เลือก สว.67 เกมวัดดวง ผู้สมัครที่มีโอกาสเข้ารอบ ถ้าได้คะแนนเท่ากันต้องจับสลาก! 

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ จะแตกต่างกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) อย่างสิ้นเชิง โดยการเลือก สว. ชุดใหม่ 200 คนนี้ จะเป็นการ “เลือกกันเอง” ในกลุ่มผู้สมัคร ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สมัครจะไม่มีสิทธิในการเลือก สว.ชุดใหม่

การเลือก สว. จะแบ่งออกเป็นสามระดับ คือ ระดับ อำเภอ-จังหวัด-ประเทศ ในแต่ละระดับจะมีกระบวนการสองขั้นตอน คือ (1) เลือกกันเองภายในกลุ่ม (2) แบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม

กติกาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) กำหนดให้แต่ละขั้นมีจำนวนผู้ได้เข้ารอบแตกต่างกันไป เช่น ในระดับอำเภอ การเลือกกันเองภายในกลุ่ม จะต้องหาผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดห้าคนแรก เพื่อไปแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม เพื่อหาคนที่ได้คะแนนสูงสุดสามลำดับแรกของกลุ่มนั้นๆ

แต่หากมีผู้ได้คะแนนสูงสุดเท่ากัน ทำให้มีผู้ที่มีโอกาสเข้ารอบเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ จะต้องทำอย่างไร?

พ.ร.ป.สว. ฯ ที่ออกแบบโดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ เลือกใช้วิธี “เกมวัดดวง” หากผู้สมัครมีคะแนนเท่ากัน จนมีผู้มีโอกาสเข้ารอบเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด ผู้สมัคร สว. จะต้อง “จับสลาก” ว่าใครจะได้เป็นผู้เข้ารอบ วิธีการนี้ใช้กับกระบวนการเลือกทั้งเลือกกันเองภายในกลุ่ม และเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม และใช้กับการเลือกทุกระดับ ไม่ว่าจะอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ 

ยกตัวอย่างเช่น หากในรอบนั้นต้องการผู้เข้ารอบที่ได้คะแนนสูงสุดเพียงห้าอันดับแรก แต่ปรากฎว่าลำดับที่ห้า มีคะแนนที่ได้เท่ากันสี่คน คือ สุชาติ ไพลิน สมศรี และสมใจ ผู้สมัคร สว. สี่คนนี้จะต้องจับสลากวัดดวงกันเอาเองว่าใครจะเข้ารอบหรือตกรอบ เพราะต้องมีผู้เข้ารอบอีกเพียงหนึ่งคนเท่านั้น หากมีคะแนนเท่ากันสี่คนเช่นนี้ กกต. จะจัดทำสลากขึ้นมาสี่ใบ ประกอบด้วย สลากข้อความว่า “ได้รับเลือก” หนึ่งใบ และสลากข้อความว่า “ไม่ได้รับเลือก” สามใบ

หากสมศรีจับได้สลากที่เขียนว่า “ได้รับเลือก” และอีกสามคนคือ สุชาติ ไพลินและสมใจ จับได้สลากที่เขียนว่า “ไม่ได้รับเลือก” สมศรีจะได้เป็นผู้เข้ารอบในรอบนั้นทันที อีกสามคนจะถือว่าตกรอบ ไม่มีสิทธิในการลงคะแนนในรอบถัดจากนั้นแล้ว

หากว่าเป็นการเลือกในระดับประเทศ รอบแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายที่คัดว่าใครจะได้เป็น สว. ตัวจริง จะเท่ากับว่าสมศรีจะได้เป็นหนึ่งใน 10 สว. ตัวจริงของกลุ่มนั้นทันที อีกสามคนที่มีลำดับเมื่อเรียงตามคะแนนมากสุดไปหาน้อยสุดจากการเลือกในรอบนั้น 11-15 คนแรก จะอยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของ สว. 2567 ในกลุ่มนั้น หาก สว. ตัวจริงในกลุ่มนั้นๆ สิ้นสุดสมาชิกภาพ เช่น ลาออก เสียชีวิต คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองก็จะได้เลื่อนขึ้นไปเป็น สว.

ชวนทำความเข้าใจการเลือก #สว67 ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/16805

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป