ทำความรู้จัก ส.ว. ชุดพิเศษ ที่จะเลือกนายกฯ จากการเลือกตั้ง 66

การเลือกตั้งทั่วไป 2566 เมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 ผ่านพ้นไปแล้ว ผลการเลือกตั้งที่ปรากฏเรียกได้ว่าพลิกโผ เพราะพรรคฝ่ายค้านเดิมในการเลือกตั้ง 2562 กลายเป็นพรรคที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สูงสุดเป็นอันดับที่หนึ่งและอันดับที่สอง จนสามารถรวบรวมเสียงข้างมาก 313 เสียง เพื่อร่วมกันจะจัดตั้งรัฐบาล

การจัดตั้งรัฐบาล ไม่มีกฎหมายใดที่กำหนดระยะเวลาว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลากี่วันหลังวันเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 85 วรรคท้าย ก็กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องประกาศผลเลือกตั้งไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง (ภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566) และมาตรา 121 กำหนดให้ต้องมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก ภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. (ภายในวันที่ 28 กรกฎาคม 2566) หลังการประชุมรัฐสภาครั้งแรก หากเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วเสร็จ ก็จะเป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี เท่ากับว่าหากไม่เหตุการณ์แทรกแซงคนไทยจะได้เห็นหน้าตานายกรัฐมนตรีคนใหม่ ไม่เกินเดือนสิงหาคม 2566

ถึงแม้ความนิยมของสอง ป. ประยุทธ์-ประวิตร บุคคลสำคัญในการรัฐประหาร 2557 จะมีแนวโน้มลดลง จากจำนวน ส.ส. ที่พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส. 40 และพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ ส.ส. 36 คน แต่หมากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้ โดยเฉพาะ “วุฒิสภาชุดพิเศษ” ก็ยังคงอยู่ไปจนถึงกลางปี 2567 นอกจากที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่พิเศษเพราะมาจากการแต่งตั้งแล้ว ส.ว. ชุดนี้ ยังมีอำนาจพิเศษกว่า ส.ว. ในอดีต คือการเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว. ชุดพิเศษ จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลและการกำหนดประมุขฝ่ายบริหาร ก่อนจะไปถึงวันที่ ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ชวนมาทำความรู้จักวุฒิสภาชุดพิเศษ สภาสูงที่เต็มไปด้วยทหาร-ตำรวจ และ “คนหน้าคุ้น” ที่เคยได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งต่างๆ ในยุคคสช.

ที่มา ส.ว. ชุดพิเศษ สรรหาโดย “คนกันเอง” กรรมการสรรหาห้าคนได้เป็น ส.ว. ต่อ

นอกจากอำนาจสุดพิเศษ ที่ ส.ว. สามารถยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ได้ ส.ว. ชุดพิเศษ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 ยังกำหนดให้ ส.ว. มีที่มาแบบพิเศษ สามทางด้วยกัน คือ 

  • กลุ่มแรก 194 คน : มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการที่คสช. แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ประสบการณ์ด้านต่างๆ เป็นกลางทางการเมือง 9-12 คน ทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่ง ส.ว. จำนวนไม่เกิน 400 คน เพื่อให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน และคัดชื่อสำรองอีก 50 คน
  • กลุ่มที่สอง 50 คน : มาจากการเลือกกันเอง โดยให้กกต. ดำเนินการจัดให้มีการเลือก ส.ว. โดยให้ผู้มีความรู้ ประสบการณ์หลายด้าน กลุ่มวิชาชีพ หรือกลุ่มผลประโยชน์ เลือกกันเองให้ได้ 200 คน แล้วนำรายชื่อให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน และคัดชื่อสำรองไว้อีก 50 คน
  • กลุ่มที่สาม หกคน : ส.ว.โดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

โดยคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ชุดพิเศษ กลุ่มแรก 194 คน ที่มาจากการแต่งโดยคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา นั้น ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นคนในคสช. และรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. โดยแต่งตั้งกรรมการ 10 คน ดังนี้ 

1. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ : รองหัวหน้า คสช. และรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

2. พรเพชร วิชิตชลชัย : ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

3. พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร : รองหัวหน้า คสช.

4. พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย : รองหัวหน้า คสช. 

5. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว : รองหัวหน้า คสช.

6. พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง : รองหัวหน้า คสช. และรองนายกรัฐมนตรี

7. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ : รองนายกรัฐมนตรี

8. วิษณุ เครืองาม : รองนายกรัฐมนตรี

9. พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ : รองนายกรัฐมนตรี

10. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา : สมาชิก คสช.

อย่างไรก็ดี ในการประชุม คสช. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 พรเพชร วิชิตชลชัย ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการสรรหา ส.ว. จึงทำให้เหลือกรรมการสรรหาที่ทำงานจริงเพียงเก้าคนเท่านั้น

ทั้งนี้ ในบรรดากรรมการสรรหา ส.ว. ก็มีจำนวนห้าคน ที่ต่อมาได้เลือกตัวเองและถูกแต่งตั้งให้เป็น ส.ว. ชุดพิเศษ ได้แก่ 1) พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย (รองหัวหน้า คสช.) 2) พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว (รองหัวหน้า คสช.) 3) พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง (รองหัวหน้า คสช.) 4) พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ และ 5) พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร

สมาชิก คสช. 6 คน เป็น ส.ว. ชุดพิเศษต่อยาวๆ

นอกจากกรรมการสรรหา ส.ว. ชุดพิเศษ จำนวนถึงหกในเก้า เป็นสมาชิก คสช. แล้ว ใน ส.ว. ชุดพิเศษ ก็ยังมีผู้ที่เคยเป็นสมาชิก คสช. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ส.ว. ด้วย จำนวนทั้งหมดเจ็ดคน โดยจำนวนสามในหกคน เป็นกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ว. เสียเอง และอีกสามคนที่เหลือ คือสมาชิก คสช. คนอื่นๆ

โดย ส.ว. ที่เคยเป็นสมาชิก คสช. มีดังนี้

1) พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย : รองหัวหน้า คสช., กรรมการสรรหา ส.ว., นอกจากนี้ พลเอกเรือ ณรงค์ ยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลประยุทธ์ 1

2) พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร : รองหัวหน้า คสช. พลเอก ธนะศักดิ์ ยังเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในรัฐบาลประยุทธ์ 1 ด้วย

3) พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง : รองหัวหน้า คสช., กรรมการสรรหา ส.ว., พลอากาศเอก ประจิน ยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลประยุทธ์ 1 ด้วย

4) พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร : สมาชิก คสช.

5) พลเอก สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ : สมาชิก คสช.

6)  พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว : รองหัวหน้า คสช., กรรมการสรรหา ส.ว. พลตำรวจเอกอดุลย์ ยังเคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในรัฐบาลประยุทธ์ 1 นอกจากนี้ พลตำรวจเอกอดุลย์ ยังเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2549 ซึ่งเป็นสภาที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่รัฐประหารในปี 2549 แต่งตั้งมาด้วย

ส.ว. 16 คน เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. มาก่อน

หลังการรัฐประหารปี 2557 คสช. ก็ไม่ได้คืนอำนาจให้ประชาชนใช้สิทธิออกเสียงเลือกผู้แทนเพื่อมาเลือกฝ่ายบริหารในทันที ภายในช่วงเวลาที่ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะไม่ปกติ คสช. ก็แต่งตั้งบุคคล 250 คน มาดำรงตำแหน่ง สนช. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 6) ซึ่งนอกจากการพิจารณากฎหมาย สนช. ก็มีอำนาจลงมติเคาะนายกรัฐมนตรีด้วย (รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 19) ซึ่งเมื่อ 21 สิงหาคม 2557 สนช. ก็ลงมติเลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไร้คู่แข่งคนอื่น โดยมี ตวง อันทะไชย สนช. เสนอชื่อพลเอก ประยุทธ์เพียงรายชื่อเดียว

หลังจาก สนช. เลือกพลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้น ก็มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลประยุทธ์ 1 ตามมา โดยมีปรับเปลี่ยน-โยกย้ายรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 1 อยู่ห้าครั้ง โดยรัฐมนตรีบางส่วน ก็เป็นคนใน คสช. เอง บางส่วนก็เป็นคนนอก คสช. ต่อมา ภายหลังการเลือกตั้ง 2562 ส.ว. ชุดพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งในปีเดียวกันถึง 16 คน ก็ได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ว. ชุดพิเศษต่อ กล่าวได้ว่าเปลี่ยนสายงาน จากทำงานฝ่ายบริหาร มาทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาชุดถัดมา

โดยอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ 1 ที่มาเป็น ส.ว. ต่อมีจำนวน 16 คน 

๐ สี่คน เป็นสมาชิกคสช. ด้วย คือ 1) พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย  2) พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร 3) พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง และ 4) พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว

๐ สามคน เคยเป็นสนช. มาก่อน ได้แก่ 1) วีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 2) พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ 3) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งต่อมาถูกโยกย้ายให้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

๐ เก้าคน เป็นรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็นสมาชิก คสช. และไม่ได้เป็นสนช. มาก่อน ได้แก่

1) พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ > รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ > รองนายกรัฐมนตรี

2) หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล : รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี > รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

3) ลักษณ์ วจนานวัช : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

4) วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

5) สมชาย หาญหิรัญ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

6) สุธี มากบุญ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

7) พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน > รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

8) สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ : รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี > รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม > รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

9) อภิรดี ตันตราภรณ์ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ > รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ส.ว. เกินครึ่ง เคยนั่งตำแหน่งสภาแต่งตั้งยุค คสช.

นอกจาก คสช. และครม. ในรัฐบาลประยุทธ์ 1 องคาพยพที่สำคัญในยุคคสช. ยังมีสนช. ซึ่งเป็นสภาแต่งตั้งมาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกสององค์กร ที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมาย “ปฏิรูปประเทศ” ของคสช. ด้วย ได้แก่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  และ สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดย สปท. เป็นองค์กรที่คสช. ตั้งขึ้น หลังจาก สปช. ถูกยุบไป เพื่อสานต่อการปฏิรูปต่อเนื่องจาก สปช.

ส.ว.  จำนวน 16 คน เป็นคนหน้าคุ้นผ่านการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ 1 และบางส่วนก็เป็นสมาชิก คสช. แต่ก็มีส.ว. ชุดพิเศษ จำนวนไม่น้อย ที่เคยมีบทบาทในยุค คสช. ผ่านการดำรงตำแหน่ง สนช. สปช. หรือ สปท. จนแทบจะกล่าวได้ว่า ใน ส.ว. ชุดพิเศษ มีแต่คนหน้าซ้ำหน้าเดิมที่เคยทำงานในองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับ คสช.

โดยในจำนวน ส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน มีส.ว. เกินครึ่ง 132 คน หรือคิดเป็น 52.8% ที่เคยดำรงตำแหน่ง สนช. สปช. และ สปท. โดยบางคนดำรงตำแหน่งเดียว บางคนดำรงตำแหน่งดังกล่าวมากกว่าหนึ่งตำแหน่งขึ้นไป แจกแจงได้ ดังนี้

ส.ว. ที่เคยเป็นสนช.

ใน ส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน มี ส.ว. ถึง 86 คน ที่เคยดำรงตำแหน่งสภาแต่งตั้ง ในยุค คสช. มาก่อน 

ส.ว. 86 คน ที่เคยเป็น สนช. มาก่อน ประกอบด้วย

  1. กรรณภว์ ธนภรรคภวิน
  2. พลตรี กลชัย สุวรรณบูรณ์ : อดีต ส.ว. เลือกตั้ง 2551 จังหวัดชุมพร
  3. กล้านรงค์ จันทิก : อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  (คปค.) ที่ก่อรัฐประหาร 2549 และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550
  4. กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์
  5. กิตติ วะสีนนท์
  6. กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ
  7. พลโท จเรศักณิ์ อานุภาพ
  8. พลเอก จิรพงศ์ วรรณรัตน์
  9. พลเอก จีระศักดิ์ ชมประสพ
  10. นายแพทย์ เจตน์ ศิรธรานนท์ : อดีต ส.ว. สรรหา 2551 และส.ว. สรรหา 2554
  11. เจน นำชัยศิริ
  12. พลเอก ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข
  13. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
  14. พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ : ส.ว. โดยตำแหน่ง (ผบ.สส.)
  15. พลเอก ชยุติ สุวรรณมาศ
  16. พลตำรวจเอก ชัชวาล สุขสมจิตร์ : อดีตรองผบ.ตร.
  17. พลเรือเอก ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร
  18. พลเอก ชาตอุดม ติตถะสิริ : รองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
  19. พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ : ส.ว. โดยตำแหน่ง (ผบ.ทบ.)
  20. พลเอก ดนัย มีชูเวท
  21. พลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง
  22. ตวง อันทะไชย : อดีต สนช. 2549 ส.ว. สรรหา 2551 และส.ว. สรรหา 2554
  23. พลอากาศเอกถาวร มณีพฤกษ์
  24. พลเอก ทวีป เนตรนิยม
  25. พลเอก เทพพงศ์ ทิพยจันทร์
  26. พลเอก ธวัชชัย สมุทรสาคร
  27. ธานี อ่อนละเอียด : อดีตส.ว. สรรหา 2554
  28. พลเอก ธีรเดช มีเพียร
  29. พลเอก นพดล อินทปัญญา
  30. พลเรือเอก นพดล โชคระดา
  31. ศาสตราจารย์ นิสดารก์ เวชยานนท์
  32. พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ : ประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ
  33. พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา : น้องชายพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  34. ปรีชา บัววิรัตน์เลิศ
  35. พลเอก โปฎก บุนนาค
  36. ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย : ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งต่อมาก็ได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภาด้วย ทั้งนี้ พรเพชร ยังเคยเป็นสนช. 2549 และเคยเสนอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อขยายขอบเขตความคุ้มครองไปถึงพระราชโอรส พระราชธิดา องคมนตรี และผู้แทนพระองค์ โดยก่อนจะมาเป็นสนช. และ ส.ว. พรเพชรเคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกามาก่อน
  37. พลเรือเอกพัลลภ ตมิศานนท์
  38. พลเอก พิศณุ พุทธวงศ์
  39. พลเอก พิสิทธิ์ สิทธิสาร : รองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
  40. พีระศักดิ์ พอจิต : รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่สอง
  41. พลเอก ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ
  42. พลเอก ไพโรจน์ พานิชสมัย : อดีตสนช. 2549
  43. ภาณุ อุทัยรัตน์
  44. มณเฑียร บุญตัน : อดีตส.ว. สรรหา 2551 และส.ว. สรรหา 2554
  45. มหรรณพ เดชวิทักษ์ : อดีตส.ว. สรรหา 2554 นอกจากนี้ มหรรณพ ยังเคยเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ในพรรคชาติพัฒนา (สิงหาคม 2546-ตุลาคม 2547) และพรรคไทยรักไทย (ตุลาคม 2547-มกราคม 2548)
  46. พลเอก มารุต ปัชโชตะสิงห์
  47. พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ
  48. ยุทธนา ทัพเจริญ
  49. พลเอก เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์
  50. พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร
  51. พลเอก วลิต โรจนภักดี
  52. วัลลภ ตังคณานุรักษ์
  53. วิทยา ผิวผ่อง
  54. พลเอก วินัย สร้างสุขดี
  55. พลตำรวจโท วิบูลย์ บางท่าไม้
  56. วีระศักดิ์ ฟูตระกูล
  57. พลเอก วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล
  58. ศักดิ์ชัย ธนบุญชัย
  59. พลเรือเอก ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง
  60. พลตำรวจโท ศานิตย์ มหถาวร
  61. พลเรือเอก ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ : อดีตส.ว. สรรหา 2554 และน้องชายพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
  62. พลเอก ศุภรัตน์ พัฒนาวิสุทธิ์
  63. พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์
  64. พลเรือโท สนธยา น้อยฉายา
  65. ศาสตราจารย์พิเศษ สม จาตุศรีพิทักษ์ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และพี่ชายของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ 1
  66. พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม : ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันทิศทางไทย และคณาจารย์สถาบันทิศทางไทย อดีตสนช. 2549 และส.ว. สรรหา 2554
  67. สมชาย แสวงการ : อดีตสนช. 2549, ส.ว. สรรหา 2551 และส.ว. สรรหา 2554
  68. สมบูรณ์ งามลักษณ์
  69. สมพล เกียรติไพบูลย์
  70. พลเอก สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล
  71. สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ
  72. พลเอก สมหมาย เกาฏีระ
  73. พลเอก สสิน ทองภักดี
  74. พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร
  75. สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย : อดีตส.ว. สรรหา 2551 และส.ว. สรรหา 2554
  76. พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์
  77. พลเอก สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์
  78. สุวรรณี สิริเวชชะพันธ์
  79. พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์
  80. พลอากาศเอก อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ
  81. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์
  82. อนุศาสน์ สุวรรณมงคล : อดีตส.ว. เลือกตั้ง 2549, สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550, ส.ว. สรรหา 2551, ส.ว. สรรหา 2554
  83. พลเอก อักษรา เกิดผล
  84. พลโทอำพน ชูประทุม
  85. พลเอก อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์
  86. พลเอก อู้ด เบื้องบน

ส.ว. ที่เคยเป็นสปช.

ส.ว. ชุดพิเศษ มี 28 คน ที่เคยดำรงตำแหน่ง สปช. ดังนี้

  1. คำนูณ สิทธิสมาน : อดีตสนช. 2549, ส.ว. สรรหา 2551, ส.ว. สรรหา 2554 และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย
  2. พันตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา : อดีตเลขาธิการ กกต.
  3. เจน นำชัยศิริ
  4. เฉลิมชัย เฟื่องคอน
  5. พลเอก ธวัชชัย สมุทรสาคร
  6. พลเอก นาวิน ดำริกาญจน์ : คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2557 ชุดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ 
  7. นิพนธ์ นาคสมภพ
  8. นิอาแซ ซีอุเซ็ง
  9. เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
  10. ประภาศรี สุฉันทบุตร
  11. ประมนต์ สุธีวงศ์ : อดีตสนช. 2549
  12. ประสิทธิ์ ปทุมารักษ์
  13. ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ : อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
  14. นายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป : อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
  15. พลเรือเอก พะจุณณ์ ตามประทีป
  16. ไพฑูรย์ หลิมวัฒนา
  17. พันตำรวจตรี ยงยุทธ สาระสมบัติ
  18. พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช : คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2557 ชุดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ 
  19. พลเอก วัฒนา สรรพานิช
  20. วันชัย สอนศิริ : คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง
  21. พลเอก วิชิต ยาทิพย์
  22. วิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร
  23. วีระศักดิ์ ภูครองหิน
  24. ศิรินา ปวโรฬารวิทยา
  25. สมเดช นิลพันธุ์
  26. สังศิต พิริยะรังสรรค์ : สนช. 2549
  27. เสรี สุวรรณภานนท์ : อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2539, สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550, ส.ว. เลือกตั้ง 2543 และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) 
  28. อำพล จินดาวัฒนะ

ส.ว. ที่เคยเป็นสปท. 

ส.ว. จำนวน 37 คน จากจำนวน ส.ว. 250 คน เคยดำรงตำแหน่งสปท. ดังนี้

  1. กษิดิศ อาชวคุณ
  2. กอบกุล อาภากร ณ อยุธยา
  3. คำนูณ สิทธิสมาน
  4. พลอากาศตรี นายแพทย์ เฉลิมชัย เครืองาม : ส.ว. สรรหา 2554
  5. ชาญวิทย์ ผลชีวิน
  6. พลเอก ชูศักดิ์ เมฆสุวรรณ์
  7. นายแพทย์ ณรงค์ สหเมธาพัฒน์
  8. พลตำรวจเอก เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา
  9. พลตำรวจโท ตรีทศ รณฤทธิวิชัย
  10. ร้อยเอก ทินพันธุ์ นาคะตะ : ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
  11. พลเอก ธงชัย สาระสุข
  12. พลเอก ธวัชชัย สมุทรสาคร
  13. ประมนต์ สุธีวงศ์
  14. ร้อยเอก ประยุทธ เสาวคนธ์
  15. ประสิทธิ์ ปทุมารักษ์
  16. ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ
  17. แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์
  18. พลเอก พหล สง่าเนตร 
  19. พลเรือเอก พะจุณณ์ ตามประทีป : อดีตสนช. 2549
  20. ไพฑูรย์ หลิมวัฒนา
  21. พันตำรวจตรี ยงยุทธ สาระสมบัติ
  22. พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช
  23. พลเอก วราห์ บุญญะสิทธิ์
  24. พลเอก วัฒนา สรรพานิช
  25. วันชัย สอนศิริ
  26. พลเอก วิชิต ยาทิพย์
  27. วิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร
  28. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์
  29. สมเดช นิลพันธุ์
  30. พลเอก สราวุฒิ ชลออยู่
  31. พลเอก สสิน ทองภักดี
  32. สังศิต พิริยะรังสรรค์
  33. สุวัฒน์ จิราพันธุ์
  34. เสรี สุวรรณภานนท์
  35. อนุสิษฐ คุณากร
  36. อับดุลฮาลิม มินซาร์
  37. อำพล จินดาวัฒนะ

ในจำนวน ส.ว. ที่เคยเป็น สนช. สปช. สปท. 132 คน มี 18 คน ที่เคยดำรงตำแหน่ง มากกว่าหนึ่งตำแหน่งขึ้นไป ดังนี้

๐ เคยเป็นทั้ง สนช. สปช. สปท. : หนึ่งคน คือ พลเอก ธวัชชัย สมุทรสาคร

๐ เคยเป็น สนช. และ สปช. : หนึ่งคน คือ เจน นำชัยศิริ

๐ เคยเป็น สนช. และ สปท. : หนึ่งคน คือ พลเอก สสิน ทองภักดี

๐ เคยเป็น สปช. และ สปท. 15 คน ได้แก่ 

  1. คำนูณ สิทธิสมาน
  2. ประมนต์ สุธีวงศ์
  3. ประสิทธิ์ ปทุมารักษ์
  4. พะจุณณ์ ตามประทีป
  5. ไพฑูรย์ หลิมวัฒนา
  6. ยงยุทธ สาระสมบัติ
  7. เลิศรัตน์ รัตนวานิช
  8. วัฒนา สรรพานิช
  9. วันชัย สอนศิริ
  10. วิชิต ยาทิพย์
  11. วิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร
  12. สมเดช นิลพันธุ์
  13. สังศิต พิริยะรังสรรค์
  14. เสรี สุวรรณภานนท์
  15. อำพล จินดาวัฒนะ

พี่อยู่มาทุกยุค : 25 ส.ว. ตัวตึงวงการสภาแต่งตั้ง เคยเป็น สนช.-ส.ว. ในอดีตมาก่อน

หากสอดส่องประวัติของ ส.ว. ชุดพิเศษแต่ละคน จะพบว่า ส.ว. หลายคน ไม่ใช่แค่เคยวนเวียนอยู่ในตำแหน่งยุค คสช. เท่านั้น แต่ยังเคยเป็น ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน หรือเคยเป็นสนช. สภาแต่งตั้งจากการรัฐประหารปี 2549

จาก ส.ว. ชุดพิเศษทั้งหมด มี ส.ว. จำนวน 25 คน หรือคิดเป็น 10% ที่เคยเป็น ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญในอดีต หรือเคยเป็นสนช. 2549

โดยรัฐธรรมนูญ 2540 และ รัฐธรรมนูญ 2550 ต่างก็กำหนดที่มาของ ส.ว. แตกต่างกัน และไม่เหมือนในรัฐธรรมนูญ 2560 กล่าวคือ

รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้ ส.ว. มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง (มาตรา 121 และ 122) วุฒิสภามีอายุคราวละหกปีนับแต่วันเลือกตั้ง (มาตรา 130) ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการเลือกตั้ง ส.ว. อยู่สองครั้ง ในปี 2543 และปี 2546

รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ ส.ว. 150 มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน ที่เหลือมาจากการสรรหา (มาตรา 111) โดยสรรหาจากบุคคลที่มีความเหมาะสมจากผู้ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่าง ๆ ในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา (มาตรา 114) โดยกรรมการสรรหา ส.ว. ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกกต. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานป.ป.ช. ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย (มาตรา 113) 

ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีสมาชิกภาพหกปีนับแต่วันเลือกตั้ง และดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระไม่ได้ (มาตรา 117) อย่างไรก็ดี ในบทเฉพาะกาล ก็กำหนดให้ ในวาระเริ่มแรก ส.ว. ที่มาจากการสรรหา มีวาระสามปี (มาตรา 297) ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 จึงมีการสรรหา ส.ว. อยู่สองครั้ง ในปี 2551 และปี 2554

ขณะที่ รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 กำหนดให้ สนช. 250 คน มาจากการแต่งตั้ง (มาตรา 5) ผ่านการสรรหาบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ ในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ จากภูมิภาคต่างๆ

ส.ว.ชุดพิเศษ ที่ผ่านประสบการณ์งานสภามาอย่างโชกโชน เคยดำรงตำแหน่งอดีต ส.ว.-สนช. มาถึงสี่ครั้ง รวมการเป็น สนช. 2557 ได้แก่ อนุศาสน์ สุวรรณมงคล, ตวง อันทะไชย และสมชาย แสวงการ ขณะที่ ส.ว. ที่เหลือ ต่างก็ผ่านประสบการณ์มาก-น้อย แตกต่างกันไป ข้อมูลตามตารางด้านล่าง

ส.ว.ชุดพิเศษส.ว. เลือกตั้ง 2543ส.ว. เลือกตั้ง 2549สนช. 2549ส.ว. สรรหา 2551ส.ว. สรรหา 2554สนช. 2557
1. เสรี สุวรรณภานนท์/     
2. อมร นิลเปรม/     
3. เพ็ญพักตร์ ศรีทอง /    
4. อนุศาสน์ สุวรรณมงคล / ///
5. คำนูณ สิทธิสมาน  /// 
6. ชลิต แก้วจินดา  //  
7. ตวง อันทะไชย  ////
8. ประมนต์ สุธีวงศ์  /   
9. พรเพชร วิชิตชลชัย  /  /
10. พะจุณณ์ ตามประทีป  /   
11. ไพโรจน์ พานิชสมัย  /  /
12. สนั่น มะเริงสิทธิ์  /   
13. สมเจตน์ บุญถนอม  / //
14. สมชาย แสวงการ  ////
15. สังศิต พิริยะรังสรรค์  /   
16. อดุลย์ แสงสิงแก้ว  /   
17. มณเฑียร บุญตัน   ///
18. สมบูรณ์ งามลักษณ์   / /
19. สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย   ///
20. สุรเดช จิรัฐิติเจริญ   /  
21. เฉลิมชัย เครืองาม    / 
22. ธานี อ่อนละเอียด    //
23. ปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์    / 
24. มหรรณพ เดชวิทักษ์    //
25. ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ    //

ทหาร-ตำรวจ เพียบ! ส.ว. ติดยศ “พลเอก ” อยู่ในสภา 81 คน

หากสำรวจภูมิหลังของ ส.ว. ชุดพิเศษ ผ่าน “ยศ” ที่นำหน้านาม ส.ว. แต่ละคน จะพบว่า ในบรรดา ส.ว. 250 คน ติดยศทหาร-ตำรวจ ถึง 103 คน หรือคิดเป็น 41.2% โดยในจำนวนดังกล่าว ส.ว. ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ติดยศทางทหารถึง 88 คน หรือคิดเป็น 35.20% โดยยศสุดฮิต มีจำนวนส.ว. ติดยศทางทหารมากสุด คือ “พลเอก” (กองทัพบก) จำนวนถึง 65 คน 26% ตามมาด้วยยศพลเรือเอก 10 คน และยศพลอากาศเอกหกคน รวมผู้ที่ติดยศสูงสุดจากสามเหล่าทัพ พลเอก-พลเรือเอก-พลอากาศเอก มีจำนวนทั้งสิ้น 81 คน คิดเป็น 32.4% จากจำนวน ส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน

ส.ว. ที่ติดยศทหารจำนวน (คน)
รวม88
พลเอก65
พลเรือเอก10
พลอากาศเอก6
พลโท2
พลเรือโท1
พลตรี2
ร้อยเอก2
ส.ว. ที่ติดยศตำรวจจำนวน (คน)
รวม15
พลตำรวจเอก4
พลตำรวจโท7
พลตำรวจตรี1
พันตำรวจเอก2
พันตำรวจตรี1

ขณะที่ผู้ติดยศตำรวจมีเพียง 15 คน หรือคิดเป็น 6% เท่านั้น และในจำนวน ส.ว. ที่มียศทหาร-ตำรวจ 103 คน ก็มีจำนวนหกคน ที่เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง เท่ากับว่าทำงานอย่างน้อยสองงาน และรับเงินเดือนอย่างน้อยสองทางด้วย โดยข้อมูลถึงเดือนมิถุนายน 2566 มี ส.ว. โดยตำแหน่งหกคน ดังนี้

1. ปลัดกระทรวงกลาโหม : พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์

2. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) : พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์

3. ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) : พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้

4. ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) : พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์

5. ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) : พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ

6. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) : พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์

ทั้งนี้ มีส.ว. บางราย ที่มียศทางทหารนำหน้าไว้ แต่ไม่ได้ประกอบอาชีพในกองทัพ เช่น พลอากาศตรี นายแพทย์ เฉลิมชัย เครืองาม ที่ศึกษาแพทยศาสตร์และประกอบอาชีพเป็นแพทย์ด้านระบบประสาทและสมอง แต่ก็เคยศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ กองทัพอากาศ โดยกรณีของเฉลิมชัย ไม่ถูกนับอยู่ใน ส.ว. 103 คนข้างต้น เพราะไม่ได้มีประวัติว่าประกอบอาชีพทหาร-ตำรวจ

น้อง-พี่-ที่รัก 4 ส.ว. พี่น้อง คสช.-รมต. รัฐบาลประยุทธ์ 

ในกลุ่ม ส.ว. ชุดพิเศษ แม้บางส่วนจะดู “หน้าคุ้น” ผ่านการดำรงตำแหน่งในวงการเมืองหลายตำแหน่ง หรือบางคนอาจจะเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาผ่านบทบาทในสภา การอภิปราย แต่ในจำนวน ส.ว. 250 คน ก็มี ส.ว. สี่คนที่ไม่เพียงแค่โดดเด่น หรือมีภาพจำจากการกระทำของตนเองเท่านั้น แต่ “นามสกุล” ยังเหมือนกับสมาชิก คสช. หรือรัฐมนตรีในรัฐบาลที่นำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยจำนวนสามในสี่คนนั้น ยังมีพี่ชาย-น้องชาย เป็นกรรมการสรรหา ส.ว. ด้วย

คนแรก พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา : น้องชาย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.

นอกจากสังคมจะจดจำพลเอก ปรีชา ในฐานะน้องชายพลเอก ประยุทธ์ อีกหนึ่งภาพจำที่เกี่ยวกับปรีชา คือ “ขาดประชุมบ่อย” ในขณะที่ปรีชา ดำรงตำแหน่งเป็น สนช. ในยุค คสช. นั้น ในไตรมาสแรกของปี 2559 ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2559 จากจำนวนการลงมติ 250 ครั้ง พลเอก ปรีชา มาลงมติเพียงห้าครั้ง และในไตรมาสที่สองของปี 2559 ตั้งแต่ 1 เมษายน – 29 มิถุนายน มีการลงมติ 203 ครั้ง แต่พลเอก ปรีชา มาลงมติเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น 

ก่อนจะมาเป็น สนช. และ ส.ว. พลเอก ปรีชา รับราชการทหารเหมือนพี่ชาย เคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 3 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และปลัดกระทรวงกลาโหม ตามลำดับ

คนที่สอง พลเรือเอก ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ : น้องชายพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. รองนายกรัฐมนตรี และกรรมการสรรหา ส.ว.

พลเรือเอก ศิษฐวัชร เคยเป็น สนช. และ ส.ว. สรรหา 2554 ก่อนเข้ามามีบทบาทในแวดวงการเมือง ศิษฐวัชรปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพเรือเป็นหลัก เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เคยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ หลังจากนั้นบทบาทก็เปลี่ยนมาเป็นที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และเข้าร่วมเป็นราชองค์รักษ์ ในปี 2548  เกษียณอายุราชการ ในปี 2550

คนที่สาม พลอากาศตรี นายแพทย์ เฉลิมชัย เครืองาม : น้องชาย วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. รองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลประยุทธ์ 1 และ 2 และกรรมการสรรหา ส.ว.

หากดูประวัติการศึกษาและการทำงานในอดีต จะเห็นได้ว่า เส้นทางอาชีพของเฉลิมชัยไม่เหมือนพี่ชายของเขานัก โดยเฉลิมชัยจบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหิดล และทำงานเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง ประสาทวิทยา อย่างไรก็ดี นอกจากคุณวุฒิด้านแพทยศาสตร์ เฉลิมชัยก็มีคุณวุฒิด้านอื่น โดยเขาเคยศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ กองทัพอากาศด้วย

เฉลิมชัย เข้าสู่เส้นทางการเมืองผ่านการเป็น ส.ว. สรรหา ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ภายหลังการรัฐประหาร 2557 เขายังคงมีบทบาทผ่านการเป็นหนึ่งใน สปท. และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ส.ว. ชุดพิเศษด้วย 

คนที่สี่ ศาสตราจารย์พิเศษ สม จาตุศรีพิทักษ์ : พี่ชาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช. รองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลประยุทธ์ 1 และ 2 และกรรมการสรรหา ส.ว.

สม เคยเป็นประธานสมาคมธนาคารไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หลังการรัฐประหาร เขาได้ดำรงตำแหน่ง สนช. และได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งใน ส.ว. ชุดพิเศษ  

ครบห้าปีส.ว. ชุดพิเศษ พ.ค. 67 แต่ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อระหว่างรอ ส.ว. ชุดใหม่

วุฒิสภา ชุดพิเศษ มีอายุห้าปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง โดยการแต่งตั้งวุฒิสภาชุดพิเศษ มีผลในวันที่ 11 พฤษภาคม 2562 ตั้งแต่มีการแต่งตั้งวุฒิสภาชุดพิเศษ ในปี 2562 ก็มี ส.ว. บางส่วนที่พ้นจากตำแหน่งไป และผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองก็เข้ามาดำรงตำแหน่ง ด้าน ส.ว. โดยตำแหน่ง ก็มีผู้ที่เกษียณอายุราชการ คนที่ดำรงตำแหน่งนั้นๆ คนต่อไป จึงได้มาเป็น ส.ว. อย่างไรก็ดี แม้เชิงปัจเจกจะมีจำนวนคนเปลี่ยนแปลงไปในบางช่วง แต่อายุห้าปีของวุฒิสภาชุดนี้ เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269 (4)) ดังนั้น อายุของวุฒิสภาชุดพิเศษ ที่มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็จะไปครบห้าปีในเดือนพฤษภาคม 2567 

เมื่ออายุของวุฒิสภาชุดพิเศษครบรอบห้าปี จึงจะดำเนินการเลือกวุฒิสภาชุดใหม่ 200 คน ที่มาจากการเลือกกันเองได้ (มาตรา 269 (6))  โดยระหว่างที่กระบวนคัดเลือก ส.ว. ชุดใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ ส.ว. ชุดพิเศษก็จะยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป (มาตรา 269 (6) ประกอบ มาตรา 109 วรรคสาม)

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น