึ่งคน ทำให้การงดออกเสียงหรือการไม่เข้าร่วมประชุมสภาในวันดังกล่าวเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ไม่สามารถเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ตามหลักประชาธิปไตยเสียงข้างมาก
ต่อมาในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เป็นวันที่มีกำหนดการเสนอชื่อผู้เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบที่สอง ซึ่งมีการเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่สมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากเห็นว่า การเสนอชื่อพิธาเป็นญัตติซ้ำ ซึ่งผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา  จึงลงคะแนนให้ “ห้ามเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำอีก” ด้วยคะแนนเสียง “เห็นชอบ” ให้ไม่ควรเสนอซ้ำ 395 เสียง และไม่เห็นชอบ 312 เสียง งดออกเสียงแปดเสียง และไม่ลงคะแนนเสียงหนึ่งเสียง นอกจากนี้ในวันดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่งให้พิธายุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. เป็นการชั่วคราว จากกรณีที่ กกต.ยืนคำร้องให้ศาลวินิจฉัยกรณีความผิดฐานถือครองหุ้นสื่อไอทีวีจริงหรือไม่ 

จากทั้งคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ กลไกอำนาจของ ส.ว. และการออกเสียงตีความนิยามของการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีดังกล่าว จึงทำให้พิธาไม่สามารถถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกจนกว่าจะจบสมัยการประชุม แม้ว่าจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวจากพรรคที่สามารถรวบรวมเสียงได้เป็นอันดับหนึ่ง และเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป