หลังจากที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw) ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 เพื่อขอทราบข้อมูลและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ก็เป็นระยะเวลาผ่านไปหลายเดือน จนกระทั่งมีการประกาศรายชื่อสมาชิกวุฒิสภา ชุดพิเศษ 250 คน รวมทั้งรายชื่อสำรองออกมา และทั้ง 250 คน ก็เข้าทำหน้าที่ไปเรียบร้อยแล้ว
ก่อนหน้านี้ในความรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา ส.ว. ได้รับรู้เพียงแค่ขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 แต่กระบวนการในรายละเอียดที่ฝ่าย คสช. ดำเนินการไม่มีใครทราบว่า มีขั้นตอนอย่างไร เราจึงยื่นหนังสือสอบถามรายละเอียดส่วนนี้ เพื่อขอทราบข้อมูลอย่างน้อยสามประเด็น ได้แก่
1. รายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งขึ้น และรายละเอียดความรู้และประสบการณ์ของกรรมการแต่ละคน ตามมาตรา 269 (1)
2. วิธีการที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว. กำหนดในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 269 (1)(ข)
3. รายชื่อบุคคลซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภา ที่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา ส.ว. จำนวนไม่เกิน 400 คน ตามมาตรา 269 (1)(ข) ก่อนที่จะถูกคัดเลือกเหลือ 194 คน
จนกระทั่งวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 หรือเวลาผ่านมากว่า 241 วัน สำนักงานเลขาธิการกองทัพบก ได้ติดต่อกลับมายังไอลอว์ให้ไปรับเอกสารเกี่ยวกับการสรรหา ส.ว. ทั้งหมด ของ คสช. เอกสารที่ได้รับมามีทั้งหมด 63 หน้า สามารถจำแนกได้ดังนี้ (ปรากฏตามไฟล์แนบ)
1. หนังสือตอบรับคำขอเอกสาร
2. เอกสารอธิบายกระบวนการสรรหา ส.ว.
3. คำสั่ง คสช. 1/2562 แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.
4. คำสั่ง คสช. 2/2562 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ว.
5. รายชื่อ ส.ว. จากการสรรหาของ กกต. ที่ส่งให้ คสช. เลือก
6. รายชื่อที่ คสช. เลือกก่อนคัดทั้งหมด 395 คน
7. รายชื่อ ส.ว. 250 คน รวมกับ ตัวสำรอง 100 คน
8. บันทึกการประชุม คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ทั้งหมด
สรุปเอกสารหลักเกณฑ์การสรรหากว้างๆ ไม่พ้นเลือกจาก “คนกันเอง”
เอกสารฉบับแรกที่ได้รับมา คือ เอกสาร “สรุปข้อมูล และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561” หรือในที่นี่จะเรียกว่า “เอกสารสรุปข้อมูล” ซึ่งเป็นเอกสารที่อธิบายกระบวนการ และเอกสารเกี่ยวกับการสรรหา ส.ว. ทั้งหมด สรุปไว้ในความยาวทั้งหมด 1 หน้าครึ่งของกระดาษเอสี่
เนื้อหาโดยสรุปแบ่งออกเป็นสี่ข้อใหญ่ได้แก่ ข้อที่หนึ่ง ที่มาของการสรรหา ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 ทั้งสามประเภท และอธิบายถึงคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ในการคัดเลือกจนได้ทั้งหมด 395 คน โดยในเอกสารได้สรุปว่า ทั้ง 395 คน มาจาก ผู้เคยดำรงตำแหน่งใน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาปฏิรูปแห่งชาติ, สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ, กรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ, คณะรัฐมนตรี, ผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการวิชาการ องค์กรธุรกิจภาคเอกชน และบุคคลอื่นๆ
ข้อที่สอง อธิบายถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. หลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนในการดำเนินการคัดเลือกตัวบุคคล ที่จะมาทำหน้าที่ในคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งในข้อนี้อธิบายไว้เพียงว่า คสช. ได้ประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 เพื่อคัดเลือกคนที่จะทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. โดยมีหลักเกณฑ์พิจารณาจากคุณวุฒิ, ประสบการณ์การบริหารงานในองค์กรระดับสูงของประเทศ, มีความเป็นกลาง และไม่เป็นสมาชิก หรือสังกัดพรรคการเมืองใด ซึ่ง คสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. จำนวน 10 คน ตามคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 ที่แนบมาในชุดเอกสารนี้ อีกทั้งยังได้ระบุว่า ในวันประชุมดังกล่าว พรเพชร วิชิตชลชัย ได้ขอลาออกจากการเป็นกรรมการสรรหา ส.ว. ตั้งแต่แรก แต่ไม่ได้ระบุเหตุผลไว้
ข้อที่สาม อธิบายถึงขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งได้อธิบายถึงกระบวนการว่า คสช. ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น ส.ว. ขึ้น เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ถูกคัดเลือกทั้งหมด ทั้งจาก กกต. และ คสช . รวมทั้งสิ้น 595 รายชื่อ แต่ในข้อนี้ได้อธิบายวิธีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ถูกคัดเลือกไว้เพียงว่า คณะทำงานได้ให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อจัดส่งใบรับรองประวัติของตนเอง เพื่อส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ แล้วรายงานผลให้ คสช. เมื่อเดือนเมษายน 2562 เท่านั้น ไม่ได้อธิบายกระบวนการตรวจสอบโดยละเอียด
ในข้อสุดท้ายเป็นส่วนของการแจ้งถึงเอกสารรายชื่อของผู้ที่ถูกคัดเลือกจากทั้ง กกต. และกรรมการสรรหา รวมไปถึงบัญชีสำรองทั้งสองบัญชี และบันทึกการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือก ส.ว.
โดยสรุป คือ เอกสารที่ได้รับมาอธิบายเพียงหลักเกณฑ์กว้างๆ ของการการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็น ส.ว. ไม่ได้ลงรายละเอียดให้ถึงกับเข้าใจหรือหายสงสัยได้ว่า บุคคลทั้ง 250 นั้น มีคุณสมบัติเป็นพิเศษอย่างไร จึงได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ที่มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และอำนาจในฐานะองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ก็ยังให้ภาพที่ชัดขึ้นได้บ้างว่า คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ก็จะคัดเลือกบุคคล โดยหลักมาจากผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งต่างๆ เป็นหนึ่งใน “แม่น้ำห้าสาย” ร่วมกับ คสช. มาก่อนแล้ว ตอกย้ำความเชื่อว่า ส.ว. ชุดนี้นั้นมาจาก “คนกันเอง” ของ คสช. นั่นเอง
เปิด คำสั่ง คสช. 1/2562, 2/2562 แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา – ตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ว. ที่ไม่มีใครเคยได้เห็น
เอกสารสองฉบับที่ได้รับมา คือ คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 1/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. และ คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 2/2562 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ว. ทั้งสองฉบับนี้ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ไขข้อข้องใจให้กับคนในสังคมว่า ใครกันเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ส่งรายชื่อให้ คสช. ซึ่งคำสั่งทั้งสองฉบับไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน และไม่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
ก่อนหน้านี้มี “ข่าวลือ” ตามสื่อมวลชนต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เอง พร้อมด้วยรายชื่อ “บิ๊กเนม” ของ คสช. ทั้งหลายนั่งเป็นกรรมการ เช่น วิษณุ เครืองาม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ฯลฯ เมื่อเราได้เห็นคำสั่งอย่างเป็นทางการแล้วก็พบว่า ข่าวลือก่อนหน้านี้ไม่ได้ผิดนัก แต่ก็ยังมีอีกหลาย “บิ๊กเนม” ที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน
ในคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269 (1) จำนวนทั้งหมด 10 คน ได้แก่
1. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองหัวหน้า คสช. และรองนายกรัฐมนตรี) เป็นประธาน
2. พรเพชร วิชิตชลชัย (ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) กรรมการ
3. พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร (รองหัวหน้า คสช.) กรรมการ
4. พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย (รองหัวหน้า คสช.) กรรมการ
5. พลตำรวจอดุลย์ แสงสิงแก้ว (รองหัวหน้า คสช.) กรรมการ
6. พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง (รองนายกรัฐมนตรี) กรรมการ
7. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี) กรรมการ
8. วิษณุ เครืองาม (รองนายกรัฐมนตรี) กรรมการ
9. พลเอกฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ (รองนายกรัฐมนตรี) กรรมการ
10. พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา (ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) กรรมการ
ซึ่งทั้ง 10 คนเป็นข้าราชการทหารตำรวจถึงเจ็ดคน และเป็นคนที่ทำงานกับ คสช. และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งหมด แต่ใน “เอกสารสรุปข้อมูล” ระบุว่า คสช. ได้ประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 เพื่อคัดเลือกคนที่จะทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. แต่ ในวันประชุมดังกล่าว พรเพชร วิชิตชลชัย ได้ขอลาออกจากการเป็นกรรมการสรรหา ส.ว. ตั้งแต่แรก แต่ไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ ทำให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ทำงานกันเพียง 9 คนเท่านั้น ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ในวาระที่ 1/2562 ได้ระบุว่า การทำงานของคณะกรรมการสรรหา ส.ว. 9 คนสามารถทำได้ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมาตรา 269 ระบุให้มีคณะกรรมการสรรหา ส.ว. 9-12 คน
คณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้เสนอชื่อเป็น ส.ว. ประกอบด้วย
ในส่วนของคำสั่ง คสช. ที่ 2/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม ของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้การคัดเลือก ส.ว. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้แต่งตั้งคณะทำงานทางธุรการเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการคัดเลือก โดยไม่เปิดเผยรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อต่อสาธารณชน และให้ทำบัญชีแยกประเภทตามมาตรา 296 (1) (ก) และ (ข) แล้วส่งผลการตรวจสอบให้ คสช. ภายในเดือนเมษายน 2562 ดังนี้
1. วิษณุ เครืองาม (รองนายกรัฐมนตรี) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
2. พีรพิชญ์ วงศ์วัฒนศานต์ (อดีตคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ และนิติกร สำนักงานกฤษฎีกา) เป็นคณะทำงาน
3. ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นคณะทำงาน
4. ข้าราชการในสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามที่เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติกำหนด จำนวนไม่เกินห้าคน เป็นคณะทำงาน
5. พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ (รองเลขาธิการ คสช.) เป็นคณะทำงาน และเลขานุการ
จากคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 2/2562 ทำให้เห็นว่า คณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัตินั้น ก็ยังคงควบคุมโดยวิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เอง อีกทั้งในคำสั่งยังระบุ ไม่ให้คณะทำงาน “เปิดเผยรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อต่อสาธารณะชน” อีกด้วย
ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา และเว็ปไซต์ของสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ใช้รวบรวมกฎหมาย และประกาศ/คำสั่ง ของ คสช. ทั้งหมด จากการสืบค้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2562 ทั้งสองเว็บไซต์ยังไม่ได้เผยแพร่คำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 และ คำสั่ง คสช. ที่ 2/2562 เอาไว้ด้วย
ไฟล์แนบ
- ส (20 MB)
- NCPO order 1-2562 (414 kB)
- NCPO order 2-2562 (342 kB)