รู้หรือไม่ อดีตพรรคร่วมรัฐบาลเคยเทคะแนนโหวตปิดสวิตช์ ส.ว. มาแล้ว 3 ครั้ง

ในสถานการณ์พิเศษที่หลักการเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ การที่พรรคการเมืองอื่น ๆ ที่แม้จะไม่ได้ร่วมรัฐบาลจะลงคะแนนเพื่อยืนยันให้กับเสียงข้างมากเพื่อ “ปลดล็อค” ส.ว. ก็เป็นเรื่องที่ทำได้และควรทำ แต่ท่าทีของอดีตพรรคร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทั่วไป 2566 คือการไม่ลงคะแนนให้กับแคนดิเดตที่รวบรวมเสียงข้างมากได้อย่างพรรคก้าวไกล แม้ว่าทุกคะแนนจะจำเป็นต่อการฝ่าด่าน ส.ว. ให้ถึง 376 เสียง จนอาจทำให้เกิดทางตันทางการเมืองที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้
ช่วงเวลาสี่ปีของสภาที่ผ่านมา ประเด็นการตัดอำนาจ ส.ว. แต่งตั้งเลือกนายกรัฐมนตรีได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากพรรคการเมืองทุกฝั่งฝ่าย แม้แต่อดีตพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ก็เคยยกมือรับรองร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ ส.ว. มาแล้วถึงสามครั้ง รวมถึงเคยเสนอร่างเพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ของตนเองด้วย
23 มิถุนายน 2564: ฝ่ายรัฐบาลลงมติแทบเป็นเอกฉันท์ “ปิดสวิตช์ ส.ว.”

ศึกการแก้รัฐธรรมนูญยกสองเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2564 โดยในครั้งนี้มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมากถึง 13 ร่างถูกเสนอเข้าพิจารณาในรัฐสภา ซึ่งมาจากข้อเสนอของพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ในจำนวนนี้ มีสองร่างที่เจาะจงไปที่การแก้ไขมาตรา 272 ซึ่งให้อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ร่างแรกเสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน ในขณะที่ร่างที่สองเสนอโดย ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย

ในแง่ของคะแนนเสียง ส.ส. การปิดสวิตช์ ส.ว. ครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด นอกจากพรรคฝ่ายค้านที่ลงมติเห็นชอบอยู่แล้ว พรรคฝ่ายรัฐบาลเองก็หันมาเทคะแนนให้ด้วย โดยลงมติเหมือนกันทั้งสองร่างที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 272 พรรคพลังประชารัฐ จาก ส.ส. ทั้งหมดในขณะนั้น 119 คน ลงมติเห็นชอบ 102 คน  พรรคภูมิใจไทย จาก ส.ส. ทั้งหมดในขณะนั้น 61 คน ลงมติเห็นชอบ 60 คน ซึ่งรวมถึงอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคด้วย พรรคประชาธิปัตย์ จาก ส.ส. ทั้งหมดในขณะนั้น 48 คน ลงมติเห็นชอบ 47 คน โดยคนเดียวที่งดออกเสียงคือชวน หลีกภัย ประธานสภา ในขณะที่ ส.ส. ทั้งหมด 12 คนของพรรคชาติไทยพัฒนางดออกเสียง
ยกเว้นเสียเพียงแต่พรรครวมพลังประชาชาติไทยที่ลงมติไม่เห็นชอบทั้ง 5 คน พรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็กอื่น ๆ ก็ลงมติเห็นชอบด้วย พรรคชาติพัฒนาทั้ง 4 คนยกมือให้กับการปิดสวิตช์ ส.ว. และ “พรรคจิ๋ว” ที่มีที่นั่งเดียวทั้งหมดก็เห็นชอบกับการตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. อย่างท่วมท้น คือ 440 เสียง แต่กระนั้นก็ยังได้เสียงจาก ส.ว. แต่งตั้งไม่ถึงหนึ่งในสามของ ส.ว. ทั้งหมด โดยได้ไป 15 และ 21 เสียงตามลำดับจากที่ต้องการอย่างน้อย 84 เสียง ส่งผลให้ร่างปิดสวิสซ์ ส.ว. ทั้งสองฉบับต้องตกไป

7 กันยายน 2565: พลังประชารัฐกลับลำ แต่พรรคร่วมอื่นเห็นชอบร่างจากประชาชน
การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 โดยรัฐสภาครั้งสุดท้าย เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2565 โดยในครั้งนี้ ข้อเสนอมาจากการเข้าชื่อของประชาชนตามกลไกในรัฐธรรมนูญและเสนอต่อสภา ผลการลงมติปรากฏว่า ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐเปลี่ยนใจ งดออกเสียงทั้งหมด แต่พรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ ก็ยังเห็นด้วยกับการตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี ส.ส. 55 คนจากพรรคภูมิใจไทยลงมติเห็นชอบ เช่นเดียวกับ ส.ส. 44 คนจากพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นอีกพรรคหนึ่งที่เปลี่ยนใจ เป็นจากงดออกเสียงในครั้งที่แล้วเป็นลงมติเห็นชอบโดย ส.ส. 7 คน จากทั้งหมด 12 คนของพรรค
แม้จะได้เสียงไม่มากเท่ากับครั้งก่อน แต่ผลการลงคะแนนครั้งนี้ก็ยังได้เสียง ส.ส. มากถึง 333 เสียง แต่ก็ยังไม่ผ่านด่าน ส.ว. อีกเช่นเดิม โดยมี ส.ว. ลงคะแนนให้ 23 คนเท่านั้น