เลือกตั้งท้องถิ่น : เลือกตั้งอบจ. 1 ก.พ. 68 บางจังหวัดจะไม่ได้เลือกนายก อบจ.

วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศเป็นวันเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศไทย อย่างไรก็ตามตั้งแต่ต้นปี 2557 มีการทยอยเลือกตั้งนายก อบจ. ในหลายจังหวัด ทำให้ชวนสับสนว่า จังหวัดที่มีการเลือกตั้งนายก อบจ. ไปก่อนหน้านี้แล้วต้องเลือกตั้ง อบจ. อีกหรือไม่ในช่วงต้นปีหน้า

เลือกตั้ง อบจ. มีบัตรสองใบแต่ไม่จำเป็นต้องเลือกพร้อมกัน

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจโครงสร้างอำนาจของ อบจ. ที่ประกอบไปด้วยสองฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ที่เรียกว่า “สภา อบจ.” และฝ่ายบริหาร ที่เรียกว่า “นายก อบจ.” ทั้งสองฝ่ายแบ่งแยกอำนาจกับอย่างชัดเจนไม่ต้องรับผิดชอบต่อกันและกัน

ซึ่งแตกต่างจากการเมืองในระดับชาติที่ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบต่อกัน กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้เองทำให้การเลือกตั้ง อบจ. มีบัตรเลือกตั้งสองใบ คือการเลือกนายก อบจ. และการเลือกสมาชิกสภา อบจ. ซึ่งไม่จำเป็นต้องเลือกพร้อมกัน และวาระการดำรงตำแหน่งก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มและสิ้นสุดพร้อมกัน

ประชาชนเลือกนายก อบจ.โดยตรง ลาออก เลือกตั้งใหม่นับวาระใหม่

พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด มาตรา 35 กำหนดว่า นายก อบจ.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งครั้งละสี่ปีนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง โดยหากนายก อบจ.ดำรงตำแหน่งจนครบวาระสี่ปีก็จะพ้นจากตำแหน่ง และจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน

ดังนั้นหากย้อนกลับไปวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง อบจ.ครั้งแรกหลังการรัฐประหาร 2557 โดยการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งดังกล่าวเป็นการเลือกตั้งพร้อมกันทั้ง 76 จังหวัดของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ถ้า นายก อบจ.ของจังหวัดใดอยู่จนครบวาระ ไม่ลาออก หรือไม่ได้ออกจากตำแหน่งด้วยวิธีอื่นๆ พวกเขาก็จะครบวาระสี่ปีในวันที่ 19 ธันวาคม 2567

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อเดือนธันวาคม 2563 มีนายก อบจ. อย่างน้อย 29 จังหวัด ที่ลาออกหรือพ้นตำแหน่งด้วยวิธีอื่นๆ ก่อนครบวาระ ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งนายก อบจ.หลังจากนายก อบจ.คนดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งภายใน 60 วัน โดยผู้ที่ได้รับเลือกตั้งก็จะเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งใหม่นับตั้งแต่วันเลือกตั้งจนหมดวาระสี่ปี

ด้วยเหตุนี้เองจะทำให้การเลือกตั้ง อบจ. ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 จะมีอย่างน้อย 29 จังหวัด ที่จะไม่ได้เลือกนายก อบจ.

ส.อบจ. วาระ 4 ปี มีเลือกตั้งซ่อม อยู่จนครบวาระของสภา อบจ.

สำหรับการเลือกตั้ง ส.อบจ. พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็ระบุไว้เช่นเดียวกันว่า วาระการดำตำแหน่งของ ส.อบจ. ให้เป็นไปตามอายุของสภา อบจ. โดยกฎหมายกำหนดให้สภา อบจ.มีอายุครั้งละสี่ปีนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ดังนั้นหากย้อนกลับที่การเลือกตั้ง อบจ.ในปี 2563 วาระการดำรงตำแหน่งของ ส.อบจ. ก็จะสิ้นสุดในวันที่ 19 ธันวาคม 2567

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในหลายจังหวัดก็มีการเลือกตั้ง ส.อบจ. แทนตำแหน่งที่ว่างลงหรือ “เลือกตั้งซ่อม” จำนวนหลายเขตเลือกตั้ง แต่การนับวาระของ ส.อบจ.ที่ชนะเลือกตั้งซ่อมต้องนับตามอายุที่เหลืออยู่ของ สภา อบจ.

ตัวอย่าง หากจังหวัดปทุมธานีมีการเลือกตั้งซ่อม ส.อบจ. เขต 1 อำเภอคลองหลวง ในวันที่ 1 มกราคม 2567 ผู้ที่ชนะเลือกตั้ง ส.อบจ.ในเขตนี้ก็จะมีวาระการดำรงตำแหน่งไม่ถึงหนึ่งปี และเมื่อหมดวาระของสภา อบจ. ก็จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่พร้อมกันทุกเขตในจังหวัดนั้นๆ ทั้งนี้ถ้าอายุของสภาเหลือไม่ถึง 180 วัน กฎหมายก็เปิดช่องให้จะไม่จัดการเลือกตั้งก็ได้

ดังนั้นการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ก็จะเห็นว่า บางจังหวัดก็จะได้บัตรเลือกตั้งสองใบ คือ เลือกทั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. ส่วนจังหวัดที่ไม่ได้เลือกนายก อบจ. ก็จะได้บัตรเลือกตั้งใบเดียว คือ เลือก ส.อบจ.เท่านั้น

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ