เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

“มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ไม่มีอัตราโทษปรับหรือบทลงโทษอื่นๆ หมายความว่า สำหรับการกระทำความผิด 1 ครั้ง หรือในทางกฎหมายเรียกว่า 1 กรรม เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำใดเป็นความผิด ศาลมีดุลพินิจที่จะกำหนดโทษจำคุกให้กับจำเลยเป็นจำนวนเท่าไรก็ได้ระหว่าง 3-15 ปี น้อยกว่านั้นไม่ได้ และมากกว่านั้นไม่ได้ และหากมีการกระทำการหลายครั้ง ถูกดำเนินคดีแยกเป็นหลายกรรม การกำหนดโทษก็จะทวีคูณเพิ่มขึ้นตามจำนวนการกระทำ

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

1. มงคลโทษจำคุก 81 ปี ลดเหลือ 54 ปี 6 เดือน

มงคล ถิระโคตร หรือ บัสบาส พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงรายวัย 30 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องจากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 27 โพสต์ ซึ่งการโพสเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 บัสบาสถูกจับกุมหลังจากการมานั่งอดอาหารประท้วงอยู่ที่หน้าศาลอาญา ศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาว่ามีความผิดใน 14 กรรม ที่เป็นข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 และยกฟ้องอีก 13 กรรม ที่เป็นข้อความเกี่ยวกับอดีตพระมหากษัตริย์หรือไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่ถูกกล่าวถึงได้ พิพากษาจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้เหลือกระทงละ 2 ปี รวมโทษจำคุก 28 ปี ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาเห็นว่า บัสบาสมีความผิดเพิ่มเติมอีก 11 กระทง ตามอุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์ โดยเห็นว่ามีการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดเหลือกระทงละ 2 ปี รวมจำคุกเพิ่มอีก 22 ปี รวมโทษจำคุกจากการโพสเฟซบุ๊ก 25 ข้อความ ทั้งหมดเป็น 75 ปี ลดเหลือ 50 ปี

30 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาอีกหนึ่งคดีจากการโพสต์เฟซบุ๊กสองข้อความเห็นว่าทั้งสองข้อความเป็นความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดเหลือกระทงละ 2 ปี และบวกโทษจำคุกในคดีส่วนตัวที่เคยให้รอลงอาญาไว้ 6 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 6 เดือน ต่อมาวันที่ 4 กันยายน 2567 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

รวมโทษจำคุกสองคดี 81 ปี ลดเหลือ 54 ปี 6 เดือน

2. อัญชัญโทษจำคุก 87 ปี ลดเหลือ 43 ปี 6 เดือน

อัญชัญ วัย 65 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) อดีตข้าราชการที่ใกล้เกษียณอายุก่อนถูกจับกุม ผู้ถูกฟ้องว่าได้กระทำผิดรวม 29 กรรม จากการอัพโหลดไฟล์และคลิปข้อความเสียงของผู้ใช้นามแฝงว่า “บรรพต” จำนวน 19 คลิป ลงในยูทูบ 3 บัญชี รวม 23 ครั้ง และเฟซบุ๊กส่วนตัว 1 บัญชี รวม 6 ครั้ง ซึ่งไฟล์และคลิปข้อความเสียงดังกล่าวถูกพิพากษาว่ามีเนื้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ

ภายใต้กระบวนการยุติธรรมของคณะรัฐประหารคสช. อัญชัญถูกจับกุมในเดือนมกราคม 2558 และถูกควบคุมตัวในค่ายทหารที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นเวลา 5 วันในช่วงแรกซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของ “ศาลทหาร” เธอตัดสินใจต่อสู้คดี ซึ่งขณะนั้นคำขอประกันตัวของเธอถูกปฏิเสธซ้ำหลายครั้ง ทำให้ต้องถูกคุมขังเป็นเวลาทั้งสิ้น 3 ปี กับอีก 281 วัน ก่อนจะถูกปล่อยชั่วคราวในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท คดีตกอยู่ภายใต้ศาลทหารจนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2562 เมื่อย้ายคดีที่พลเรือนถูกพิจารณาคดีในศาลทหารไปยังศาลยุติธรรม อัญชัญให้การรับสารภาพ ศาลอาญาตัดสินโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวมเป็นจำคุก 87 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือกระทงละ 1 ปี 6 เดือน เท่ากับพิพากษาจำคุก 29 ปี 174 เดือน หรือประมาณ 43 ปี 6 เดือน

3. วิชัยโทษจำคุก 70 ปี ลดเหลือ 35 ปี

วิชัย  พนักงานขายของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง วัย 35 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องจากการนำชื่อและภาพถ่ายของเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งมาใช้เปิดบัญชีเฟซบุ๊ก เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเฟซบุ๊กของเพื่อนร่วมงานคนดังกล่าว ก่อนโพสต์ข้อความ ภาพ และคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อความ วิชัยเล่าให้ทนายความฟังว่า เพื่อนร่วมงานคนดังกล่าวหลอกขายพระเครื่องปลอมให้เขา และเคยไปแจ้งความกับตำรวจไว้แล้ว แต่คดีไม่มีความคืบหน้า เขาจึงตัดสินใจใช้วิธีปลอมเฟซบุ๊กของเพื่อนร่วมงานที่หลอกขายพระเครื่องปลอมให้ แล้วโพสต์

ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาว่า วิชัยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุกกรรมละ 7 ปี รวมทั้งหมด 70 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 35 ปี

4. พงษ์ศักดิ์โทษจำคุก 60 ปี ลดเหลือ 30 ปี

พงษ์ศักดิ์ หรือ “Sam Parr” ชาวจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเคยทำงานภาคธุรกิจการท่องเที่ยว วัย 47 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องว่าใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชี ‘Sam Parr’ โพสต์รูปภาพและข้อความพาดพิงพระมหากษัตริย์ฯ ในปี 2556 และ 2557 รวม 6 ข้อความ

เขาถูกคุมขังในเรือนจำจนกระทั่งคดีสิ้นสุดโดยไม่ได้ยื่นประกันตัว เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ พงษ์ศักดิ์ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ตั้งแต่ในค่ายทหารจนถึงชั้นศาลศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุกในข้อหากระทำผิดตาม มาตรา 112 กรรมละ 10 ปี รวม 60 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 30 ปี 

5. ศศิพิมลโทษจำคุก 56 ปี ลดเหลือ 28 ปี

ศศิพิมล พนักงานโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ วัย 29 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องว่าโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ในชื่อ ‘รุ่งนภา คำภิชัย’ จำนวน 7 ข้อความ ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2557 และถูกจับกุมโดยทหารภายใต้กระบวนการยุติธรรมของคสช.

ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่พิพากษาว่า ศศิพิมลมีความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และมาตรา 112 จำนวน 7 กรรม พิพากษาให้จำคุกกรรมละ 8 ปี รวมเป็นโทษจำคุก 56 ปี จำเลย ลดเหลือจำคุก 28 ปี

6. อานนท์โทษจำคุก 10 ปีคดีรวม 37 ปี ลดเหลือ 27 ปี 4 เดือน

อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน มีบทบาทในการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจคณะรัฐประหาร 2557 และการเรียกร้องปฏิรูปกษัตริย์ในการชุมนุมทางการเมืองปี 2563 เนื้อหาการเรียกร้องเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายเช่น ส่วนราชการในพระองค์ และพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ รวมถึงการบังคับใช้มาตรา 112 ผลจากการเรียกร้องดังกล่าวทำให้อานนท์ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 14 คดี จนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 10 จาก 14 คดี 

วันที่เหตุแห่งคดีโทษจำคุก
26 ก.ย. 2566ปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา เมื่อปี 2563จำคุก 4 ปี
17 ม.ค. 2567โพสต์เฟซบุ๊ก 3 วิจารณ์การบังคับใช้ม. 112 และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อปี 2564จำคุก 4 ปี
29 เม.ย. 2567ปราศรัยในการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน” เมื่อปี 2564จำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ เหลือโทษจำคุก 2 ปี (จำคุกข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 20 วัน)
25 ก.ค. 2567โพสต์เฟซบุ๊ก 2 โพสต์วิจารณ์การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10 เมื่อปี 2564จำคุก 6 ปี ให้การเป็นประโยชน์เหลือโทษจำคุก 4 ปี
3 ธ.ค. 2567โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “ราษฎรสาส์น” เมื่อปี 2563จำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์เหลือโทษจำคุก 2 ปี
19 ธ.ค. 2567ปราศรัยในการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” เมื่อปี 2563จำคุก 4 ปี ให้การเป็นประโยชน์เหลือโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน
27 มี.ค. 2568ปราศรัยในการชุมนุม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบ ๆ” เมื่อปี 2563จำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์เหลือโทษจำคุก 2 ปี
28 พ.ค. 2568ปราศรัยในการชุมนุมหน้าสน.บางเขน เมื่อปี 2563จำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ เหลือโทษจำคุก 2 ปี
25 มิ.ย. 2568ปราศรัยในชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อปี 2563จำคุก 4 ปี ให้การเป็นประโยชน์เหลือโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน
8 ก.ค. 2568ปราศรัยในการชุมนุม#ม็อบ17พฤศจิกา ที่หน้ารัฐสภาจำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์เหลือโทษจำคุก 2 ปี(จำคุกมาตรา 116 4 เดือน)
ยังเหลืออีก 4 คดีที่ยังไม่มีคำพิพากษา

7. เธียรสุธรรมโทษจำคุก 50 ปี ลดเหลือ 25 ปี 

เธียรสุธรรม ประกอบธุรกิจส่วนตัว วัย 58 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องว่า ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ใหญ่ แดงเดือด” โพสต์ภาพและข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จำนวน 5 ข้อความ

ในช่วงรัฐประหารโดยคสช. เธียรสุธรรมถูกควบคุมตัวในค่ายทหารด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึก ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลงโทษจำคุกรวม 5 กระทง กระทงละ 10 ปี รวมโทษทุกกระทงจำคุก 50 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 25 ปี 

8. “แม็กกี้” โทษจำคุก 50 ปี ลดเหลือ 25 ปี

“แม็กกี้” ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชาวยโสธร วัย 26 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ถูกฟ้องว่า ทวีต 18 ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนตุลาคม 2566

ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่าแม็กกี้มีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวม 18 ข้อความ โดยศาลพิพากษาให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จาก 14 ข้อความ จำคุกข้อความละ 3 ปี รวมเป็นจำคุก 42 ปี และให้ลงโทษฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความอันน่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ จาก 4 ข้อความ จำคุกข้อความละ 2 ปี รวมเป็นจำคุก 8 ปี ทั้งสองฐานความผิดมีโทษจำคุกรวม 50 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 25 ปี

9. ธารา โทษจำคุก 30 ปี ลดเหลือ 18 ปี 24 เดือน 

ธารา พ่อค้าขายสมุนไพรบนโลกออนไลน์ วัย 61 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องจากการถูกกล่าวหาว่าเป็น “เครือข่ายบรรพต” เผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จำนวน 6 คลิป ด้วยการฝังลิงก์ให้คลิกได้บนเว็บไซต์ okthai.com ซึ่งเขาเป็นเจ้าของ ระหว่างวันที่ 6-25 มกราคม 2558 ธาราถูกแยกดำเนินคดีและแยกฟ้องจากคนอื่น ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “เครือข่ายบรรพต” เข่นเดียวกับอัญชัญ และถูกฟ้องถึง 6 กรรม ขณะที่จำเลยรายอื่นส่วนใหญ่ รวมทั้งตัว “บรรพต” เองถูกฟ้องเพียง 1 กรรม

ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาว่าการกระทำของธาราเป็นความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1), (3), และ (5) แต่ให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด คือ มาตรา 112 ให้จำคุกกรรมละ 5 ปี แต่ลดโทษลง 1 ใน 3 เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เหลือโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี 4 เดือน รวมความผิดทั้งสิ้น 6 กรรม ต้องโทษจำคุกรวม 18 ปี 24 เดือน หรือ 20 ปี 

10. “วุฒิ” โทษจำคุก 36 ปี ลดเหลือ 12 ปี 72 เดือน

“วุฒิ” ช่างเชื่อมชาวเพชรบูรณ์ วัย 51 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องจากกรณีถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความ ในช่วงปี 2564 ในคดีนี้เขาต้องการปฏิเสธเพื่อต่อสู้คดี แต่ศาลไม่รับคำให้การปฏิเสธและรับคำให้การเพียงที่เขารับสารภาพเท่านั้น

ศาลอาญามีนบุรีพิพากษาว่า การกระทำของ “วุฒิ” เป็นความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 36 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 12 ปี 72 เดือน (หรือประมาณ 18 ปี)

RELATED TAGS