รวมวิวาทะ ส.ว. คิดอย่างไรเลือก “พิธา”เป็นนายก

ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยครองเสียงในสภามากเป็นอันดับหนึ่งและสองตามลำดับโดยมีเสียงรวมกันเกือบ 300 คน ขณะที่พรรคแกนนำรัฐบาลเดิมอย่างพรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่ง ส.ส.เป็นอันดับที่สี่ โดยมีส.ส.เพียง 40 ที่นั่งส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับบทบาททางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีรักษาการและอดีตหัวหน้าคสช.ผู้แต่งตั้งสว. มีที่นั่งในสภาเป็นอันดับที่ห้ามี 36 ที่นั่ง ขณะที่พรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นอดีตพรรคร่วมรัฐบาลครองที่นั่งในสภาเป็นอันดับสาม 71 ที่นั่ง (ข้อมูลเมื่อ 27 พฤษภาคม 2566)

หากการเลือกตั้ง 2566 เป็นการเลือกตั้งภายใต้ระบบปกติ น่าจะมีความชัดเจนแล้วว่าอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคการเมืองใหม่รวมแปดพรรคนำโดยพรรคก้าวไกลที่มีเสียงเบื้องต้นรวม 313 เสียง ซึ่งเป็นจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ 500 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงอยู่ภายใต้บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ให้ ส.ว.ชุดพิเศษ 250 คน ที่มีที่มาจาก คสช.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย การจัดตั้งรัฐบาลจึงยังอยู่ในความไม่แน่นอนว่า ส.ว.จะออกเสียงเลือกนายกฯ อย่างไร 

ในการเลือกตั้งปี 2562 ส.ว.แต่งตั้ง 249 คน ยกเว้นประธานวุฒิสภาที่ทำหน้าที่รองประธานรัฐสภาต่างออกเสียงเลือกพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ครั้งนั้นพรรคพลังประชารัฐจะสามารถรวบรวมเสียงส.ส.ได้ 251 เสียง มากกว่าพรรคเพื่อไทยที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีอยู่ของ ส.ว. 250 คน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองบางพรรคตัดสินใจสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตามสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง 2566 จะแตกต่างออกไป เพราะอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านสามารถรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรประมาณ 50 เสียง พร้อมประกาศสนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นการตัดสินใจของส.ว.จึงอาจส่งผลได้ทั้งทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเดินไปตามครรลองหรือทำให้เกิดสภาวะชะงักงันเพราะไม่สามารถให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้

ก้าวไม่ไกลไปไม่พ้น รวมความเห็นส.ว.ไม่เลือกพิธา เป็นนายก

หลังการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกส่วนหนึ่งออกมาประกาศตัวชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างความกังวลว่านโยบายของพรรคก้าวไกล ทั้งการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การยกเลิกการเกณฑ์ทหารและปฏิรูปกองทัพอาจส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศและสถานะสถาบันพระมหากษัตริย์ ส.ว.บางส่วนที่ออกมาประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรียังเป็น ส.ว.ที่เคยมีวิวาทะกับ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลระหว่างการอภิปรายในโอกาสต่างๆ ด้วย

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.แต่งตั้ง ซึ่งเคยมีวิวาทะกับ ส.ส.พรรคก้าวไกลหลายคน เช่น อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล รังสิมันต์ โรม และ จิรัฎฐ์ ทองสุวรรณ คือหนึ่งใน ส.ว.ที่ออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ลงคะแนนให้พิธาเป็นนายก เบื้องต้นในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 หนึ่งวันหลังการเลือกตั้ง กิติศักดิ์ให้สัมภาษณ์กับมติชนออนไลน์ตอนหนึ่งว่า  

“ถ้าเป็นรัฐบาลพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยและขั้วฝ่ายค้านเดิมก็ขอให้รอถึงวันนั้นจึงจะพูดได้ เพราะพูดไปก่อนยังไม่ถึงเวลาไปวิพากษ์วิจารณ์ไม่เหมาะสม แล้วก็เป็นไปได้หมดถ้าเกิดเลือกรอบแรกแล้วไม่ผ่าน เช่นคุณสมบัติไม่ผ่านก็อาจมีการงดออกเสียง ตัวอย่างว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังพิจารณาเรื่องร้องเรียนนายพิธา ซึ่งต้องรอดูผลเป็นองค์ประกอบ และดูหลายๆ ปัจจัยด้วย”

กิติศักดิ์ระบุด้วยว่า เบื้องต้นให้พรรคการเมืองไปรวบรวมเสียงสนับสนุนของส.ส.ให้ได้เกิน 250 เสียงก่อน ส่วนคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกที่ ส.ว.จะเลือกจะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์

ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 กิติศักดิ์ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่าจะไม่สนับสนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี

“ถ้าคุณพิธาเป็นนายกฯ สถานการณ์บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ”

กิติศักดิ์ ระบุว่าแม้การทำบันทึกข้อตกลงแปดพรรคจะไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 รวมอยู่ด้วยแต่ประเด็นดังกล่าวเป็นวาระเฉพาะที่พรรคก้าวไกลจะผลักดัน ซึ่งส่วนตัวเขามองว่าการแก้ไขมาตรา 112 ทำให้พิธาขาดคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกที่จะต้อง “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์” กิติศักดิ์ยังขยายความด้วยว่าการมุ่งปฏิรูปกองทัพ ลดงบประมาณ ลดกำลังทหารเป็นการแสดงออกว่าไม่รักชาติ ขณะที่การยกเลิกมาตรา 112 คือไม่รักสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 กิติศักดิ์ยังกล่าวระหว่างรายการเรื่องเล่าเช้านี้ตอนหนึ่งด้วยว่า “…ตอนนี้สองล้านเปอร์เซ็นกิติศักดิไม่เลือกพิธา เพราะว่าคุณพิธามีพฤติกรรมที่ถ้าหากเป็นนายกรัฐตรีแล้วประเทศจะลุกเป็นไฟ ขณะนี้กระแสจงรักภักดีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์พร้อมมากที่จะเข้ากรุงเทพ เรามองเห็นว่าบ้านเมืองกำลังจะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง และจะนำไปสู่การนองเลือดของคนไทยด้วย คือไทยฆ่าไทย…” 

กิติศักดิ์ขยายความด้วยว่าส.ว.หลายคนเชื่อว่าหากพรรคก้าวไกลเข้าไปเป็นรัฐบาล ความขัดแย้งของคนไทยจะมากมายมหาศาล ส.ว.จึงจะชักฟืนออกจากไฟก่อนที่จะลุกลามเป็นคนไทยฆ่ากันเอง

จเด็จ อินสว่าง ส.ว.แต่งตั้ง เป็นอีกคนหนึ่งที่ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี จเด็จให้สัมภาษณ์กับไทยโพสต์ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ว่า ส.ว.คงต้องรอดูก่อนว่าฝ่ายใดจะรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง และจะเสนอชื่อบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรี จึงค่อยพิจารณาจะโหวตให้หรือไม่ แต่ถ้าเสียงข้างมากเสนอชื่อพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี จเด็จจะไม่ออกเสียงให้ เพราะพิธามีจุดด้อยเรื่องทัศนคติการเมืองที่จะยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งเขารับไม่ได้เพราะได้ปฏิญาณตนว่าจะจงรักภักดี ถ้าเลือกพิธาไปก็ไม่รู้จะเสียของหรือไม่ ส่วนหากมีการเสนอชื่อคนอื่นๆ เป็นนายกรัฐมนตรี เช่น แพทองธาร ชินวัตร เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หรือคนอื่นๆ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องพิจารณาอีกทีว่า มีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไรบ้าง  

ต่อมาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 จเด็จยังได้ย้ำอีกครั้งว่าจะไม่สนับสนุนพิธาเพราะพรรคก้าวไกลยังเดินหน้าแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จเด็จยังเสนอให้หาทางออกในการตั้งรัฐบาลแห่งชาติโดยเชิญพรรครวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐมาร่วมรัฐบาลด้วย 

ยังไม่พูดชัดแต่ยากจะได้เสียง

นอกจาก กิติศักดิ์ และ จเด็จ มีส.ว.อีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ออกปากปฏิเสธการออกเสียงสนับสนุนพิธา แต่หากย้อนไปดูการอภิปรายในสภาชุดก่อนหรือถ้อยคำที่แฝงมากับคำให้สัมภาษณ์ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ส.ว.กลุ่มนี้จะไม่ออกเสียงสนับสนุนพิธา เพียงแต่จะลงคะแนนงดออกเสียงหรือลงคะแนนให้แคนดิเดตนายกคนอื่นที่ถูกเสนอชื่อ

พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ส.ว.แต่งตั้ง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ซึ่งถือเป็นวันครบรอบเก้าปีการรัฐประหาร 2557 ว่า

ในฐานะอดีตข้าราชการไทยที่เลือกอาชีพด้วยความตั้งใจเป็นข้าแห่งพระราชาดูแลประชาชน หรือในฐานะ ส.ว. หรือในฐานะคนไทย แม้นโยบายที่พรรคก้าวไกลเสนอก่อนเลือกตั้งจะยังไม่ได้ถูกตกลงหรือเปิดเผยให้สังคมได้เห็นว่าเมื่อต้องเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคอื่นจะปรับนโยบายเป็นอย่างไร หลายอย่างเป็นสิ่งดีถ้าทำได้ เป็นสิ่งที่การเมืองก่อนหน้าไม่เคยทำสำเร็จ แต่นโยบายที่ต้องไม่แตะคือการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื้อหา 10 ข้อที่หาเสียงคงมาจาก“นายทุนความคิด” ที่จัดทำมาให้ เป็นสิ่งที่สะท้อนความเกลียด ความแค้น ความต้องการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

อย่าอ้างผลการเลือกตั้งที่ว่าได้เสียงส่วนใหญ่ เพราะที่ได้มาก็แค่มากกว่าพรรคอื่นแต่ไม่อาจอ้างได้ว่าคือเสียงส่วนใหญ่ของคนไทย

การเตรียมม็อบออกมาในวันที่ 23 จะยิ่งทำให้เห็นทุนที่อยู่เบื้องหลังว่าตั้งใจเหยียบย่ำหัวใจคนไทยที่ทำเลียนความจงรักภักดีในรัชกาลที่ 9 ยิ่งกดดันก็ยิ่งไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา ยิ่งอ้าปาก ก็เห็นลิ้นไก่หมด อย่าประเมินความรักในแผ่นดินต่ำ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงธรรม ทรงทำนุบำรุงพระศาสนา ทรงเสียสละเพื่อรักษาชาติ ทรงสละทรัพย์เพื่อรักษาแผ่นดิน

ประชาชนต้องใจเย็น ต้องเปิดปัญญารอดูว่าเขาจะมาสร้างสิ่งที่หาเสียงไว้ไหม จะสร้างการเมืองดี จะสร้างปากท้องดี และทำให้มีอนาคตจริงหรือ ที่เห็นกองหนุนล้วนแต่แสดงความก้าวร้าวความต้องการทำลายสถาบัน รอดูชุด อุปกรณ์ประท้วง สัญลักษณ์ที่ผู้ประท้วงใช้ในวันอังคารนี้ ยิ่งออกมาจะยิ่งไม่ได้รับเสียงสนับสนุน คนที่จะทำให้พิธาไม่ได้เป็นนายกไม่ใช่สว แต่เป็นพรรคการเมืองที่เจรจาไม่สำเร็จ ที่สำคัญที่สุดไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็เพราะมีเบื้องหลังเป็น ”นายทุนความคิด” “นายทุนต่างชาติ” ที่จะทำลายสถาบันกษัตริย์นี่แหละ

อย่าประเมินพลังรักแผ่นดินของคนไทยที่จะออกมาปกป้องสถาบันกษัตริย์ต่ำ ไม่เชื่อรอดู นักรบรักแผ่นดินพร้อมที่จะปกป้อง  #อย่าแตะสถาบัน #อย่าแตะ112 #ช้างรักแผ่นดิน

มีความน่าสนใจว่าก่อนหน้านี้ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2562 ระหว่างการประชุมรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ พรทิพย์เคยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กชื่นชมการอภิปรายของพิธาว่า ท่ามกลางการอภิปรายที่ตอบโต้กันไปมา มีการอภิปรายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่ทั้งภาพลักษณ์และเนื้อหา ทำได้อย่างน่าสนใจแม้จะสังกัดพรรคการเมืองที่แสดงแต่ผลงานก้าวร้าว   

สมชาย แสวงการ ส.ว.แต่งตั้ง ระบุในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 สองวันหลังการเลือกตั้งว่า ส่วนตัวมีกติกาชัดเจนว่า คนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีวิสัยทัศน์นำพาประเทศไปสู่ความเจริญ ไม่สร้างความขัดแย้ง ไม่สร้างศัตรู หรือเป็นคู่กรณีกับประเทศใด สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งประเทศ และไม่ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองเหมือนต่างชาติ ต้องมีความรอบรู้ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และการบริหารราชการแผ่นดิน  นอกจากนั้นก็มีปัจจัยแวดล้อมที่ต้องพิจารณาด้วย เช่น จะสามารถพาประเทศ ไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้หรือไม่ ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้สมชายยังไม่ได้ระบุออกมาอย่างเปิดเผยว่าจะให้ความเห็นชอบพิธาเป็นนายกหรือไม่ แต่พูดถึงพรรคก้าวไกลว่า

“ส่วนตัวเชื่อว่า พรรคก้าวไกล อาจรวมเสียงได้ไม่ถึง 309 เสียง เพราะยังมีบางพรรคที่มีปัญหา ต้องพิจารณาอีกหลายอย่างประกอบ อย่างเช่น การเสนอแก้ไขมาตรา 112 ที่หลายคนเป็นกังวล ดังนั้นต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะแก้ไขหรือยกเลิก” .

ต่อมาในวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 สมชายยังโพสต์เฟซบุ๊กพูดถึงความเป็นไปได้ที่พรรคก้าวไกลอาจถูกยุบพรรคกรณีที่มีบุคคลภายนอกครอบงำพรรค โดยระบุว่ามีกรณีแชทไลน์หลุดที่มีบุคคลภายนอกที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองสั่งการให้ ส.ส.พรรคก้าวไกลกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งรวมถึงให้ไปประกันตัวคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และสั่งให้ ส.ส.พรรคก้าวไกลเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดย ส.ว.สมชายระบุว่าพรรคการเมืองที่ยินยอมให้บุคคลภายนอกครอบงำให้กรรมการการเลือกตั้งเสนอศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคได้ สมชายยังติดแฮชแทก #กกตรู้หรือยัง ในโพสต์ดังกล่าวด้วย 

เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.แต่งตั้ง กล่าวในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ถึงข้อเรียกร้องให้ ส.ว.ลงคะแนนสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้เสียงอันดับหนึ่งว่า ส.ว.จะพิจารณานโยบายต่างๆ ของพรรคร่วมรัฐบาล ถ้ามีการยกเลิกหรือแก้ไขเรื่องสำคัญอย่างมาตรา 112 ตัวเขาก็ไม่สามารถลงคะแนนให้บุคคลที่พรรคร่วมดังกล่าวเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ใช่เฉพาะพิธา ไม่ว่าเป็นบุคคลใดถ้าไปแตะต้องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ไม่สามารถลงคะแนนให้ได้ เสรีระบุด้วยว่าเท่าที่ฟังเสียง ส.ว.ส่วนใหญ่ก็ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 เพราะถ้าปล่อยให้แก้ไขมาตรา 112 คนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องต่อต้านจนเกิดความขัดแย้งวุ่นวาย  

ตั้งแต่ช่วงหลังวันเลือกตั้งมีกระแสเรียกร้องให้ ส.ว.เคารพเสียงของประชาชนด้วยการลงคะแนนสนับสนุนบุคคลที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้แก่พรรคก้าวไกล ในเวลาต่อมาก็มีประชาชนที่มีจุดยืนคัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคก้าวไกลไปรวมตัวที่รัฐสภาเพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนส.ว.ไม่ให้เลือกนายกรัฐมนตรีที่มีจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยในวันที่ 12 มิถุนายน 2566 เมื่อกลุ่มคณะประชาชนคนรักในหลวงไปรวมตัวที่อาคารรัฐสภาฝั่งวุฒิสภา พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ซึ่งเป็นตัวแทนสมาชิกวุฒิสภาออกมารับหนังสือจากทางกลุ่มได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ตอนหนึ่งว่า

“นายกฯ ต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นคนเก่ง และคนดี ต้องมีสองอย่างนี้คู่กัน ถ้าเก่งแล้วไม่ดีก็ไม่เอา ต้องการทั้งเก่งและดี ทำงานเพื่อประเทศชาติ เพื่อผลประโยชน์ของชาติ ยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

และเมื่อถูกถามถึงข้อเรียกร้องที่ให้ ส.ว.ออกเสียงเลือกนายกตามมติของประชาชนด้วยการเลือกแคนดิเดตนายกของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง พล.อ.อกนิษฐ์ ระบุว่า 

“เราฟังเสียงส่วนใหญ่ ไม่ได้ฟังเสียงที่หนึ่ง ซึ่งการเลือกตั้งชนะอันดับหนึ่งไม่นับว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ และตอนนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองติดต่อมา ส่วนตัวรับฟังทุกพรรค ผมมีเพื่อนอยู่ทุกพรรคไม่ใช่แค่พรรคใดพรรคหนึ่ง”  

ในส่วนของส.ว.ที่เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหมรวมหกคน ก็ได้ประกาศอย่างชัดเจนตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 แล้วว่าเพื่อดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เป็นส.ว.ทั้งหมดจะงดออกเสียง ซึ่งก่อนหน้านี้ในการออกเสียงประเด็นการเมือง ส.ว.ที่เป็น ผบ.เหล่าทัพก็จะงดออกเสียงอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งปี 2562 บุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เป็น ส.ว.ทั้งหมดไม่ได้งดออกเสียงแต่ลงคะแนนสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งหมด

พร้อมน้อมรับมติมหาชน

แม้ ส.ว.บางส่วนจะแสดงออกอย่างชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนพิธาเป็นนายกและบางส่วนแม้จะไม่ได้พูดออกมาอย่างชัดเจนแต่ก็มีแนวโน้มสูงที่จะไม่สนับสนุนพิธาหรือจะลงคะแนนงดออกเสียง แต่ก็มีส.ว.จำนวนหนึ่งที่ประกาศต่อสาธารณะอย่างชัดเจนว่าจะเคารพผลการเลือกตั้งด้วยการสนับสนุนพิธา แคนดิเดตของพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เช่น 

พิศาล มาณวพัฒน์ ส.ว.แต่งตั้ง กล่าวในรายการคมชัดลึกของช่อง The Nation ในวันที่ 5 มิถุนายน 2566 ตอนหนึ่งว่า คิดว่าการแข่งขัน (การเลือกตั้ง) เหมือนฟุตบอล จบแล้วผลชัดเจน กลุ่มที่เป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีแนวทางประชาธิปไตยมีเสียงข้างมาก และได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) เรียบร้อยแล้ว ผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็เป็นฉันทมติที่ประชาชนแสดงออกชัดเจนว่าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ตัวเขาจึงจะเคารพเจตนารมณ์นั้น และจะทำตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ที่กำหนดให้ ส.ส.และส.ว. เป็นผู้แทนของประชาชน ต้องตัดสินใจโดยไม่ถูกครอบงำทางความคิดหรืออาณัติหรืออยู่ภายใต้การครอบงำใดๆ โดยเฉพาะส.ว.ที่ต้องไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดและไม่อยู่ในการครอบงำของบุคคลใด ส.ว.พิศาลยังพูดถึงพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะคนที่แต่งตั้ง ส.ว.ด้วยว่า พล.ประยุทธ์น่าจะเข้าใจและให้เกียรติการตัดสินใจของ ส.ว. ทั้งตัวนายกฯ เองก็พูดเสมอว่าไม่มีสิทธิจะไปบังคับการตัดสินใจของ ส.ว.ได้ 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว.แต่งตั้ง ระบุในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ว่า ส่วนตัวยึดหลักการว่าใครที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง ลงคะแนนให้ไม่ว่าจะเสนอชื่อบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หรืออนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แต่ก็ไม่ทราบว่า ส.ว.คนอื่นๆ จะตัดสินใจอย่างไร วัลลภ ระบุด้วยว่า เขารู้สึกงงกับเสียงเรียกร้องต่างๆ  ที่มีต่อ ส.ว. ก่อนหน้านี้เคยมีเสียงเรียกร้องให้ปิดสวิตซ์ ส.ว. แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ไม่ให้ ส.ว.มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตัวเขาก็เป็นหนึ่งใน 23 ส.ว.ที่ให้ความเห็นชอบประเด็นดังกล่าวแต่แพ้เสียงข้างมาก แล้วมาถึงตอนนี้กลับเรียกร้องให้ ส.ว.ใช้อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ห้ามงดออกเสียง 

วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ส.ว.แต่งตั้ง เขียนจดหมายเปิดผนึกในวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 โดยสรุปได้ว่า การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ลุล่วงไปด้วยดี มีประชาชนทุกช่วงวัยไปใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์ ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ บ่งชี้ว่า พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนนิยมมากที่สุด และมี ส.ส.มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุด ย่อมได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล และหัวหน้าพรรค หรือผู้มีรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ย่อมมีความเหมาะสมที่สุดที่จะได้รับการสนับสนุนให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตัวเขาในฐานะ ส.ว.คนหนึ่ง ขอแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งความสมานฉันท์ในบ้านเมือง และธำรงไว้ซึ่งหลักการตามระบอบประชาธิปไตย และให้สอดคล้องกับฉันทามติของมหาชนที่ไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ส.ว.แต่งตั้ง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว PPTV ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ว่า ตามหลักการต้องให้พรรคอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าไม่เคารพกลไกก็คงไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง ส่วนที่ผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็สะท้อนถึงความอึดอัดกับสภาพการเมืองช่วงในช่วงที่ผ่านมา  นอกจากนั้นซากีย์ก็เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวทูเดย์ในวันที่ 7 มิถุนายนด้วยว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งที่ผ่านมา (ปี 2562) มีกระแสความต้องการปฏิรูป ส.ว.จึงมีฉันทามติในการลงคะแนนเลือกนายกฯ ในทางเดียวกันเพื่อสร้างความมั่นคงและความต่อเนื่องในการบริหารประเทศ แต่ครั้งนี้เมื่อประชาชนได้มีฉันทามติผ่านการเลือกตั้ง ถ้าจะลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยไม่คำนึงถึงที่นั่งในสภาอีกก็คงจะเป็นเรื่องแปลก ในครั้งนี้ก็คงจะต้องออกเสียงเลือกนายกฯ โดยยึดหลักการ 
 

ทั้งนี้ความคิดเห็นที่รวบรวมมาทั้งหมดในที่นี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนหนึ่งเท่าที่ถูกรวบรวมได้ อาจมี ส.ว.อีกหลายๆ ท่านที่เคยออกมาแสดงความเห็นในประเด็นนี้แต่ไม่ได้ถูกรวบรวมไว้ด้วย

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป