“แบ่งกลุ่ม-เลือกกันเอง” คือ ระบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในปี 2567 โดยมีผู้สมัครจำนวน 48,117 คน จะต้องลงคะแนนให้กันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ ผ่านเข้าสู่ระดับจังหวัด และเหลือรอดเป็นผู้ชนะในระดับประเทศเพียง 200 คน แต่จากมุมของผู้สมัครที่นั่งอยู่ในกระบวนการและจับจังหวะความผิดปกติของระบบนี้ได้ มองว่าเป็นระบบที่ออกแบบมาให้ “ฮั้ว” กัน และจากความผิดปกติทั้งหลายเจอมากับตา ทำให้เห็นว่า ระบบเช่นนี้ “ไม่ควรจะมีอีกแล้ว”
ไอลอว์พูดคุยกับผู้สมัครสองคนที่เดินทางผ่านเข้ารอบมาสู่รอบสุดท้ายในระดับประเทศ คนแรกคือ ธีระพงศ์ กันตรัตนากุล ผู้สมัครจากจังหวัดชลบุรี กลุ่ม 8 สิ่งแวดล้อม-พลังงาน-อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสุดท้ายไม่ได้รับเลือกเป็นสว. และผู้สมัครอีกคนหนึ่งที่ขอให้ใช้นามสมมติเรียกเธอว่า “มะลิ” เพราะเธอยังอยากทำงานในบทบาทอื่นต่อ มะลิเป็นหนึ่งในผู้สมัครในรอบสุดท้ายที่ลุกขึ้นมากลางสนามการเลือกในคืนนั้นแล้วคว้ากระดาษกับปากกา ประกาศรวบรวมรายชื่อผู้สมัครคนอื่นๆ ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงความผิดปกติของการเลือก สว. ระดับประเทศ
“ไม่ควรจะมีอีกแล้ว” มะลิและธีระพงศ์ประสานเสียงพร้อมกัน
สว. ที่เลือกกันในปี 2567 มาจากระบบพิเศษตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่แบ่งผู้สมัครออกเป็นทั้งหมด 20 กลุ่ม ผู้สมัครจะต้องผ่านการเลือกทั้งสามระดับ โดยในแต่ละระดับจะมีการลงคะแนนเลือกกันสองรอบ รอบแรกผู้สมัครในแต่ละกลุ่มต้องเลือกกันเอง และส่วนรอบที่สองจะจับสลากแบ่งสายผู้สมัครออกเป็นสี่สาย สายละห้ากลุ่ม แล้วให้ผู้สมัครเลือกไขว้ ลงคะแนนให้กลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน
การเลือก สว. ในระดับอำเภอ จัดขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2567 และระดับจังหวัดจัดขึ้นในวันที่ 16 มิถุนายน 2567 ซึ่งเสร็จสิ้นภายในวันเดียวคือโดยส่วนใหญ่ในช่วงเช้าจะเป็นการเลือกกันเอง ส่วนรอบบ่ายจะเป็นการเลือกไขว้ แต่ในระดับประเทศใช้เวลายาวนาน 21 ชั่วโมงตั้งแต่เช้าของวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ยาวไปจนถึงเช้ามืดของวันถัดไป เป็นเวลา 21 ชั่วโมงต่อเนื่องกันที่ผู้สมัครถูกยึดเครื่องมือสื่อสาร ไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกัน และต้องนั่งอยู่ที่ในห้องโถง อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี
ท่ามกลางปัญหาและความผิดปกติตลอดกระบวนการที่พบเจอมา เมื่อถามอดีตผู้สมัครทั้งสองคนว่า ระบบการเลือก สว. นี้สามารถปรับปรุงให้โปร่งใสขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ได้หรือไม่ ผู้สมัครสองคนตอบประสานเสียงพร้อมกันว่า “ไม่ควรจะมีอีกแล้ว”
“เรามาเป็น สว. เพื่อปิดสวิตช์ สว. ให้มันหายไป เราไม่ต้องการให้มี สว. ที่เป็นจระเข้ขวางคลอง เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจต่อไปแล้ว กระบวนการที่มันไม่ใช่ประชาธิปไตยมันไม่ควรจะมีอยู่” ธีระพงศ์ เล่าย้อน
“พี่คิดว่าถ้ามันมีการเลือกสว. แบบนี้อีกครั้ง… ทุกคนจะรู้โจทย์แล้วว่าต้องทำอะไร ข้อเสนออย่างเดียวของพี่คือยุบไปเลย ถ้าจะมี สว. แล้วมาจากระบบวิธีการเลือกแบบนี้ ก็ไม่ต้องมี ” มะลิกล่าว
ระบบที่ออกแบบมาให้ฮั้ว และให้คนเกลียดกันเอง
ธีระพงศ์ กล่าวว่า ระบบการเลือก สว. ออกแบบให้ผู้สมัครต้องจับกลุ่มแลกคะแนนเพื่อให้เข้ารอบต่อไป เป็นลักษณะของการจัดตั้ง แต่จะเป็นการ “จัดตั้ง” แบบไหน มีผลประโยชน์อะไรตอบแทนหรือไม่ หรือเป็นการจัดตั้งด้วยอุดมการณ์ที่ผู้สมัครมาดีเบตกันว่าใครควรได้ไปต่อ
“กติกามันผิดตั้งแต่แรก…. ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นการฮั้ว ผมไม่เถียงว่าสิ่งนี้คือการฮั้ว กติกามันออกแบบมาให้ฮั้วกันอยู่แล้ว แต่ว่าจะฮั้วโดยสุจริตหรือทุจริต”
เนื่องจากในระบบเลือกกันเองแต่ละรอบ ผู้สมัครที่มีสิทธิลงคะแนนในแต่ละกลุ่มมีจำนวนไม่มาก หรือมีระดับหลักหน่วยซึ่งทุกคนมีโอกาสรู้จักกัน มีโอกาสที่จะได้พูดคุยทำความรู้จักและตกลงกันว่าใครจะลงคะแนนให้ใคร รวมทั้งมีโอกาสที่จะมีการตกลงกันแต่สุดท้าย “หักหลัง” ไม่ทำตามที่พูดกันไว้ มะลิ มองว่า ต่อให้ไม่มีบ้านใหญ่ที่ส่งคนเข้ามาสมัครเยอะๆ จนได้เปรียบ ระบบนี้ก็เป็นเกมที่วางแผนให้คนเกลียดกันอยู่แล้ว
“พอมีการตกลงกัน มีคนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ไปต่อ มันก็เริ่มมีการป่วนกัน…. เริ่มเละเทะ สุดท้ายระบบนี้มันก็คือ การต่อสู้กันกับความกระหายของมนุษย์”
มะลิเล่าต่อว่า “ถ้าคุณไปสมัครโดยสุจริต คุณอยากเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงประเทศ คุณคิดว่าคุณมีคุณสมบัติเพียงพอ ถ้ามีแค่นี้คุณไม่มีทางไปถึงไหน คุณจะตกรอบตั้งแต่ระดับอำเภอ เพราะมันต้องอาศัยวิธีการพูดคุยเท่านั้น”
การจัดพื้นที่เพื่อเลือก สว. ระดับประเทศ
ในการเลือก สว. ระดับประเทศที่ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี มีการแบ่งหอประชุมออกเป็นสองฝั่ง (ตามภาพ)
- ฝั่งแรกคือฝั่งรอบเลือกกันเอง จะประกอบไปด้วยคอก (คือคำที่ผู้สมัครใช้เรียกแผงกั้นระหว่างกลุ่ม) ของแต่ละกลุ่มทั้ง 20 กลุ่ม
- ส่วนอีกฝั่งหนึ่งจะเป็นฝั่งสำหรับรอบเลือกไขว้ ที่มีการจัดคูหาลงคะแนนตามการแบ่งสาย
ในช่วงเช้าเมื่อผู้สมัครเลือกกันเองเสร็จ เจ้าหน้าที่จะให้เดินย้ายที่นั่งไปพร้อมกันทั้งกลุ่มจากที่นั่งในรอบเลือกกันเอง มาสู่ที่นั่งที่จัดไว้เป็นสายสำหรับรอบเลือกไขว้
ไม่ให้คุยกัน เข้าห้องน้ำต้องมีคนพาไป
ผู้สมัครทั้งสองคนเล่าให้เราฟังว่า “กฎเหล็ก” ของการเลือกสว. ระดับประเทศคือ ห้ามพูดคุยกัน และห้ามเดินไปไหนมาไหนโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต การจะลุกไปเข้าห้องน้ำจะต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่และมีเจ้าหน้าที่พาไปเท่านั้น ที่สำคัญจะมีเจ้าหน้าที่คอยเดินตรวจตราความเรียบร้อยและ “ดุ” ไม่ให้ผู้สมัครคุยกัน
มะลิ เล่าว่ามีผู้สมัครชายสูงวัยคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ดุด่าเมื่อพบว่าผู้สมัครคนนั้นมีกระดาษบางอย่างที่เหมือนโพย ซึ่งผู้สมัครคนนั้นถูกเรียกตัวไปทำบันทึกสอบสวนในเวลาต่อมา มะลิ ตั้งข้อสงสัยว่าสำหรับการเลือก สว. ในระดับประเทศ ในรอบเลือกกันเองผู้สมัครแต่ละคนจะทำการบ้านมาดีอยู่แล้ว แต่ในรอบเลือกไขว้เราจะไม่รู้เลยว่าผู้สมัครที่เราหมายปองจะลงคะแนนให้จะเข้ารอบมาบ้างหรือไม่ ทำให้มะลิสงสัยว่า ถ้าไม่ให้คุยกันแล้วจะตัดสินใจเลือกกันได้อย่างไร
“ในความเป็นจริง มนุษย์เราจะไปทำหน้าที่ออกกฎหมายของประเทศเนี่ย คุณจะให้ฉันเลือกจากฐานของอะไร ประวัติที่ได้อ่านจาก สว.3 ก็เขียนมาตั้งแต่ระดับอำเภอ บางคนก็เขียนดี บางคนก็เขียนไม่ดี บางคนเขียนแค่ว่าทำงานในกลุ่มนี้มา 10 ปี ”
* สว.3 คือเอกสารการแนะนำตัวที่ผู้สมัครทุกคนต้องกรอกตั้งแต่การสมัคร ซึ่งจะมีช่องให้กรอกคำแนะนำตัวเองห้าบรรทัด อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/40267 *
ธีระพงศ์เห็นด้วยกับ มะลิ เขาอธิบายว่า การแจกเอกสารแนะนำตัวเป็นใบ สว.3 ของผู้สมัครในรอบเลือกไขว้ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ถ้าไม่มีการนัดแนะเพื่อลงคะแนนกันก่อนมันเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้สมัครจะสามารถตัดสินใจเลือกลงคะแนนให้กันและกันได้
นอกจากนี้เมื่อผู้สมัครต้องย้ายที่นั่งเมื่อเปลี่ยนจากรอบการเลือกกันเองไปสู่รอบเลือกไขว้แล้ว เอกสารแนะนำตัวที่เคยแจกให้อ่านจะต้องทิ้งไว้ที่สถานที่เลือกกันเอง ไม่สามารถนำไปในสถานที่รอบเลือกไขว้ โดยเจ้าหน้าที่จะจัดทำเอกสารชุดใหม่แจกให้ ซึ่งการจัดทำเอกสารใหม่ใช้เวลายาวนานถึงสี่ชั่วโมง
และในเวลาสี่ชั่วโมงนี้คือจังหวะที่ผู้สมัครทั้งสองคนเริ่มจับจังหวะถึง “ความผิดปกติ”
คนเสื้อเหลืองอยู่นอกคอก ไม่ทำตามกติกา
ธีระพงศ์เล่าว่า ระหว่างการรอคอยอันยาวนานผู้สมัครจะต้องนั่งอยู่ในคอกของกลุ่มตัวเอง เจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้ผู้สมัครเดินไปไหนมาไหน การไปเข้าห้องน้ำจะต้องขออนุญาต มีการเซ็นชื่อเมื่อออกและเข้าคอก โดยเขียนเวลากำกับไว้ทุกครั้ง ระหว่างทางเดินไปเข้าห้องน้ำก็จะมีเจ้าหน้าที่เดินตามประกบ
“แต่มีผู้สมัครกลุ่มหนึ่งที่ใส่เสื้อสีเหลือง-สูทสีดำ เดินว่อนพูดคุยไปทั่วทุกกลุ่ม เสมือนว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ กกต. คนกลุ่มนี้เดินไปขอแลกหมายเลขผู้สมัคร… และที่สำคัญคนกลุ่มนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ประกบด้วย”
เจ้าหน้าที่ก็เหลือง ผู้สมัครก็เหลือง
เมื่อเห็นเหตุการณ์เช่นนี้แล้ว คำถามคือ ธีระพงษ์และผู้สมัครคนอื่นๆ ได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมดูแลอยู่หรือไม่ ธีระพงษ์ตอบว่า “เขาเดินได้แบบอิสระเสรีเลยครับ เขาเดินเข้ามาคุยกับพวกเราด้วย ผมก็มีการแจ้งกับเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มของพวกเราว่าทำไมพวกเขาเดินได้ เจ้าหน้าที่บอกว่าเขาอาจจะเป็น กกต. ก็ได้ ซึ่งความแปลกคือในวันนั้นเจ้าหน้าที่ กกต. บางส่วนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มก็ใส่เสื้อสีเหลืองเหมือนกัน
ธีระพงศ์ เล่าว่า ในวันนั้นเขาได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่คนหนึ่งว่าทำไมถึงใส่เสื้อสีเหลือง เจ้าหน้าที่ตอบว่าเป็นคำสั่งภายในของทาง กกต. ที่สั่งให้เจ้าหน้าที่ที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในการเลือก สว. ระดับประเทศทุกคนต้องใส่เสื้อสีเหลือง

จุดสำคัญที่ทำให้คนเสื้อเหลืองใส่สูทกลุ่มนี้สามารถมีอิสระเสรีในขณะที่ผู้สมัครคนอื่นต้องนั่งอยู่ในคอกกลุ่มของตัวเองคือ “ป้ายชื่อ” ซึ่งธีระพงศ์ เล่าเพิ่มว่าผู้สมัครทุกคนจะมีป้ายชื่อเป็นของตัวเอง ซึ่งจะบ่งบอกชื่อ-นามสกุลและกลุ่มของผู้สมัครคนนั้น แต่ผู้สมัครเสื้อเหลืองกลุ่มนี้ก็ถอดป้ายชื่อออก ทำให้ไม่รู้ว่าเป็นผู้สมัครหรือเป็นเจ้าหน้าที่ กกต.
“แม้ไม่มีกฎว่าห้ามถอด แต่อยู่ดีๆ ผู้สมัครจะไปถอดป้ายชื่อออก มันก็ต้องมีคำอธิบายว่าคุณมาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง คุณมาทำหน้าที่อะไรในสถานที่แห่งนี้ คนทั่วไปไม่มีใครถอดหรอก” มะลิเสริม
“สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มันเป็นการวางแผนมาแล้ว”
ธีระพงศ์กล่าวอย่างหนักแน่น ก่อนจะเล่าว่า เขาเห็นการจับกลุ่มอยู่บริเวณทางเข้าห้องน้ำ ผู้สมัครจะไปเข้าห้องน้ำกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณสามถึงสี่คน แต่จะไม่ได้กลับมาพร้อมกันทั้งหมด มีการเวียนกันแบ่งคิวเข้าห้องน้ำเพื่อออกไปแลกคะแนนจดชุดหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร
“เขาไปห้องน้ำ 3 คนกลับมาแค่ 2 ทิ้ง 1 คนไว้สำหรับส่งข้อมูลต่อให้กลุ่มอื่นแล้วก็เวียนกันไปอย่างนั้น”
“ในส่วนนี้ผมได้แจ้งเจ้าหน้าที่ด้วยนะซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่ยังไม่มีการลงคะแนนก็สามารถพูดคุยกันได้ เจ้าหน้าที่จึงไม่ได้มีการดำเนินการอะไร” ผู้สมัครที่ได้เข้าถึงการเลือกรอบสุดท้ายเล่าด้วยความอึดอัด
กลุ่มคนเสื้อเหลือง เตรียมแผนมาอย่างดี
จากข้อเท็จจริงที่ไอลอว์พบจากการสังเกตการณ์ที่อิมแพ็คฟอรั่ม ตลอดทั้ง 21 ชั่วโมงพบว่า มีผู้สมัครจำนวนหนึ่งใส่เสื้อสีเหลืองและใส่สูทสีดำทับ และหอบแฟ้มหนาที่มีลักษณะและขนาดเหมือนกัน บางส่วนก็ใส่เสื้อเหลืองที่มีลักษณะใหม่จนยังเห็นรอยพับของเสื้อ ผู้สมัครกลุ่มนี้เกาะกลุ่มไปไหนมาไหนด้วยกันและที่สำคัญเมื่อเสร็จสิ้นการเลือกก็เดินทางกลับด้วยกันเป็นหมู่คณะ โดยมีรถตู้มารอรับกลับบ้าน
มะลิ เล่าให้ฟังว่า เธอได้เจอกับกลุ่มคนเสื้อเหลืองนี้เป็นจำนวนมาก บางส่วนใส่เสื้อเหลืองธรรมดา บางส่วนก็จะมีสูทสีดำปิดทับ มะลิมีโอกาสได้คุยกับผู้สมัครที่สวมเสื้อสีเหลืองคนหนึ่งที่บ่นให้มะลิฟังว่า เก้าอี้มันเอียงทำให้เมื่อยและเพลีย บทสนทนาของทั้งสองคนจึงเริ่มขึ้น และมะลิจะจำได้เป็นอย่างดี
“เมื่อคืนนั่งรถตู้มาจากต่างจังหวัดถึงตอนตีสี่” คนเสื้อเหลืองกล่าว
มะลิจึงถามว่ามากันกี่คน
“มากันสองถึงสามคันรถ” คนเสื้อเหลืองตอบ
มะลิจึงถามต่อว่าแล้วถ้าเลือก สว . เสร็จแล้วจะกลับเลยหรืออยู่เที่ยวกรุงเทพฯ ต่อสักคืน?
คนเสื้อเหลืองตอบว่า “ไม่ เขาจัดไว้แบบนี้”
คนเสื้อเหลืองกลับบ้านก่อน ไม่รอผลคะแนน
มะลิเล่าให้ฟังต่อว่าผู้สมัครกลุ่มเสื้อเหลือง เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วก็จะขอสละสิทธิไปรับโทรศัพท์คืนแล้วกลับออกไปทันที โดยไม่สนใจที่จะเฝ้ารอดูการนับคะแนนและรอลุ้นผล เมื่อมาถึงตอนที่มีการประกาศคะแนน ผู้สมัครในห้องประชุมก็หายไปแล้วประมาณ 30%
สำหรับการเลือก สว. ในทุกระดับกำหนดไว้ชัดเจนให้เจ้าหน้าที่จะเก็บเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดของผู้สมัครไว้ก่อนที่จะเข้าสู่การเลือกและคืนให้หลังจากที่การเลือกเสร็จแล้ว และหากผู้สมัครขอออกจากสถานที่เลือกเจ้าหน้าที่จะถือว่าผู้สมัครคนนั้นสละสิทธิทันที
ทั้งมะลิและธีระพงษ์ แชร์ภาพจำที่ตรงกันว่า พวกเขาสังเกตเห็นผู้สมัครที่มีพฤติกรรมผิดปกติ แบ่งได้เป็นสองกลุ่ม
- กลุ่มแรก คือ คนเสื้อเหลือง เมื่อลงคะแนนเสร็จสิ้นในรอบไขว้ ก่อนจะประกาศผล คนเสื้อเหลืองไม่รอฟังผลคะแนนเลย
- สคนอีกกลุ่ม คือ คนที่มีคะแนนสูงระดับล้นกระดาน คะแนนติดท็อปห้าทุกกลุ่ม เหมือนนอนมา
มะลิเล่าให้ฟังว่า ผู้สมัครโดยทั่วไปรวมถึงตัวมะลิเองเมื่อมาถึงช่วงการนับคะแนนก็จะว้าวุ่นจนแทบเป็นบ้า ส่วนคนกลุ่มที่มีคะแนนสูงระดับล้นกระดาน หรือ ที่มะลิเรียกว่าผู้สมัคร “ตัวจริง” จะมีพฤติกรรมแบบนั่ง “ชิวๆ” ไม่ต้องลุ้นอะไรเลย เหมือนรู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะได้รับเลือกด้วยคะแนนที่มากเพียงพอ
มีผู้สมัครตัวจริงกับผู้สมัครพลีชีพ
ดูเหมือนว่าคนกลุ่มนี้มีหน้าที่มาลงคะแนนในรอบเลือกกันเองเพื่อส่งคะแนนให้ผู้สมัคร “ตัวจริง” เข้ารอบไขว้ มะลิเล่าต่อว่าผู้สมัครคนที่เล่าเรื่องการจัดรถรับส่ง ได้คะแนนสูงในรอบเลือกกันเองประมาณ 25 คะแนน แต่พอในรอบเลือกไขว้ก็มีคะแนนต่ำเพียง 1 คะแนนเท่านั้น ในภาพรวม ก็จะมีผู้สมัครที่มีลักษณะเช่นนี้ คือ ได้คะแนนต่ำหรือไม่ได้คะแนนเลยในรอบเลือกไขว้
“มันไม่ใช่การพลีชีพธรรมดา มันเป็นการรับจ้าง นี่เขามาทำมาหากิน พูดจริงๆ เขาไม่ได้อยากเป็น สว. หรอก มันไม่ใช่ว่าฉันชอบเธอฉันจะยกคะแนนให้เธอแบบนั้น เหมือนมาตามคำสั่ง สั่งยังไงก็ทำตามอย่างนั้น เป็นการรับจ้างทุจริตอย่างหนึ่ง” มะลิกล่าว
ผู้สมัครตัวจริง “คะแนนล้นจนต้องต่อกระดาน”
ธีระพงศ์ อธิบายว่า ผลคะแนนที่ออกมามีผู้ได้รับเลือกที่ได้คะแนนสูงแบบฉีกค่าเฉลี่ยออกมาแบบชัดเจนมาก ถ้าเรามองเป็นกราฟจะมีคะแนนที่หลุดค่าเฉลี่ยออกไป และคะแนนที่ต่ำค่าเฉลี่ยลงมา ชัดเจนเลยว่าคนที่ได้คะแนนสูงจนหลุดค่าเฉลี่ยออกไปคือผู้สมัคร “ตัวจริง” ของเขาทั้งหมด
คะแนนที่ได้รับจนสูงมากเช่นนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องต่อกระดานและเขียนกระดาษต่อในแผ่นที่สอง ในขณะที่คะแนนของผู้สมัครรอบเลือกไขว้ส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่เก้าคะแนน คะแนนของผู้สมัคร “ตัวจริง” เหล่านี้ก็จะอยู่ที่ 50-70 คะแนน ผู้สมัครหลายคนก็พูดกันปากต่อปากว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนได้คะแนนลักษณะนี้
จากการสังเกตุการณ์ของเจ้าหน้าที่ไอลอว์ พบว่า ปรากฏการณ์คะแนนที่ล้นกระดานนี้เกิดขึ้นจริง เมื่อมีการนับคะแนนไปได้ระยะหนึ่งจะพบว่าในทุกกลุ่มจะมีผลคะแนนล้นกระดานหกคนต่อกลุ่มเท่ากันถึง 19 กลุ่ม ยกเว้นกลุ่มเดียวที่มีคะแนนล้นกระดานห้าคน ทำให้มีผู้สมัครที่ได้คะแนนล้นกระดานเหล่านี้เกาะกลุ่มกันได้รับเลือกเป็นสว. รวม 119 คน
คะแนนแบบแพทเทิร์น 1 ใน 5,566 ล้านล้านล้าน
หลังการขานคะแนนทั้งในรอบเลือกกันเองและในรอบเลือกไขว้ไปได้ระยะหนึ่ง ผู้สมัครจำนวนหนึ่งจับจังหวะความผิดปกติในการขานคะแนนได้ เมื่อพบว่ามีการลงคะแนนเป็นแพทเทิร์น คือ มีบัตรลงคะแนนจำนวนหนึ่ง ที่เขียนหมายเลขในช่องลงคะแนนลงในบัตรเหมือนกันทุกหมายเลข และเรียงลำดับหมายเลขเหมือนกันด้วย โดยไม่ได้เรียงจากหมายเลขน้อยไปหามาก แต่เรียงลำดับแบบอิสระได้เหมือนกันหลายใบ
*ธีระพงศ์ กันตรัตนากุล พร้อมกระดาษที่จดคะแนนที่มีลักษณะเป็นแพทเทิร์น*
สำหรับการเขียนหมายเลขในรอบเลือกกันเอง ซึ่งผู้สมัครหนึ่งคนสามารถเขียนได้ 10 หมายเลข จากตัวเลือกผู้สมัคร 144 คนต่อกลุ่ม โอกาสที่ผู้สมัครสองคนจะเลือกเหมือนกันทั้งสิบหมายเลขและเรียงลำดับเหมือนกัน โดยไม่ได้ตกลงนัดหมายกันมาก่อน คือ 1 ใน 5,566,857,732,147,160,000,000 (อ่านว่า หนึ่งในห้าพันห้าร้อยหกสิบหกล้านล้านล้าน) หรือแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แต่ในความเป็นจริงมีบัตรที่เขียนหมายเลขตรงกันทั้งหมดมากกว่าสองใบ
ธีระพงศ์ เล่าต่อว่า ผู้สมัคร “ตัวจริง” ของเขาดูเหมือนว่า ถูกคัดมาตั้งแต่รอบเลือกกันเองแล้ว เพราะมีคะแนนเป็นแบบ “แพทเทิร์น” ก็จะเห็นเลยว่าใน 10 หมายเลขของรอบเลือกกันเอง คือ เลือกเหมือนกันและเรียงเหมือนกัน
“ในกลุ่ม 8 ของผม จากที่ผมจดใบขานคะแนนเนี่ย พบว่าจาก บัตรลงคะแนน 149 ใบมี 21 ใบที่ลงคะแนนแบบนี้ซึ่งคิดเป็น 14% ของบัตรลงคะแนนทั้งหมด”
หรือแพทเทิร์นจะเกิดจากโพย
มะลิมองว่าไม่มีทางที่ผู้สมัครจะจำหมายเลขของกันและกันได้ทั้งหมด เพราะ “มันจำได้ยาก” ก่อนเข้าสู่ระดับประเทศ กกต. จะให้เอกสารประวัติ สว.3 ของผู้สมัครในกลุ่มของเราราว 154 คน เราก็จะหมกมุ่นเกี่ยวกับแค่คนในกลุ่มเราเท่านั้น เว้นแต่ว่าผู้สมัครจะไปดาวน์โหลดประวัติของผู้สมัครอีก 19 กลุ่มมาอ่านเอง และต่อให้ไปดูหมายเลขของผู้สมัครอีก 19 กลุ่ม เราก็ไม่รู้อยู่ดีว่าใครจะได้เข้ารอบบ้าง
“เราจึงแปลกใจมากที่ทำไมถึงมีผลคะแนนแบบเป็นแพทเทิร์น เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการคิดสด เมื่อรู้คะแนนแล้วก็จัดทำรายชื่อขึ้นมาแล้วก็เดินกระจายข้อมูลให้ไปจดซึ่งกันและกัน เพราะคะแนนมันเป๊ะจนผิดปกติ” มะลิกล่าว
“หรือบางทีอาจมีคนนั่งเฝ้าอยู่ข้างนอกก็ได้ แต่ผู้สมัครทุกคนก็ถูกเก็บโทรศัพท์ไว้ แล้วข้อมูลจะออกไปได้อย่างไร และในวันนั้นก็มีการถ่ายทอดสดแต่ก็เป็นการถ่ายทอดสดสลับกันของแต่ละกลุ่มไม่ได้เจาะจงที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ”
ผู้สมัคร สว. ก็มีต้นทุน
มะลิ เล่าให้ฟังว่าผู้สมัคร สว. แต่ละคนมีต้นทุนในการสมัครและเข้าร่วมกระบวนการเลือกกันเองสูงมาก นอกจากจะต้องเสียค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พักแล้ว ยังจะต้องใช้สมอง ต้องใช้เวลา ต้องเสียสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ
ธีระพงศ์ เล่าต่อว่า เรื่องของต้นทุนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้สมัครหลายคนที่มาเกาะกลุ่มกันด้วยอุดมการณ์กลับแตกคอกัน เพราะทุกคนต่างมอง “ฉันมีต้นทุน ฉันอยากเป็น” พอมาถึงรอบสุดท้ายแล้วก็คิดว่า อีกก้าวเดียวจะได้เป็น สว. แล้ว
“ส่วนกลุ่มคนเสื้อเหลือง ผมคิดว่าเขาไม่มีต้นทุนแบบนี้เขาไม่ต้องลงทุนอะไร เลยกลายเป็นว่าความกระหายที่จะเป็นเลยไม่มี ฉันมาทำตามสั่งและฉันก็กลับบ้าน เสียเวลาวันสองวันที่พักฟรี ค่ารถฟรี มีรถรับส่งถึงบ้าน เขาไม่มีต้นทุนก็เลยอยู่ภายใต้คำสั่งได้มากขึ้น”
ล้นกระดาน+แพทเทิร์น= ต้องทำอะไรซักอย่าง
“ทุกกลุ่มแชร์เหมือนกันเลย พอนับคะแนนไปได้ระยะหนึ่ง เราก็เริ่มถอดใจแล้ว เราเดินไปดูด้วยตาตัวเอง มันเหมือนกันทุกกลุ่มเลย มันพิลึกจนเราต้องมาจับกลุ่มคุยกันในหมู่ผู้สมัครว่ามันมีความผิดปกติแน่ เพราะมันมีแบบนี้ทุกกระดาน” มะลิเล่า
มะลิเล่าว่า พอเห็นผลคะแนนก็รู้เลยว่า “เขา” ไม่สนใจกติกาอะไรเลย
“ตอนนั้นอยากทำอะไรสักอย่าง อยากจะไปคว้าไมค์ยืนตะโกนด่าแต่ก็คิดได้ว่าอย่าเพิ่งดีกว่าเดี๋ยวติดคุก”
“ก็เลยคุยกันว่างั้นเรามาล่ารายชื่อดีกว่า ร้องเรียน กกต. ที่จัดการเลือก สว. อย่างไม่โปร่งใส” มะลิกล่าว
ในเวลาประมาณ 02.00 น. เมื่อมีการนับคะแนนในรอบเลือกไขว้ไปได้ประมาณหนึ่ง ผู้สังเกตการณ์พบว่า มีผู้สมัครสว. รวมตัวพูดคุยกันอยู่ที่บริเวณโต๊ะทำงานของเจ้าหน้าที่ เมื่อเข้าไปสอบถามพบว่า ผู้สมัครกลุ่มนี้กำลังล่ารายชื่อร้องเรียน กกต. จากการสอบถามผู้สมัครพบว่าแม้จะมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน บ้างก็ต้องการให้ กกต. ต้องรับผิดชอบอย่างถึงที่สุด บ้างก็ต้องการให้มีการลงคะแนนใหม่ แต่จุดร่วมของผู้สมัครกลุ่มนี้คือพบเห็นความผิดปกติในการเลือก สว. ระดับประเทศ และต้องการร้องเรียน กกต. ที่จัดการเลือก สว. อย่างไม่โปร่งใส
ธีระพงศ์ เป็นผู้สมัครที่ร่วมลงชื่อเป็นลำดับที่ร้อยกว่าๆ เขาเล่าว่า ในกระดาษที่ลงชื่อเป็นกระดาษเปล่าที่เขียนคำร้องและรายชื่อของผู้ร่วมลงชื่อด้วยลายมือของผู้สมัครด้วยกันเอง หลังจากที่ยื่นหนังสือไปให้ทาง กกต. แล้ว ก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ กกต. ติดต่อผู้สมัครที่ร่วมลงชื่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมอะไรเลย จำได้ว่ากกต. รับเรื่องแต่ไม่ได้มีการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเรื่องนี้ธีระพงศ์มาได้ยินข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบกระบวนการก็เมื่อเกิดข่าวการส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนของดีเอสไอ
“ราวกับว่าเรายื่นแล้วมันเงียบหายไปเลย” ธีระพงศ์ ทิ้งท้าย