วันเลือก สว. 67 เจ้าหน้าที่ต้องบันทึกภาพและเสียงระหว่างการเลือกทุกระดับ 

ในการเลือก สว. ที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 ด้วยระบบแบบ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” ในหมู่ผู้สมัคร การเลือกจะถูกจัดขึ้นในสามระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ และในการกระบวนการนี้ ประชาชนทั่วไปหรือผู้ที่ต้องการสังเกตการณ์จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสถานที่เลือก มีแค่ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอหรือจังหวัดหรือประเทศ พนักงานเจ้าหน้าที่ และผู้มีสิทธิเลือกเท่านั้น ที่จะเข้าไปได้

การเลือกสว. จะถูกจัดขึ้นในสถานที่เลือกตั้ง “ที่ปิด” ไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปจับตาดูหรือไปเชียร์ผู้สมัคร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้อำนวยการเลือกในสถานที่นั้นก่อน ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ)  ข้อที่ 19-21 จึงกำหนดให้ ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอ ผู้อำนวยการเลือกระดับจังหวัด และผู้อำนวยการเลือกระดับประเทศ มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงของกระบวนการเลือกไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง รวมถึงในกรณีที่มีการจัดให้นับคะแนนใหม่หรือเลือกใหม่ด้วย และตามข้อ 82 กำหนดว่า การบันทึกภาพและเสียงต้องไม่ทำให้บุคคลใดรู้ว่าผู้สมัคร สว. ลงคะแนนให้ใครบ้าง  

ทั้งนี้ ในกระบวนการดังกล่าว มีข้อสังเกต 3 ข้อ คือ

1. ตามระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 85 ผู้สมัคร สว. ไม่สามารถเอาโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารใดๆ เข้าไปในสถานที่เลือกได้ ดังนั้น ในกรณีที่ไม่มีผู้สังเกตการณ์ และมีการโต้แย้งภายหลังว่า การเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่โปร่งใสหรือมีการทุจริตเกิดขึ้น บันทึกภาพและเสียงที่ผู้อำนวยการเลือกจะต้องจัดให้อาจเป็นเพียงหลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่จะถูกนำมาใช้เพื่อพิสูจน์ข้อโต้แย้ง การบันทึกภาพและเสียง การเก็บรักษาข้อมูล และกระบวนการที่จะเข้าถึงข้อมูลได้จึงสำคัญมาก 

 2. ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ไม่ได้ระบุไว้ว่า จะต้องเผยแพร่บันทึกภาพและเสียงของกระบวนการเลือกให้ประชาชนสามารถรับชมได้ด้วยวิธีการใดบ้าง แต่ก่อนหน้านี้ กกต. เคยรับปากในระหว่างการประชุมว่าจะพยายามจัดการถ่ายทอดสดเท่าที่มีงบประมาณ อย่างน้อยในการเลือกระดับจังหวัดและระดับประเทศ ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2567 แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวมติชนว่า จะมีการถ่ายทอดภาพบรรยากาศการเลือกจากกล้องวงจรปิดในวันเลือกจริงของการเลือกทุกระดับออกมาด้านนอก จึงต้องติดตามวิธีการนำไปปฏิบัติจริงในแต่ละสถานที่เลือกต่อไปอย่างใกล้ชิด

3. หลังการเลือกเสร็จสิ้นแล้วหากประชาชนต้องการดูวิดีโอที่บันทึกไว้นั้น ประชาชนยังมีสิทธิตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่จะขอเข้าถึงข้อมูลที่ผู้อำนวยการการเลือกแต่ละระดับบันทึกและเก็บรักษาไว้ได้ ซึ่งต้องเป็นการยื่นหนังสือเพื่อขอข้อมูลเป็นรายกรณีๆ ไปตามที่มีข้อสงสัยหรือที่มีประชาชนอยากเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ