“การปฏิวัติ ” เปลี่ยนแปลงต่อสังคมที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลทั้งในแง่เชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงใหญ่เช่นนี้จำเป็นอย่างมากที่ต้องอาศัยบุคคลหลายส่วนเข้ามามีส่วนร่วม นิภา นักข่าววัยสาวก็นับเป็นหนึ่งในผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้และพลังของเธอได้ทำให้เราได้เห็นในหนังสือเรื่อง “ 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม ” ที่ถูกเล่าอย่างพิถีพิถันโดยสะอาด และพชรกฤษณ์ โตอิ้ม ซึ่งเล่าถึงความสำคัญของสื่อมวลชนหนึ่งในผู้สร้างสรรค์และรักษาคุณค่าทางประชาธิปไตยผ่านการตัวละครอย่างนิภาในนิยายเล่มนี้

สื่อมวลชน หนึ่งในส่วนสำคัญของการเปลี่ยนประเทศ
เรื่องราวของนักข่าวผู้ไม่ยอมอ่อนข้อต่อระบบอย่างนิภา เริ่มต้นเรื่องครั้งแรกผ่านสำนักข่าวอย่างบางกอกนิวส์ ในฐานะคนอ่านตั้งแต่บทแรกก็รู้ได้เลยว่าการเปลี่ยนแปลงสยามครั้งนี้ ตัวละครสำคัญไม่ใช่กองทัพหรือนักเรียนกฎหมายเพียงอย่างเดียว สื่อมวลชนเองก็เป็นหนึ่งในกองกำลังสำคัญครั้งนี้ด้วย
อาชีพนี้คนเขียนในฐานะอดีตนักข่าวและผู้ติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่พิเศษมาก เพราะในฐานะของนักข่าวจะมีสถานะพิเศษคือ นอกเหนือจากเป็นตัวกลางระหว่างรัฐ เอกชนและประชาชนแล้ว พวกเขายังสามารถ นำข้อมูลจากมาวิเคราะห์และวิจารณ์ออกสู่สาธารณะได้อย่างเต็มที่ในฐานะสื่อมวลชน
หากจะยกตัวอย่างบุคคลใกล้เคียงนิภาในชีวิตจริงเรื่องนี้ คงต้องให้ เทียนวรรณ นักเขียนคนสำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ห้า เป็นสื่อมวลชนที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองผ่านงานวารสารชื่อ “ตุละวิภาคพจนกิจ” และ “ศิริพจนภาค”
ภาพรวมทั้งหมดเขาพยายามบอกกับชนชั้นนำและสังคมว่า ประชาชนคือพลเมืองที่สำคัญของประเทศ จำเป็นต้องมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชนเข้ามาร่วมบริหารประเทศเพื่อช่วยขจัดปัญหาของประชาชน ซึ่งต่อมาแนวคิดนี้ก็ผลิดอกออกผลผ่านการปฎิวัติ 2475 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่เจ็ด
ในส่วนนี้เทียนวรรณและนิภามีจุดมุ่งหมายที่เหมือนกันคือการวิจารณ์รัฐบาลเพื่อทำให้ประเทศเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้นผ่านการทำงานของนักข่าว อีกทั้งทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมอีกด้วย
หากสังคมสื่อดีสังคมไทยก็จะดีตามไปด้วย
สื่อมวลชน เป็นหนึ่งกลไกสำคัญอย่างยิ่งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย นอกเหนือว่าเป็นสุนัขเฝ้าบ้านคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐและเอกชนให้กับประชาชนแล้ว ยังเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรงอีกด้วย จุดยืนของสื่อมวลชนจึงส่งผลโดยตรงต่อการทำงานในด้านนี้เป็นอย่างมาก
2475 นักเขียนผีแห่งสยาม ได้เล่าเรื่องจุดยืนของนิภาในฐานะของนักข่าวเอาไว้เช่นเดียวกัน นิภามีทางเลือกในชีวิตอยู่สองทางเดินในฐานะสื่อมวลชนคือ หนึ่งได้เป็นนักเขียนที่ได้รับการยอมรับในสังคมผ่านสังกัดแสงอักษร เพียบพร้อมไปด้วยเงินและบารมีแต่ต้องเขียนตามความต้องการของชนชั้นสูง
อีกหนึ่งทางคือการเป็นสื่อในบางกอกนิวส์ที่เงินเดือนไม่สูงและเสี่ยงอันตรายแต่สามารถวิจารณ์รัฐได้ ท้ายสุดนิภาก็เลือกเดินในเส้นทางของบางกอกนิวส์ต่อไป เพราะความเชื่อที่ว่าสื่อมวลชนจำเป็นต้องมีจุดยืนเคียงข้างประชาชน
เสรีภาพสื่อไทยที่กำลังถอยหลัง
ตลกร้ายที่เหมือนกันระหว่างนิยายและความเป็นจริงคือ เรื่องเสรีภาพสื่อยังคงถูกคุกคามในการทำหน้าที่ต่อเนื่อง แม้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตามที
ตัวอย่างเช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ที่ถูกจับกุมข้อหากบฏ เพียงเพราะการวิจารณ์รัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงครามที่ยอมให้ญี่ปุ่นเข้ามายึดดินแดนไทย การปิดกั้นข่าวสารของรัฐบาลสุจินดา คราประยูรทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียวหรือในการรัฐประหาร 2557 มีการตัดช่องทางการสื่อสารทั้งออกอากาศและออนไลน์
กุมภาพันธ์ 2568 การทำงานของสื่อมวลชนก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เหมือนที่ผ่านมา บรรดาสื่อทั้งหลายไม่กล้านำเสนอประเด็นที่ควรถูกพูดถึงได้ในสังคม เช่น เรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างตรงไปตรงมา การวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญอย่างสุจริต เป็นต้น เมื่อเทียบกับสามถึงสี่ปี่ก่อนหน้านี้ที่สังคมสื่อมีการพูดถึงประเด็นที่แหลมคมของยุคสมัยอย่างการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ได้
แม้ฟ้ามัวหม่นขอ “สื่อมวลชน” จงยืนตรงทนงอย่าง “นิภา”
ภาพรวมจะเห็นได้ว่าความเข้มแข็งของสื่อมวลชน มีคุณค่าและความหมายอย่างยิ่งในสังคมไทย เพราะนอกเหนือจากสื่อจะเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนแล้ว ยังเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของรัฐ เอกชนและประชาชนอีกด้วย คุณค่าและจุดยืนของสื่อจึงต้องชัดเจนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ฉะนั้นสิ่งที่สื่อมวลชนปัจจุบันจำเป็นต้องมีคือการยืนหยัดบนศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสื่อมวลชน เป็นกำลังสำคัญในการยกระดับเนื้อหาต่อสังคมและยืนหยัดทำงานอย่างมีคุณภาพบนหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ หากสามารถเดินหน้าสื่อมวลชนถึงจุดนี้ได้ สังคมก็จะได้รับการพัฒนาขึ้นเช่นเดียวกัน
เพราะสิ่งต่างๆ ที่พูดมานี้ล้วนมีอยู่ในตัว “นิภา” ทั้งสิ้น และหวังว่าสื่อมวลชนทุกคนจะยืนตรงอย่างที่นิภายืน