กิตติศักดิ์ย้ำ ประชาชนต้องให้เกียรติ ส.ว. เลือกนายกฯ “ประชาชนเลือกท่านมา ประชาชนก็เลือก ส.ว. มา 16 ล้านคน ต้องให้เกียรติกัน”

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘เข้มข่าวค่ำ’ ช่อง PPTV HD ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ตอบคำถามนักข่าวว่ากลัวประชาชนโกรธแค้นหรือไม่ โดยอ้างว่า ส.ว. มาจากการลงประชามติของประชาชน 16 ล้านคนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การทำประชามติปี 2559 ก็ไม่ใช่การลงประชามติตามปกติ แต่เป็นหนึ่งในประชามติที่มีปัญหาด้านความชอบธรรมมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

คำถามประชามติในปี 2559 ถูกร่างโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ระบุว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

อย่างไรก็ตาม ทั้ง สนช. และ ส.ว. ต่างมีที่มาจาก ‘น้ำบ่อเดียวกัน’ คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ก่อการในปี 2557 การแต่งตั้งผู้ที่จะมีสิทธิเลือกตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วสร้างความชอบธรรมในการยกอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนให้ จึงนำมาสู่ปัญหาด้านความมีส่วนได้ส่วนเสีย (Conflict of Interests) อย่างชัดเจน

ต่อมา คำถามประชามติดังกล่าวถูกท้วงติงว่ามีความยาวมากเกินไป ซึ่งมีลักษณะของการชักนำให้ประชาชนตอบคำถามไปในทิศทางที่คนร่างคำถามต้องการ เช่น “เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศ” หรือ “เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง” เป็นต้น

52901401999_85567af6cb_h

คำถามนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ใช้ภาษาที่จงใจเบี่ยงสาระสำคัญออกไปโดยพยายามให้ประชาชนไม่เข้าใจว่าคำถามนี้ถามว่า “เห็นด้วยหรือไม่ ที่ ส.ว. จากการแต่งตั้ง จะมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.”

คำถามนี้ทำให้ ส.ว. มีอำนาจตามบทเฉพาะกาลถึงห้าปี จึงทำให้แม้จะมีการเลือกตั้งไปแล้วในปี 2562 ส.ว. ก็ยังสามารถ ‘ช่วย’ เลือกนายกรัฐมนตรี มีอำนาจกำหนดทิศทางรัฐบาลได้อยู่แม้ คสช. จะยุติบทบาทไปแล้วก็ตาม

ปัจจัยที่ทำให้สังคมปัจจุบันไม่พอใจอย่างยิ่งต่อประชามติปี 2559 คือ บรรยากาศการรณรงค์ประชามติไม่มีความเสรีและเป็นธรรม เนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 หรือ พ.ร.บ. ประชามติฯ ที่มาตรา 61 ระบุว่า ผู้แสดงความคิดเห็นอย่าง “ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่” มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี บรรยากาศความกลัวเช่นนี้ทำให้ไม่มีใครรู้ว่าจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้มากน้อยเพียงใด

หลังกฎหมายบังคับใช้ มีกิจกรรมสาธารณะเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ถูกปิดกั้นอย่างน้อย 19 ครั้ง  มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและถูกจับกุมดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ 64 ราย

ในขณะเดียวกัน กระบวนการจัดทำประชามติ ยังดำเนินไปภายใต้การบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 เรื่องการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชน, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นพร้อมกับกระบวนการยุติธรรมที่ทหารเข้ามามีส่วนร่วมในการจับกุม การสอบสวน และการใช้ศาลทหารดำเนินคดีพลเรือน ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมโดยสงบเกี่ยวกับกระบวนการประชามติ ด้วยข้อหาต่างๆ

ดังนั้น การให้เกียรติ ส.ว. เนื่องจากผ่านการเลือกโดยประชาชนผ่านประชามติปี 2559 ตามที่กิตติศักดิ์ระบุไว้ข้างต้นจึงปัญหาความชอบธรรมในการเลือกนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตยที่เสรี

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป