2561 ปีที่การแข็งขืนต่อคสช.เริ่มมีความหวัง

 
ตลอดปี 2561 บรรยากาศทางการเมืองผันผวนและคาดเดาไม่ได้ ช่วงต้นปีสังคมคาดหวังว่า คสช. จะจัดการเลือกตั้งคืนอำนาจให้ประชาชนภายในปีนี้ แต่สุดท้ายเงื่อนเวลาที่ถูกวางไว้ก็ทำให้โรดแมปสู่การเลือกตั้งต้องถูกขยายออกไปเป็นอย่างเร็วที่สุดต้นปี 2562 บรรยากาศการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปีนี้จึงพุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้ง แม้ท้ายที่สุดการเลือกตั้งก็ไม่เกิดขึ้นในปี 2561 แต่เมื่อบรรยากาศทางการเมืองกำลังเดินเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ ความเคลื่อนไหวก็ค่อยๆ คึกคักมากขึ้น การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองหน้าใหม่ และการเริ่มขยับตัวของพรรคการเมืองเดิม ทำให้บทสทนาเรื่องการเมืองและอนาคตของประเทศกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง ในอีกทางหนึ่ง การใช้คดีความเพื่อ “ปิดปาก” ผู้ที่แสดงความเห็นต่างทางการเมืองก็ยังเดินไป แม้จะไม่ลดลงในเชิงปริมาณ แต่ด้วยรูปแบบการดำเนินคดีที่ซ้ำไปซ้ำมาจนพอคาดเดาได้ ก็ทำให้คนเรียนรู้ที่จะแสดงออกได้มากขึ้น
 
คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เคยเป็นเครื่องมือสร้างความหวาดกลัวอย่างสูงสุดในยุค คสช. เคยทำให้คนหลายสิบต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำกันยาวๆ ปรากฏทิศทางการบังคับใช้ที่พลิกโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือในปี 2561 โดยเท่าที่มีข้อมูลมีคนถูกจับกุมและตั้งข้อหามาตรา 112 เพิ่มขึ้นเพียงคนเดียวในปีนี้ และมีอย่างน้อย 5 คดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง แม้บางคดีจำเลยจะรับสารภาพก็ตาม
 
คดียุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่คสช.มักหยิบมาใช้ตั้งข้อหาเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับคนที่ต่อต้าน หรือวิจารณ์ คสช. ก็ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นพร้อมกับกระแสที่ประชาชนรู้สึกไม่พอใจ คสช. แต่ข้อหานี้อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จต่อไปในการสร้างความหวาดกลัว เมื่อนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งยังกล้าที่จะแสดงความเห็นต่างกับ คสช. อย่างต่อเนื่อง แม้จะได้รับข้อหาเป็น “ของแถม” จากการใช้เสรีภาพแต่ละครั้งก็ตาม และมาตรา 116 จะกำหนดโทษจำคุกสูงสุดถึงเจ็ดปี แต่สถาบันศาลก็เริ่มมีแนวโน้มเห็นใจ และปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องวางเงินประกัน ภาพของข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” จึงไม่ได้น่ากลัวจนทำให้ผู้เห็นต่างยุติการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะได้
 
คดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แม้ในปี 2560 จะมีการแก้ไขความในมาตรา 14(1) ไม่ให้นำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาฟ้องปิดปากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์พ่วงกับข้อหาหมิ่นประมาท แต่มาตรา 14(2) ก็ถูกขยายขอบเขตให้กว้างขึ้นและกลายเป็นข้อหาครอบจักรวาลที่ถูก คสช. หยิบยกมาใช้ดำเนินคดีกับผู้แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ คสช. อย่างไรก็ตามหลังมีการประโคมข่าวการแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้อย่างเอิกเริก คดีเหล่านี้ก็มักจะไม่มีความเคลื่อนไหวและเมื่อขึ้นสู่ชั้นพิจารณาศาลก็มีแนวโน้มที่จะเข้าใจธรรมชาติของการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต
 
ในปี 2561 การชุมนุมหรือทำกิจกรรรมทางการเมืองยังเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ แม้คำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องห้ามการชุมนุมจะยังคงถูกบังคับใช้ และเพิ่งถูกยกเลิกในเดือนธันวาคม ตาม ช่วงครึ่งปีแรก “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” จัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่พยายามสร้างรรยากาศแห่งความกลัวด้วยการตั้งข้อกล่าวหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และข้อหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับผู้มาร่วมการชุมนุมนับร้อยคน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ร่วมกิจกรรมบางคนแม้จะเคยถูกตั้งข้อกล่าวหาแต่ก็ยังมาร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
 
ผู้ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจหรือแสดงท่าทีแข็งขืนต่อ คสช. ในปี 2561 ไม่ได้มีแค่ “พลเมืองผู้ตื่นตัวทางการเมือง” ซึ่งถูกคสช.มองว่าเป็น “คนหน้าเดิม” หากยังมีกลุ่มศิลปินที่ใช้ความสามารถทางศิลปะสร้างสรรค์ผลงานวิพากษ์วิจารณ์และเสียดสี คสช. ทั้งการทำภาพ Graffiti นาฬิกา, คอนเสริ์ตพังค์ “จะสี่ปีแล้วนะ…ไอ้สัตว์” รวมถึงเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” ซึ่งงานศิลปะเหล่านี้ก็ได้ทำหน้าที่สะท้อนความในใจและความอึดอัดของประชาชนที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน
 
การต่อสู้คดีในชั้นศาล เป็นอีกหนึ่งในแนวรบที่ประชาชนผู้แข็งขืนต่ออำนาจ คสช. ใช้เป็นช่องทางในการยืนยันสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย โดยในขั้นตอนการสืบพยานที่เปิดให้โอกาสจำเลยนำพยานเข้ามาเบิกความในศาลเพื่อต่อสู้คดี จำเลยคดีการเมืองเหล่านี้จะไม่เพียงนำพยานมาแก้ต่างโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ตัวเองพ้นผิดเพียงอย่างเดียว หากแต่จะเบิกความในประเด็นหลักการพื้นฐานด้านสิทธิเสรีภาพ คำเบิกความในชั้นศาลเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำประกาศเจตนารมณ์ต่อสาธารณะ แต่มันยังจะถูกบันทึกในเอกสารของศาลอย่างเป็นทางการและจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่จะมีความสำคัญต่อไปในอนาคต
 
 
เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ถูกใช้งานอย่างจริงจังในปีนี้ ช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติพิทักษ์สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานก็เปิดกว้างขึ้น ประชาชนหลายกลุ่มที่ถูกละเมิดสิทธิโดย คสช. ก็นำเรื่องไปยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ใช้อำนาจตามกฎหมายวินิจฉัยยกเลิกประกาศ/คำสั่ง และการกระทำที่ละเมิดสิทธินั้นๆ แม้ว่า จะยังไม่ประสบความสำเร็จดังที่หวัง แต่ก็สร้างบทสนทนาให้ทั้งนักกฎหมายได้นำไปศึกษาต่อ และได้เปิดประเด็นให้สังคมตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระเหล่านั้นต่อไป
 
แม้บรรยากาศทางการเมืองในปี 2561 จะขยับไปไกลกว่าบรรยากาศในปี 2557 มากแล้ว แต่ คสช. ก็ยังไม่ลดละความพยายามที่จะใช้เครื่องมือเดิมๆ ในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและควบคุมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างต่อเนื่อง กฎหมายที่ออกโดย คสช. อีกจำนวนมากยังถูกใช้บังคับอยู่ คดีความอีกหลักร้อยยังรอการพิจารณาทั้งโดยศาลพลเรือนและศาลทหาร อำนาจการควบคุมสื่อมวลชนและการจับประชาชนไปขังในค่ายทหารยังคงจะถูกใช้ก่อน, ระหว่าง และภายหลังการเลือกตั้งในปี 2562 เราจึงยังต้องเดินหน้าเข้าสู่ปีที่ห้าของ คสช. พร้อมกับความท้าทายเช่นเดียวกับที่แบกรับมานานกว่าสี่ปี เพื่อพบเจอกับการเลือกตั้งที่ไม่มีเสรีภาพภายใต้การปิดกั้นสารพัดรูปแบบ และความผันผวนทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นตามมาหลังผลการเลือกตั้งไม่ได้รับการยอมรับ
 
 
อ่านรายละเอียดทั้งหมด