เงียบสงบ ไม่ปรากฎความเคลื่อนไหว: รายงานสถานการณ์ 5 ปี หลังรัฐประหาร ในจังหวัดเชียงใหม่

เงียบสงบ ไม่ปรากฎความเคลื่อนไหว รายงานสถานการณ์ 5 ปี หลังรัฐประหาร ในจังหวัดเชียงใหม                                     
ายงานโดย อภิรักษ์ นันทเสรี อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 12 
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)
ปรับปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อ  28 พฤศจิกายน 2562
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
จุดเริ่มต้นของผมกับจังหวัดเชียงใหม่เริ่มขึ้นเมื่อได้เข้าศึกษาในภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2555  วันนั้น ขณะเป็นเฟรชชี่ลูกช้างชั้นปีที่ 1 ชีวิตก็หลงติดอยู่กับอะไรหลายอย่าง ทั้งระบบโซตัส ประเพณีรับน้องขึ้นดอยสุเทพ การเที่ยว กิน ดื่ม เล่น การเรียน ติดตามงานเสวนาวิชาการที่สนใจบ้าง 
 
ผมใช้ชีวิตอย่างปกติธรรมดาและมีความสุข จนปี 2556 อาจด้วยความคาดหวังของที่บ้าน และแรงขับภายในส่วนตัวผมตัดสินใจย้ายคณะไปยังคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เดิม ชีวิตก็ไม่ได้ต่างจากที่เป็นอยู่ในคณะเดิมมากนัก แม้จะย้ายมาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ แต่ก็มิได้สนใจการเมืองใดใด วิชากฎหมายก็ท่องตามตำราไปเพื่อให้สอบผ่านเท่านั้น 
 
จนกระทั่งปี 2557 ชีวิตผมก็เริ่มเปลี่ยน  ตั้งแต่มีรัฐประหารในช่วงกลางปี  ขณะนั้นมหาวิทยาลัยกำหนดเปลี่ยนแปลงการเปิดเทอมเป็นเดือนสิงหาคม 2557 เมื่อฤดูเปิดเทอมมาถึง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จะได้เรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ อาจารย์เปิดคลาสมาด้วยคำว่า “เทอมนี้เราจะเรียนอะไรกันดี ตอนนี้อยู่ในยุครัฐประหาร รู้ไหมตอนนี้ประเทศไทยไม่มีรัฐธรรมนูญใช้แล้ว ผมก็ไม่รู้จะสอนอะไร ?”
 
คำพูดประโยคนั้นของอาจารย์สร้างความสงสัยขึ้นในใจอยู่พอสมควร สถานการณ์ในคณะนิติศาสตร์ขณะนั้นก็มีความตึงเครียดอย่างเห็นได้ชัด เริ่มเห็นมีคนแปลกหน้ามายืนสูบบุหรี่บริเวณหน้าตึกคณะเป็นกลุ่ม 2-3 คน มีอาจารย์คอยถามไถ่ว่าเห็นคนแปลกหน้ามานั่งอยู่แถวหน้าคณะบ้างหรือไหม ทั้งมีข่าวลือในคณะว่ามีอาจารย์บางคนถูกทหาร ตำรวจนอกเครื่องแบบคอยติดตามชีวิต  เนื่องจากต่อต้านและวิจารณ์การรัฐประหาร 
 
สิ่งเหล่านั้นเพิ่มความเคลือบแคลงให้ผมว่าการรัฐประหาร ทำไมต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสิ่งใกล้ตัวของผมด้วย ทั้งคณะ อาจารย์ในคณะ เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย บรรยากาศในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไป มีคนเริ่มพูดเรื่องกลัวการถูกจับ การจัดงานเสวนาวิชาการในมหาวิทยาลัยแทบไม่มีในช่วงดังกล่าว และนี่เป็นจุดแรกเริ่มที่ทำให้ผมสนใจในการรัฐประหารครั้งนี้ จนส่งอิทธิพลมาถึงการทำงานในเส้นทางนี้หลังเรียนจบเลยก็ว่าได้
 
ผมอาจจะเริ่มด้วยการยกเหตุการณ์เหล่านี้ เช่น การออกมาชุมนุมต้านรัฐประหาร ด้วยการชูป้ายและจุดเทียน ที่ประตูช้างเผือก หรือทางด้านวิชาการ ที่คณะนิติศาสตร์ ม.ช.ก็ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “อนาคตสังคมไทยว่าด้วยกฎอัยการศึก” นั่นคือปฏิกิริยาของคนเชียงใหม่ในช่วงแรกๆที่ต่อต้านการรัฐประหาร 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
(สมชาย ปรีชาศิลปกุล ในงานเสวนา ““อนาคตสังคมไทยว่าด้วยกฎอัยการศึก” )
 
ต่อมาไม่กี่วัน ทหารเรียกแกนนำเสื้อแดง เข้ารายงานตัวในค่ายทหาร นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการและอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่างเช่น ธเนศว์ เจริญเมือง, นักกิจกรรมเจ้าของร้านหนังสือ Book Re:public อย่าง รจเรข วัฒนพาณิชย์ และคนอื่นๆอีกมากมายต่างถูกเรียกปรับทัศนคติ  จากนั้นสถานการณ์การจัดกิจกรรมทางการเมืองในเชียงใหม่ก็เงียบงันจนผิดสังเกต
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
(ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: ขอบคุณภาพจาก ประชาไท)
 
นอกจากความเงียบที่ปรากฎแล้ว เหตุจาก  คดีความ กิจกรรมที่ถูกปิดกั้น และการถูกเรียกรายงานตัว  ทั้งหมดทั้งมวลปฏิเสธไม่ได้เลยว่า  สถานการณ์ 5 ปีหลังรัฐประหารที่ผ่านมา  เชียงใหม่เมืองที่ผมรู้จัก ถูกทำให้เงียบลง   อย่างน้อยที่สุดบางถ้อยเสียงที่พยายามพูด ก็แทบไม่ได้ยินเลย 
 
นักศึกษาจากกลุ่มชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ (Can) ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ก่อน และหลังรัฐประหาร กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้การจัดกิจกรรมทางการเมืองมีน้อยลงว่า “หลังรัฐประหาร การทำกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษาถือว่าลำบากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากมีการแทรกแซงหลายทาง ทั้งจากเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยที่คอยเข้ามาเป็นตัวกลางคอย ตรวจสอบห้ามปราม ทหาร ตำรวจ ไปหาทั้งที่บ้าน บางคนถูกเรียกตัวไปคุยที่โรงพัก บางคนหนักถึงขั้นไปค่ายทหาร ซึ่งการคุกคามนึกศึกษาที่ทำกิจกรรมมีมาเรื่อยๆตั้งแต่ก่อนรัฐประหารแล้วแต่ไม่เคยเจาะจงเรื่องการเมืองมาก่อน”
 
เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานเก็บข้อมูลคดีในพื้นที่ภาคเหนือ ให้ข้อมูลว่า “สถานการณ์การจัดกิจกรรมก็ซบเซาลงชัดเจน งานเสวนาหัวข้อทางการเมืองแทบไม่สามารถจัดได้ เมื่อเทียบกับก่อนรัฐประหาร ที่เชียงใหม่เป็นจังหวัดหนึ่งที่คึกคักด้านการจัดกิจกรรมเสวนาต่างๆ ทั้งในมช. ร้านอย่าง book Re:public หรือในสายพวกงานศิลปะ ก็มีแตะเรื่องการเมืองบ่อยๆ และถูกจัดค่อนข้างบ่อย  แต่หลังการรัฐประหารที่ผ่านมาก็ซบเซาทางปัญญาลงอย่างเห็นได้ชัด กิจกรรมหรือหัวข้อต้องหันไปจัดแนววัฒนธรรมหรือทฤษฎีวิชาการอะไรมากกว่า หัวข้อที่พูดถึงการเมืองโดยตรงน้อยลงชัดเจน
 
แล้วการปิดกั้นที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ทำโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งช่วงแรกๆ ทหารจะใช้อำนาจเข้ามาปิดกั้นโดยตรงเองมากกว่า แต่มหาวิทยาลัยก็มีบทบาทในการช่วยปิดกั้น เช่น การไม่ให้ใช้สถานที่เมื่อมีหัวข้อที่สุ่มเสี่ยง หรือการให้ไปขออนุญาตทหารเองก่อน โดยมหาลัยไม่ดูแลใดๆ หรือการเรียกนักศึกษาไปคุยที่ตึกหน้า เป็นต้น ทำให้แม้แต่พื้นที่มหาวิทยาลัยที่ควรจะมีเสรีภาพทางความคิด-การแสดงออก ก็ถูกปิดล้อมไปด้วย”
 
เมื่อถามต่อไปถึงกลุ่มคนเสื้อแดงในเชียงใหม่ที่เคยจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องก่อนรัฐประหารก็ได้คำตอบว่า “แกนนำเสื้อแดงเกือบทุกพื้นที่ก็โดนเรียกตัวไปค่ายกันหมดหลังรัฐประหารใหม่ๆ  ส่วนใหญ่ถูกให้ทำข้อตกลง MOU ไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ออกมาก็ถูกติดตามพูดคุยเป็นระยะ ถ้าเกิดไปร่วมเคลื่อนไหวที่ไหนก็มักจะถูกเรียกคุย ไปที่บ้าน หรือขู่จะดำเนินการทางกฎหมาย ส่วนใหญ่เลยเลือกจะหยุด เพราะกลัวจะได้รับผลกระทบ แต่บางพื้นที่ก็หันไปพบปะกันตามกิจกรรมวัฒนธรรม เช่น ผ้าป่า งานบุญ แต่นัยยะทางการเมืองของกิจกรรมมันก็ไม่ได้มีมากเหมือนแต่ก่อน”
 
หลังรวบรวมข้อมูลและใช้ความคิดกับรายงานชิ้นนี้ และการที่ได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครนักสิทธิทำงานเก็บข้อมูลและติดตามคดีเกี่ยวกับเสรีภาพในหลายพื้นที่จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เชียงใหม่เมืองที่เราเคยอยู่อาศัยและเรียนถึง 5 ปี มีแต่ความเงียบ และแทบไม่มีกิจกรรมทางการเมืองเกิดขึ้นเลยหลังรัฐประหาร 
 
 
ตั้งแต่หลังรัฐประหาร ปี 2557 ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพทางการแสดงออกทั้งหมด 10 คดี
 
“ศาลเหมือนคอมเพล็กซ์โรงหนัง ที่ปากทางเข้ามีกระดานแผ่นใหญ่ ติดรายละเอียดไว้ครบถ้วน ห้องไหนพิจารณาคดีอะไร เริ่มต้นเวลาเท่าไหร่ เราจะเดินไปหยุดหน้าแผ่นกระดาน เลือกโปรแกรมที่เราสนใจ เข้าไปนั่งฟังในฐานะผู้สังเกตการณ์ ใครก็เข้าไปนั่งฟังได้ ขอเพียงอย่าถือกล้องถ่ายรูปและเครื่องบันทึกเสียงเข้าไปก็เป็นพอ หรือว่าอาหารและของคบเคี้ยว เออ, ไม่อนุญาติให้พูดคุยกัน ที่นั่งก็คับแคบนั่งไม่สบาย และถ้าใครไปนั่งโงกหลับในนั้น จ่าศาลตรงรี่เข้ามาหาเลยนะ แต่ไม่มีอะไรต้องบ่นโวยวาย เพราะเขาไม่คิดค่าตั๋ว “
(After Dark,Haruki Murakami) 
 
ใช่ครับ ! ผมกำลังพูดถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ที่บางช่วงบางตอนนั้น ละม้ายแอบอิงไปกับฉากและชีวิตที่ปรากฎในตัวตลอด 1 ปี กับการเป็นอาสาสมัคร ว่าด้วยงานที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมาย และคดีเสรีภาพของไอลอว์นอกจากติดตามมอนิเตอร์เคสคดีเสรีภาพต่างๆทางออนไลน์แล้ว สิ่งที่เราทำเป็นหลักคือการลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานีตำรวจ ศาล พื้นที่ชุมนุมทางการเมือง หรือแม้กระทั่งเรือนจำ  “สนาม” เหล่านี้คือพื้นที่ที่ผมใช้ฝึกฝน และสัมผัสกับมันตลอดเวลาของการทำงาน ความที่เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ มีชุมชนนักกิจกรรมที่กว้างขวางในศาสตร์ทุกแขนง โดยเฉพาะด้านการเมือง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองเรื่องเสื้อสีก็ทำให้เมืองแห่งนี้ถูกขับเน้นไปด้วยมิติหลายหลาก
และนี่คือ 10 เรื่องราวคดีความอันเกี่ยวเนื่องกับเสรีภาพที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ หลังรัฐประหารเท่าที่บันทึกได้
 
 
จดหมายลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 เดินทางออกมาจากเรือนจำ ในชื่อหัวว่า “เราห่างกันเพียงแค่ตัว” ที่ข้อความนับได้ 15 บรรทัดพอดีตามระเบียบของเรือนจำ ข้อความห่วงใยของแม่คนหนึ่งบอกเล่าถึงลูกๆ ว่า “เป็นไงกันบ้าง 2 สาว ตอนนี้กำลังทำอะไรกันอยู่น๊า คิดถึงจังเลย อยากเห็นหน้าลูกสาวของแม่จัง ดื้อกันบ้างหรือปล่าว โดยเฉพาะน้องไอติมต้องดื้อแน่ๆ เลยใช่ไหมลูก คิดถึงแม่กันบ้างไหม ช่วงนี้ฝนตก อากาศก็เย็น ดูแลตัวเองด้วย อย่าแอบไปเล่นน้ำฝนกันล่ะ เดี๋ยวไม่สบาย เรื่องเรียนเป็นไงบ้าง ok ไหม ทำการบ้านเก่งแล้วนี่ เห็นแม่ใหญ่บอกว่าอุ๊งอิ๊งเดี๋ยวนี้เก่งขึ้นเยอะเลย สอนการบ้านน้องถูกหมด ยังไงก็ตั้งใจเรียน อ่านหนังสือเยอะๆ นะจ๊ะคนเก่ง”
 
ภาพวาดประกอบในชื่อ “ครอบครัวของเรา” ถูกแต้มระบายสีอยู่ด้านล่างตัวอักษร…เหมือนกับครอบครัวทั่วๆ ไป ทั้งสี่คนในรูปวาดกำลังยิ้มอย่างมีความสุข
 
ศศิวิมล หรือโอ๋ ในวัย 29 ปี ทำงานเป็นพนักงานในแผนกเครื่องดื่มที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เธอแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย ก่อนแยกทางกับสามีในเวลาต่อมา โดยมีลูกสาวด้วยกันสองคน คนโตอยู่ในวัย 10 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นป.4 ส่วนคนเล็กอายุ 7 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นป.2 
 
เรื่องราวกั๊ดอกของ ศศิวิมลพนักงานของโรงแรมแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวม 7 ข้อความ
7 สิงหาคม 2558 ศศิวิมลรับสารภาพ ศาลทหารเชียงใหม่พิพากษาจำคุกกรรมละ 8 ปี รวมเป็น 56 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 28 ปี  
 
 
20 กรกฎาคม 2559 ก่อนถึงกำหนดลงประชามติ 18 วัน ขณะที่คนทั่วไปยังไม่ค่อยอยากจะพูดอะไรมาก โทรทัศน์ก็มีแต่รายการที่จัดให้คนร่างรัฐธรรมนูญมานั่งพูดแล้วบังคับออกอากาศเหมือนกันทุกช่อง แม้แต่นักวิชาการกฎหมายก็ยังไม่มีใครกล้าออกมาวิจารณ์กันตรงๆ ลุงสามารถเอาใบปลิวที่ทำขึ้นเอง เขียนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค.  VOTE NO” ใส่กระเป๋าเป้แล้วเดินไปที่ลานจอดรถห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ เขาเอาใบปลิวไปเสียบไว้ตรงที่ปัดน้ำฝนหน้ากระจกรถที่จอดอยู่ประมาณ 20-30 คัน เสร็จแล้วก็เดินทางกลับบ้าน
 
“ผมหวังว่า ใบปลิวหนึ่งใบซึ่งไปติดอยู่ที่รถ เมื่อเจ้าของรถกลับมา ซึ่งเราก็ไม่รู้จักเขา เขาเห็นว่ามีใบปลิวก็แกะอ่าน ถ้าจะมีผลเป็นการจุดประกาย ปลุกจิตสำนึกก็หวังว่าจะเกิดประโยชน์ อย่างน้อยเขาก็รู้ว่ายังมีคนต่อสู้อยู่ ถ้าเขาไม่เห็นด้วย ก็ทิ้งไป ก็ไม่เป็นไร” ลุงสามารถ เล่าถึงแรงบันดาลใจ
 
“ผมมีความฝันมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแล้วว่า อยากเห็นประเทศมีประชาธิปไตยสมบูรณ์” ลุงสามารถเปิดประโยคแรกบอกศาลอย่างมั่นใจ ก่อนเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของลุงตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ มาจนถึงวันนี้ 
 
ลุงยังบอกศาลด้วยว่า ตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศซึ่งลุงไม่เห็นด้วย ลุงก็ไม่เคยออกไปชุมนุมคัดค้านแต่ให้โอกาสรอดูว่าจะพาประเทศไปทางไหน แต่พอเวลาผ่านมาหลายปีก็เห็นแล้วว่า คสช. มีแต่ทำให้บ้านเมืองถอยหลัง ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ต่างชาติไม่อยากค้าขายด้วย และทำให้ประชาชนในชนบทเดือดร้อน ลำบากยากแค้น จนลุงไม่สามารถทนดูต่อไปได้อีกแล้วและรู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง
 
สามารถ ชายวัย 56 ถูกกล่าวหาว่า จัดทำใบปลิวข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค.  VOTE NO” ในลักษณะเอกสารใบปลิว และนำไปเสียบไว้บริเวณที่ปัดน้ำฝนรถยนต์ที่จอดอยู่ภายในลานจอดรถของห้างพันธ์ทิพย์พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้จับกุมและดำเนินคดีสามารถฐานผิดพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง
ในชั้นศาลผู้ต้องหายอมรับว่าเป็นคนไปแจกใบปลิวจริง แต่ทำไปโดยจิตใจบริสุทธิ์ เชื่อว่าสิ่งที่ทำไม่เป็นความผิด จึงต่อสู้คดี ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากข้อความในใบปลิวไม่อาจโยงถึงร่างรัฐธรรมนูญได้
 
 
เรื่องเริ่มจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2557  เขาได้รับรูปภาพข่าวจากเพื่อนนักข่าวในท้องถิ่นคนหนึ่งทางไลน์ส่วนตัว  เป็นภาพข่าวชุมนุมประท้วงรัฐประหาร โดยผู้ชุมนุมราว 10 คน อยู่บริเวณลานอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี จังหวัดลำพูน ทั้งหมดใส่หน้ากากสีขาว และชูป้ายกระดาษที่มีข้อความ เช่น No Coup, Stop the coup, คนลำพูนต้องการการเลือกตั้ง
 
เมื่อเห็นภาพ ชัชวาลย์จึงโทรศัพท์ไปสอบถามเพื่อนนักข่าวคนนั้น และได้รับการยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเย็นวันนั้น เขาจึงส่งภาพและเขียนรายงานข่าวสั้นๆ ประกอบส่งไปที่ศูนย์ข่าวภูมิภาคของผู้จัดการออนไลน์ โดยรายงานว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันที่ 31 พฤษภาคม 2557   กระทั่งข่าวดังกล่าวขึ้นเผยแพร่ทางเว็บไซต์ผู้จัดการในช่วงสายของวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ทางบรรณาธิการนำไปรวมกับข่าวชุมนุมต้านรัฐประหารในจังหวัดเชียงใหม่ และพาดหัวข่าวนี้ว่า “แดงลำพูนแปลงกาย ใส่หลากสี สวมหน้ากากชูป้ายต้านรัฐประหารกลางเมือง” โดยไม่ได้ลงชื่อผู้เขียนข่าวไว้  หลังเผยแพร่ไปไม่นานนักเจ้าหน้าที่ทหารติดต่อไปยังสำนักข่าวและได้ความว่านักข่าวที่ส่งข่าวไปคือชัชวาลย์ จึงส่งกำลังทหารไปที่บ้านของเขา แต่ในบ่ายวันนั้น เขาออกไปทำงานภายนอกบ้าน ทำให้ไม่มีใครอยู่ แต่เพื่อนบ้านได้โทรศัพท์มาแจ้งเขาว่ามีทหารมาตามหา  เมื่อทราบว่าถูกตามตัว เย็นนั้นชัชวาลย์เดินทางเข้าไปพบทหารที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน ซึ่งขณะนั้นถูกใช้เป็นที่ตั้งของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตจังหวัดลำพูน 
 
หลังพูดคุยเบื้องต้นกับทหาร ชัชวาลย์ยอมรับว่าเป็นคนส่งภาพและข่าวนี้ไปเอง ทหารแจ้งว่าเข้าตรวจสอบในพื้นที่ลำพูนแล้ว แต่ไม่พบว่ามีชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้น การนำเสนอข่าวจึงบิดเบือน เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 เป็นความผิดต่อความมั่นคง
 
ชัชวาลย์ เป็นนักข่าวอิสระในจังหวัดลำพูน ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ภาพข่าวการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร พร้อมเขียนคำบรรยายใต้ภาพว่า “แดงลำพูนแปลงกาย ใส่หลากสี สวมหน้ากากชูป้ายต้านรัฐประหารกลางเมือง” บนเว็บไซต์ manageronline อันอาจเป็นการปลุกปั่นยั่วยุ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่ศาลทหารเชียงใหม่ ก่อนสู้คดีและศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง 
 
 
“ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก คืนวันนี้เราคุยกัน เช้าวันรุ่งขึ้นเราเขียนแถลงการณ์และบ่ายวันนั้นเราแถลงเลย จริงๆ ออกจะงงๆ ด้วยซ้ำ ผมไม่ได้เป็นคนร่างแถลงการณ์เอง ถ้าดูภาพวันนั้นคุณจะเห็นว่าผมดูไม่ได้เลย เพราะผมเมาค้าง และที่ต้องไปนั่งตรงนั้นเพราะคนที่นั่งบนแถลงการณ์มันไม่สมดุล เนื่องจากอาจารย์บางท่านไม่อยากอยู่ในเฟรมภาพ พอคนมันขาดอาจารย์อรรถจักรก็เลยถูกชวนเข้าไป และผมก็เห็นด้วยในหลักการอยู่แล้ว ผมก็เลยเข้าไปด้วย แล้วทุกคนก็ถ่ายรูป ขึ้นข่าวไปเยอะแยะเต็มไปหมด 
 
หากเทียบกับการทำกิจกรรมทุกครั้ง ครั้งนี้ถือว่าเบามากแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยแถลงร่วมกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในเรื่องที่ใหญ่โตกว่านี้ หนักกว่านี้ เช่น คัดค้านรัฐธรรมนูญ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ การรัฐประหาร “
(กฤษณ์พชร โสมณวัตร, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
 
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2558 หลังการแถลงการณ์ข่าวเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เหตุการณ์นั้นทำให้นักวิชาการ 8 คน ถูกดำเนินคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ฐานชุมนุมทางการเมือง เกิน 5 คน นอกจากดำเนินคดีแล้ว มีอาจารย์บางส่วนต้องเข้าค่ายทหาร เพื่อเข้ารับการ “ปรับทัศนคติ”
 
ต่อมาผู้ต้องหา 6 คนได้เข้าพบผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ภายในค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ และลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้ 6 คนดังกล่าวพ้นจากการถูกดำเนินคดี คดีนี้จึงเหลือผู้ต้องหาเพียง 2 คน คือ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และรศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล สุดท้ายแล้วคดีสิ้นสุดโดยที่อัยการศาลทหารเชียงใหม่ไม่สั่งฟ้องคดี
 
 
จากเรื่องราวขันแดงอันเป็นที่โจษจันลือลั่น ธีรวรรณ หญิงสาวจังหวัดเชียงใหม่ ถูกทหารเรียกตัวมาที่ค่ายกาวิละ จากนั้นก็ตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ภายในค่ายทหาร เนื่องจาก เธอถือขันน้ำสีแดงและถือภาพโปสเตอร์สวัสดีวันสงกรานต์ ปีใหม่ไทย ซึ่งมีรูปภาพอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้นักข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐถ่ายรูป ทั้งนี้ ธีรวรรณให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการประกันตัวผู้ต้องหาด้วยหลักทรัพย์ 1 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งหลังจากนั้นข่าวคราวคดีของเธอได้เงียบหายไป
 
 
หลังม่านฉาก และชีวิตสวยงาม ที่ตั้งตระหง่านบริเวณดอยหลวงเชียงดาว หลังขุนเขากลับมีเรื่องราวรวดร้าวอยู่ไม่น้อย..
 
จากที่พื้นเพเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ที่หมู่บ้านกองผักปิ้ง” หมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ห่างจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เพียงข้ามเขาไม่กี่ลูก และยังเป็นที่ตั้งของห้วยสันกลาง ต้นกำเนิดแม่น้ำปิง มีชาวบ้านราว 65 ครัวเรือน มีทั้งชาวลาหู่ ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ ส่วนใหญ่ทำอาชีพปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ขาย และปลูกข้าวไร่ไว้กินเอง หมู่บ้านติดแนวกันชนแห่งนี้เผชิญปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะยาเสพติดและปัญหาคนไร้สัญชาติ
 
ไมตรี มีบทบาทในการเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง “กลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่” เพื่อทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนชาติพันธุ์ ให้ห่างไกลยาเสพติด อันเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานในพื้นที่ โดยภายหลังยังได้ร่วมกับกลุ่มกิจกรรมดินสอสี ทำโครงการ “พื้นที่นี้ดีจัง” ในพื้นที่บ้านกองผักปิ้ง เขายังมีทักษะในการทำภาพยนตร์ โดยเคยเข้าร่วมโครงการอบรมการทำภาพยนตร์ของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน และกำกับภาพยนตร์สั้นของตนเองมาแล้วหลายเรื่อง รวมทั้งยังมีบทบาทในการเป็นผู้สื่อข่าวพลเมืองให้กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวและวิถีชีวิตของชาวลาหู่ให้กับสังคมได้รับรู้
 
เดือนมกราคม 2558 ไมตรีถูกดำเนินคดีด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯหลังเผยแพร่วิดีโอคลิปการเจรจาระหว่างทหารกับชาวบ้าน ซึ่งเป็นการเจรจาเกี่ยวกับกรณีที่มีชาวบ้านถูกตบในระหว่างทหารเข้าไปปฏิบัติการที่หมู่บ้านกองผักปิ้งในคืนส่งท้ายปี ไมตรีใส่ข้อความประกอบคลิปวิดีโอนั้นมีใจความตอนหนึ่งว่า ‘ทหารตบเด็ก เยาวชนและคนแก่’
 
ก่อนสู้คดีกระทั่งศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้อง  
 
 
1.ป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ถูกนำมาติดในวันสุดท้าย ไม่เคยมีป้ายนี้มาก่อนตลอดงานประชุม และเป็นผลมาจากการที่ทหารเข้ามาป่วนในงาน แย่งเก้าอี้ หูฟังแปลภาษาอังกฤษ-ไทย ถ่ายรูปสอดแนมผู้เสนอบทความ ราวกับเป็นสมรภูมิการเมือง ตลอดสามวันของการประชุมไทยศึกษา
 
2.เหล่าทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบที่เข้ามาป่วนงาน ไม่มีการลงทะเบียน ไม่มีการแจ้งผู้จัดงาน เข้ามาก่อกวนตามอำเภอใจ ราวกับเป็นพื้นที่ทหาร ทั้งที่งานประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่งานเปิดสาธารณะ เป็นงานประชุมนานาชาติที่ผู้เข้าร่วมทั้งไทยและเทศต้องจ่ายเงินลงทะเบียนมาเข้าฟัง หากไม่ได้รับเชิญจากผู้จัดงาน
 
3.ตลอดสามวันของการประชุมวิชาการ ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเอือมระอาต่อการกระทำของทหารเหล่านี้ การมาถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าว และเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ในวันสุดท้าย ก็เพื่อจะสื่อสารไปยังทหาร ให้ยุติการกระทำนั้นเสีย ไม่มีการยุยงปลุกปั่นใดๆทั้งสิ้น
 
แล้วก็ อ้อ ไม่มีทหารคนไหนสื่อสารกับใครในงานดังที่แถลงการณ์กล่าวแต่อย่างใด
 
น่าแปลกที่มูลเหตุของเรื่องทั้งหมด เกิดขึ้นจากการกระทำของทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 โดยแท้ แต่ฝ่ายทหารกลับไม่ยอมรับ กลับปั้นแต่งเรื่องราวขึ้น เพื่อจ้องจะเล่นงานนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักศึกษา อย่างไม่ลดราวาศอก
 
และจงใจที่จะให้เรื่องนี้เป็นชนวนทางการเมืองให้ได้?”
 
ข้อความจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเข้าร่วมและนำเสนอผลงานวิชาการในการประชุมไทยศึกษา ต้นตอเหตุคดี เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร
 
กรกฎาคม 2560 มีนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่เชียงใหม่ จำนวนหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
หลังจากพวกเขาเดินทางมาชูป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กระทั่งวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าราย จะเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาหลังจากมีตามหมายเรียก สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก โดยทั้งห้าคนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ทั้งนี้ชยันต์ ยังกล่าวกับเพื่อนๆ อีก 4 คน ที่ถูกฟ้องคดีด้วยว่า “ข้อความ ‘เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร’ ไม่ได้มีนัยความหมายเป็นบวกหรือเป็นลบแต่อย่างใด ถ้าเป็นแบบนี้ ต่อไปคำว่า ‘แอปเปิ้ล ไม่ใช่ส้ม’ ก็เป็นสิ่งที่พูดไม่ได้อีกต่อไป”
 
สุดท้ายคดีนี้ศาลยกฟ้องเนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ถูกยกเลิกไป 
 
 
ช่วงระหว่างวันที่ 13 – 15 กรกฎาคม 2559 มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตรวจพบการส่งจดหมาย “บิดเบือน” เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า 7,000 ฉบับ ไปตามที่ต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่   ต่อมา 27 กรกฎาคม 2559  ทหารจากค่ายกาวิละนำกำลังเข้าควบคุมตัวบุคคลรวมเจ็ดคนได้แก่ คเชน นายกเทศบาลตำบลช้างเผือก ธารทิพย์น้องสาวของทัศนีย์ซึ่งเป็นรองนายก อบจ.เชียงใหม่ และอดีต ส.ส.เชียงใหม่ เขตหนึ่ง พรรคเพื่อไทย  อติพงษ์ จนท.เทศบาลตำบลช้างเผือก เอมอร กอบกาญจน์ สุภาวดี และ วิศรุต ไปที่ค่ายกาวิละเพื่อสอบถามและเตรียมดำเนินคดีต่อไป 
 
ช่วงวันเวลาเดียวกันที่กรุงเทพมหานคร ทหารนำโดยพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ  เข้าควบคุมตัวทัศนีย์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างรอเข้าพบพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เพื่อแสดงความบริสุทธิกรณีที่ถูกเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับการส่งจดหมายบิดเบือนข้างต้น พ.อ.บุรินทร์แจ้งว่า การควบคุมตัวครั้งนี้อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 โดยทัศนีย์ถูกนำตัวไปควบคุมที่ มทบ. 11 ร่วมกับผู้ที่ถุกควบคุมตัวก่อนหน้านี้
 
ท่ามกลางความคลางแคลงสงสัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญนั้นถูกบิดเบือนอย่างไร  ทั้งหมดถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่ศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่ และคดียังค้างอยู่ในชั้นศาลไม่ทราบความเคลื่อนไหวคดี  
 
 
14 กุมภาพันธ์ 2561 นักศึกษากลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย (LACMUD) จัดกิจกรรมชุมนุม “รวมพลคนอยากเลือกตั้ง ในเทศกาลแห่งความหมดรัก” ที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีคนเข้าร่วมประมาณ 100 คน การชุมนุมในวันนั้นจบลงโดยไม่มีคนถูกจับกุมหรือมีเหตุวุ่นวาย แต่ต่อมาในเดือนมีนาคมมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมหกคนถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558
 
สุดท้ายแล้วคดีนี้ในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองศาลยกฟ้องเนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ถูกยกเลิกแล้ว แต่ถูกปรับในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
 
“ชาวเชียงใหม่ร่วมกับ มทบ.33 Walk to Vote ดนตรีดี เวทีพร้อม” 
 
ข้อความจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเข้าร่วมชุมนุม “Walk to Vote ที่ประตูท่าแพ เพื่อคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้ง”
 
หลังจาก ปิ่นแก้ว โพสต์ข้อความดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายมทบ.33 จึงเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษทั้งสองกับพนักงานสอบสวน กล่าวหาปิ่นแก้วในข้อหา“นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) และมีแกนนำในการชุมนุมอีกคนที่ถูกฟ้องแยกคดีออกไป 
 
ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นอัยการ รอฟังคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี
 
 
การปิดกั้นกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่
 
“เชียงใหม่เป็นเมืองการท่องเที่ยว เราไม่อยากให้สภาพแวดล้อมไม่ดี จะได้มีความสุขกัน จะได้ไม่มีความทะเลาะเบาะแว้ง เศรษฐกิจของเชียงใหม่เนี่ย มันอยู่กับการท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้ามีความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นมา มันจะเกิดปัญหา” 
 
ประโยคข้างต้นคือคำพูดจากปากนายทหารคนหนึ่งที่ค่ายกาวิละจังหวัดเชียงใหม่ พูดกับอาจารย์คณะนิติศาสตร์คนหนึ่งที่ไปรายงานตัวเพื่อรับการปรับทัศนคติทางการเมืองเรื่องจัดกิจกรรมฯ 
 
จากข้อมูลที่ไอลอว์ได้บันทึกการปิดกั้น และแทรกแซงกิจกรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึง 28 พฤศจิกายน 2562 ที่จังหวัดเชียงใหม่มีการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมทั้งหมด 18 กิจกรรม ดังนี้

 

 

ลำดับ

 

วันที่

 

ประเภท

 

ชื่องาน

 

ผู้จัดงาน

 

การกรทำของเจ้าหน้าที่

1

14-มิ.ย.-57

ปิดกั้น

จัดฉายภาพยนต์ 1984

กลุ่ม “ปันยามูฟวี่คลับ”

ตำรวจได้คุมตัวและพูดคุยกับบดินทร์ ขอให้ไม่เคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมในเวลานี้ กิจกรรมดังกล่าวยกเลิกไปโดยตำรวจอ้างถึงปัญหาลิขสิทธิ์

2

23-ก.ค.-57

ปิดกั้น

จัดค่ายประเด็นเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาไทย

นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มช.

ทหารขอไม่ให้ ผศ.ดร.เก่งกิจพูด และจะมีตำรวจมาฟังด้วย งานเสวนาจึงยกเลิกไป รวมถึงทหารยังไปถามความเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัย พร้อมลงนามเอกสารห้ามเคลื่อนไหว

3

24-ก.ค.-57

ปิดกั้น

อ่านแถลงการณ์ แสดงเจตนารมณ์ ขับเคลื่อน “แนวคิดเชียงใหม่จัดการตนเอง”

ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง

ทหารร้องขอให้หยุดอ่านแถลงการณ์และเชิญผู้ร่วมกิจกรรมเข้าพูดคุย แต่ไม่มีการคุมขัง

4

17-ส.ค.-57

ปิดกั้น

กิจกรรม Light Up Night: ค่ำคืนสิทธิมนุษยชน ณ เชียงใหม่”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ทหารโทรขอให้ยุติการจัดงาน เนื่องจากขัดคำสั่งคสช. เรื่องการชุมนุมเกิน 5 คน ทั้งยังเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง

5

24-ก.ย..-57

ปิดกั้น

เสวนาทางวิชาการว่าด้วยเรื่อง “วันนี้คุณเอาปี๊บคลุมหัวแล้ว..หรือยัง???”

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทหารโทรเข้ามาเจรจาและมีการส่งหนังสือเชิญตามหลัง พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้เลื่อนการจัดกิจกรรมออกไปก่อน

6

25-ก.ย.-57

ปิดกั้น

เสวนาวิชาการเรื่อง ความสุขและความปรองดองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทหารโทรศัพท์เข้ามาและขอความร่วมมือ

7

9-พ.ย.-57

ปิดกั้น

รณรงค์ “เดิน ก้าว แลก” เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และเครือข่ายพันธมิตร

ทหารได้ควบคุมแกนนำจัดกิจกรรมและเจรจาให้ยุติการรณรงค์ดังกล่าว

8

12-พ.ย.-57

แทรกแซง

รณรงค์ “เดิน ก้าว แลก” เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และเครือข่ายพันธมิตร

ทหารขอความร่วมมือห้ามใส่เสื้อ หรือสัญลักษณ์ใดในการเข้าเจรจากับม.ล. ปนัดดา แต่ แกนนำปฏิเสธ

9

25-พ.ย.-57

แทรกแซง

“กินข้าวถกปัญหา กิจกรรมนักศึกษา ภายใต้กฏอัยการศึก”

กลุ่มนักกิจกรรม ม.เชียงใหม่

ทหารและตำรวจกว่า 30 นายเข้ามาจับตามองอยู่รอบบริเวณ

10

6-มี.ค.-58

ปิดกั้น

จัดเสวนา “การเมืองภายใต้สถานการณ์ คสช.: การเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชนจะทางไหน?”

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาดเหนือ (กป. อพช.เหนือ)

ทหารและฝ่ายความมั่นคงรู้สึกไม่สบายใจจึงขอให้ยกเลิกงาน

11

18-มี.ค.-58

แทรกแซง

เสวนา “เสรีภาพในการชุมนุม/อนาธิปไตยบนท้องถนน”

ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทหารโทรศัพท์มาบอกว่า การจัดงานในตอนนี้เป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่ผู้จัดงานกล่าวว่าเหมาะสมเพราะกำลังจะผ่านร่างพ.ร.บ.ชุมนุม

12

1-พ.ค.-58

แทรกแซง

การชุมนุมเรียกร้องสิทธิแรงงาน เนื่องในวันแรงงานสากล

กลุ่มแรงงานสามัคคี (WSA) สหพันธ์คนงานข้ามชาติ (MWF) เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์

ก่อนหน้ากลุ่มแรงงานได้มีการยื่นของอนุญาตต่อทหารในการเดินรณรงค์ แต่ทหารมองว่าเป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยงเกินไป จึงขอให้ลดกลุ่มคนที่จะมายื่นหนังสือเพียง 30 คนจากเดิม 100 คน

13

19-พ.ค.-58

ปิดกั้น

“ศิลปกรรมแห่งชาติหน้า ครั้งที่ 1 ตอน ศิยสั้ตชีปะวิลาวยืน”

กลุ่มนักศึกษาศิลปะ

ตำรวจได้เข้ามาพูดคุยกับจนท. หอศิลป์ฯในรายละเอียดและแจ้งขอให้ระงับการทำกิจกรรมนี้

14

23-พ.ค.-58

ปิดกั้น

“75 ปีที่ผ่านและวันข้างหน้า ของนิธิ    เอียวศรีวงศ์”

สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะมนุษยศาสตร์ มช. ร่วมกับกลุ่มพลเมืองเสมอกัน

ทหารโทรศัพท์มาหาผู้จัดงาน เป็นกังวลเนื่องจากงานจัดขึ้นใกล้วันครบรอบรัฐประหาร 22 พค. ทั้งยังมีข่าวลือว่าจะเกณฑ์คนเสื้อแดงมาจำนวนมาก

15

4-ก.ค.-58

แทรกแซง

เสวนาวิชาการเรื่องเพศ “Gender & LGBTIQs”

เจ้าหน้าที่หอนิทรรศการฯขอให้ยกเลิกการจัดงาน ทั้งที่ได้ให้คำอนุญาตไปแล้ว ต่อมามีทหารเข้ามาสังเกตการณ์และกล่าวว่า หากเนื้อหามีความสุ่มเสี่ยงจะระงับการจัดงานในทันที

16

23-ธ.ค.-58

ปิดกั้น

รณรงค์ผลักดันให้รัฐบาลเดินหน้าโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน ยุติแผนแม่บทฯและทบทวนการประกาศอุททยานฯทับที่ชุมชน

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move)

ระหว่างการพูดคุยนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหารได้มีการนำพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาแจกให้ผู้เข้าร่วมประชุมดูด้วย โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งทางเครือข่ายว่าไม่อยากให้มีการดำเนินกิจกรรมต่อ พร้อมระบุว่ากิจกรรมเมื่อวานนี้สุ่มเสี่ยงต่อการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

17

3-เม.ย.-59

แทรกแซง

งานเสวนา อ่านรัฐธรรมนูญในฐานะวรรณกรรมและศิลปะ

บุครีพับบลิก

ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 (ค่ายกาวิละ) โทรมาบอกให้ทางร้านส่งหนังสือแจ้งเรื่องกิจกรรมโดยอ้างว่าเป็นคำสั่งกองทัพบก เมื่อทางร้านส่งหนังสือแจ้งเพื่อทราบทางทหารก็แจ้งกลับมาว่าไม่อาจอนุมัติให้จัดงานได้ จึงยกเลิกการจัดงาน อย่างไรก็ตาม งานเสวนานี้ได้ย้ายไปจัดที่โครงการบัณฑิตศึกษา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

18

1-ส.ค.-59

ปิดกั้น

การลงประชามติแบบสามไม่รับ              

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 
บทสรุปของความเงียบ และความหวังในการกลับมาของเสียงประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่
 
จากที่ได้พยายามค้นหาคำตอบว่าทำไม 5 ปี หลังรัฐประหารที่เชียงใหม่ จึงเงียบงัน ผมได้เห็นแล้วว่า ความเงียบสงบนั้นไม่ได้เกิดจากตัวของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่เอง แต่กลับกลายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่คอยควบคุมประชาชนอย่างใกล้ชิดปัจจัยที่ส่งผลให้ประชาชน ต้องเงียบล้วนเป็นการกระทำจากรัฐทั้งสิ้น ทั้งการดำเนินคดี ที่ในจังหวัดเชียงใหม่มีคดีที่เกี่ยวกับ เสรีภาพในการแสดงออก ถึง 10 คดี ถ้านับเป็นคนที่ถูกดำเนินคดีก็ไม่น้อยกว่า 20 คน ในระยะเวลา 5 ปี ก็ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว ในส่วนการปิดกั้นแทรกแซงกิจกรรมนั้น จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีสถิติการถูกปิดกั้นแทรกแซงไปไม่น้อยกว่า 18 ครั้ง ซึ่งเป็นการปิดกั้นไม่ให้จัดกิจกรรมถึง 11 ครั้ง ด้วยเหตุผลส่วนใหญ่คือความไม่สบายใจของเจ้าหน้าที่ ในส่วนการแทรงแซงการจัดกิจกรรมนั้น ที่เก็บสถิติอาจจะมีเพียง 7 ครั้ง แต่ทุกกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเมืองที่จัดในจังหวัดเชียงใหม่ จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร นอกเครื่องแบบเข้ามาร่วมอยู่ในงานคอยสอดส่องอยู่เสมอๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติจนไม่สามารถบันทึกเป็นสถิติได้ ในส่วนของการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย แต่ไม่สามารถบันทึกสถิติเป็นตัวเลขได้ มีเพียงเสียงบอกเล่าหรือข่าวลือมากมายที่หนาหูขึ้นมากในช่วงหลังรัฐประหาร เช่นการเรียกคนไปคุยในค่ายทหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกกำชับให้ไม่ให้บอกต่อกับใคร และจะมีเจ้าหน้าที่รัฐคอยติดตามความเคลื่อนไหวส่วนตัวตลอดเวลา
 
ที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะทำให้ดูสิ้นหวังและไม่เห็นทางออก แต่ทุกสิ่งก็ไม่สิ้นหวังไปเสียทีเดียว สิ่งที่ทำให้เห็นว่าเชียงใหม่ยังคงมีเสียงของประชาชนและยังไม่ได้เงียบไปเสียหมด ก็คงจะเป็นการออกมาชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2561 ที่บริเวณหน้าหอประชุม มช. ที่มีคนมาร่วมกันหลักร้อยคน โดยที่แกนนำการชุมนุมเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมาจากการนัดชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เริ่มจากกรุงเทพฯ แล้วส่งผลถึงคนเชียงใหม่ให้ลุกออกมาร่วมชุมนุม หรือการชุมนุม Walk to Vote ในช่วงเดือน มกราคม 2562 ที่คัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้ง ของ คสช. ที่จัดขึ้นบริเวณประตูท่าแพก็มีคนเข้าร่วมไม่น้อยแสดงให้เห็นว่าคนเชียงใหม่ยังคงสนใจในทางการเมือง
 
หากการชุมนุมไม่ถูกสกัดกั้นโดยดำเนินคดีแกนนำที่เป็นนักศึกษาและมีทางผู้จัดจัดชุมนุมบ่อยครั้งคงจะมีประชาชนชาวเชียงใหม่ออกมาชุมนุมกันมากกว่านี้ และความหวังอีกอย่างหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ก็คือ ในจำนวนคดีความที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 10 คดีนั้น มีคดีที่ถูกพิพากษาจำคุกจริงๆ เพียงคดีเดียวเท่านั้น คือคดีของศศิวิมลที่ถูกกล่าวหาว่า ทำผิดประมวลกฎหมายอาญาคดี 112  
อีก 8 คดีนั้น มีการพิพากษายกฟ้องไปแล้วหรือจำหน่ายคดีไปแล้ว เหลือค้างเพียงคดี Walk to vote ที่เกิดขึ้นในปี 2562 ซึ่งอัยการก็ยังไม่สั่งฟ้อง แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครในเชียงใหม่ต้องติดคุกจริงๆ ในการทำกิจกรรมทางการเมือง