“แก้กฎหมายให้คนเท่ากัน” เป็นวลีที่สะท้อนเป้าหมายการทำงานในช่วงท้ายของชีวิตจอน อึ๊งภากรณ์
ในปี 2552 เขาก่อตั้งไอลอว์ โดยเป็นคนตั้งชื่อเต็มว่า “โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน” และตั้งชื่อย่อให้ว่า iLaw โดยไม่ได้จงใจให้เป็นชื่อย่อ แต่ I จะหมายถึง “ฉัน” ที่หมายถึงคนทุกคนเท่าๆ กัน หรือจะมองว่า หมายถึงการใช้ Internet เพื่อการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในกฎหมายก็ได้
เนื้อหากฎหมายที่ดีในความฝันของจอน ไม่ใช่กฎหมายที่เขียนโดยนักกฎหมายหรือเหล่าเนติบริกร หากมาจาก “ปากคำ” ของเจ้าของปัญหาหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนั้นๆ และในยุคที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางถ่ายทอดส่งต่อความคิด ความฝันนี้จึงอาจเป็นจริงได้
ในปี 2553 จอนเสนอให้รณรงค์เพื่อยกเลิกกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงสามฉบับ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่แคมเปญนี้ไม่ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบันกฎหมายพิเศษเหล่านี้ก็ยังคงใช้อยู่
หลังจากนั้นจอนยังผลักดันให้ iLaw ศึกษาและรณรงค์ในประเด็นเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพของประชาชน เช่น การเก็บข้อมูลการบังคับใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550, การรณรงค์แก้ไขพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551 และการประกวด “หนังน่าจะแบน” เพื่อท้าทายระบบการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ในยุคสมัยนั้น ตามมาด้วยการประกวดไอเดียออกแบบ “ชุดนักโทษ” เพื่อตั้งคำถามกับสภาพการปฏิบัติต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังในเรือนจำ
ภายใต้การนำองค์กรของจอน ไอลอว์ต้องเผชิญกับความท้าทายทางการเมืองอย่างยิ่งในช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 สภาพการเมืองที่ประชาชนและภาคประชาสังคมแทบไม่สามารถแสดงออกได้ และการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนถูกยกเลิกไปช่วงเวลาหนึ่ง จอนตัดสินใจในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 หนึ่งวันหลังรัฐประหารว่า ไอลอว์ต้องทำหน้าที่เก็บข้อมูลการจับกุม เรียกรายงานตัว การใช้อำนาจทหารละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การคุมขัง และการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร
ปี 2559 ก่อนหน้าการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลทหาร ในยามที่สังคมตกอยู่ความเงียบเพราะถูกกฎหมายปิดปาก เขาแลกเปลี่ยนความฝันการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่กับ “เพื่อน” ด้วยการยืนยันว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเพราะฉะนั้นประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ รัฐธรรมนูญก็ควรเป็นของประชาชน” ในบทพูดของเขาบรรจุไปด้วยความฝันเชิงนโยบายไม่ว่าจะเรื่องบำนาญถ้วนหน้า ความเท่าเทียมกันทางเพศ การออกเสียงเลือกตั้งของนักโทษ สิทธิในที่ดินทำกิน ฯลฯ
ในปี 2559 จอนผลักดันให้รัฐบาลคสช. จัดทำประชามติรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็น ไม่เพียงให้กลุ่มคนของทหารตัดสินใจ และผลักดันให้เกิดเว็บไซต์ Prachamati.org เพื่อให้ประชาชนมาแสดงความคิดเห็นและลงคะแนนแสดงความเห็นต่อประเด็นต่างๆ ในรัฐธรรมนูญได้อย่างอิสระ แต่สุดท้ายความเห็นต่างๆ เหล่านี้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้นำไปพิจารณา
ต้นปี 2561 จอนเสนอให้มีการรณรงค์ยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. ที่จำกัดสิทธิของประชาชนมาตั้งแต่ปี 2567 นำไปสู่แคมเปญ “ปลดอาวุธคสช.” ที่รวบรวมรายชื่อประชาชนได้ 13,409 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. 35 ฉบับที่ขัดต่อหลักที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ถือเป็นแคมเปญการเข้าชื่อเสนอกฎหมายแคมเปญแรกๆ ของไอลอว์และเต็มไปด้วยความทุลักทุเล แม้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบแต่ไม่กล้าที่จะลงชื่อเพราะเวลานั้นอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว
ข้อเสนอยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และสส. ฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โหวตตกไปในช่วงปลายปี 2564 แต่ร่างและข้อเสนอดังกล่าวก็ยังกลับมาในปี 2567 และกำลังพิจารณาในวาระที่สองของสภาชุดใหม่
ในปี 2562-2563 จอนเสนอให้ไอลอว์รวบรวมรายชื่อประชาชน 50,000 ชื่อ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ภารกิจนี้ยังดูท้าทายเกินกว่ากำลังในช่วงเวลานั้น จนกระทั่งมีการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในปี 2563 พร้อมข้อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ความเป็นไปได้จึงเกิดขึ้น และพวกเรารวบรวมรายชื่อได้ 100,732 รายชื่อภายใน 43 วัน จอนเดินนำขบวนเอาเอกสารายชื่อทั้งหมดไปส่งต่อสภาในวันที่ 23 กันยายน 2563 และขึ้นเวทีนำเสนอหลักการต่อสมาชิกรัฐสภา เรียกร้องให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยและถูกสว. จากการแต่งตั้งของคสช. โหวตตกไปในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563
ประชาชนกลุ่มต่างๆ ยังเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกรวม 4 ครั้ง ซึ่งไม่เคยได้รับเสียงสว. จนเพียงพอ และข้อเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังเดินหน้าต่อ แม้ยังไม่สำเร็จ และยังไม่ได้เริ่มกระบวนการอย่างจริงจังในปี 2568
นอกจากนี้เขายังเสนอประเด็นปฏิรูประบบยุติธรรมอย่างการพัฒนาระบบลูกขุนที่เหมาะสำหรับสังคมไทย เรื่อง “ลูกขุน” เป็นเรื่องที่เขาเสนอต่อไอลอว์มาอย่างยาวนาน แต่ประเด็นนี้ใหญ่เกินกว่าวิสัยที่ไอลอว์จะผลักดันได้ เมื่อถูกเอ่ยขึ้นมาในแต่ละครั้งก็มักจะตามด้วยการที่จอนต้องอธิบายเรื่องระบบลูกขุนในศาลอังกฤษวนซ้ำอยู่เช่นนั้น และประเด็นนี่้ยังเป็นกิจกรรมที่ไอลอว์ไม่เคยลงมือทำจนถึงปี 2568
จอนยังเคยเสนอให้รณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันจับตาการเลือกตั้ง และรณรงค์เรื่องระบบการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตย เพื่อเปิดขอบฟ้าเสรีภาพทางความคิด จอนเสนอให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งยังเป็นความฝันที่ยังไม่เสร็จสิ้น และยังมีคนทำต่อไป
ส่วนภาพฝันอย่างหนึ่งที่จอนเคยอยากเห็น จนก่อตั้ง iLaw ขึ้น คือ การมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมายของประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ และการเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา มาถึงวันนี้ด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาให้การลงชื่อทำผ่านระบบออนไลน์ได้ และด้วยความตื่นตัวของสังคมยุคใหม่ ภาพฝันนี้ของจอนก็แทบจะเกิดขึ้นได้จริงแล้ว อย่างที่วาดฝันไปในวันแรกของปี 2552
ปี 2566 ด้วยเงื่อนไขด้านสุขภาพ จอนถอยจากตำแหน่งผู้อำนวยการไอลอว์ไปรับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาที่เฝ้ามองจากระยะที่ห่างขึ้นและมีอำนาจตัดสินใจเรื่องทิศทางน้อยลง แต่ความฝันของจอนต่อประชาธิปไตยยังดำเนินต่อไป มาจนถึงวันนี้มีบางฝันที่เดินทางถึงปลายทางแล้ว แต่อีกหลายฝันผู้ที่ร่วมฝันยังคงต้องทำงานกันต่อ
