30 พฤษภาคม 2568 ในระหว่างปิดสมัยประชุมสภา วุฒิสภา (สว.) มีนัดประชุมสมัยวิสามัญพิจารณาเดินหน้าตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติองค์กรอิสระ-อัยการสูงสุดสามตำแหน่งและ ให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีกสามตำแหน่ง ท่ามกลางกระแส สว. ด้วยกันเองเรียกร้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในการเห็นชอบองค์กรอิสระในระหว่างคดี “โกงเลือกสว.” ในปี 2567

สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ปีที่สอง วันสุดท้ายปิดลงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 สมัยประชุมถัดไปตามระบบปกติ คือ สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ปีที่สาม ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 และสิ้นสุดในวันที่ 30 ตุลาคม 2568 ในระหว่าง 11 เมษายน – 2 กรกฎาคม 2568 นับเป็นวัน “ปิดสมัยประชุม” จะไม่มีการประชุมสภาหรือวุฒิสภาในช่วงเวลานี้ เว้นแต่จะมีการเรียกประชุมวิสามัญขึ้นเป็นการพิเศษ เพื่อให้ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิก มีโอกาสทำงานให้พื้นที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่ามานั่งประชุมในสภา
แต่ระหว่างการปิดสมัยประชุมอยู่ สภาผู้แทนราษฎร (สส.) ก็มีนัดประชุม “วิสามัญ” คือ การเปิดนัดประชุมพิเศษระหว่างปิดสมัยการประชุม ซึ่งฝั่งสส. เปิดประชุมขึ้นมาพิเศษเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีกำหนดเวลาต้องพิจารณาและประกาศใช้ให้เสร็จตามกรอบเวลางบประมาณในเดือนกันยายน และมีรายละเอียดตัวเลขที่ต้องถกเถียงกันเยอะมาก ฝั่งสว. ก็มีนัดประชุม “วิสามัญ” ของ สว. ด้วย ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 ซึ่งมีวาระสำคัญ คือ การเลือกคนให้เข้ามานั่งในตำแหน่งขององค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ส่วนแรกเป็นวาระเพื่อตั้งกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้สมัครองค์กรอิสระ ได้แก่
- คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หนึ่งคน
เนื่องจากปกรณ์ มหรรณพ มีอายุเกิน 70 ปี และรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 216 (1) กำหนดว่าผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องมีอายุ 40 ปี และไม่เกิน 70 ปี ปกรณ์จึงต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรานี้ ส่งผลให้ต้องคัดเลือกกกต. ขึ้นมาใหม่หนึ่งตำแหน่ง เป็นตำแหน่งที่มาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้คัดเลือก ณรงค์ กลั่นวารินทร์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกาเสนอชื่อต่อวุฒิสภาไว้แล้ว
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สองคน
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ในสัดส่วนนักวิชาการสายรัฐศาสตร์ และปัญญา อุดชาชน ในสัดส่วนข้าราชการได้หมดวาระดำรงตำแหน่งตั้งแต่พฤศจิกายน 2567 ก่อนหน้านี้เคยมีการเปิดรับสมัคร สรรหาและเสนอชื่อตุลาการคนใหม่สองคนต่อวุฒิสภามาแล้ว โดย ถูกสว. ลงมติปัดตกทั้งคู่ จึงมีการเปิดรับสมัคร-สรรหา-เสนอชื่อต่อวุฒิสภาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
คณะกรรมการสรรหาได้เสนอชื่อร้อยตำรวจเอกสุธรรม เชื้อประกอบกิจ ศาสตราจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาดำรงตำแหน่งแทนนครินทร์ และเสนอชื่อสราวุธ ทรงศิวิไล อดีตอธิบดีกรมการทางและอดีตอธิบดีกรมทางหลวงถูกเสนอชื่อเพื่อมาดำรงตำแหน่งแทนปัญญา
- อัยการสูงสุด หนึ่งคน
ในปีเดือนกันยายน 2567 สว. ได้เคยเห็นชอบอัยการสูงสุดมาแล้วหนึ่งคนคือ ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ แต่เนื่องจากไพรัชกำลังจะพ้นจากตำแหน่งบริหาร ส่งผลให้คณะกรรมการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ก.อ.) ได้ประชุมและมีมติให้เลื่อนอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอัยการสูงสุดมาเป็นอัยการสูงสุดแทน ซึ่งตามขั้นตอนต้องได้รับความเห็นชอบโดย สว. ด้วย
ส่วนที่สอง คือ การให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง กรรมการ ป.ป.ช. สามคน ได้แก่
- ประกอบ ลีนะเปสนันท์
- เพียรศักดิ์ สมบัติทอง
- ประจวบ ตันตินนท์
สำหรับ ป.ป.ช. นั้น มีตำแหน่งกรรมการว่างอยู่หนึ่งตำแหน่งและมีกรรมการอีกสองคน ได้แก่ วิทยา อาคมพิทักษ์ และสุวณา สุวรรณจูฑะ ที่หมดวาระดำรงตำแหน่งไปแล้วตั้งแต่ธันวาคมปี 2567 โดย สว. กำลังรอที่จะลงมติให้ความเห็นชอบสามรายชื่อนี้เพื่อเข้าไปเป็นกรรมการป.ป.ช.
ในทางปฏิบัติหากดำเนินกระบวนการทุกอย่างได้ตามปกติ สว. อาจรอให้ถึงวันเปิดสมัยประชุมถัดไปหลังวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 แล้วค่อยบรรจุวาระการประชุม เพื่อตั้งกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบประวัติ หรือให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. ก็ได้ แต่เมื่อมีการนัดประชุมวิสามัญในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 ขึ้นมาแทนแล้วหาก สว. เห็นชอบกับทุกญัตติที่กล่าวมา ก็จะได้เห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. ในคราวนี้ ทำให้ทุกอย่างเดินหน้าเร็วขึ้นกว่าสมัยประชุมปกติ
ส่วนการตั้งกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบประวัติของตำแหน่ง กกต. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการสูงสุด จะทำให้เมื่อเปิดสมัยประชุมแล้ว สว. สามารถนำรายานกลับมาพิจารณาและลงมติให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้ทันที เพราะโดยปกติกรรมาธิการวิสามัญจะใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน (ขยายเวลาเพิ่มได้ 30 วัน) ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ข้อ 105 วรรคสอง ซึ่งก็จะเสร็จสิ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่เปิดสมัยประชุมพอดี ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า สว. กำลังพยายามรีบเร่งให้กระบวนการเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่ง ในองค์กรต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบสว. และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เกิดขึ้นโดยเร็วกว่าปกติ
เตรียมร้องศาลให้ สว. หยุดปฏิบัติหน้าที่ให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระ
ในระหว่างการเปิดสมัยการประชุมวิสามัญ และความพยายามเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ก็มีสว. จำนวนอย่างน้อย 54 คน ที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และทางกกต. ออกหมายเรียกเพื่อดำเนินคดีฐาน “โกงการเลือกสว.” และคดีดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีสว. ถูกออกหมายเรียกเพิ่มเติม โดยอาจจะมีคนที่ต้องหาว่าอยู่ร่วมในขบวนการโกงการเลือกสว. มากกว่าหนึ่งร้อยคน หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของสว. ชุดปัจจุบัน
นันทนา นันทวโรภาส หนึ่งในสว. ที่เห็นต่างจากสว.เสียงส่วนใหญ่ พยายามรวบรวมรายชื่อ สว. ให้ครบ 20 คน เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ สว. ทั้ง 200 คน ยุติการปฏิบัติหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระ เพราะอาจเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยเฉพาะการลงมติหรือการดำเนินกระบวนการเลือกกรรมการ กกต. ซึ่งเป็นองค์กรที่กำลังสอบสวนการกระทำความผิดของสว. อยู่
นันทนาระบุว่า “เหมือนเลือกผู้พิพากษามาตัดสินคดีตัวเอง”