คำสั่งศาลปกครองคดีเดินมิตรภาพ : ผลิตผลของวัฒนธรรมทางกฎหมายที่มาจากเบื้องล่าง

สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์
คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่
การเดินมิตรภาพเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเนื่องจากเป็นกรณีที่ภาคประชาชนสามารถช่วงชิงการใช้การตีความกฎหมายจากการพยายามผูกขาดของหน่วยงานรัฐและสามารถใช้กฎหมายไปกำกับควบคุมการใช้อำนาจของรัฐได้สำเร็จในระดับหนึ่ง  ทั้งที่อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นความสำคัญของภาคประชาชนในการต่อสู้เพื่อสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายที่เคารพสิทธิเสรีภาพประชาชนและปฏิเสธวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบอำนาจนิยมด้วยปฏิบัติการทั้งในและนอกสถาบันทางกฎหมายที่เป็นทางการ
การต่อสู้ครั้งแรกของภาคประชาชนกับรัฐบาลเกิดขึ้นในวันที่ 20 มกราคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) เมื่อรัฐบาลพยายามปิดกั้นและไม่อนุญาตให้ทีมเดินมิตรภาพที่ชุมนุมกันอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) จัดกิจกรรมเดินจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดขอนแก่น  โดยอ้าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เป็นฐานในการใช้อำนาจดังกล่าว การปะทะกันครั้งแรกเกิดขึ้นนอกสถาบันทางกฎหมายที่เป็นทางการ เป็นการต่อสู้กันบนท้องถนน
ภาคประชาชนพยายามโต้แย้งการตีความและบังคับใช้กฎหมายของรัฐด้วยการยืนยันว่าสิทธิในการชุมนุมและการเดินของพวกเขาเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและพวกเขาได้ปฏิบัติตามที่พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 บัญญัติไว้แล้วทุกประการ พวกเขาจึงมีสิทธิที่จะชุมนุมและเดิน ทีมเดินมิตรภาพยืนยันความคิดความเชื่อของพวกเขา ด้วยการแบ่งกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนออกไปเดินตามที่วางแผนไว้ทั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยินยอม
การต่อสู้ยกแรกระหว่างวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบอำนาจนิยมกับวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบเสรีประชาธิปไตยบนท้องถนน  อาจถือได้ว่าภาคประชาชนเป็นฝ่ายมีชัยเหนือรัฐบาล เพราะนอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่สามารถยุติการเดินเท้าออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตามที่ต้องการแล้ว  ประชาชนยังสามารถยืนยันสิทธิด้วยการเดินตามที่วางแผนไว้ได้ แม้จะต้องปรับแผนจากที่จะเดินหลายสิบคนมาเป็นเดินครั้งละ 4 คน โดยที่ตำรวจไม่สามารถยุติกิจกรรมเดินมิตรภาพได้ ทั้งด้วยกำลังและด้วยการอ้างกฎหมาย ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่าการยืนยันสิทธิของประชาชนมีชัยเหนือการใช้อำนาจควบคุมโดยรัฐ
อย่างไรก็ตามรัฐตอบโต้ปฏิบัติการของภาคประชาชนด้วยการแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มเดินมิตรภาพจำนวน 8 คน นี่เป็นอีกครั้งที่รัฐพยายามสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบอำนาจนิยมด้วยการใช้กลไกทางกฎหมายไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยครั้งนี้เป็นการใช้สถาบันทางกฎหมายที่เป็นทางการ คือ การใช้คดีอาญาเป็นเครื่องมือ น่าเชื่อได้ว่าการดำเนินคดีอาญาของรัฐบาลในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปิดกั้นการแสดงออกของภาคประชาชนยิ่งกว่าต้องการให้แกนนำทั้ง 8 ต้องรับโทษตามกฎหมาย การฟ้องคดีลักษณะนี้มีชื่อเฉพาะในทางวิชาการว่า “การฟ้องคดียุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมและการแสดงออกของประชาชน” (Strategic Litigation Against Public Participation/SLAPP)  เป้าหมายของการฟ้องคดีประเภทนี้ไม่ได้อยู่ที่การแพ้ชนะในชั้นศาลเท่ากับมุ่งขัดขวางการมีส่วนร่วมและการแสดงออกของภาคประชาชนในเรื่องสาธารณะ เป็นการใช้กฎหมายเพื่อขัดขวางกิจกรรมเดินมิตรภาพและเป็นการขู่ทางอ้อมว่าพวกที่เหลือก็อาจถูกดำเนินคดีเช่นนี้ได้
ในส่วนภาคประชาชนนั้นแทนที่จะสยบยอมต่อการคุกคามด้วยกฎหมายของภาครัฐ  ด้วยการยุติกิจกรรมเดินมิตรภาพ  ทีมเดินมิตรภาพกลับทำในสิ่งตรงกันข้าม  พวกเขายังคงยืนยันสิทธิด้วยการเดินต่อไปตามที่วางแผนไว้ ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังพยายามใช้สถาบันทางกฎหมายที่เป็นทางการควบคุมรัฐที่ลุแก่อำนาจด้วยการฟ้องหน่วยงานของตำรวจต่อศาลปกครองในข้อหาละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของพวกเขา เพื่อขอให้ยุติการกระทำที่เป็นการขัดขวางการใช้เสรีภาพของพวกเขาและเรียกค่าเสียหายจากการที่รัฐละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมของพวกเขา
ด้วยการฟ้องคดีปกครองภาคประชาชนได้กลับหัวกลับหางวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบอำนาจนิยมอีกครั้ง ด้วยการเปลี่ยนมิติความสัมพันธ์ของภาคประชาชนจากการเป็นผู้ถูกกฎหมายกระทำแต่ฝ่ายเดียว มาเป็นผู้ใช้กฎหมายจัดการกับรัฐที่ลุแก่อำนาจ ทันทีที่ถูกฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่เชื่อว่าพวกเขาเป็นผู้ผูกขาดการใช้การตีความกฎหมายก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยุ่งยาก พวกเขาต้องพบกับความจริงที่ว่ากฎหมายไม่ได้เป็นอาวุธของพวกเขาแต่เพียงฝ่ายเดียว ภาคประชาชนก็สามารถใช้กฎหมายมาต่อสู้ต่อรองและจัดการกับพวกเขาได้เช่นกัน เพียงชั่วข้ามคืนพวกเขาพบว่าสถานะความสัมพันธ์ของหน่วยงานตำรวจกับประชาชนได้เปลี่ยนไปอย่างมาก จากเดิมที่เป็นคนใช้กฎหมายกำกับและควบคุมประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียว กลับต้องกลายเป็นผู้ถูกฟ้องคดีในศาล หรือในอีกแง่หนึ่งพวกเขาถูกประชาชนใช้กฎหมายมาควบคุมตรวจสอบย้อนกลับ
ในการไต่สวนตำร้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในวันที่ 26 มกราคม 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงที่ถูกฟ้องคดีและที่ศาลเรียกเข้ามาเป็นผู้ฟ้องคดีเพิ่มเติม จำต้องมาแก้ต่างข้อกล่าหาของพวกเขาในศาลปกครอง อำนาจที่ดูแข็งกร้าวและยิ่งใหญ่ของตำรวจที่ขัดขวางการเดินที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุกคามทีมเดินมิตรภาพ ที่ จ.อยุธยา และขัดขวางการเข้าพักที่วัดต่างๆ ซึ่งทีมเดินได้ประสานงานไว้ กลับดูอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อต้องมาเป็นผู้ถูกกฎหมายบังคับใช้ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี
หลังการไต่สวนอย่างยาวนานจากบ่ายถึงค่ำของวันที่ 26 มกราคม 2561 ในที่สุดศาลปกครองก็ได้กำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ด้วยการสั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และภาค 4 ห้ามการกระทำใดๆ ที่เป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของผู้ฟ้องคดีและผู้ร่วมชุมนุม และให้ดูแลอำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุมจนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 อันเป็นวันสุดท้ายของกิจกรรมเดินมิตรภาพอย่างเคร่งครัด ด้วยคำสั่งฉบับนี้มิติความสัมพันธ์ทางอำนาจของภาคประชาชนกับรัฐก็ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ตำรวจที่เคยผูกขาดและใช้อำนาจตามอำเภอใจได้กลายเป็นวัตถุที่ถูกกฎหมายควบคุมอย่างเคร่งครัดเสียเอง ในแง่นี้จึงกล่าวได้ว่าในการต่อสู้กันในสถาบันทางกฎหมายที่เป็นทางการครั้งนี้ ภาคประชาชนก็ประสบความสำเร็จอีกครั้งในการใช้กฎหมายควบคุมรัฐ ขณะที่คดีอาญาที่รัฐพยายามใช้ควบคุมประชาชนหาได้ส่งผลใดๆ ต่อการเคลื่อนไหวของทีมเดินมิตรภาพ
คำสั่งศาลปกครองคดีเดินมิตรภาพในแง่หนึ่ง คือ ผลิตผลของการต่อสู้ทางวัฒนธรรมทางกฎหมาย  เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่ได้เป็นแต่เพียงเครื่องมือของรัฐในการกดขี่ประชาชน แต่ในบางบริบท บางสถานการณ์ ประชาชนสามารถพลิกกลับและใช้กฎหมายควบคุมรัฐได้เช่นกัน และด้วยการใช้กฎหมายควบคุมรัฐในคดีเดินมิตรภาพ ประชาชนได้แสดงให้เห็นว่าแม้อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากภายใต้รัฐเผด็จการ การพยายามต่อสู้เพื่อสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบเสรีประชาธิปไตยยังเป็นไปได้ จริงอยู่โอกาสที่ภาคประชาชนจะแพ้ในทางคดีอาจมีมากกว่าโอกาสที่จะชนะ  แต่การต่อสู้และยืนยันสิทธิโดยตัวมันเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบเสรีประชาธิปไตย  ในสถานการณ์เช่นนี้การที่ภาคประชาชนสามารถใช้กฎหมายควบคุมรัฐได้แม้เพียงบางส่วน  จึงเป็นชัยชนะร่วมกันของทั้งสังคมไม่ใช่เป็นเพียงชัยชนะของทีมเดินมิตรภาพเท่านั้น  เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของประชาชน เป็นวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบเสรีประชาธิปไตย  เป็นวัฒนธรรมที่ยืนอยู่บนฐานคิดที่ว่าประเทศนี้เป็นของราษฎรทุกคน ผู้ปกครองของประชาชน คือ กฎหมายที่มีเหตุมีผล  ไม่ใช่รัฐบาล รัฐราชการ หรือสถาบันอื่นใด

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ