ค่าสมัคร สว. 2,500 จ่ายแล้ว ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน

12 มีนาคม 2567 เฟซบุ๊กเพจของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)โพสต์ภาพชี้แจงเกี่ยวกับ “เงินค่าธรรมเนียมการสมัคร สว.” เนื่องจากกำลังจะเข้าสู่ช่วงเวลาการคัดเลือก สว. ชุดต่อไปที่จะมาทำหน้าที่ต่อจาก สว. ชุดพิเศษที่จะหมดวาระลงในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) และกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกทุกคนต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท


กฎหมายทั้งสองฉบับได้กำหนดให้ สว. ชุดใหม่ หรือ “สว. 67” มาจากการเลือกกันเอง หมายความว่า ประชาชนทั่วไปจะไม่มีสิทธิเลือก สว. ที่มาทำหน้าที่พิจารณากฎหมายที่ใช้บังคับกับประชาชน ตรวจสอบฝ่ายบริหาร เคาะเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ช่องทางที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ในภารกิจที่สำคัญนี้ คือ การสมัครเข้าร่วมกระบวนการ ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่อให้มีสิทธิออกเสียง หรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. หรือสมัครเพื่อต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการเพื่อจับตาสิ่งที่ผิดปกติ 

ประเด็นที่ตกเป็นประเด็นถกเถียงทางสังคม คือ การกำหนดให้ผู้สมัครจ่ายค่าธรรมเนียมการสมัคร สว. มูลค่า 2,500 บาท เท่ากับว่า การจะใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนได้ต้องเสียค่าธรรมเนียมก่อน โดยกำหนดให้เงินค่าธรรมเนียมการสมัคร คนละ 2,500 บาทนี้ ผู้สมัครสามารถชำระเป็นเงินสด หรือตั๋วแลกเงินหรือแคชเชียร์เช็ค แล้วแต่กรณี (ข้อ 52 วรรคท้าย)

ซึ่งหากมีผู้สมัครจำนวนมาก เช่น 100,000 คน ก็จะมีการเก็บค่าธรรรมเนียมมากถึง 250,000 บาท จึงเกิดคำถามตามมาว่า เงินค่าธรรมเนียม 2,500 บาทต่อคนนั้น จะถูกจัดสรรอย่างไร ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์? 

ระเบียบ กกต. เรื่องการเลือกสว.ฯ ข้อ 53 ระบุชัดว่าให้ค่าธรรมเนียมการสมัคร 2,500 บาท ให้ตกเป็นของรัฐ โดยมอบหมายให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอหรือผู้ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอมอบหมายนำส่งเงินค่าธรรมเนียมการสมัครตามระเบียบว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง

ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงิน จ่ายเงิน การรับเงิน การเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง พ.ศ.2562 กำหนดให้เงินที่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการให้นำส่งหรือนำฝากคลังภายในกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้

  • กรณี เช็ค หรือเอกสารแทนตัวเงินอื่น ให้นำส่งหรือนำฝากในวันที่ได้รับหรืออย่างข้าภายในวันทำการถัดไป (มาตรา 101 (1))
  • กรณี เงินรายได้แผ่นดินที่ได้รับเป็นเงินสด ให้นำส่งอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง แต่ถ้าส่วนราชการใดมีเงินรายได้แผ่นดินเก็บรักษาในวันใดเกิน 10,000 บาท ก็ให้นำเงินส่งโดยด่วนแต่อย่างช้าต้องไม่เกิน 3 วันทำการถัดไป (มาตรา 101 (2))

โดยข้อ 102 กำหนดให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้นำเงินส่งคลัง ซึ่งหากปรากฎว่าเงินในความรับผิดชอบของส่วนราชการ หรือ เงินค่าธรรมเนียมการสมัคร สว. สูญเสียหรือเสียหายเพราะ “การทุจริต” หรือมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริต หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม เช่น ผู้อำนายการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด มีหน้าที่ต้องรายงานพฤติกรรมให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยด่วนและดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้รับผิด หากปรากฎว่าผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอหรือผู้ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอมอบหมายนำส่งเงินมีความผิดก็ต้องถูกดำเนินคดีทางแพ่งหรือหากเป็นกรณีที่ร้ายแรงอาจถูกฟ้องร้องเป็นความผิดตามอาญาแผ่นดินด้วยก็ได้ (ข้อ 111)

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ