SAVE THE DATE : ต้องเตรียมวันว่างไว้ 4 วัน เพื่อสมัครสว.

การสมัครและการออกเสียงเพื่อเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตามระบบการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” มีขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องใช้เวลาหลายวัน และผู้สมัครไม่มีโอกาสวางแผนเตรียมตัวล่วงหน้าได้มากนัก แต่พอจะคาดการณ์ได้ว่า ระหว่างช่วงสุดสัปดาห์ที่ 22-23 มิถุนายน 2567 และอีกสองสัปดาห์หลังจากนั้น ผู้เตรียมตัวสมัครต้องไม่รับนัดหมายอื่น ไม่วางแผนการเดินทางไปนอกพื้นที่ เพราะอาจจะต้องไปทำหน้าที่สำคัญในการออกเสียงลงคะแนนแทนคนที่สมัครไม่ได้อีกหลายล้านคน

สว. ชุดพิเศษที่มาจาก คสช. จะครบวาระห้าปีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 การเลือก สว. ชุดใหม่ก็จะเริ่มขึ้นหลังจากนั้นเป็นต้นไป โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 107 วรรคท้าย ระบุว่า การเลือก สว. ชุดใหม่จะเริ่มขึ้นด้วยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมายออกโดยคณะรัฐมนตรีและนำทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ให้ลงพระปรามาภิไธย หลังจากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็จะต้องประกาศกำหนดการสำหรับกระบวนการสรรหา สว. ชุดต่อไปภายในห้าวัน และจัดให้มีการเลือกไม่น้อยกว่า 30 วันหลังพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้

เราคาดการณ์ได้ว่า คณะรัฐมนตรีจะตราพระราชกฤษฎีกาให้มีผลบังคับใช้ได้อย่างเร็วภายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 และหลังจากนั้นไทม์ไลน์ทุกอย่างก็จะเดินหน้า

หากพระราชกฤษฎีกามาถึงไม่ล่าช้าแม้แต่วันเดียว ภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กกต. ก็จะกำหนดวันเลือกและประกาศให้ทุกคนได้ทราบตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) มาตรา 12 ซึ่งอาจจะเป็นดังนี้ 

  • 11 พฤษภาคม 2567 สว. ชุดเดิมหมดอายุ ออกพระราชกฤษฎีกาให้เลือก สว. ชุดใหม่
  • 13 พฤษภาคม 2567 ประกาศกำหนดวันรับสมัคร สว. (รู้วันรับสมัคร)
  • [รับสมัครผู้ประสงค์อยากเป็น สว. ระยะเวลา 5-7 วัน]
  • 9 มิถุนายน 2567 เลือกระดับอำเภอ
  • 16 มิถุนายน 2567 เลือกระดับจังหวัด
  • 26 มิถุนายน 2567 เลือกระดับประเทศ
  • 2 กรกฎาคม 2567 กกต. ประกาศผลการเลือก สว.


ตามพ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 15 กำหนดว่า “ผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานประกอบการสมัคร” หมายความว่า ในช่วงเวลาวันใดวันหนึ่งของการรับสมัครผู้สมัครต้องนำใบสมัครไปส่งเองที่สถานที่รับสมัครในอำเภอที่ต้องการจะลงสมัคร โดยไม่สามารถฝากส่งเอกสารไปกับคนอื่นหรือส่งใบสมัครไปทางไปรษณีย์ได้ ดังนั้น ผู้สมัครต้องเตรียมวันว่างวันใดวันหนึ่งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนตามที่สะดวกเพื่อเดินทางไปยังอำเภอที่สมัครและยื่นใบสมัครภายในกำหนดเวลา

สำหรับการกำหนดวันจัดการเลือกสว. หากนับกำหนดเวลา “อย่างเร็วที่สุด” ตามที่กฎหมายวางกรอบไว้ การเลือกระดับอำเภอจะเป็นวันที่ 22 มิถุนายน 2567 และระดับจังหวัดจะเป็นวันที่ 29 มิถุนายน 267 ซึ่งทั้งสองวันเป็นวันเสาร์ แต่ทางปฏิบัติที่คุ้นเคยกันของประชาชนและกกต. การกำหนดวันเลือกตั้งจะเป็นวันอาทิตย์มาอย่างสม่ำเสมอ 

จึงมีความเป็นไปได้ว่า หากกกต. ต้องการกำหนดวันเลือกสว. ให้เป็นวันอาทิตย์ แต่ไม่สามารถกำหนดวันที่เกินไปจากกรอบเวลาของกฎหมายได้ก็อาจเจรจากับคณะรัฐมนตรีให้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาล่าช้าสักเล็กน้อย

หากพระราชกฤษฎีกาถูกประกาศใช้ช้าออกไป 2-3 วัน หรือประกาศใช้ราววันที่ 13-15 พฤษภาคม 2567 กกต. ก็มีอำนาจกำหนดวันเลือกระดับอำเภอให้เป็นวันที่ 23 มิถุนายน 2567 และกำหนดวันเลือกระดับจังหวัดให้เป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ทั้งคู่

ดังนั้น สำหรับผู้ที่เตรียมสมัครสว. จึงควรเตรียมวันว่างไว้ทั้งวันที่ 22-23 มิถุนายน 2567 สำหรับการเลือกระดับอำเภอที่ต้องเดินทางไปยังอำเภอที่สมัคร และวันที่ 29-30 มิถุนายน 2567 สำหรับการเลือกระดับจังหวัดที่ต้องเดินทางไปยังจังหวัดที่สมัคร

ส่วนวันเลือกระดับประเทศนั้น กกต. ต้องกำหนดภายใน 10 วันนับจากวันเลือกระดับจังหวัด ซึ่งกกต. อาจจะกำหนดเป็นวันอาทิตย์ถัดไป ซึ่งคือ วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2567 ก็ได้ แต่สำหรับการเลือกระดับประเทศที่มีผู้เข้ารอบและมีสิทธิเข้าร่วมจำนวนน้อยลงกกต. อาจจะกำหนดวันที่เป็นวันธรรมดาก็ได้ ซึ่งหากกกต. ใช้ระยะเวลาเตรียมการ 10 วันเต็ม การเลือกระดับประเทศก็อาจถูกกำหนดเป็นวันใดวันหนึ่งระหว่าง 9-10 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นวันทำงานกลางสัปดาห์และผู้สมัครต้องเตรียมตัวเดินทางมาเลือกที่กรุงเทพมหานครด้วย 

อย่างไรก็ตาม กำหนดการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดการณ์ขึ้นจากกรอบเวลาที่กฎหมายวางไว้ กว่าที่จะทราบกำหนดวันรับสมัครและวันเลือกทุกระดับอย่างเป็นทางการก็ต้องรอห้าวันหลังจากที่คณะรัฐมนตรีประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเสียก่อน หากไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคประการใด การออกพระราชกฤษฎีกาไม่ควรช้าเกิน 1-3 วันนับจาก 11 พฤษภาคม 2567 ที่สว. ชุดเดิมจะหมดวาระลง แต่หากเกิดอุปสรรคใดๆ ขึ้นในภายภาคหน้า กำหนดการทั้งหมดอาจถูกเลื่อนออกไปได้ เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ว่า พระราชกฤษฎีกาต้องประกาศใช้อย่างช้าในวันใด ซึ่งจะกระทบอย่างแน่นอนกับการเตรียมตัวและการเตรียมวันว่างของผู้สมัครทุกคน