สงกรานต์ กลับบ้านพร้อมภารกิจ ส่งต่อข้อมูลตามหาผู้สมัครสว.67 

วันหยุดสงกรานต์ปี 2567 ทุกคนที่เดินทางกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว ไปไหว้ญาติผู้ใหญ่ อาจมีภารกิจมากขึ้นกว่าการรดน้ำดำหัว หรือสาดน้ำเพื่อความสนุกสนาน เพราะเทศกาลวันหยุดที่สมาชิกในครอบครัวจะมารวมตัวพร้อมหน้ากันเช่นนี้ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเฟ้นหา “ตัวแทนครอบครัว” อย่างน้อยบ้านละ 1 คน ไปสมัครเข้าร่วมกระบวนการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดต่อไป



ระบบการเลือกสว. แบบการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” ในหมู่ผู้สมัคร กำหนดให้คนที่จะมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนต้องเป็นผู้ที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกเท่านั้น ประชาชนทั่วไปไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมด้วย และคุณสมบัติสำคัญของผู้สมัคร คือ ต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ทำให้คนอายุน้อยๆ ที่เป็นกำลังสำคัญในการทำงานอยู่หลักสิบล้านคนไม่มีโอกาสเข้าร่วมออกเสียงเพื่อเลือกสว. ด้วย แต่ทุกคนยังมีส่วนร่วมได้โดยการส่งต่อข้อมูลกระบวนการคัดเลือก การรับสมัคร และชักชวนให้คนที่มีคุณสมบัติพร้อมไปสมัครให้มากที่สุด อย่างน้อยเพื่อให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

เนื่องจากคุณสมบัติต้องห้ามอีกข้อหนึ่งของผู้สมัครเขียนไว้ชัดเจนแล้วว่า ห้ามทุกคนลงสมัครสว. พร้อมกันกับสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งบุพการี หมายถึง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ตามกฎหมาย คู่สมรสตามกฎหมาย และบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย (ไม่รวมพี่น้องหรือญาติคนอื่นๆ) ซึ่งกติกานี้เขียนขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สมัครหนึ่งคนจัดการให้สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวไปสมัครพร้อมกันเพื่อลงคะแนนเลือกตัวเอง ดังนั้น สมาชิกในครอบครัวจึงต้องหาโอกาสพูดคุยตกลงกันเพื่อส่งตัวแทนไปสมัครได้เพียงหนึ่งคน

ผู้สมัครหนึ่งคนจึงมีสถานะคล้ายกับเป็น “ตัวแทนของครอบครัว” ที่จะเข้าไปทำหน้าที่สำคัญ ทั้งการออกเสียงลงคะแนน การจับตาความโปร่งใส หรือการทำหน้าที่เป็นสว. หากได้รับเลือก สำหรับคนที่อาจไม่มีคุณสมบัติและสมัครไม่ได้จึงสามารถใช้โอกาสในวันหยุดสงกรานต์เปิดบทสนทนาระหว่างกันภายในครอบครัว เพื่อหาตัวแทนของครอบครัวที่อายุถึงและคุณสมบัติพร้อมไปลงสมัครสว. หนึ่งคนในรอบนี้เพื่อใช้สิทธิแทนคนที่สมัครไม่ได้ โดยสมาชิกในครอบครัวอาจจะช่วยกันทำการบ้านศึกษาข้อมูลของผู้สมัครคนอื่นๆ ว่าควรจะตัดสินใจลงคะแนนอย่างไร หรือช่วยกันรวบรวมค่าธรรมเนียมการสมัครให้ครบ 2,500 บาท ก็ได้

กระบวนการคัดเลือกสว. ในรอบนี้ หากประชาชนไม่พยายามเข้าไปมีส่วนร่วม ก็จะกลายเป็นกระบวนการของคนที่ “มีเงิน มีอำนาจ มีเครือข่าย” ที่จะจัดตั้งคนของตัวเองไปสมัครเพื่อเลือกตัวเอง แต่ถ้าประชาชนคนธรรมดาสมัครเข้าร่วมกระบวนการเป็นจำนวนมาก และลงคะแนนออกเสียงไปตามเจตจำนงของตัวเอง บรรดาเสียง “จัดตั้ง” ก็จะไม่มีความหมาย

ทุกคนสามารถช่วยกันนำใบปลิวคำอธิบายอย่างย่อถึงกระบวนการคัดเลือกสว. ไปแจกจ่ายให้กับคนใกล้ชิดทั้งเพื่อนที่ทำงาน เพื่อนที่สถานศึกษา หรือผู้คนในละแวกบ้านให้มีความเข้าใจตรงกันได้ โดยสามารถดาวน์โหลดและจัดพิมพ์ใบปลิวด้วยตัวเองได้โดยคลิกที่นี่  หรือสามารถขอรับเพื่อไปแจกจ่ายต่อได้ โดยกรอกแบบฟอร์มได้ที่นี่ หรือหากได้พบเจอคนที่มีคุณสมบัติพร้อมและสนใจสมัครเป็นสว. ก็สามารถส่งลิงก์คู่มือการสมัครแบบละเอียด  หรือจัดพิมพ์ด้วยตัวเองและนำไปแจกจ่ายให้ถึงมือกลุ่มเป้าหมายได้ด้วย

นอกจากนี้ เรายังมีเว็บไซต์ Senate67.com ซึ่งมีข้อมูลความรู้แบบสรุปและมีเครื่องมือสำหรับการตรวจสอบคุณสมบัติขั้นต้น ที่ทุกคนสามารถใช้เป็นคู่มือตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเอง หรือเปิดหน้าตรวจสอบคุณสมบัติแล้วช่วยให้คำแนะนำกับสมาชิกในครอบครัวที่อาจไม่ถนัดใช้งานเว็บไซต์ก็ได้ เว็บไซต์นี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนคู่มือติดตัวให้ทุกคนนำไปใช้พูดคุยกับสมาชิกในครอบครัว และหากตกลงกันได้แล้วว่า สมาชิกในครอบครัวพร้อมที่จะไปสมัครสว. ในกลุ่มอาชีพใด ที่อำเภอใด ก็ชวนทุกคนมากรอกข้อมูลเพื่อแสดงตัวและประกาศจุดยืนอุดมการณ์ทางการเมืองได้เลย

เดินทางกลับบ้านในเทศกาลหน้าร้อนนี้ อย่าไปมือเปล่า เอาภารกิจการมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศไทยกลับไปสร้างบทสนทนากันในครอบครัวด้วยนะ

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ