กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ จะเกิดขึ้นภายในเดือนมิถุนายน 2567 ระบบ “เลือกกันเอง” ที่ไม่เคยใช้สำหรับวุฒิสภาไทยมาก่อน และไม่มีประเทศใดในโลกที่ใช้ระบบนี้ มีความซับซ้อนและเข้าใจยาก โดยการเลือกในแต่ละระดับ ทั้งอำเภอ จังหวัด ประเทศ ประกอบไปด้วยกระบวนการเลือกสองขั้นตอน ขั้นตอนแรก ผู้สมัครเลือกกันเองภายในกลุ่ม และขั้นตอนที่สอง แบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม
สำหรับรอบเลือกกันเองภายในกลุ่ม ของระดับอำเภอและระดับจังหวัด ผู้สมัคร สว. สามารถเลือกผู้สมัครคนอื่นหรือตัวเองได้ไม่เกินสองคน ส่วนในระดับประเทศ ผู้สมัครสามารถเลือกผู้สมัครคนอื่นหรือตัวเองรวมไม่เกิน 10 คน ส่วนรอบแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม ในระดับอำเภอและระดับจังหวัด ผู้สมัครสามารถเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันได้กลุ่มละหนึ่งคน ซึ่งในแต่ละสายจะมีจำนวนกลุ่มสามถึงห้ากลุ่ม ขณะที่ในระดับประเทศ ผู้สมัครสามารถเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันได้กลุ่มละไม่เกินห้าคน
ด้วยระบบที่ถูกออกแบบมาซับซ้อนและเข้าใจยาก ทำให้การเข้าคูหาเลือกผู้สมัคร สว. ยุ่งยากกว่ากระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือแม้แต่การเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะไม่ใช่แค่เข้าไปทำเครื่องหมาย “กากบาท” ในหมายเลขผู้สมัครที่อยากเลือก แต่การเลือก สว. ผู้สมัครจะต้อง “เขียนหมายเลข” ของผู้สมัครที่ต้องการลงคะแนนให้ และต้องเขียนให้ถูกต้องตามเงื่อนไขในกฎหมายด้วย หากเขียนพลาด คะแนนในช่องที่เขียนไปนั้นอาจไม่ถูกนับ หรือร้ายแรงที่สุดอาจเป็นบัตรเสียไปเลย
ก่อนจะถึงวันเลือก สว. ระดับอำเภอ ในวันที่อาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน 2567 ชวนผู้สมัคร สว. มาเตรียมความพร้อม ความเข้าใจในกติกาการเลือก การลงคะแนนเลือก สว. ทั้งรอบเลือกกันเองภายในกลุ่ม และรอบเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม รวมถึงกติกาการนับคะแนน แบบไหนเป็นบัตรดี บัตรดีบางส่วน บัตรเสีย
อบรมทางออนไลน์ผ่านโปรแกรม Google Meet โดยจัดสองรอบ มีเนื้อหาเหมือนกัน เลือกวันที่สะดวกเข้าร่วมได้เลย
1. วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม 2567 เวลา 18.00-19.00 น. ทาง https://meet.google.com/xht-csdm-ohi
2. วันพุธที่ 5 มิถุนายน 2567 เวลา 18.00-19.00 น. ทาง https://meet.google.com/wao-dgbb-awk
สำหรับผู้สมัครที่ไม่สะดวกเข้าร่วมอบรมออนไลน์ในวันและเวลาดังกล่าว สามารถติดตามดูคลิปย้อนหลังได้ทาง Youtube iLaw