หลักฐานไม่พอ! ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง

22 พฤศจิกายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง กรณีธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพุทธะอิสระ : แกนนำ กปปส.) ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยว่าทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 จากหกประเด็นข้อกล่าวหา ได้แก่

1) ทักษิณสั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ เอื้อประโยชน์ตัวเองไม่ต้องติดคุก

2) ทักษิณคบหาฮุนเซน สั่งพรรคเพื่อไทยให้รัฐบาลเอื้อประโยชน์กัมพูชา โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา

3) ทักษิณสั่งพรรคเพื่อไทยร่วมมือพรรคประชาชนแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นพรรคก้าวไกลเดิมที่ต้องคำวินิจฉัยล้มล้างการปกครอง

4) ทักษิณครอบงำเพื่อไทย เจรจาพรรคร่วมรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งเป็นบ้านพักส่วนตัว เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่  หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติฟันเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 14 สิงหาคม 2567

5)  ทักษิณอยู่เบื้องหลังขับพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล

6) ทักษิณสั่งเพื่อไทยดำเนินนโยบายตามที่แสดงวิสัยทัศน์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วว่า แม้ผู้ร้องจะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่การพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์ระดับที่วิญญูชนคาดเห็นได้ว่าน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ

ข้อกล่าวอ้างประเด็นที่หนึ่ง และประเด็นที่สามถึงหก ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามรัฐญธรรมนูญ มาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ “เอกฉันท์” ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาในประเด็นข้างต้น

สำหรับประเด็นที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา โดยตุลาการเสียงข้างมากเจ็ดคน ได้แก่ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ปัญญา อุดชาชน อุดม สิทธิวิรัชธรรม วิรุฬห์ แสงเทียน บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ อุดม รัฐอมฤต และสุเมธ รอยกุลเจริญ เห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อยสองราย คือ จิรนิติ หะวานนท์ และนภดล เทพพิทักษ์ เห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ