เหตุผล ส.ว.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญประชาชน และไม่ตัดอำนาจเลือกนายกฯ

วันที่ 6 กันยายน 2565 รัฐสภามีวาระประชุมร่วมสองสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เสนอโดย สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง และคณะ หรือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับตัดอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีสาระสำคัญ คือให้ยกเลิกความในวรรคแรกของมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ในช่วงห้าปีนับจากมีสภาชุดแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 การให้ความเห็นชอบบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้เป็นการประชุมร่วมของทั้งสองสภา 

หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทันภายในระยะของรัฐสภาชุดนี้ก็อาจส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีเฉพาะ ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นผู้ให้ความเห็นชอบบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ตัดอำนาจ ส.ว.ไม่ง่ายต้องได้เสีย ส.ว. 84คน

อย่างไรก็ตามการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญก็อาจไม่ได้ทำง่ายนักเพราะตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (3) กำหนดว่าการให้ความเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรก ขั้นรับหลักการ นอกจากจะต้องได้รับเสียงให้ความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่ประชุมร่วมทั้งสองสภาแล้ว ยังต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ด้วย หรือประมาณ 84คน ดังนั้นจึงอาจเป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังให้ ส.ว.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาตัดอำนาจของตัวเองครบจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด 

ร่างรัฐธรรมนูญประชาชน 2 ฉบับ ไม่ผ่าน ส.ว.

ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะมีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ภาคประชาชนเคยเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาแล้วสองฉบับ ทั้งนี้ทั้งสองฉบับยังเสนอไม่ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ด้วย​

ฉบับแรก ในปี 2563 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยเครือข่ายภาคประชาชน ฉบับ “รื้อ สร้าง ร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น ให้ยกเลิกช่องทางเสนอนายกคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ให้แก้ไขที่มา ส.ว.มาจากการเลือกตั้งรวมทั้งการตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือก นายกฯ 

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ “รื้อ สร้าง ร่างรัฐธรรมนูญ” พร้อมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สนับสนุนร่าง 100,732 รายชื่อ ถูกรัฐสภาลงมติ วันที่ 18 พฤศจิกายน ผลปรากฏว่ารัฐสภามีมติ ไม่รับหลักการในวาระที่หนึ่ง โดยมีสมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างนี้ 212 เสียง ไม่เห็นชอบ 139 เสียง งดออกเสียง 369 เสียง โดยมี ส.ว.ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพียงสามเสียงเท่านั้น คือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, พิศาล มาณวพัฒน์ และ พีระศักดิ์ พอจิต

ฉบับที่สอง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ Resolution ในปี 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น ให้ยกเลิกวุฒิสภาเหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎร ให้กำหนดที่มานายกรัฐมนตรีให้ชัดเจนว่าต้องมาจาก ส.ส.และให้และประชาชนยื่นแก้ไขกฎหมายได้โดยไม่จำกัดประเภทและไม่จำกัดหมวด 

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้พร้อมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สนับสนุนร่าง 150,921 รายชื่อ ถูกรัฐสภาลงมติ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งผลปรากฏว่ารัฐสภามีมติ ไม่รับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ Resolution ในวาระที่หนึ่ง โดยมีสมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างนี้ 206 เสียง ไม่เห็นชอบ 473 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง โดยมี ส.ว.ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพียงสามเสียงเท่านั้น คือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, พิศาล มาณวพัฒน์ และ มณเฑียร บุญตัน

5 เหตุผล ส.ว. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

1) ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เหตุผลหนึ่งของการอภิปรายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนของ ส.ว. คือ การที่ร่างรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่น ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ Resolution ซึ่งเสนอให้ยกเลิก ส.ว. ว่า 

“…การที่มีหลายประเทศใช้สภาเดี่ยวก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยต้องใช้สภาเดี่ยว แต่ละประเทศก็จะมีบริบทของประเทศนั้นๆ ของไทยก็มีบริบทที่ไม่เหมือนใครในโลกนี้ เรามีปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น คือ ปัญหาจากการใช้อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร…”

“บริบทไทยก็คือ ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข … บริบทไทยอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือพรรคการเมืองของเรายังไม่พัฒนาเป็นพรรคการเมืองของประชาชน … พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งไม่ได้ให้ความสนใจกับเงินของสมาชิกที่จะทำให้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของพรรค ต้องใช้เงินของผู้บริหารพรรค ทำให้รัฐสภาของเราไม่ได้เป็นไปตามหลักการ”

เช่นเดียวกันกับ สมชาย แสวงการ ที่อภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเขาอภิปรายตอนหนึ่งว่า     

“…รัฐธรรมนูญแต่ละประเทศออกแบบตามประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ เราลอกบางอย่าง เอาสิ่งที่ดีมาใช้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเอาเสื้อสูทมาใส่แล้วไปทำนา ไม่ได้หมายความว่าเรากินแฮมเบอร์เกอร์กับปลาร้าทุกวัน สิ่งเหล่านี้เป็นการเอาสิ่งที่ดีของรัฐธรรมนูญของหลายประเทศมาศึกษา…”

2) รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนขึ้นจากปัญหาก่อนรัฐประหาร 2557

เหตุผลของการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชน อีกหนึ่งเหตุผลคือ รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีแล้ว และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐธรรมนูญจากเผด็จการเพราะมาจาก คสช. เท่านั้น โดย ถวิล เปลี่ยนศรี https://www.youtube.com/watch?v=nh4hchqDuuo เคยอภิปรายเหตุผลเช่นนี้ตอนร่าง รัฐธรรมนูญฉบับ “รื้อ สร้าง ร่างรัฐธรรมนูญ” ว่า

“รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้สร้างขึ้นมาเปล่า ๆ แต่เขียนขึ้นจากปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ย้อนไประหว่างปี 2554 – 2557 ก่อนการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม บ้านเมืองของเราได้เกิดวิกฤตอะไรขึ้นบ้าง บ้านเมืองเสียหายยับเยินจากการโกงกิน คอร์รัปชั่นและการลุอำนาจจากเสียงข้างมากในสภาอย่างไรบ้าง รัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างจากปมปัญหาที่แย่ ๆ ของบ้านเมืองในขณะนั้น … สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นของดีของประชาชน ของประเทศ แต่มันอาจจะเป็นของแสลงของนักการเมือง นักเลือกตั้งที่ไม่ดี เพียงแต่มันถูกปิดฉลากว่ามาจากเผด็จการ มาจาก คสช. แล้วก็ถูกตัดสินไปแล้วว่าไม่ดี…”

คล้ายกันกับ วันชัย สอนศิริ อภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับ Resolutionโดยแสดงความเห็นไปที่ประเด็นความไม่เหมาะสมของร่างรัฐธรรมนูญกับสถานการณ์ของประเทศ โดยอภิปรายตอนหนึ่งว่า

“ผู้เสนอร่างนี้ … มองบริบททางการเมืองอุดมการณ์เกินจริง ไม่ใช่บริบทที่เป็นอยู่ในขณะนี้ การมองผู้มาจากการเลือกตั้ง เช่น อบจ. อบต. ว่าดี เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เห็นด้วยว่าผู้มาจากการเลือกตั้งต้องเป็นใหญ่ แต่ต้องมองให้รอบด้าน บริบทสังคมการเมืองไทยไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างในอุดมการณ์ ยังมีการกล่าวหากันอยู่ว่าบางคนมาจากอิทธิพล มาจากเงินทอง มาจากอำนาจ มาจากธุรกิจการเมือง”
 
“อีกชุดความคิดหนึ่งว่าคนที่ทำปฏิวัติรัฐประหาร เป็นคนเลว เป็นคนชั่ว ต้องไม่ให้มีที่ยืนนั้นตนเห็นด้วยว่าอยู่ ๆ จะลากปืนลากรถถังมารัฐประหารก็ไม่ได้ แต่ต้องดูมูลเหตุของการปฏิวัติรัฐประหารด้วย แต่สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่อย่างที่เป็น เหตุใดทำไมต้องปฏิวัติ เห็นว่าถ้าการเมืองเราเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ ถ้าไม่มีการแสวงหาประโยชน์  ถ้าคนใช้อำนาจอย่างสุจริตบริสุทธิ์จริงทหารที่ไหนจะกล้าปฏิวัติ”

3) รัฐธรรมนูญเผด็จการที่ซ่อนมาในคราบประชาธิปไตยอันตรายกว่า

อีกเหตุผลหนึ่งที่ ส.ว. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนคือ การเชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตยก็อาจเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการก็ได้ โดย ถวิล เปลี่ยนสี ได้อภิปรายประเด็นนี้ทั้งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “รื้อ สร้าง ร่างรัฐธรรมนูญ” และร่างรัฐธรรมนูญฉบับ Resolutionซึ่งครั้งแรกถวิลอภิปรายว่า

“รัฐธรรมนูญย่อมแก้ได้ เหมือนสิ่งอื่นๆ ทั่วไปในโลกที่เมื่อถึงเวลาหนึ่ง … ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพียงแต่ว่าขอให้ท่านมีทัศนคติที่ดี การที่จะแก้ไขอะไร ดีก็เก็บไว้ อะไรไม่เสียก็อย่าไปแก้ กรุณาอย่าตัดสินสินค้ากันด้วยฉลากที่ปิดข้าง ๆ เท่านั้น ไม่ใช่ว่า รัฐธรรมนูญนี้พอเห็นว่าเป็นผลผลิตของ คสช. ก็ตั้งข้อรังเกียจไว้ก่อนว่าเป็นเผด็จการ เป็นสิ่งที่ไม่ดี … เราตั้งอคติไปโดยไม่ดูเนื้อสาระซึ่งอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น และหลายครั้งเผด็จการที่ซ่อนมาในคราบของประชาธิปไตยอาจจะเจ็บแสบ ชั่วร้ายและน่ากลัว รวมทั้งระวังยาก สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติได้มากกว่าด้วยซ้ำไป”

ครั้งต่อมาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ Resolution​ ถวิล อภิปรายตอนหนึ่งว่า

“…เหตุผลว่า วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยจึงต้องยกเลิกไปให้เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎร การให้เหตุผลดังนี้ผมคิดว่าเป็นตรรกะที่แปลก เหมารวม กำกวม ไม่มีเหตุผลรองรับที่ดี…”

“หลักการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่สภาเดียว ล้มเหลวมาแล้วทั้งในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย เป็นการเดินถอยหลังในเรื่องการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ เพราะระบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่สภานิติบัญญัติแห่งเดียว กลไกขับเคลื่อนฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะมาที่เดียวกัน คือพรรคการเมืองที่มาจากเสียงข้างมาก หรือพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาจะเป็นฝ่ายควบคุมฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ”

“ท่านปฏิเสธและรังเกียจเผด็จการยึดอำนาจ แต่ร่างที่ท่านเสนอกำลังจะสร้างเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมา ท่านรังเกียจปีศาจตนหนึ่ง แต่ท่านกำลังเห็นดีเห็นงามกับปีศาจอีกตนหนึ่ง กลับเชิดชูกับเผด็จการอีกรูปหนึ่งนั้น คือ เผด็จการรัฐสภา หรือ เผด็จการโดยสภาผู้แทนราษฎร ท่านอาจจะแย้งผมว่า ถ้าเป็นเผด็จการแต่ก็เป็นเผด็จการที่มาจากประชาชน หรือ ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาซึ่งดูดีมาก”

4) ไม่มีข้อห้ามแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์

การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจากภาคประชาชนครั้งแรก คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “รื้อ สร้าง ร่างรัฐธรรมนูญ” มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยการตั้ง สสร. ทำให้ ส.ว.ส่วนหนึ่งที่ไม่ต้องการให้แก้ไขหมวด 1 ทั่วไป และ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ อภิปรายไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแก้ไขนี้ เช่น เสรี สุวรรณภานนท์ อภิปรายตอนหนึ่งว่า

“ร่างรัฐธรรมนูญ … เสนอแก้ไขทุกเรื่อง แล้วสมาชิกรัฐสภาก็เป็นห่วง ว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน มีการแสดงออกในทางสาธารณะ มีการจาบจ้วงสถาบัน มีการต้องการปฏิรูปสถาบัน … ใครเห็นก็กังวลใจว่าเป็นเรื่องล้มล้าง เพราะฉะนั้นสมาชิกรัฐสภาเขาจึงเสนอสองร่างให้มี สสร. มีความชัดเจนว่าไม่แตะหมวดหนึ่งหมวดสอง แต่ในร่างของไอลอว์เสนอไปในทางที่แก้ไขได้ทั้งหมด ถ้าเป็นลักษณะนี้เราต้องคำนึงว่าคนที่มาแสดงความเห็นไม่ใช่กลุ่มเดียว อีกกลุ่มเขาก็มาแสดงออกว่าต้องการปกป้องสถาบัน ไม่ต้องการใส่รายละเอียดแก้ไขเรื่องเหล่านี้ …”

อีกคนหนึ่งคือ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ อภิปรายแสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นนี้ ตอนหนึ่งว่า

“ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์นั้น หมกเม็ด ซ่อนอาวุธลับไว้เยอะแยะมากมาย ปิดประตูแต่ไม่ใส่กลอน ยกตัวออย่างเช่น … หมวดพระมหากษัตริย์ หมายความว่าอย่างไรครับ จะเข้าบ้านเมื่อไหร่ก็ได้ จะแก้ไขเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะฉะนั้นเนี่ย ท่านหลอกใครหลอกได้ แต่สภาแห่งนี้เป็นสภาที่พิจารณากฎหมาย เพราะฉะนั้นเจตนาเรามองออกว่า ไอลอว์นั้นมีความคิดที่จะช่วยเหลือหรือต้องการที่จะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนเช่นม็อบ”

5) มีผู้อยู่เบื้องหลังและไม่เชื่อมั่นร่างประชาชน

เหตุผลสุดท้ายที่ ส.ว.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน คือ เชื่อว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังและไม่เชื่อมั่นร่างประชาชน เช่น

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ อภิปรายแสดงความกังวลเกี่ยวกับตัวแทนประชาชนที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งว่า 

“แหล่งทุนที่ไอลอว์รับมาจากต่างชาติ มาจากแหล่งเดียวกับม็อบฮ่องกง ฮ่องกงเป็นอย่างไรครับ และเรียนตามตรงว่าไอลอว์นั้นตีคู่ขนานมากับม็อบ กล้ายืนยัน เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าการนำเสนอไม่ว่าสิบข้อ ตรงกันกับนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิและม็อบที่ก่อความวุ่นวายทุกวันนี้ …”

ขณะที่เสรี สุวรรณภานนท์ อภิปรายคล้ายกันว่า

“ข้อเสนอของไอลอว์ถ้าดูในหลักการ ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ ยกเลิกการแต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิกการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ยกเลิกองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยกเลิกส.ว.ไปแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่องบ้านเมือง เกี่ยวกับความมั่นคงทั้งนั้น ผมอาจเป็นคนรุ่นเก่า ก็เกิดมาผ่านเหตุการณ์มาเยอะแยะ องค์กรที่ให้เงินไอลอว์ ถ้าเป็นองค์กรทั่วไปไม่เป็นไร แต่เป็นองค์กรที่เคยสร้างความเสียหายให้ประเทศไทยมาแล้ว … ช่วงประมาณปี 2540 – 2541 ประเทศไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ถูกแทรกแซงค่าเงินบาท … องค์กรเหล่านี้สร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศไทยในช่วงปี 2540 ที่ผ่านมา พอท่านไปรับเงินพวกนี้มาเขาก็มองดูว่าไม่ดีแล้ว แล้วองค์กรนี้ก็ไปแทรกแซงประเทศอื่นๆ จนเขาเดือดร้อนกันไปทั่วโลก”

นอกจากนี้ เสรี สุวรรณภานนท์ ยังอภิปรายด้วยความเข้าใจผิดและไม่มั่นใจในกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนด้วยว่า

“ผมมีคำถามว่ารายชื่อที่ท่านนำมาเสนอ ที่บอกว่าเป็นร่างของประชาชน เขามาลงชื่อต่อหน้าท่านหรือเปล่า ถ้าลงชื่อต่อหน้าท่านอีกส่วนอยู่ในอินเทอร์เน็ตจำนวนต้องมากกว่านี้ แสดงว่าแสนกว่าชื่อที่ท่านหยิบมาประกอบว่าเป็นร่างของประชาชน เป็นการสมัครลงบนอินเทอร์เน็ต ผมไม่รู้ อาจมีบางส่วนท่านไปตั้งโต๊ะ บางส่วนลงบนอินเทอร์เน็ต การลงบนอินเทอร์เน็ตใครก็ลงได้”

“ผมไม่อยากให้ใช้คำว่าร่างประชาชน … จนคนทั้งประเทศเข้าใจว่ารัฐสภาไม่เอาร่างของประชาชน ไม่ใช่นะครับ เราพูดด้วยเหตุผล เราไม่รับเพราะร่างที่ท่านเสนอมาทำให้ประเทศเสียหาย ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศก็จะได้รับผลกระทบตามมา”

“3 เหตุผล ส.ว. ค้านตัดอำนาจเลือกนายกฯ”

1) ส.ว.ต้องดูแลการปฏิรูปประเทศและความสงบเรียบร้อย

บทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของ ส.ว. คือการปฏิรูปประเทศซึ่งอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีคือส่วนหนึ่งของการทำให้การปฏิรูปประเทศมีความต่อเนื่อง ดังที่ปรากฎในคำถามพ่วงประชามติ นอกจากนี้ กิตติศักดิ์​ รัตนวราหะ ยังให้เหตุผลว่าการที่ ส.ว.ยังต้องมีอำนาจเลือกนายกฯ เนื่องจาก “เรามีส่วนรับผิดชอบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เราดูแล้วว่าถ้าหากเราบ้านเมืองเราสงบเรียบร้อยโดยปราศจากความรุนแรงได้ในอนาคตอันใกล้เราก็จะไม่ต้องคง มาตรา 272 ไว้ แต่ในขณะนี้เราค่อนข้างจะเห็นตรงกันว่า จำเป็นจะต้องเอามาตรา 272 ไว้ เพราะต้องยอมรับว่าการเมืองไม่ปกติ”

2)  อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ มาจากประชามติ

เหตุผลสำคัญที่ ส.ว.มักอาจเพื่อสร้างความชอบธรรมของตัวเองในการเลือกนายกรัฐมนตรีคือ การอ้างผลการออกเสียงประชามติเมื่อปี 2559ที่ผลการลงประชามติให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ได้ ท่ามกลางข้อเท็จที่ทราบกันดีว่าการออกเสียงประชามติครั้งนี้เต็มด้วยความไม่บริสุทธิ์และยุติธรรม โดย สมชาย แสวงการ เคยกล่าวว่า

“ส.ว. ทำผิดอะไรที่จะมาปิดสวิตช์อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ เพราะตามบทเฉพาะการของรัฐธรรมนูญก็ผ่านความเห็นชอบมาจากประชาชนในการจัดทำประชามติ … การไม่ให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ต้องเป็นไปโดยความเห็นพ้องต้องกัน รัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติมา ต้องเคารพเสียงประชาชน จะแก้ได้ก็ต้องเป็นความเห็นพ้องต้องกัน

3) ส.ว.อยู่เพียง 5 ปี และไม่มีสิทธิเสนอชื่อ นายกฯ

อีกหนึ่งเหตุผลที่ ส.ว. มักใช้อ้างในการไม่ให้ใครตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ คือ วาระในการดำรงตำแหน่งของ ส.ว.แต่งตั้งจาก คสช. มีอยู่แค่ 5 ปีเท่านั้น กล่าวคืออำนาจเลือกนายกฯ ของ ส.ว.ชุดนี้จะหมดสิ้นไปในราวปี 2567 นอกจากนี้ ส.ว.ยังมองว่าตัวเองแม้จะมีสิทธิเลือกนายกฯ แต่คนเสนอชื่อนายกฯ คือ ส.ส. ดังนั้นถ้า ส.ส.เห็นร่วมในการเลือกนายกฯ​ คนกัน ส.ว. ก็ทำอะไรไม่ได้

โดย สมชาย แสวงการ เคยกล่าวยืนยันว่า“เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้มีอำนาจส่วนนี้ ในช่วง 5 ปีแรก ซึ่งเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ ส.ว.ไม่ได้มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯ มีสิทธิเพียงร่วมโหวตเท่านั้น ดังนั้น ถ้าสภาผู้แทนราษฎรโหวตเลือกใครเป็นนายกฯ ส.ว.ก็แค่เห็นชอบตาม