กักตุนสินค้าควบคุม หน้ากากอนามัย-เจลล้างมือ ช่วงโควิด-19 เสี่ยงคุก 7 ปี

ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “โควิด-19” การกักตัวเองหรือการทำงานที่บ้านเป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค สถานการณ์ที่ทุกคนต้อง “พึ่งตนเอง” ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนมีพฤติกรรมกักตุนสินค้าอุปโภค บริโภค และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น จนสินค้าบางชนิดขาดตลาด 

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 หรือ “กฎหมายควบคุมราคาสินค้า” ได้ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ในการประกาศควบคุมสินค้าและบริการได้ โดยกำหนดให้การกักตุนสินค้าควบคุมเกินปริมาณที่กำหนดไว้ มีโทษสูงสุดจำคุกถึง 7 ปี หรือปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับประเทศไทยเมื่อสถานการณ์เริ่มวิกฤติ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ก็ใช้อำนาจตามกฎหมายควบคุมราคาสินค้าสั่งห้ามส่งออกไข่ไก่ออกนอกประเทศ และกำหนดให้หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ล้างมือเป็นสินค้าควบคุม

 

รมว. พาณิชย์ มีอำนาจควบคุมราคาสินค้าและบริการ

คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ประกอบไปด้วย รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง 4-8 คน ซึ่งไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งต้องมาจากภาคเอกชน ในแต่ละจังหวัดก็จะมี คณะกรรมการจังหวัดฯ หรือ กจร. ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอีกชั้นหนึ่ง ส่วนในกรุงเทพมหานครให้ กกร.ดูแลพื้นที่ในเมืองหลวง

ทั้งนี้ กรรมการกลางฯ หรือ กกร. มีอำนาจออกประกาศควบคุมสินค้าและบริการให้มีผลครอบคลุมทั้งประเทศ การกำหนดมาตรการที่ใช้กับสินค้าควบคุม การสั่งให้ผู้ผลิตหรือขายสินค้าแจ้งข้อเท็จจริง การเข้ากำกับดูแลและสั่งการผลิตหรือขายสินค้าควบคุมให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน การพิจารณาเรื่องร้องเรียนความเดือดร้อนเสียหายจากราคาสินค้า และการเชิญบุคคลมาให้ข้อเท็จจริง เป็นต้น

 

ขายสินค้าควบคุมเกินราคา โทษจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท 

ในการกำหนดราคาสินค้าและบริการนั้น กกร. ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศให้สินค้าหรือบริการใดเป็น “สินค้าควบคุม” หรือ “บริการควบคุม” ได้ โดย กกร.ต้องพิจารณาทบทวนการอย่างน้อยปีละครั้ง ถ้าเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจหรือข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปแล้วให้ยกเลิกการใช้อำนาจนี้ได้ และเมื่อประกาศว่าสินค้าควบคุมหรือบริการควบคุมแล้ว กกร.จะมีอำนาจตามมาตรา 25 ในการควบคุมเหนือสินค้าหรือบริการนั้นๆ 

กกร.ไม่ได้มีอำนาจกำหนดราคาซื้อหรือราคาขายเท่านั้น  แต่ยังสามารถกำหนดอัตรากำไรสูงสุด การนำเข้าหรือการส่งออกนอกประเทศ การเก็บสำรองสินค้าควบคุม การอนุญาตส่งออกนอกพื้นที่ การสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การสั่งให้จำหน่ายสินค้าและบริการตามปริมาณและราคาที่กำหนด หรือสั่งให้จำหน่ายแก่ส่วนราชการหรือบุคคลใด การห้ามขาย ห้ามย้าย หรือห้ามเปลี่ยนสภาพสินค้าควบคุมเกินปริมาณที่กำหนด และการกำหนดมาตรการป้องกันการกักตุนหรือครอบครองสินค้าควบคุม 

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของ กกร. มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ กกร.มีอำนาจสั่งให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าเพื่อขาย ‘เเจ้ง’ ชื่อ ราคาจำหน่าย มาตรฐาน คุณภาพ ขนาด ปริมาณ น้ำหนักต่อหน่วย ฯลฯ เมื่อได้แจ้งแล้วห้ามขายสินค้าหรือบริการแตกต่างไปจากที่แจ้งไว้ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

กักตุนสินค้าควบคุมเกินกำหนด โทษจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท 

กฎหมายควบคุมราคาสินค้า สั่งห้ามกักตุนสินค้าควบคุม หากผู้ใดการครอบครองเกินปริมาณที่กำหนดไว้ หรือเก็บไว้ในสถานที่อื่นนอกจากตามที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่นำสินค้าควบคุมมาขายตามปกติ หรือปฏิเสธการขายหรือประวิงการขายหรือส่งมอบสินค้าโดยไม่มีเหตุผล เช่นเดียวกันกับการบริการควบคุม ก็ห้ามผู้ประกอบธุรกิจหยุด ปฏิเสธ หรือประวิงการให้บริการโดยไม่มีเหตุผล

นอกจากนี้ ยังห้ามโก่งราคา โดยไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจ ‘จงใจ’ ทำให้ราคาต่ำหรือสูงเกินสมควร หรือราคาสินค้าหรือบริการใดปั่นป่วน ทั้งนี้ ผู้ใดโก่งราคาสินค้าหรือบริการใดๆ หรือ กักตุนสินค้าควบคุม และผู้ประกอบธุรกิจบริการหยุดให้การบริการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

เจ้าหน้าที่มีอำนาจกัก อายัด ยึดสินค้าควบคุมได้

‘พนักงานเจ้าหน้าที่’ ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ คือ ข้าราชการซึ่ง รมว. พาณิชย์ แต่งตั้งขึ้น โดยมีอำนาจ ดังนี้ 

หนึ่ง เรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ แจ้งข้อเท็จจริง หรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือให้ส่งบัญชี ทะเบียน เอกสารหรือหลักฐานใดเพื่อตรวจสอบหรือประกอบการพิจารณา ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

สอง เข้าสถานที่ทำการ สถานที่ผลิต สถานที่จำหน่าย สถานที่รับซื้อ สถานที่เก็บสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจ หรือสถานที่อื่นที่มีเหตุสมควร หรือเข้าไปในยานพาหนะ หรือสั่งให้ยานพาหนะหยุดหรือจอดเพื่อตรวจสอบ ตรวจค้น ยึดพยานหลักฐานหรือทรัพย์สิน หรือจับกุมผู้กระทำผิด การจับกุมผู้กระทำผิดซึ่งหน้าในกรณีกักตุนสินค้าควบคุมหรือหยุดบริการควบคุมสามารถทำได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สาม กัก อายัด หรือยึดสินค้า ยานพาหนะ เอกสารหรือหลักฐาน ในความผิดการกักตุนสินค้าควบคุม หรือหยุดบริการควบคุม โดยการใช้อำนาจนี้ต้องได้รับอนุญาตจากประธาน กกร. หรือ รมว.พาณิชย์ เสียก่อน ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวด้วย ทั้งนี้ หากบุคคลใดไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน และปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ