ย้อนรอยความสัมพันธ์ “M16” กับพล.อ.ประวิตรและพล.อ.ประยุทธ์

 

ถ้าไม่ด้วยพระเมตตาของระบบสถาบันพระมหากษัตริย์ ท่านไม่ได้เลือกตั้งหรอกครับ ท่านไม่มีทางได้ 140 ที่นั่งครับผมพูดได้เลย ท่านลองไปพม่า อเมริกาช่วยอะไรได้ ทหารมายิงดิ้นหมด วันนี้เหมือนกันครับ ประเทศนี้ถ้าไม่มีในหลวงไม่มีสถาบันฯ ลุงตู่กับลุงป้อมไม่กลับบ้านง่ายๆหรอกครับ (หัวเราะ) มีแต่จะลากเอ็ม 16 มาเล่นกับพวกคุณ”  ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส. จังหวัดอุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย กล่าวระหว่างการอภิปรายก่อนโหวตนายกรัฐมนตรีวันที่ 13 กรกฎาคม 2566

คำกล่าวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการอภิปรายของชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.จังหวัดอุทัยธานี พรรคภูมิใจไทยระหว่างวาระโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีวันที่ 13 กรกฎาคม 2566  เขาเริ่มอภิปรายด้วยการอ่านแถลงการณ์จุดยืนของพรรคเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ระบุว่า ไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 หลังจากนั้นอภิปรายเรื่องการยืนกรานแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลและการให้สัมภาษณ์ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ถึงเรื่องดังกล่าว “อ้างว่า ต้องทำเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเจตนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอเรียนตรงๆว่า ผมและพรรคภูมิใจไทยไม่เชื่อและเป็นสิทธิของพรรคภูมิใจไทยไม่เชื่อ เพราะสิ่งที่ผ่านมาพฤติกรรมผ่านๆมา ทำให้เราเห็นชัด…ว่าความคิดในเรื่องมาตรา 112 นั้นเป็นยังไง” พร้อมถามถึงความเห็นของอีกเจ็ดพรรคร่วมรัฐบาล 

“ท่านอ้าง 14 ล้านเสียงที่เห็นด้วยกับท่านที่จะให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ผมเชื่อว่า คนที่ลงให้ท่าน 14 ล้านเสียงไม่คิดว่า ท่านกำลังแก้กฎหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เป็นสถาบันหลักของชาติ ไม่ใช่ความมั่นคงของชาติอีกต่อไป ถ้าท่านอ้าง 14 ล้านเสียง หลายคนก็พูดถึง 25 ล้านเสียงที่ไม่ได้เลือกแต่ในมุมมองของผม ผมอยากจะฝากผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือเป็นรัฐบาลก็ตาม คนไทยไม่ได้มีแค่ 14 ล้าน คนไทยไม่ได้มี 25 ล้าน ท่านต้องเป็นนายกฯของคน 60 กว่าล้านคน ท่านต้องเป็นนายกฯของประเทศไทย ท่านต้องไม่ได้เป็นนายกฯหรือเป็นรัฐบาลของพรรคใดพรรคหนึ่ง อันนี้สำคัญที่สุด 14 ล้านเสียงไม่ถึง 20 เปอร์เซนต์ ท่านอย่านึกว่ามันมากมาย มันเป็นพลังของประชาชนมันยิ่งใหญ่สำหรับพวกเรา แต่ท่านอย่าหลงระเริงคำว่า 14 ล้านเสียงเพราะมันไม่ถึง 20 เปอร์เซนต์ ไม่ใช่เรื่องชี้ขาดของประเทศนี้…”

ชาดาตั้งคำถามถึงร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในเรื่องการกำหนดอัตราโทษ และการให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ “ผมและพรรคภูมิใจไทยไม่เชื่อว่า ท่านจะปกป้องสถาบันกษัตริย์มิให้ถูกละเมิด ในเมื่อท่านจะลดการคุ้มครองและลดโทษผู้ที่ละเมิดพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงไม่เอาผิด ไม่ลงโทษผู้ละเมิดพระมหากษัตริย์ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน อันนี้เป็นเรื่องใหญ่” โดยยกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญขึ้นอ้าง “ที่เจ็บปวดมากกว่านั้น คืออะไร มีคำพูดต่อผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคก้าวไกลว่า ถ้านายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีจะให้นายพิธาไปลงสัตยาบันในกฎหมายกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญว่า สามารถฟ้องผู้เป็นประมุขของรัฐได้ อันนี้เป็นสิ่งที่รับไม่ได้จริงๆ ทันทีที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีท่านจะให้คุณพิธาไปลงนาม หมายถึงว่า คนนอกประเทศฟ้องในหลวงได้ ฟ้องพระมหากษัตริย์ได้…ผมคงทำใจไม่ได้ หลับตานึกสิ พระมหากษัตริย์สูงสุดที่คุมกะลาหัวพวกเราอยู่เนี่ย ไปถูกฝรั่งมังค่าสอบสวน มันเป็นเรื่องที่น่ากลัวและอันตราย ประมุขของรัฐไทยก็คือใคร ก็พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

“วันนี้ไม่ต้องไปชี้ที่ส.ว. ไม่ต้องไปชี้ที่ฝั่งนี้ [ฝ่ายค้าน] ท่านหลุดคำนี้คำเดียวว่า ไม่ยุ่งกับ 112 ภูมิใจไทยจะลงให้ท่าน และไม่ร่วมรัฐบาลกับท่านด้วย แต่มันไม่ใช่ พฤติกรรมสิ่งที่หลายอย่าง ถ้าท่านถือว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นเป็นพันธกิจของท่านเป็นสิ่งที่ท่านต้องกระทำต้องทำให้ได้ ผมและพรรคภูมิใจไทยและพี่น้องประชาชนอีกหลายคนก็ถือว่า เป็นพันธกิจของเราเหมือนกันที่จะคัดค้านท่านทุกวินาที ทุกอย่าง ทุกทาง ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่”

ชาดาบรรยายถึงต้นตระกูลที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาที่ประเทศไทย “ได้พึ่งพระบรมโพธิสมภารของในหลวง ด้วยความเคารพ วันนี้มาเป็นผู้แทนอยู่ดีกินดีกว่าคนไทยแท้ๆ เป็นล้านคน…แล้วถ้าผมไม่สำนึกไม่รู้กตัญญูต่อแผ่นดินนี้ผมก็ไม่สมควรเป็นคน ผมเรียนว่า บ้านเรามีเจ้าของ สิ่งที่บรรพบุรุษเราทำมามันมากมายเหลือเกิน เราอาศัยเขามาอยู่ มาขอเขาอยู่” … “ถ้าไม่ด้วยพระเมตตาของระบบสถาบันพระมหากษัตริย์ ท่านไม่ได้เลือกตั้งหรอกครับ ท่านไม่มีทางได้ 140 ที่นั่งครับผมพูดได้เลย ท่านลองไปพม่า อเมริกาช่วยอะไรได้ ทหารมายิงดิ้นหมด วันนี้เหมือนกันครับ ประเทศนี้ถ้าไม่มีในหลวงไม่มีสถาบันฯ ลุงตู่กับลุงป้อมไม่กลับบ้านง่ายๆหรอกครับ (หัวเราะ) มีแต่จะลากเอ็ม 16 มาเล่นกับพวกคุณ” 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างเอ็ม 16 และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่เรื่องราวขำขัน หากเป็นโศกนาฏกรรมที่ผ่านมาแล้ว 13 ปี ยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความรุนแรงจากฝ่ายรัฐมาลงโทษได้

 

การใช้อาวุธหนัก ยุทธวิธีรบในเมืองเพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมของนปช. หรือกลุ่ม “คนเสื้อแดง” ในปี 2553 เวลานั้นอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ลงนามจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)  สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและผู้อำนวยการศอฉ.  และมีทหาร 3 ป. อย่างพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะรองผอ.ศอฉ. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ผู้ช่วยผอ.ศอฉ. และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก 

การปราบปรามสองระลอกหลัก คือ 

วันที่ 10 เมษายน 2553 ที่แยกผ่านฟ้าและบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนหน้านี้อภิสิทธิ์ขอให้ผู้ชุมนุมเสื้อแดงย้ายการชุมนุมจากแยกราชประสงค์กลับไปที่แยกผ่านฟ้า แต่ท้ายสุดกลับสั่งให้ศอฉ. นำกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมที่แยกผ่านฟ้าโดยไม่แจ้งเตือนและใช้อาวุธสงครามกับผู้ชุมนุม จากรายงานไต่สวนการตายของเกรียงไกร คำน้อย ผู้เสียชีวิตรายแรกพบว่า ถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งมีวิถีกระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ทหารในการปฎิบัติหน้าที่บริเวณถนนราชดำเนินนอก โดยกำลังทหารมาจากกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหาราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31พัน1รอ.) ประมาณ 300 นาย มีอาวุธประจำกายคือโล่ห์ ปืนลูกซองยาว บรรจุกระสุนยาง ปืนเอ็ม 16 ปืนทราโว่ 

ข้อมูลจากหนังสือ “ความจริงเพื่อความยุติธรรม : เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา – พฤษภา 53” ของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย. – พ.ค. 53 (ศปช.)  ระบุว่า ตามแถลงการณ์ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กระสุนจริงจะใช้เพียงการข่มขวัญและป้องกันอันตรายที่จวนตัว มีภาพของผู้ชุมนุมมีอาวุธ ค้านกับคำสัมภาษณ์ของพยาน ภาพนิ่งและคลิปวิดีโอที่ยืนยันว่า การสลายการชุมนุมไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนที่ประกาศไว้ มีการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางระยะหนึ่งและใช้กระสุนจริงเลย ต่อมานายกรัฐมนตรีและศอฉ. อ้างการปรากฏตัวของ “ชายชุดดำ” ซึ่งต่อมามีการจับกุมดำเนินคดีกลุ่มที่อ้างว่า เกี่ยวข้องกับชายชุดดำ แต่ศาลยกฟ้องในภายหลัง

วันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 อภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 2 และศอฉ.ระบุว่า จะมีการใช้กระสุนจริง เจ้าหน้าที่ไม่ได้ต้องการทำร้ายประชาชนถึงชีวิต เพียงต้องการหยุดยั้งการปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย และการพยายามเข้าถึงตัวเจ้าหน้าที่ กระสุนจริงจะใช้ได้ใน 3 กรณีคือ การยิงข่มขวัญ, การยิงป้องกันชีวิตของเจ้าหน้าที่ที่ถูกหมายปองเอาชีวิตและไม่สามารถหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่นได้ และการยิงไปยังบุคคลที่มีอาวุธอยู่ในมือ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนและแน่นอน ต่อมาในช่วงเวลาหลายวันของการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม ผู้เสียชีวิตที่ปรากฏหลายกรณีเป็นประชาชนผู้ไร้อาวุธ เช่น บริเวณบ่อนไก่ วันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ทหารพยายามผลักดันผู้ชุมนุมตั้งแต่เวลาประมาณ 12.00 น. ระหว่างนี้มีผู้ถูกยิงจนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา 4 คน ทั้งหมดเป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม  หรือกรณีผู้เสียชีวิต 6 คน ภายในวัดปทุมวนารามซึ่งประกาศเป็นเขตปลอดอาวุธ และการเสียชีวิตเกิดขึ้นภายหลังประกาศยุติการชุมนุมแล้ว

หลังการสลายการชุมนุม วันที่ 20 พฤษภาคม 2553 พล..ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ยอมรับว่า ยุทธวิธีที่ใช้ไม่ใช่เป็นยุทธวิธีในการควบคุมฝูงชน แต่จัดกำลังเหมือนในสนามรบ โดยอ้างเหตุเรื่องกองกำลังติดอาวุธภายในการชุมนุม การปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 99 ศพและบาดเจ็บในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างน้อย 1,468 คน