18 ธันวาคม 2563 อัมรินทร์ สายจันทร์ ในฐานะตัวแทนประชาชนผู้ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเนื่องจากทำการย้ายบ้านก่อนการเลือกตั้งไม่ถึง 1 ปี ได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นฯ มีส่วนที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยคำร้องที่เตรียมยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า ตามที่เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ใช้อำนาจ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ ออกประกาศ กกต.เรื่อง กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและมีการประกาศกำหนดให้วันที่ 20 ธันวาคม 2563 เป็นวันเลือกตั้ง
แต่ทว่า ผู้ร้องได้ดำเนินการแจ้งย้ายที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ซึ่งตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ มาตรา 38 (3) กำหนดให้บุคคลผู้มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันเลือกตั้ง
ดังนั้น ผู้ร้องและประชาชนอีกจำนวนมากที่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงแจ้งย้ายที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในช่วงหนึ่งปีก่อนจนถึงวันเลือกตั้ง คือตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2562 จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ก็จะกลายเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในครั้งนี้ไปอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะการย้ายถิ่นฐานและที่อยู่ตามทะเบียนบ้านอันเป็นการใช้สิทธิตามปกติทั่วไปในการดำรงชีวิต
อีกทั้ง หากมีการประกาศกำหนดจัดการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทอื่นในอนาคต เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และกรุงเทพมหานคร ก็จะทำให้ผู้ร้องและประชาชนอีกจำนวนมากที่ย้ายบ้านติดต่อกันน้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันเลือกตั้ง ต้องเสียสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ในคำร้องยังระบุด้วยว่า หากพิจารณาจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2561 จะพบว่า กฎหมายดังกล่าวมีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเลือกตั้งของบุคคลที่ทำการย้ายบ้านก่อนการเลือกตั้งไว้
โดยในมาตรา 106 วรรคหนึ่งของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ได้ระบุว่า “ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งติดต่อกันเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง ให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันครั้งสุดท้ายเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน” กล่าวคือ ผู้ที่ย้ายบ้านก่อนการเลือกตั้งให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งครั้งล่าสุด ในขณะที่ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ กลับไม่ได้บัญญัติข้อความลักษณะดังกล่าวไว้
พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ มาตรา 38 (3) จึงเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพและสร้างความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ ในหลายมาตรา ได้แก่ มาตรา 50 (7) ประกอบมาตรา 252 เรื่องสิทธิเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญฯ หรือ มาตรา 38 เรื่องหลักเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ รวมถึง มาตรา 254 เรื่องสิทธิในการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นต้น
โดยท้ายคำร้องยังระบุด้วยว่า ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ปี 2560 มาตรา 22 (1) ประกอบมาตรา 23 (1) พิจารณาเสนอเรื่อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น มาตรา 38 (3) เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ สร้างความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนจนเกินสมควรแก่เหตุ และเป็นการขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
ด้าน พันตำรวจโทกีรป กฤตธีรา เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้รับหนังสือ กล่าวว่า “ต้องขอบคุณตัวแทนจากพี่น้องประชาชนที่มายื่นเรื่องร้องเรียน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิพลเมือง ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ให้ความสำคัญและตระหนักในเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา การเลือกตั้งทัองถิ่นเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าประเทศของเราเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น สิทธิในการเลือกตั้งทัองถิ่นมีขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้และนำไปใช้กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระดับประเทศ ตรงนี้เราจึงต้องไปดูว่าเหตุใดถึงมีการออกระเบียบที่แตกต่างกัน ที่มาที่ไปหรือเหตุผลในร่างกฎหมายนั้นสมควรหรือไม่ เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของพี่น้องประชาชนหรือไม่”