เลือกตั้งท้องถิ่น : เตรียมพร้อมก่อนเลือกตั้ง อบจ. 1 กุมภาพันธ์ 2568

การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) วนกลับมาอีกครั้งหลังจากเลือกตั้ง อบจ. ครั้งก่อนเมื่อ 20 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกหลังจากถูก “แช่แข็ง” อยู่ภายใต้การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรืออาจกล่าวอีกทางได้ว่าการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองหลังจากถูกแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นไป

เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2567 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาประกาศแผนการเลือกตั้ง และเคาะวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 โดยการเลือกตั้ง อบจ. จะไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือการเลือกตั้งนอกเขต หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องกลับบ้านไปเลือกตั้งตามจังหวัดที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น

อบจ. คืออะไร ทำความเข้าใจก่อนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

อบจ. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ มีจังหวัดละหนึ่งแห่งทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมอาณาเขตของทั้งจังหวัด

โดยโครงสร้าง อบจ. ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และมีสมาชิกสภาองค์การบริการส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ทำหน้าที่เป็นสภา มีอำนาจพิจารณาข้อบัญญัติต่างๆ ของอบจ. และพิจารณาการจัดสรรงบประมาณ

พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 กำหนดให้ นายก อบจ.และ ส.อบจ. นั้นมาจากเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยที่การเลือกนายก อบจ. จะใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และ ส.อบจ. ใช้อำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ละจังหวัดจะมี ส.อบจ. จำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น โดยนำมาถัวเฉลี่ยแล้วแบ่งเขตเลือกตั้งภายในอำเภอนั้นๆ ตามตาราง

จำนวนราษฎรจำนวน ส.อบจ.
ไม่เกิน 500,000 คน24 คน
เกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1 ล้านคน30 คน
เกิน 1 ล้านคน แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านคน36 คน
เกิน 1.5 ล้านคน แต่ไม่เกิน 2 ล้านคน42 คน
เกิน 2 ล้านคนขึ้นไป48 คน

นอกจากนี้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. และ ส.อบจ. ไม่จำเป็นต้องมีสังกัดพรรคการเมืองเหมือนกับการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ผู้สมัครสามารถลงเลือกตั้งได้อย่างอิสระ รวมถึงตัวผู้สมัคร ส.อบจ. เองก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสังกัดของผู้สมัครนายก อบจ.อีกเช่นเดียวกัน

นายก อบจ. มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในส่วนของ ส.อบจ. ก็มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้งเช่นเดียวกัน

ส่องภารกิจ อบจ. ทำงานใกล้ชิดท้องถิ่น มีรายได้จัดเก็บเอง

เมื่อเปรียบเทียบกับ สส. ที่เป็นเหมือนตัวแทนของคนในจังหวัดที่เข้าไปทำงานในสภา หน้าที่หลักของ สส. คือ การออกกฎหมาย และควบคุมตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร แต่ในส่วนของการแก้ไขปัญหาที่กระทบกับชีวิตของประชาชนในพื้นที่ สส. อาจไม่ได้มีบทบาทมากมายนัก เพราะสิ่งที่สส. สามารถทำได้หากได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ ก็คือ การตั้งกระทู้ถึงรัฐมนตรีที่รับผิดชอบต่อปัญหานั้น เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและแนวทางดำเนินการแก้ไข หรือการพาราษฎรที่เดือดร้อนไปพบเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ หรือการนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมาธิการของรัฐสภาที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณานำเสนอการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาล

หน่วยงานที่เปรียบเสมือนแขนขาของส่วนกลางอย่าง ‘จังหวัด’ ที่นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเองก็ไม่ได้มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาให้คนในพื้นที่โดยตรงมากเท่า อบจ. เพราะหน้าที่หลักของผู้ว่าฯ คือการรับนโยบายของรัฐบาลหรือส่วนกลางมาปฏิบัติภายในจังหวัด ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534

อบจ. จึงเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับอีกสองหน่วยงานข้างต้น การเลือกตัวแทนเข้าไปเป็นนายก อบจ. และส.อบจ. จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะบุคคลเหล่านี้เมื่อได้รับเลือกแล้ว ก็จะมีหน้าที่ จัดทำบริการสาธารณะ แก้ปัญหา บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชนในพื้นที่

โดยภารกิจของ อบจ. ถูกกำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และ พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เช่น

  • ตราข้อบัญญัติ อบจ. ซึ่งเป็นกฎหมายของ อบจ. โดยเฉพาะ ซึ่งอาจกำหนดเรื่องการบริหารจัดการบริการสาธารณะต่างๆ หรือกำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของ อบจ.
  • การจัดทำบริการสาธารณะต่างๆ เช่น สร้างถนน สะพาน เส้นทางคมนาคมทางบกและทางน้ำ ท่อขนส่งระบายน้ำ จัดระบบขนส่งมวลชน
  • คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บำรุงรักษาป่าไม้ ที่ดิน จัดการมลพิษต่างๆ
  • บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมของท้องถิ่น
  • จัดการ ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการศึกษา รวมทั้งการจัดการหรือสนับสนุนการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก
  • การรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภายในจังหวัด
  • การส่งเสริมการท่องเที่ยว
  • การจัดการขยะและติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย
  • การจัดให้มีโรงพยาบาลจังหวัด การรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ

สำหรับรายได้ของ อบจ. มาจากเงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐในทุกปีงบประมาณ การเก็บภาษีต่างๆ ในจังหวัด กล่าวคือ ‘รายได้ที่ อบจ.’ จัดเก็บเอง เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย อากรการฆ่าสัตว์ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ อบจ. มีงบประมาณเป็นของตัวเอง ทำให้การแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในจังหวัดสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องรองบประมาณหรือการดำเนินการจากส่วนกลางอย่างเดียว

นอกจากนี้ อบจ. ยังมีรายได้จากภาษีที่รัฐจัดเก็บและจัดสรรให้ เช่น ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐจะจัดสรรให้ อบจ. ร้อยละห้าของภาษีที่จัดเก็บได้

เตรียมพร้อมก่อนกลับบ้านไปเลือกตั้ง อบจ.

การเลือกตั้ง อบจ. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องเดินทางกลับไปเลือกตั้งตามภูมิลำเนาที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้านที่ไม่ใช่กรุงเทพมหานครเท่านั้น จะไม่มีการให้เลือกตั้งล่วงหน้าหรือการเลือกตั้งนอกเขต

สำหรับผู้ที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. มีขั้นตอนที่ต้องเตรียมตัวก่อนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนี้

เช็กสิทธิให้พร้อม ใครเลือกตั้ง อบจ. ได้บ้าง

1) มีสัญชาติไทย กรณีแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

2) อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง

3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หมายความว่า ในการเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ. ในจังหวัดนั้นๆ ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

ในกรณีที่มีการย้ายทะเบียนบ้านออกจากเขตเลือกตั้งหนึ่งไปยังอีกเขตเลือกตั้งหนึ่งภายในจังหวัดเดียวกัน ไม่ถึงหนึ่งปีนับถึงวันเลือกตั้ง จะมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเขตเลือกตั้งตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านเดิม

สำหรับภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช ผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้ที่ถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ.

ตรวจสอบรายชื่อตนเองก่อนวันเลือกตั้ง

สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ที่ศาลากลางจังหวัดหรือที่ว่าการอำเภอ อบจ. ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสามารถตรวจรายชื่อจากเอกสารที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ส่งมายังเจ้าบ้านได้ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน

หากตรวจสอบแล้วพบว่าตนเองไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน

ขั้นตอนการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง

การเลือกตั้ง อบจ. วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิได้ที่หน่วยเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

โดยขั้นตอนในการออกเสียงลงคะแนน มีห้าขั้นตอนหลักๆ คือ

1) ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง

2) แสดงหลักฐานที่ทางราชการออกโดยจะต้องมีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ให้เพื่อยืนยันตัวตน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่รัฐ ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง หรือบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ในแอปพลิเคชัน ThaID ต่อกรรมการการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งพร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อและต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง

3) รับบัตรเลือกตั้ง โดยหลักแล้วการเลือก อบจ. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับบัตรเลือกตั้งสองใบ แบ่งเป็น บัตรเลือกตั้งนายก อบจ. หนึ่งใบ และบัตรเลือกตั้ง ส.อบจ. อีกหนึ่งใบ ยกเว้นจังหวัดที่เลือกตั้ง นายก อบจ. ไปแล้วก่อนหน้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เพราะเหตุที่นายก อบจ. ลาออกหรือพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นๆ ก็จะได้รับบัตรเลือกตั้งหนึ่งใบสำหรับเลือก ส.อบจ.

4) เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย

  • บัตรเลือกตั้งนายก อบจ. เลือกผู้สมัครได้ หนึ่งคน
  • บัตรเลือกตั้ง สจ. เลือกผู้สมัครได้ หนึ่งคน
  • หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใด สามารถทำเครื่องหมายกากบาทในช่อง ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด ก็ได้

สำหรับข้อห้ามที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยทั่วไปแล้วคล้ายกับการเลือกตั้ง สส. คือ ห้ามทำเครื่องหมายใดๆ ในบัตรเลือกตั้ง ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนไปแล้ว

5) นำบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบที่พับเรียบร้อยแล้วหย่อนลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตัวเอง

ไม่ไปเลือกตั้ง อบจ. ระวังเสียสิทธิทางการเมือง

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 42 กำหนดว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองสองปีนับแต่วันที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

1. สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา

2. สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน

3. สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง

5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น

6. ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น

ไม่ไปเลือกตั้ง อบจ. อย่าลืมแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ 7 วันก่อน/หลังวันเลือกตั้ง

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปเลือกตั้ง อบจ. หากมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ และได้แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธินั้นเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้งหรือเจ็ดวันหลังวันเลือกตั้ง ก็จะไม่ถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองใดๆ

โดยระเบียบคณะกรรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 กำหนดเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ คือ

1. มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล

2. เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

3. เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

4. เดินทางออกนอกราชอาณาจักร

5. มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร

6. ได้รับคำสั่งจากทางการราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง

7. มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นตามที่ กกต.กำหนด

โดยที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. สามารถแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ทาง

  • ทางออนไลน์ ผ่านทางแอปพลิเคชัน Smart Vote หรือเว็บไซต์ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/abscause/#/main
  • แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหนังสือ (ตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 1/8 ท้ายระเบียบ กกต.) โดยยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตท้องที่ด้วยตนเองหรือทำเป็นหนังสือมอบหมายให้บุคคลอื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ