เมษายน 2560 :  คุมขังต่อไปไผ่ ดาวดิน-ไล่จับคนถามหาหมุดฯ-ออกเตือนเรื่องติดตามบุคคลต้องห้ามบนสื่อออนไลน์

 

เดือนเมษายน 2560  มีความเคลื่อนไหวเรื่องเสรีภาพจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว คดีมาตรา 112 ยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่เป็นคุณแก่ผู้ต้องหานัก แต่ที่เป็นข่าวดีคงจะเป็นคดีพ.ร.บ.ประชามติฯที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง นับเป็นบรรทัดฐานที่ดีของคดีความที่กำลังจะไปสู่การพิพากษาในระยะใกล้นี้ ส่วนประเด็นที่ตกอยู่ในความสนใจของสังคมอย่างมากคือ หมุดคณะราษฎรที่ถูกรื้อถอนและแทนที่ด้วยหมุดใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม โดยเจ้าหน้าที่พยายามหยุดความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมที่ทวงถามหาหมุดคณะราษฎรที่หายไปด้วยการ”ปรับทัศนคติ” ขณะที่กระทรวงดิจิทัลออกประกาศงดเว้นการติดต่อสามบุคคลต้องห้ามบนสื่อออนไลน์เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นอกจากนี้สถานการณ์ปัจจุบันยังเห็นแนวโน้มที่เป็นรูปธรรมว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ถูกนำมาใช้จัดการกับประชาชนมากขึ้น
 
 
ความเคลื่อนไหวคดีมาตรา 112

อย่างที่เกริ่นไว้สถานการณ์คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ไม่เป็นไปในทางที่เป็นคุณต่อผู้ต้องหานัก เห็นได้จากกรณีของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้มาจนถึง 30 เมษายน 2560 จตุภัทร์ถูกคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดีมา กว่า 130 วันแล้ว ขณะที่เรื่องราวรายรอบดูจะกดดันและตอกย้ำซ้ำเติมจตุภัทร์มากขึ้น โดยในวันที่ 11 เมษายน 2560 สื่อได้เผยแพร่ข่าวอ้างคำสัมภาษณ์ของสัสดีจังหวัดชัยภูมิว่า ไผ่หนีทหารมาหลายปีแล้ว ที่ผ่านมาไม่เคยยื่นเอกสารผ่อนผัน จากนี้จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่มารดาของจตุภัทร์ได้ไปชี้แจงว่า จตุภัทร์ไม่ได้หลบหนีทหาร เขาเคยฝึกวิชาทหารและมีเอกสารสำคัญ สด.1

 
ในเดือนนี้มีคำพิพากษาคดี 112 หนึ่งคดีคือ คดีของปิยะ คดีที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษยืนตามศาลชั้นต้น  ลงโทษจำคุก 9 ปี คำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี

 
ความเคลื่อนไหวเสรีภาพการแสดงออกอื่นๆ
หมุดคณะราษฎร

14 เมษายน 2560 มีการเผยแพร่ข่าวว่า หมุดคณะราษฎร บริเวณใกล้กับลานพระบรมรูปทรงม้า ถูกรื้อถอนและแทนที่ด้วยหมุดอันใหม่ที่มีข้อความแตกต่างออกไปจากเดิม โดยไม่มีหน่วยงานใดออกมาแสดงความรับผิดชอบการเปลี่ยนหมุดดังกล่าว หลายฝ่ายออกมาปฏิเสธไม่มีส่วนรู้เห็น กระทั่งกลายเป็นเรื่องอ่อนไหวที่รัฐพยายามทำให้เงียบที่สุด เห็นได้จากหากมีบุคคลใดทวงถามหาสมบัติของชาติชิ้นนี้ เจ้าหน้าที่จะมุ่งเป้าและจัดการปรับทัศนคติ โดยอ้างความสงบของชาติ

ภาพเปรียบเทียบระหว่างหมุดคณะราษฎรและหมุดใหม่ที่ถูกนำมาฝังไว้ในช่วงต้นเดือนเมษายน

กรณีที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความหวั่นไหวที่รัฐมีต่อเรื่องนี้ คือวันที่ 18 เมษายน 2560 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยถูกทหารและตำรวจเข้าควบคุมตัวไปที่มทบ.11 ระหว่างการเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้สอบสวนและตรวจสอบการกระทำของบุคคลหรือหน่วยงานใดที่เข้ามาดำเนินการสับเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร ก่อนที่จะถูกปล่อยตัวในช่วงกลางดึกของวันเดียวกัน

กรณีต่อมา วันที่ 20 เมษายน 2560 ที่สน.ดุสิต บุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ มาแจ้งความและขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานและให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎรที่หายไป หลังสอบปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารได้เชิญตัวบุญสิน และสันติพงษ์ วินุราช ผู้ติดตามไปปรับทัศนคติที่ มทบ.11 และอีกครั้งในกรณีของเอกชัย หงส์กังวานอดีตนักโทษคดี 112  โดยในวันที่ 25 เมษายน 2560 ระหว่างที่เขากำลังเข้ายื่นหนังสือขอให้รัฐบาลตรวจสอบกรณีการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร ทหารเข้าควบคุมตัวเขาไปปรับทัศนคติที่ มทบ.11

ความอ่อนไหวปรากฏชัดอีกครั้ง วันที่ 20 เมษายน 2560 วัฒนา เมืองสุข เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนปอท. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาว่า กระทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) จากการโพสต์ข้อความในทำนองที่ว่า หมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุสมบัติของชาติ

 

คดีเสรีภาพบนโลกออนไลน์
ในเรื่องเสรีภาพออนไลน์ เดือนนี้มีคำพิพากษาที่เป็นคุณแก่ผู้ต้องหาคือ กรณีของศรัลย์ แอดมินเพจ “ทวงคืนพลังงาน” ถูก ปตท. กล่าวหาว่า ละเมิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในวันที่ 10 เมษายน 2560 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า เห็นพ้องตามคำตัดสินของศาลชั้นต้นว่า จำเลยมีความผิด ขณะที่มูลเหตุแห่งคดีมาจากการแสดงความคิดเห็นเรื่องนโยบายพลังงาน ไม่ได้ทำให้โจทก์เสียหายมาก นับว่าไม่ใช่ความผิดร้ายแรงจึงให้รอการลงโทษจำคุกเก้าเดือนที่ศาลชั้นต้นไว้สองปี แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำเห็นควรกำหนดโทษปรับจำเลย 40,000บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือปรับ 30,000 บาท

ประเด็นที่น่าสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวต่อไปคือ ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่องงดเว้นติดต่อกับบุคคลบนสื่ออินเทอร์เน็ต โดยระบุว่า ด้วยศาลอาญา ได้มีคำสั่งให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันไม่เหมาะสม ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ขอให้ประชาชนโดยทั่วไป งดการติดตาม ติดต่อ เผยแพร่ หรือกระทำการใดๆที่มีลักษณะเป็นการเผยแพร่ เนื้อหาข้อมูลของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อมิให้เป็นการกระทำความผิดว่าด้วย พ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งเจตนาและไม่เจตนา
อ่านข้อสังเกตต่อประกาศกระทรวงดิจิทัลฯที่นี่

ประกาศกระทรวงดิจิทัลฯเรื่อง การงดเว้นการติดต่อกับบุคคลบนสื่ออินเทอร์เน็ต

การชุมนุมสาธารณะ
มีความเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องมาจากเดือนมีนาคม 2560 เริ่มต้นที่การชุมนุมคัดค้านการถอนบรรษัทน้ำมันออกจากพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ  วันที่ 3 เมษายน 2560 ศาลแพ่งรัชดามีคำสั่งยกคำร้องเพิกถอนการชุมนุมของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) เหตุการชุมนุมได้ถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2560  ต่อมาในวันที่ 21 เมษายน 2560 ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ หนึ่งในแกนนำ คปพ. ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ตนและแกนนำคปพ. ถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะฯ จากการมายื่นหนังสือคัดค้านพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ บริเวณหน้ารัฐสภา

บรรยากาศการชุมนุมคัดค้านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ บริเวณหน้ารัฐสภา

ปานเทพ พัวพงศ์พันธ์เจรจากับเจ้าหน้าที่ขอให้ปล่อยตัว พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ที่ถูกคุมตัวระหว่างยื่นหนังสือคัดค้าน
ก่อนหน้านี้วันที่ 31 มีนาคม 2560 ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการคดีแขวงสามยื่นฟ้องแกนนำคปพ. รวม 6 คนในความผิดฐานร่วมกันการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง โดยจำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ ศาลจึงพิพากษาสั่งปรับ 6,000 บาท และเนื่องจากจำเลยให้การสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือโทษปรับ 3,000 บาท

กรณีต่อมาคือ กลุ่มคนรักษ์อำเภอวานรนิวาส หลังจากมีนาคมที่ผ่านมา ศตานนท์ ชื่นตา แกนนำกลุ่มเข้ารับทราบข้อกล่าวหาว่า ละเมิดมาตรา 10 เรื่องการแจ้งการจัดการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงจากการจัดขบวนแห่เพื่อเชิญคนเข้าร่วมงาน สืบชะตาห้วยโทงที่ตำรวจระบุว่า เป็นการชุมนุมคัดค้านการสำรวจแร่โปแตซ ในวันที่ 21 เมษายน 2560 พนักงานสอบสวน สน.วานรนิวาสแจ้งข้อหากีดขวางการจราจรตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ เพิ่มอีกข้อหนึ่ง คดีนี้อัยการจังหวัดสว่างแดนดินเลื่อนคำสั่งคดีออกไป เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ซึ่งต้องรอการพิจารณาจากสำนักงานอัยการภาค 4 เสียก่อน
 

อีกกรณีหนึ่งคือ วันที่ 24 เมษายน 2560 ตำรวจจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าจับกุมสมาชิกสหพันธ์เกษตรภาคใต้(สกต.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) ในพื้นที่ ชุมชนน้ำแดง ตำบลคลองน้อย อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 8 คน โดยไม่มีการออกหมายเรียกก่อนเข้ามาจับกุม ทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหาสามข้อคือ หนึ่ง บุกรุก สอง ลักทรัพย์ และสาม อั้งยี่ วงเงินประกันคนละ 600,000 บาท การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 สกต. และพีมูฟเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐบาลให้แก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของประชาชน พร้อมทั้งยังเข้าร่วมการประชุมกับออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ชะลอการดำเนินการเรื่องที่ดินที่จะส่งผลกระทบไว้ก่อน ซึ่งในวงพูดคุยก็จบลงที่ข้อตกลงดังกล่าว

บรรยากาศการชุมนุมของเครือข่ายพีมูฟภายในกพร.
 
คดีประชามติ
24 เมษายน 2560 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาคดีที่สามารถ ขวัญชัย ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง จากการแจกใบปลิว Vote No พิเคราะห์ว่า ข้อความในใบปลิวเป็นนามธรรมไม่มีการเจาะจงและบุคคลที่ออกเสียงประชามติมีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินเองได้ ดังนั้นใบปลิวจึงไม่มีส่วนในการชักจูงการตัดสินใจในทางใดทางหนึ่ง พิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาของสามารถถือเป็นหมุดหมายสำคัญของคดีที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ศาลยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น สำหรับคดีนี้ถือเป็นคดีประชามติคดีแรกที่ศาลมีคำพิพากษา 
 
ความเคลื่อนไหวอื่นๆ

กรณีวัดพระธรรมกาย วันที่ 11 เมษายน 2560 มีประกาศคสช. ฉบับที่ 1/2560 ได้ยกเลิกให้วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม หลังบังคับใช้มาเป็นเวลา 57วัน  ประกาศดังกล่าวเป็นยกเลิกเพียงเฉพาะพื้นที่เท่านั้น ยังคงไว้คำสั่งที่ 5/2560 ที่ให้อำนาจในการประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุม

ด้านกรณีละเมิดอำนาจศาลขอนแก่น วันที่ 27 เมษายน 2560 ศาลขอนแก่นนัดไต่สวนในคดีที่นักกิจกรรมเจ็ดคนคือ “เบญจมาศ” “อนุวัฒน์” ฉัตรมงคล พายุ ณรงค์ฤทธิ์ สิรวิชญ์และภานุพงศ์ ถูกกล่าวหาว่า ละเมิดอำนาจศาลจากการจัดกิจกรรมบริเวณหน้าศาลจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 โดยศาลเลื่อนไปไต่สวนวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 แทนเนื่องจากสิรวิชญ์ไม่สามารถเข้าร่วมการไต่สวนในวันดังกล่าวได้