สมัคร สว.67 ในอำเภอที่เกิดต้องใช้เอกสารอะไรยืนยัน

การเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่หลัง สว.ชุดพิเศษ จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่จะหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคม 2567 เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายสามารถเลือกลงสมัครที่อำเภอหรือเขตที่ตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกำหนดลักษณะความเกี่ยวข้องไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) มาตรา 13 (4) ไว้ด้วยกันสี่ประกอบ หนึ่งในนั้นคือ “เป็นบุคคลซึ่งเกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก”

อย่างไรก็ตามก็มีคำถามว่า คำว่า “เกิดในอำเภอ” หรือ “อำเภอเกิด” นั้นหมายความว่าอย่างไร และต้องใช้อะไรในการยืนยันตอนสมัครบ้าง

ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) ข้อ 51(8) (ก)  ระบุให้ผู้สมัครที่ประสงค์จะลงสมัครในอำเภอที่เกิดต้องมี “หลักฐานซึ่งแสดงตัวว่าเป็นผู้ที่เกิดในอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก” ซึ่งในกรณีที่ต้องการจะสมัครในอำเภอที่เกิด หลักฐานที่สำคัญที่สุดจึงเป็น “ใบสูติบัตร” ที่ออกโดยนายทะเบียนท้องที่ที่ผู้สมัครเกิด

ใบสูติบัตรหายเป็นเอกสารสำคัญที่หากทำหายแล้วจะไม่สามารถขอเอกสารตัวจริงใหม่อีกครั้งได้ อย่างไรก็ตามยังสามารถไปยื่นคำร้องขอคัดเอกสารสำเนาสูติบัตรได้ที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตที่แจ้งเกิด โดยใช้หลักฐานดังนี้

  1. บัตรประชาชน
  2. ทะเบียนบ้าน
  3. วุฒิการศึกษา
  4. ใบแจ้งความ หากประสงค์จะแจ้งความว่าใบสูติบัตรหาย
  5. หลักฐานแสดงตัวว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  6. หนังสือมอบอำนาจ หากไม่สามารถไปด้วยตัวเองได้

หากที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตนั้นๆ ไม่มีใบต้นขั้วสูติบัตรแล้วจะต้องเปลี่ยนไปขอ “หนังสือรับรองการเกิด” แทนสูติบัตร โดยต้องไปยื่นเรื่องที่สำนักงานอำเภอหรือสำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพร้อมพยานบุคคลอีกสองคนเท่านั้น พร้อมด้วยหลักฐานเดียวกันกับการขอใบสูติบัตร

สำหรับผู้ที่ต้องการจะสมัครในอำเภอที่เกิด “ใบสูติบัตร” หรือ “หนังสือรับรองการเกิด” จึงเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญในการลงสมัคร สว. ในอำเภอที่เกิด

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ