ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จบการศึกษาปริญญาเอกจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทำดุษฎีนิพนธ์ หัวข้อ “รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย” และถูกค้นพบว่า ดุษฎีนิพนธ์ดังกล่าวมีการคัดลอกเนื้อหาจากงานวิชาการหลายฉบับ โดยคัดลอกส่วนทบทวนวรรณกรรมจากหนังสือของสถาบันพระปกเกล้าเป็นความยาวกว่า 30 หน้า และต่อมาสมชาย ชี้แจงว่าได้แก้ไขโดยเพิ่มฟุตโน็ตไว้แล้ว

ดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้ได้รับการตรวจสอบและอนุมัติเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานดุษฎีนิพน์นี้ได้แก่ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ คือ ศาสตราจารย์ดร.อุดม รัฐอมฤต ประธานกรรมการสอบดุษฎีบัณฑิต คือ ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ และกรรมการสอบดุษฎีบัณฑิตอีกสามท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ, รศ.ดร.สุปรียา แก้วละเอียด และอ.ดร.เชาวนะ ไตรมาศ 

โดยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหกคน ได้แก่ วรวิทย์ กังศศิเทียม, ปัญญา อุดชาชน, อุดม สิทธิวิรัชธรรม, นภดล เทพพิทักษ์, บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, อุดม รัฐอมฤต รวมทั้งพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และผู้บริหารสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ร่วมแสดงความยินดีกับสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เนื่องในโอกาสสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต พร้อมกันกับศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ที่สำเร็จการศึกษาพร้อมกันอีกคนหนึ่งด้วย

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 วุฒิสภาเป็นองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาและลงมติให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเรื่องอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการออกกฎหมายและการทำงานของวุฒิสภา รวมทั้งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งเป็นวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการส่วนวุฒิสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ทั้งสององค์กรมีหน้าที่ตรวจสอบซึ่งกันและกันตามหลักการถ่วงดุลอำนาจ โดยปกติแล้วจึงไม่ปรากฏภาพที่บุคลากรของทั้งสององค์กรจะร่วมกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่

การที่บุคลากรระดับสูงของศาลรัฐธรรมนูญมาร่วมแสดงความยินดีในการจบการศึกษาของวุฒิสภานั้น มีที่มาที่ไปเบื้องหลังที่พออธิบายได้ ดังนี้

1. หลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาเอกที่สมชาย แสวงการ และศุภชัย สมเจริญ เข้าเรียนและจบการศึกษานั้น ชื่อเต็มว่า หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกได้ว่าเป็นหลักสูตร “พิเศษ” ที่ผู้เข้ารับการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านนิติศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโทด้านนิติศาสตร์มาก่อน ใช้เวลาเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ นอกเวลาราชการเป็นระยะเวลาสามถึงหกปีการศึกษา และมีค่าใช้จ่ายในการศึกษา 990,000 บาท

2. ก่อนหน้าที่จะเข้าศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต ระหว่างการดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมชาย แสวงการ ได้สมัครเข้าศึกษาหลักสูตร “หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.)” รุ่นที่สาม ของวิทยาลัยศาลรัฐธรรมนูญ โดย มีเพื่อนร่วมรุ่น 52 คน เช่น ศุภชัย สมเจริญ ที่ขณะนั้นเป็นประธานกกต. และต่อมาได้มาเป็นรองประธานวุฒิสภา, ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี, รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, รองประธานศาลฎีกา, รองประธานศาลปกครองสูงสุด, ผู้พิพาษาศาลฎีกา, อัยการสูงสุด, ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมด้วยนายทหารและนักธุรกิจชั้นนำอีกมากมาย และยังมีเพื่อนร่วมรุ่นอีกคนหนึ่ง คือ ศ.ดร. อุดม รัฐอมฤต ที่ขณะนั้นเป็นรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

3. หลังจากผ่านการอบรมหลักสูตร นธป. รุ่นที่สาม แล้ว วันที่ 13 มิถุนายน 2562 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็มีประกาศรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยจากประกาศดังกล่าวระบุว่า คุณสมบัติของผู้สมัครนั้นต้องผ่านการอบรมหลักสูตร นปธ. มาก่อน ส่วนวิธีการคัดเลือกนั้นใช้วิธีการ “สัมภาษณ์” ไม่ได้ระบุว่าต้องมีการสอบวัดความรู้ความสามารถ และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ประกาศผลการคัดเลือกว่า สมชาย แสวงการ ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรนี้ ประกาศฉบับดังกล่าวลงนามโดยดร.เชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

4. ในการทำดุษฎีนิพนธ์ ในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตของสมชาย แสวงการ ได้รับเกียรติจากศ.ดร. อุดม รัฐอมฤต เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งศ.ดร.อุดม นั้นก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นในหลักสูตร นปธ. รุ่นสาม รุ่นเดียวกันกับสมชาย แสวงการ และขณะที่สมชายเข้าศึกษาในฐานะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.อุดม ก็ยังเป็นอาจารย์อยู่ แต่ขณะเดียวกัน ศ.ดร.อุดม เป็นอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ผู้ที่ออกแบบกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาแบบพิเศษ จากการคัดเลือกของคสช. ที่สมชาย แสวงการ ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากกระบวนการนี้ และในเดือนธันวาคม 2565 เดือนเดียวกับที่ศ.ดร.อุดม ลงนามรับรองดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย นั้น ศ.ดร.อุดม ก็ได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยการลงมติของวุฒิสภา ที่มีสมชาย แสวงการ กับศุภชัย สมเจริญ อดีตเพื่อนร่วมรุ่นนปธ. รุ่นที่สาม เป็นสมาชิกทำหน้าที่ลงมติให้ความเห็นชอบ และในกระบวนการคัดเลือกยังมี ชวน หลีกภัย อดีตเพื่อนร่วมรุ่นนปธ. รุ่นที่สาม เป็นกรรมการสรรหาด้วย

5. นอกจากนี้ ในการดุษฎีนิพนธ์ฉบับดังกล่าว สมชาย แสวงการ ยังได้ผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายคนเป็นกรรมการสอบดุษฎีบัณฑิต เริ่มจากศ.ดร. อุดม รัฐอมฤต ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาก็เป็นกรรมการสอบด้วย ด้านเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้ลงนามในประกาศให้สมชายได้รับคัดเลือกเข้าศึกษาก็มาเป็นกรรมการสอบดุษฎีบัณฑิตด้วย นอกจากนี้ประธานกรรมการสอบดุษฎีบัณฑิต คือ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ก็ยังเป็นผู้เข้ารับการอบรมนปธ. รุ่นที่สี่ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกันกับเชาวะ ไตรมาศ ด้วย 

6. สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกสี่คน ที่มาร่วมแสดงความยินดีกับสมชาย แสวงการ และศุภชัย สมเจริญ นั้น ปัญญา อุดชาชน ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อปี 2558 ซึ่งสมชาย แสวงการเป็นสมาชิกอยู่จากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, อุดม สิทธิวิรัชธรรม, นภดล เทพพิทักษ์ และบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งโดยวุฒิสภาเมื่อปี 2563 ซึ่งสมชาย แสวงการ และศุภชัย สมเจริญ เป็นสมาชิกอยู่ 

ข้อเท็จจริงเหล่านี้จึงพอจะอธิบายได้ว่า เหตุใดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงมาร่วมแสดงความยินดีแก่วุฒิสมาชิกเนื่องในโอกาสที่จบการศึกษาในระดับปริญญาเอก

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป