ปฏิรูปการเกณฑ์ทหารแบบใหม่ สมัครใจได้คุณภาพ

 

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 วงเสวนาวิชาการ เหลียวหลัง แลหน้า ระบบเกณฑ์ทหาร คำตอบสู่ความเป็นไปได้ที่จะ #รักชาติไทยไปคนละแบบ

ที่อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ รังสิต วิทยากรโดย พันเอกปิยะชาติ ประสานนาม ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองการสัสดี , วิรัติน์ วรศสิริน รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย , ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท โดยงานเสวนานี้เป็นหนึ่งในวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมาย ของคณะนิติศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจถึงที่มา ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบจากระบบการเกณฑ์ทหารในประเทศไทยสำหรับการหาทางออกร่วมกันในอนาคต

แต่แล้วก่อนงานเริ่ม ทางคณะผู้จัดเสวนาได้รับแจ้งอย่างกะทันหันจากทางกองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ที่พันเอกปิยะชาติ ประสานนาม สังกัด ว่ามีเหตุจำเป็นบางประการ ทำให้ไม่สามารถมาร่วมเป็นวิทยากรงานเสวนาได้

อย่างไรก็ดี งานเสวนายังคงจัดขึ้นตามกำหนดการเดิม โดยยังคงประเด็นการเสวนาดังเดิม ในเวลา 13.30 น.

 

ประเทศกูมีทหารเกณฑ์ไว้ทำไม ?

ทวีศักดิ์ เกิดโภคา เริ่ม เล่าถึงที่มาของระบบเกณฑ์ทหารไทยว่ามีความเกี่ยวเนื่องมาจากระบบการปกครองในระบอบสมมุติเทพ รัฐอยุธยาโบราณ ที่มีแนวคิดรวมทรัพยากรเข้าสู่ศูนย์กลาง ประชาชนในยุคนั้นมีสถานะเป็น”ไพร่” จึงต้องถูกเกณฑ์แรงงานเข้ารับใช้ชนชั้นนำ อันประกอบด้วย กษัตริย์ ขุนนาง และพระ

โดยจากการหาข้อมูลเพิ่มเติมของไอลอว์ จะแบ่งประเภทไพร่ตามลักษณะเป็น 3 แบบ คือ 1.ไพร่สม = ไพร่ที่รับใช้ขุนนาง หรือไพร่สังกัดมูลนาย มีหน้าที่รับใช้ขุนนางของรัฐ ถือเป็นแรงงานส่วนตัวที่มูลนายเจ้าสังกัดสามารถเรียกใช้ได้โดยเด็ดขาด ไพร่หลวง = ไพร่ที่รับใช้กษัตริย์

ในที่นี้กล่าวรวมถึงการเป็นกำลังในการตอบสนองต่อคำสั่งของรัฐกษัตริย์ด้วย มีลักษณะเปลี่ยนผลัดเข้าเวรคราวละหนึ่งเดือน เมื่อครบกำหนดแล้วสามารถปลดกลับภูมิลำเนาและกลับมาใหม่ในอีกหนึ่งเดือนต่อมา เรียกว่าการเข้าเดือนออกเดือน และลักษณะไพร่ส่วย=ไพร่ที่จ่ายทรัพย์แทนการเกณฑ์แรงงาน

เป็นกลวิธีของไพร่ที่ไม่ประสงค์สังกัดมูลนายและเข้าเกณฑ์แรงงานให้รัฐ สามารถจ่ายทรัพย์เป็นสิ่งทดแทนได้ โดยได้รับการยกเว้นจากรัฐเป็นกรณีพิเศษ ทวีศักดิ์กล่าวว่าแนวคิดเช่นนี้ เกิดขึ้นในยุคที่ยังไม่มีสำนึกเรื่องสิทธิ เสรีภาพ มีเพียงความเชื่อถือเทวะราชา ประชาชนในฐานะไพร่เมื่อคิดว่าชีวิตของตนเองเป็นทรัพย์สินของกษัตริย์ จึงไม่รู้สึกว่าเดือดเนื้อร้อนใจต่อการถูกเกณฑ์แรงงานแต่อย่างใด

ทั้งยังมองว่า วิธีคิดเช่นนี้ยังคงสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน แม้สถานภาพของ ”ไพร่” จะสิ้นสุดลงไปแล้วตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เกิดการปฏิรูประบบการเกณฑ์แรงงาน เป็นระบบการเกณฑ์ทหาร ผ่าน พ.ร.บ.ลักษณะการเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 122 เนื่องมาจากแรงงานที่ถูกเกณฑ์ด้วยวิธีแบบเก่านั้นไม่มีประสิทธิภาพในการรบ ต่างเป็นแค่ ชาวไร่ ชาวนา ไม่ได้ผ่านการฝึกทหารมาอย่างเป็นระบบ

“ด้วยรากของการเกณฑ์ทหารเช่นนี้ ทำให้เกิดคติการมองคนไม่เท่ากัน เราจึงมีไอ้เณรในกองทัพ เปรียบเทียบทหารเกณฑ์เหมือน สามเณรที่มีสถานะต่ำสุดและเป็นผู้ใช้แรงงานภายในวัด เป็นการมองแบบแนวตั้ง ต่างจากการมองคนเท่าเทียมกันในแนวนอนตามแบบประชาธิปไตย”

 

 

 

เมื่อร่างกายเราไม่ใช่ของเรา ร่างกายเราเป็นของกองทัพ ?

“ ตลอดระยะเวลาการฝึกสิบเดือนต่อไปนี้ ร่างกายเราไม่ใช่ของเรา ร่างกายเราเป็นของกองทัพ” ทวีศักดิ์ยกอ้างถ้อยคำติดหูที่ได้ยินมาจากเพื่อนของเขา อดีตทหารเกณฑ์ผู้บอกเล่าประสบการณ์การฝึกหนักช่วงสิบเดือนแรก

ซึ่งตนเชื่อว่า วาทะกรรมลักษณะนี้เองทำให้เกิดช่องว่างและการยอมให้มีระบบโซตัสในค่ายทหาร ในฐานะผู้สื่อข่าวที่ทำงานต่อเนื่องทวีศักดิ์ยกตัวอย่างการใช้ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนในกองทัพที่ปรากฏตามสื่อ อย่างใน ปี 2554 พลทหารวิเชียร เผือกสม นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกลงโทษด้วยวิธีการธำรงวินัย (สั่งซ่อมให้ทหารกระทำการออกกำลังกายด้วยท่าต่างๆ) จนเป็นเหตุให้ทหารเกณฑ์ถึงแก่ความตาย

อีกทั้งสภาพที่ไร้กฏของผู้เหนือกว่าดังกล่าวทำให้ทหารเกณฑ์ส่วนใหญ่ไม่อยากอยู่ประจำในค่ายทหาร และเลือกที่จะออกไปเป็น “ทหารรับใช้” อันหมายถึงทหารเกณฑ์กลุ่มหนึ่งซึ่งจะถูกส่งตัวไปทำหน้าที่บริการตามบ้านของเหล่านายทหารผู้มีตำแหน่งนายพลขึ้นไป หรือยศต่ำกว่าที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง

แต่ในความเป็นจริงทหารรับใช้ไม่ได้เพียงรับใช้นายทหารที่ตนสังกัดเท่านั้น หากยังต้องรับใช้ครอบครัวหรือธุรกิจส่วนตัวของนายทหารเหล่านั้นด้วย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้นไม่ต่างกัน เช่น ใน ปี 2558 ทหารเกณฑ์รายหนึ่งถูกนายทหารนอกราชการใช้โซ่มัดไว้กับยางรถยนต์จนต้องออกมาขอความช่วยเหลือ ทวีศักดิ์กล่าวด้วยว่า จากสถิติมีคนตายในค่ายทหารมากขึ้นทุกปี และความต้องการเกณฑ์ทหารของรัฐก็ยังคงเพิ่มขึ้นสวนทางกับอัตราการเกิดของชายไทยที่ลดน้อยลง

“ยังมีปัญหาอีกประเภทคือเรื่องการทุจริต นายทหารอนุญาตให้ทหารเกณฑ์กลับบ้านได้ คล้ายๆปลดประจำการเทียม เพียงแค่ยินยอมยกเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงที่จะได้รับในทุกเดือนให้ตกเป็นของผู้บังคับบัญชา”

 

“ทหารเกณฑ์เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของกองทัพ"

“ทหารเกณฑ์เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของกองทัพ จำนวนนายมันเพิ่ม ทหารเกณฑ์ก็ต้องเพิ่มตาม” วิรัติน์ วรศสิริน จากพรรคเสรีรวมไทยอ้างอิงคำพูดของพลตำรวจเอกเสรีพิสุทธ์ เตมียเวส พร้อมตั้งข้อสันนิษฐานว่า ในอดีตประเทศไทยมีจำนวนนายทหารชั้นนายพล ประมาณ 1,000 คน แต่ในรอบสิบปีมานี้ จำนวนกลับเพิ่มขึ้นไปสูงถึง 1,500 – 2,000 คน

ยังไม่นับรวมนายทหารนอกราชการอีกจำนวนมาก ในขณะที่งบประมาณกระทรวงกลาโหม ในปี 2548 เคยได้รับการจัดสรรไว้ราว 80,000 ล้านบาท ก็ถูกเพิ่มให้อย่างต่อเนื่องจนกว่า 200,000 ล้านบาท หลังเหตุการปฏิวัติของ คมช.เมื่อปี 2549 จนถึงปัจจุบัน

ตนตั้งคำถามว่าเมื่อมีทั้งกำลังคนและงบประมาณขนาดนี้ หน้าที่ที่ชัดเจนของกองทัพคืออะไร ไม่ต้องกล่าวถึงสงครามที่ไม่มีมานานมากแล้ว

หากอิงตามพระราชบัญญัติกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 มาตรา 8 กล่าวถึงหน้าที่ของกองทัพในสังกัดของกระทรวงกลาโหมเอาไว้ ได้แก่ (1) พิทักษ์รักษาเอกราชและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในราชอาณาจักร ปราบปรามการกบฏและการจลาจล โดยจัดให้มีและใช้กำลังทหารตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามที่มีกฎหมายกำหนด และ (3) ปกป้อง พิทักษ์รักษาผลประโยชน์แห่งชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงตลอดจนสนับสนุนภารกิจอื่นของรัฐในการพัฒนาประเทศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติ และการช่วยเหลือประชาชน

 

ในปี 2557 กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมายุยงปลุกปั่นประชาชน นำกำลังไปปิดสถานีโทรทัศน์ บุกยึดสถานที่ราชการ และที่ร้ายแรงที่สุดคือ ออกมาประกาศว่าได้ยึดอำนาจของประเทศไว้ทั้งหมดแล้ว มีพฤติการณ์เป็นกบฏหรือไม่ หากเข้าข่ายแล้วกองทัพทำอะไรอยู่

การเสวนาภาคหลัง “แลหน้า”

ช่วงที่สอง การเสวนาดำเนินมาถึงขั้นตอนแสวงหาคำตอบและมองอนาคตของระบบการเกณฑ์ทหารในประเทศไทย ผู้จัดเสวนาชูประเด็น คำตอบสู่ความเป็นไปได้ที่จะรักชาติไทยไปคนละแบบ หมายรวมมายาคติอันเนื่องมาจากวาทะกรรม “เป็นทหาร=รักชาติ”

ทวีศักด์ เกิดโภคา แสดงทรรศนะเป็นคำถามว่า เราควรทำความเข้าใจในนิยามของคำว่า “ชาติ” ให้ดีเสียก่อน ตามทรรศนะของตน หากชาติ หมายถึง ประชาชน การรักชาติก็คงสามารถหมายถึงการกระทำเพื่อประชาชนซึ่งมีมากหลายวิธีไม่จำกัดเฉพาะการเป็บทหารเท่านั้น ส่วนวิรัติน์ วรศสิริน ยืนยันว่า การเป็นทหารก็ถือว่าเป็นการรักชาติ เพียงแต่ว่าต้องเป็นโดยสมัครใจ ไม่ถูกบังคับ จึงจะถือว่าเป็นทหารที่มีเกียรติ

ปฏิรูปการเกณฑ์ทหารแบบใหม่ สมัครใจได้คุณภาพ

ในส่วนวิธีแก้ปัญหาหลักได้แก่ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการทุจริต ที่เกี่ยวข้องกับระบบเกณฑ์ทหารนั้นวิทยากรทั้งสองมีความเห็นร่วมกันว่า ควรแก้ไขกฎหมาย เปลี่ยนวิธีการเกณฑ์ทหารจากระบบคัดเลือกมาเป็นระบบสมัครใจ รวมทั้งต้องพัฒนาคุณภาพ ความเป็นอยู่ และดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของทหารเกณฑ์ที่สมัครเข้าไป

จะทำให้ได้ทหารอาชีพที่มีคุณภาพมากขึ้น ในประเด็นนี้ทั้งสอง คิดว่ามีความเป็นไปได้อย่างมาก เพราะตัวเลขชายไทยที่สมัครเป็นทหารเกณฑ์มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี และเชื่อว่าหากมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ชูนโยบายปฏิรูปทหารจะสามารถนำไปพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาให้มีผลในทางปฏิบัติต่อไป

วิรัติน์ยืนยันว่า “ผมเชื่อว่าเรื่องปฏิรูปเป็นเรื่อทำยากแน่ มีไม่มากนักที่กล้าทำ แต่ถ้ามีพรรคไหนทำได้ก็ถือว่าสร้างคุณูปการมาก คนยากคนจน เข้ามาอยู่ในกองทัพแล้วมีเงินเดือน มีสวัสดิการ ได้ทำหน้าที่ที่มีประโยชน์ โดยไม่ถูกเจ้านายกดดัน เป็นหน้าที่ของเราทุกคนด้วยที่ต้องร่วมผลักดัน”

ส่วนทวีศักดิ์ชี้ “เรื่องของการทุจริต ก็ต้องคุยกันเรื่องการปฏิรูปต่อไป ถ้าการปฏิรูปทหารเกิดขึ้น ไม่เฉพาะทหารเกณฑ์ แต่ทุกด้าน ผมเห็นว่ามีแต่ผลดีกับเราทุกคน คนกลุ่มเดียวที่มีผลเสียคือคนระดับบนที่ได้รับผลประโยชน์จากระบบศักดินากองทัพ”

ทวีศักดิ์เล่าอีกว่า ตนเคยพูดคุยกับทหารเกณฑ์ผู้หนึ่งเพื่อทำความเข้าใจถึงคำถามข้างต้น คำตอบที่ได้คือ นอกจากทหารรับใช้แล้ว ทหารเกณฑ์ที่ประจำอยู่ในค่ายทหาร มีหน้าที่เพียงไม่กี่อย่าง ไม่ตัดหญ้าก็ซ่อมอาคาร

หรือกล่าวได้ว่า ทำอะไรก็ตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำ ซึ่งล้วนเป็นภาระหน้าที่อันเกินความจำเป็นในการเกณฑ์ทหารจำนวนกว่าสามแสนคนต่อปี

“ภาระอย่างเดียวที่ผมคิดว่าทหารเกณฑ์ทำได้ก็คือ การป้องกันและช่วยเหลือสาธารณะภัย แต่ในความเป็นจริงกระบวนการฝึกในกองทัพที่เน้นฝึกอาวุธและระเบียบแถว ก็ไม่สามารถพัฒนาทักษะด้านนี้ให้แก่ทหารได้ตัวอย่างกรณีถ้ำหลวง เห็นชัดเจนว่า กองทัพไม่มีความพร้อมทำอะไรเลย ทหารเกณฑ์ไม่ใช่ตัวแสดงหลัก คนดำน้ำคือหน่วยซีลและทีมกู้ภัยจากต่างประเทศ คนเจอเด็กเป็นคนอังกฤษ ที่นำทีมโรยตัวเป็นคนเก็บรังนกจากเกาะลิบง คนที่น่าจะได้เครดิตมากกว่าใครๆ คือทีมงานสูบน้ำ ท่อซิ่งพญานาค

ท้ายที่สุดทวีศักดิ์ขมวดว่า หากตอบคำถามว่าทหารเกณฑ์มีไว้ทำไมก็คงต้องตอบว่ามีไว้เพราะกฎหมายกำหนด เขียนไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ รวมทั้งพ.ร.บ.รับราชการทหาร ที่ถูกแก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อปีพ.ศ 2497 และถูกบังคับใช้มา 64 ปี โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน