กรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่กำลังจะเริ่มงาน หลังสภา คสช. คัดสรรมา 4 รอบ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถูกตั้งขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ที่ผ่านมา ประเทศไทยมี กสม. มาแล้วอย่างน้อย 3 ชุด โดยชุดที่ 3 เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558 ภายใต้ยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. 

ต่อมาภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้มีการจัดทำ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปี 2560 (พ.ร.ป.กรรมการสิทธิฯ) ขึ้นมา โดยกำหนดว่า ให้ กสม. ชุดที่ 3 ต้องพ้นจากตำแหน่งเพื่อสรรหาชุดใหม่ แต่ยังให้ “รักษาการ” ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้ง กสม. ชุดใหม่ ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของกระบวนการคัดเลือกองค์กรอิสระที่ยาวนานกว่า 3 ปี 

ทยอยลาออกจนทำงานไม่ได้ ต้องใช้ “ชุดปฏิบัติหน้าที่แทนชุดรักษาการชั่วคราว”

หลังการรัฐประหาร ปี 2557 กสม.ชุดที่ 2 มีเหตุต้องพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ทำให้ สนช. ซึ่งทำหน้าที่แทนวุฒิสภาในยุคคสช. ได้มีมติเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่ง กสม.ชุดที่ 3 จำนวน 7 คน เมื่อปี 2558 แต่ทว่า กสม. ชุดนี้ก็มีเหตุให้ต้องทยอยออกจากตำแหน่งถึง 4 คน ดังนี้

5 เมษายน 2560 สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย หนึ่งในกรรมการชุดที่สามลาออกจากตำแหน่ง โดยระบุเหตุผลว่า บรรยากาศไม่เอื้อให้เกิดการทำงานที่สร้างสรรค์อาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ

1 มิถุนายน 2562 ชาติชาย สุทธิกลม ลาออกไปรับตำแหน่งใหม่เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

31 กรกฎาคม 2562 อังคณา นีละไพจิตร และเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการอีกสองคนลาออกจากตำแหน่ง โดยอังคณาโพสต์เฟซบุ๊กว่า “โดยเหตุผลส่วนตัวเห็นว่าบรรยากาศการทำงานไม่เอื้อให้เกิดการทำงานอย่างสร้างสรรค์ อาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

เมื่อกรรมการ 4 จาก 7 คน ลาออกจากตำแหน่ง จนเหลือกรรมการชุดรักษาการเพียงสามคน คือ วัส ติงสมิตร, ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ และฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่สามารถประชุมและออกมติใดๆ ได้ตามมาตรา 23 ของ พ.ร.ป.กรรมการสิทธิฯ

1 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมของศาลจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 ของ พ.ร.ป.กรรมการสิทธิฯ แต่งตั้ง สมณ์ พรหมรส, อารีวรรณ จตุทอง, ภิรมย์ ศรีประเสริฐ และสุวัฒน์ เทพอารักษ์ มาเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนชั่วคราว

ต่อมา วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. อายุครบ 70 ปี จึงพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 และให้ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ ทำหน้าที่แทนประธาน กสม. ไปก่อน จึงเหลือกรรมการชุดรักษาการ 2 คน และกรรมการชุดปฏิบัติหน้าที่แทนชั่วคราวอีก 4 คน ที่ยังอยู่ในตำแหน่งระหว่างกระบวนการสรรหาชุดใหม่

กระบวนการสรรหาแบบพิเศษ แต่ตัดสินใจที่สภาแต่งตั้ง ส.ว./สนช.

กระบวนการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความพิเศษกว่าการสรรหากรรมการองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ในเรื่องที่มาของกรรมการสรรหา ซึ่งมีตัวแทนจากหลากหลายภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน ดังนี้

  1. ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน
  2. ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ ชวน หลีภัย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ซึ่งก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 เป็นพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่แทน
  3. ประธานศาลปกครองสูงสุด
  4. ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน สามคน ได้แก่ สมชาย หอมลออ อดีตประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน อดีตประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สุนี ไชยรส รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่หนึ่ง และ ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่สอง
  5. ผู้แทนสภาทนายความหนึ่งคน ได้แก่ ว่าที่ร้อยตรีถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขหนึ่งคน ได้แก่ นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ เลขาธิการแพทยสภา และผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชนหนึ่งคน ได้แก่ ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี อุปนายกสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)
  6. อาจารย์ประจำหรือผู้เคยเป็นอาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งสอนหรือทำงานวิจัย หรือทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี ซึ่งกรรมการตาม (1) (2) (3) (4) และ (5) มีมติเลือกด้วยคะแนนเสียงสองในสามหนึ่งคน ได้แก่ ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แม้ว่ากรรมการสรรหาจะมีความหลากหลาย แต่ตามมาตรา 14 ของพ.ร.ป.กรรมการสิทธิฯ ก็กำหนดขั้นตอนสำคัญไว้ว่า ผู้ที่ได้รับการสรรหาต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกทั้ง 250 คนก็มาจากการคัดเลือกของ คสช. โดยก่อนสมาชิกวุฒิสภาจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2562 ก็ใช้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ทำหน้าที่แทน ซึ่งสมาชิกทั้ง 250 คนก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช. อีกเช่นกัน

ดังนั้น การมีกรรมการสรรหาที่ประกอบด้วยตัวแทนที่หลากหลายจึงไม่ส่งผลต่อการได้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมและเป็นกลางมากนัก ในเมื่อขั้นตอนสุดท้ายก็จะตัดสินใจโดยตัวแทนของ คสช.

สภาแต่งตั้ง คัดสรรอย่างละเอียด เลือกคนเข้าเลือกคนออก

21 สิงหาคม 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาที่มีชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน เปิดเผยรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  7 คน แบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ ข้าราชการเก่าสองคน ได้แก่ ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตเอกอัครราชทูต และเอ็นจีโอด้านสิทธิห้าคน ได้แก่ ไพโรจน์ พลเพชร จากสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), สมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ และกรรมการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต), สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์, บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) และจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งทั้งห้าคนมีความรู้และมีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งในองค์กรของภาครัฐและเอกชน

21 ธันวาคม 2561 สนช. ก็ประชุมลับและลงคะแนนเป็นการลับ ให้ความเห็นชอบกับรายชื่อผู้จะเป็นกรรมการ กสม. ชุดที่สี่ ผลการลงคะแนน เป็นดังนี้

สมศรี หาญอนันทสุข ได้เสียงเห็นชอบ 14 เสียง. ไม่เห็นชอบ 141 เสียง ไม่ลงคะแนน 21 เสียง

ไพโรจน์ พลเพชร ได้เสียงเห็นชอบ 10 เสียง ไม่เห็นชอบ 145 เสียง ไม่ลงคะแนน 21 เสียง

จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ได้เสียงเห็นชอบ 12 เสียง ไม่เห็นชอบ 141 เสียง ไม่ลงคะแนน 23 เสียง

บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ได้เสียงเห็นชอบ 13 เสียง ไม่เห็นชอบ 139 เสียง ไม่ลงคะแนน 24 เสียง

สุรพงษ์ กองจันทึก ได้เสียงเห็นชอบ 15 เสียง ไม่เห็นชอบ 135 เสียง ไม่ลงคะแนน 26 เสียง

ปิติกาญจน์ สิทธิเดช ได้เสียงเห็นชอบ 146 เสียง ไม่เห็นชอบ 20 เสียง ไม่ลงคะแนน 10 เสียง

พรประไพ กาญจนรินทร์ ได้เสียงเห็นชอบ 152 เสียง ไม่เห็นชอบ 14 เสียง ไม่ลงคะแนน 10 เสียง

เท่ากับว่า สนช. เลือกกรรมการสิทธิชุดที่สี่เพียงสองคนที่มาจากสายราชการ คือ ปิติกาญจน์และพรประไพ เท่านั้น ส่วนเอ็นจีโอทั้งห้าคน สนช. ลงมติไม่ให้ผ่านทั้งหมด ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ในส่วนของอีก 5 คน

27 มกราคม 2563 วุฒิสภาพิจารณารายชื่อผู้ที่กรรมการสรรหาเสนอให้เป็นกรรมการิสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกห้าคน ได้แก่ ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี หัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 , บุญเลิศ คชายุทธเดช สื่อมวลชนอิสระ, ผศ.วิชัย ศรีรัตน์ อาจารย์ประจําสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ลม้าย มานะการ เลขาธิการสมาคมลุ่มน้ําสายบุรี  ซึ่งทั้งสามคนได้รับการเสนอชื่อตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2562 และปรีดา คงแป้น ผู้จัดการ/กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิชุมชนไท ซึ่งได้รับการเสนอชื่อมาเป็นคนสุดท้ายเมื่อเดือนตุลาคม 2562  ผลการลงคะแนน เป็นดังนี้ 

ลม้าย มานะการ ได้เสียงเห็นชอบ 27 เสียง ไม่เห็นชอบ 149 เสียง ไม่ลงคะแนน 23 เสียง

ปรีดา คงแป้น ได้เสียงเห็นชอบ 161 เสียง ไม่เห็นชอบ 24 เสียง ไม่ลงคะแนน 14 เสียง

ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี ได้เสียงเห็นชอบ 171 เสียง ไม่เห็นชอบ 13 เสียง ไม่ลงคะแนน 15 เสียง

ผศ.วิชัย ศรีรัตน์ ได้เสียงเห็นชอบ 74 เสียง ไม่เห็นชอบ 101 เสียง ไม่ลงคะแนน 24 เสียง

บุญเลิศ คชายุทธเดช ได้เสียงเห็นชอบ 121 เสียง ไม่เห็นชอบ 49 เสียง ไม่ลงคะแนน 29 เสียง

แม้บุญเลิศจะได้เสียงเห็นชอบมากกว่าไม่เห็นชอบ แต่เสียงเห็นชอบก็ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของ ส.ว. เท่าที่มีอยู่ จึงไม่ผ่านความเห็นชอบ การลงคะแนนในรอบนี้ ทำให้ ปรีดา และ ผศ.สุชาติ เป็นสองคนที่ผ่านความเห็นชอบ ส่วนอีกสามคนยังไม่เห็นชอบ ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ในส่วนของอีก 5 คน แสดงให้เห็นถึงการเลือกสรรอย่างละเอียดลออ

9 พฤศจิกายน 2563 วุฒิสภาพิจารณารายชื่อผู้ที่กรรมการสรรหาเสนอให้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งรอบนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อคนเดียว คือ ศยามล ไกยูรวงศ์ นิติกรทรงคุณวุฒิ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผลการลงคะแนน ศยามล ไกรยูรวงศ์ ได้รับเสียงเห็นชอบ 201 เสียง ไม่เห็นชอบ 13 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง

26 มกราคม 2564 วุฒิสภาพิจารณารายชื่อผู้ที่กรรมการสรรหาเสนอให้เป็นกรรมการิสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกสองคน ได้แก่ รัชดา ไชยคุปต์ อาจารย์และนักวิจัยอาวุโส แห่งศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผลการลงคะแนน เป็นดังนี้ 

รัชดา ไชยคุปต์ ได้เสียงเห็นชอบ 33 เสียง ไม่เห็นชอบ 162 เสียง ไม่ลงคะแนน 21 เสียง

วสันต์ ภัยหลีกลี้ ได้เสียงเห็นชอบ 206 เสียง ไม่เห็นชอบ 7 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง

การลงคะแนนในรอบนี้ ทำให้ วสันต์ เป็นคนที่ผ่านความเห็นชอบ ส่วนอีกหนึ่งคนยังไม่เห็นชอบ ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ในส่วนของอีกคนที่เหลือ และจะนำมาสู่การลงคะแนนให้ความเห็นชอบเป็นครั้งที่ห้า

การได้วสันต์เพิ่มมาอีกหนึ่งคนทำให้ได้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้มีความรู้ และประสบการณ์ครบทุกด้านทั้งห้าด้าน ตามมาตรา 8 ของพ.ร.ป.กรรมการสิทธิฯ แม้จะยังได้กรรมการไม่ครบเจ็ดคน แต่ก็สามารถเริ่มทำงานได้ ขั้นตอนต่อไป คือ การนำรายชื่อของทั้งหกคนที่ได้รับความเห็นชอบมาจากการลงคะแนนสี่ครั้งทูลเกล้าให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยต่อไป

และเมื่อทั้งหกคนได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้วก็จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ เป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่สี่ แทนที่ “ชุดปฏิติหน้าที่แทนชุดรักษาการชั่วคราว” ที่อยู่ในตำแหน่งมานานแล้วกว่า 3 ปี ซึ่งจากกระบวนการคัดเลือกตัวบุคคลที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่า สภาที่ คสช. แต่งตั้งมาไม่ได้ทำหน้าที่เพียง “ตรายาง” อนุมัติรายชื่อที่เสนอมาเท่านั้น แต่เป็นกลไกสำคัญที่ตัดสินใจว่า ใครบ้างที่จะมาทำหน้าที่นี้

ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่สี่ จึงเป็นอีกกลไกหนึ่งที่มีที่มาจาก คสช. อย่างเต็มรูปแบบ และกำลังจะเริ่มทำหน้าที่ที่สำคัญในความขัดแย้งทางการเมือง

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post