พรรณิการ์ชวนประชาชนลงสนามสว.ที่แพ้แค่เสมอตัวแต่ชนะพลิกโฉมสภาสูงได้

27 มีนาคม 2567 เวลา 17.50 น. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร่วมกับคณะกรรมการนักศึกษาคณะนิติศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (LL.B.) จัดเสวนาในหัวข้อ “กระบวนการเลือก สว. ชุดใหม่: ที่มา การทำงาน และความสำคัญ” โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. พรรณิการ์ วานิช คณะก้าวหน้า และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) 

พรรณิการ์ตั้งข้อสังเกตว่า ความแปลกประหลาดในการเลือกกันเองใน 20 กลุ่มอาชีพ เช่น จัดกลุ่มสิ่งแวดล้อมที่ทำงานคัดค้านทุนก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ไปอยู่รวมกัน ระบบนี้เป็นเพียงการปาหี่ เมื่อระบบเป็นการเลือกกันเองไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็พยายามจะสร้างหลักการชุบย้อมตัวให้เป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ พรรณิการณ์มองว่า การ ‘ซื้อปลายทาง’ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด กล่าวคือ ให้ชนะการเลือกกันเองจนได้เป็นสว.ก่อนและค่อยกวาดเข้ามุ้ง 

แต่ในสถานการณ์เช่นนี้เธอเรียกร้องให้ประชาชนไปลงสมัครสว.ให้มากที่สุด เธอมองว่า สนามนี้นักเลือกตั้งมืออาชีพและประชาชนทั่วไปต่างมีประสบการณ์เป็นศูนย์เท่ากัน ดังนั้นประชาชนไม่มีอะไรจะเสียแพ้แค่เสมอตัว แต่ถ้าชนะจะพลิกโฉมเปลี่ยนสภาสูงได้  “ถ้าแพ้ไม่เป็นไรแพ้มันก็เฮงซวยเท่าปัจจุบันนี้เสมอตัว แต่ถ้าชนะขึ้นมาประเทศไทยไม่มีวันเหมือนเดิมไม่ใช่แค่ที่สภาล่างอีกต่อไปแต่รวมถึงที่วุฒิสภาด้วยเพราะฉะนั้นเป็นสมรภูมิที่พวกเราไม่มีอะไรจะเสีย เสี่ยงกันดูสักตั้งนึงแล้วก็ลุ้นกันว่าการจัดตั้งกันเองของประชาชนจะพาเราไปได้ไกลถึงไหน”

ย้อนประวัติศาสตร์วุฒิสภา องค์กรแต่งตั้งใช้คัดง้างอำนาจจากการเลือกตั้ง

พรรณิการ์ตั้งคำถามเรื่องเกณฑ์อายุของการสมัครสว.ที่กำหนดไว้ที่ 40 ปี “ทำไมวุฒิสมาชิกต้องอายุ 40 มันมีเหตุผลอะไรที่เราซึ่งอายุต่ำกว่า 40 ไม่สามารถจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่ดีของประเทศนี้ได้จริงๆมันคล้าย ๆกับว่าทำไมเป็นสส.ต้อง 25 แล้วก็ทำไมจะเป็นนายกฯต้อง 35 เอาเหตุเอาผลอะไรมาใช่ไหม…มันมีอีกหลายอย่างที่มันไม่เมคเซนส์เกี่ยวกับระบบโดยเฉพาะการสรรหาสว.ในครั้งนี้ ซึ่งดิฉันไม่อยากจะใช้คำว่าการเลือกตั้งสว.เลยเพราะว่าไม่ใช่การเลือกตั้งแน่ ๆ ระบบการเลือกที่คุณต้องเสียตังค์ 2,500 และต้องอายุ 40 ปีขึ้นไปและมีคุณสมบัติอีกหลากหลายอย่างเพื่อเข้าไปสู่ระบบการเลือก มันไม่ควรจะเรียกว่าการเลือกตั้งเพราะว่าคนจำนวนน้อยมากจะสามารถเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในระบบนี้ได้ คำถามก็คือในบรรดาความแปลกประหลาดทั้งหมดนี้ สิ่งที่เป็นข้อสังเกตเด่นชัดที่สุดเกี่ยวกับ สว.ที่อยากจะชวนคุยคืออะไร เราทุกคนน่าจะมีความเห็นร่วมกันว่า อย่างต่ำสุดถ้าไม่ใช่เลิกสว.ไปเลย สว.ต้องมาจากการเลือกตั้งถูกไหม ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะพวกเราในห้องนี้ ดิฉันเพิ่งไปอ่านงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้ามา ทำโฟกัสกรุ๊ปประชาชนทั้งประเทศทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งแล้วเขาก็ถามเรื่องสว.ด้วยเป็น หนึ่ง ในหัวข้อที่ถาม ข้อสรุปของงานวิจัยนี้น่าสนใจมาก ประชาชนชาวไทยบอกว่ายังอยากให้มีสว.อยู่แต่ต้องเลือกตั้ง ถ้า สว.ไม่มาจากการเลือกตั้งเลิกไปเลย”

“เราคิดแบบนี้แต่เราไม่คิดว่า นี่คือเสียงของคนส่วนใหญ่ในสังคม ปรากฏงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าซึ่งก็ถือว่าเป็นสถาบันวิชาการที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นกลางในทางการเมือง ไม่ได้เป็นสถาบันส้ม สถาบันแดงใดๆแน่นอน แต่ว่าสุดท้ายแล้วก็ผลออกมาเป็นแบบนี้ คำถามสำคัญที่สุดก็คือสว. มาจากการเลือกตั้งเป็นไปได้ไหมในสังคมไทย คำตอบง่ายมากก็คือก็เป็นมาแล้วสองรอบ ในประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยร่วมสมัยตั้งแต่2475 เป็นต้นมา สว.มาจากการเลือกตั้งสองครั้งจากรัฐธรรมนูญ 2540 กับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เหลือมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ไม่นับว่าช่วงเวลาแรกเริ่มประชาธิปไตยไทย 2475 แล้วยาวนานต่อเนื่องมาถึง 2489 ทุกท่านทราบไหมว่าเราเป็นระบบสภาเดี่ยว เมื่อสักครู่นี้อาจารย์สมชัยแตะไปนิดนึง ถ้าฟังผ่าน ๆอาจจะคิดว่ามันเป็นสองสภา แต่คำว่าผู้แทนประเภท หนึ่งกับผู้แทนประเภทสอง ไม่ใช่สภาสูงกับสภาล่าง”

“แรกเริ่มประชาธิปไตยไทยซึ่งไม่ใช่แค่ปีแรกหรือสองปีแรก 14 ปีแรก ประเทศไทยมีสภาเดี่ยว คือสภาผู้แทนราษฎร และตอนแรกเป็นสมาชิกประเภทหนึ่ง/ประเภทสอง…แต่ความมุ่งหมายของคณะราษฎรต้องการให้ทุกองคาพยพในระบอบการปกครองมาจากการเลือกตั้ง เพียงแต่ว่าช่วงแรกจะต้องเอาแต่งตั้งเข้ามาช่วยเสริมก่อน เพราะฉะนั้นเราเริ่มด้วยสภาเดี่ยว ปรากฏทำไปทำมากลายเป็นมีพฤฒสภา เข้ามาสู่เรื่องที่จะตั้งข้อสังเกตว่าเวลาเราพูดว่า สว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง สุดท้ายแล้วมันมันย้อนแย้งในตัวเอง เพราะว่า นับตั้งแต่การมีอยู่ของเดิมเรียกว่าพฤฒิสภามาจนถึงวุฒิสภาไม่เคยสอดคล้องกับการเลือกตั้งหรือองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสกัดกั้นองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง ทำไมถึงพูดแบบนี้ เอาใหม่ทุกท่าน 2475 แล้วนับต่อไปอีก 14 ปีประเทศไทยเป็นสภาเดี่ยว ปี 2489 เราถึงมีพฤฒสภาขึ้นมาการมีพฤฒิสภาขึ้นมาเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 7 มีพระราชหัตถเลขาเอกสารมากมายแสดงให้เห็นถึงความกังวลของชนชั้นนำไทยในการปล่อยให้ประชาชนเลือกตั้ง พวกเจ๊กจีนจะครองเมือง ไอ้พวกคนมีเงินมันจะครองเมืองนั้นมีเอกสารหลักฐานอยู่เต็มไปหมดกับชุดความคิดแบบนี้”

“นั่นก็คือว่าถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้ง ประชาชนไม่ฉลาดพอที่จะเลือกคนดีมาหรอก สุดท้ายคนมีเงินจะเอาเงินมาซื้อเสียงแล้วก็เข้ามาทุจริตโกงกิน ชุดความคิดแบบนี้เองเมื่อหมดเขตอิทธิพลของคณะราษฎรซึ่งมุ่งมั่นว่าทุกองคาพยพต้องมาจากการเลือกตั้ง แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมกลับมาได้รับชัยชนะและกลายเป็นอำนาจนำอีกครั้งนึงในช่วงทศวรรษ 2490 แต่มันถอยกลับไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้แล้วจึงเกิดกลไกที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อควบคุมสภาที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพฤฒสภาก็เกิดแนวคิดแปลกๆอะไรแบบนี้ เช่นต้องแก่ คือต้องเป็นคนที่มีวัยวุฒิ เป็นคนที่อะไรก็ได้ที่จะหาเหตุมาให้ดูน่าเชื่อถือแต่ไม่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อกลับมาดูจุดเริ่มต้นของพฤฒสภาแบบนี้เราจึงพบว่าการเรียกร้องให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งถือว่าขัดเจตนารมณ์ก่อตั้งขององค์กรนี้ เขาไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะให้ตัวเองมาจากการเลือกตั้ง เขาตั้งขึ้นมาเพื่อคานอำนาจกับองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งมันจึงกลายเป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกินสำหรับประเทศไทยที่จะให้มีวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง”

สว.กลุ่มอาชีพแบ่งกลุ่มประหลาด ให้เลือกกันเองหวังชุบย้อมความชอบธรรม

“กลับมาสู่ปัจจุบันไอ้ระบบบ้าบอนี้ มันคิดขึ้นมาด้วยเหตุอะไรก็อย่างที่ได้กล่าวไปหลายครั้งหลายโอกาสแล้วว่า ไอ้เลือกตั้งเป็นไปไม่ได้เพราะว่าถ้าเลือกตั้งเดี๋ยวก็ได้แบบเดียวกับสภาล่างมาไม่สามารถเอามาคัดค้านกันได้ต้องหาระบบอะไรสักอย่างแต่ต้องมีความชอบธรรมเพียงพอที่จะตอบกับประชาชนว่า อันนี้มาอย่างชอบธรรมนะแม้ว่าจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงเกิดแนวคิดว่าสรรหาตามกลุ่มอาชีพให้โอกาสกับกลุ่มสตรี กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้พิการ…”

“คำถามก็คือว่า เมื่อไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่มีการแบ่งกลุ่มโดยระบบนี้จะทำให้การได้มาของสว.ชุดนี้มีความชอบธรรมจริงหรือไม่ ดิฉันก็ต้องตอบเลยว่าไม่จริง ไม่จริงเพราะข้อแรก 20 กลุ่มอาชีพ ท่านเชื่อว่าประเทศไทยมีแค่ 20 กลุ่มอาชีพไหม แล้วทำไมบางกลุ่มอาชีพถึงถูกจับไปอยู่ด้วยกันเช่น เอาใกล้ตัวดิฉันมากที่สุดฟังดูเหมือนจะไม่ผิดปกติแต่ผิดปกติ นักเขียนกับสื่อมวลชน ทำไมนักเขียนกับสื่อมวลชนถึงอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ท่านว่าความรู้ความเชี่ยวชาญความต้องการของนักเขียนกับสื่อมวลชนเหมือนกันไหม กวีนักเขียนกับสื่อมวลชนไม่เหมือนนะ สิ่งแวดล้อมกับด้านก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ดิฉันตกใจมากฟังพี่ท่านหนึ่ง ซึ่งตั้งใจจะลงสว.ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมแล้วบอกว่า พี่ต้องไปลงกลุ่มเดียวกับพวก ช.การช่างเนี่ยเหรอที่พี่แบบทำงานต่อต้านเขามาโดยตลอด ทำไมถึงได้อยู่กลุ่มเดียวกัน ซึ่งมันแปลกประหลาดมาก ยังมีความแปลกประหลาดอีกมากมายที่ผู้สูงอายุคนพิการชาติพันธุ์ถูกอัดรวมเข้าไปอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ไม่รู้เวลาเลือกที่จะต้องตัดสินใจกันยังไงเพราะว่าอัดรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน”

“เพราะฉะนั้นการแบ่งตามกลุ่มอาชีพฟังดูโดยหลักการเหมือนจะถูกต้องแต่เมื่อลงมาสู่รายละเอียดมันประหลาดมากไม่นับการเลือกรายอำเภอขึ้นไปสู่ระดับจังหวัดขึ้นไปสู่ระดับประเทศฟังเผินๆเหมือนจะดีอีกแล้ว แต่ท่านเคยสงสัยไหมคะว่า ในอำเภออมก๋อยจะมีผู้ประกอบอาชีพนวัตกรรมเทคโนโลยีอยู่สักกี่คน ในทางตรงกันข้ามเขตราชเทวีจะมีชาวนาไหมคะ คือไม่รู้ว่าถึงเวลาจริงๆนะที่อาจารย์สมชัยบอกจะออกมาไงนึกภาพไม่ออกเลยนะ กรุงเทพฯไม่ใช่ไม่มีนานะทุกท่าน หนองจอกมีนา แต่ราชเทวีไม่มีนาแน่นอน สีลมไม่มีนาแน่นอนแล้วคุณจะเอาชาวนามาจากไหน…เพราะฉะนั้นระบบนี้สุดท้ายพันเป็นวัวพันหลักต้องการจะสร้างระบบที่ฟังดูน่าเชื่อถือมีหลักการและจะเอามาชดเชยความไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้ได้ ตั้งใจจะทำระบบที่ซับซ้อนไม่มีใครซื้อได้เลย เห็นไหมหลักคิดยังเหมือนเดิมนะ ถ้าคุณปล่อยให้มาจากการเลือกตั้งพวกนี้มาใช้เงินซื้อเอาใช้เงินซื้อได้ เป็นระบบแบบเราดีกว่าเลือกตามกลุ่มอาชีพ เงินซื้อไม่ได้สุจริตเที่ยงธรรมเป็นธรรม”

“คำถามก็คือด้วยระบบแบบนี้จะนำมาซึ่ง สว.อะไรยังไม่อาจทราบได้ แต่ที่แน่ๆ…ดิฉันคิดว่านี่ก็เป็นเพียงการปาหี่ ในขณะเดียวกันรักษาความจำเป็นที่จะมีอยู่สร้างเรื่องให้เกิดความจำเป็นที่จะมีอยู่ของสว.ให้ได้ โดยตัวตนของมันยังเป็นองค์กรเดิมนั่นแหละคือองค์กรที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อคัดคานอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง โดยที่ตัวเองไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่พยายามจะชุบย้อมและพยายามจะสร้างหลักการให้ตัวเองนั้นเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือขึ้นมา ถามว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ดิฉันก็พูดตรงนี้ว่า ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ดิฉันยังยืนยันว่า ถ้าวุฒิสภาจะมีขึ้นมาจริงๆถ้าปราศจากการยึดโยงกับประชาชนผ่านการเลือกตั้งแล้วไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับองค์กรของตัวเองได้”

ชวนประชาชนสมัครสว. แพ้แค่เสมอตัวแต่ชนะจะพลิกโฉมประเทศไทย

พรรณิการ์อธิบายเรื่องวิธีการฉ้อฉลเสริมจากที่สมชัยกล่าวไปก่อนหน้าว่า การ ‘ซื้อปลายทาง’ หลังจากได้ตำแหน่งสว.เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพราะมีการเลือกในหลายระดับ ถ้าซื้อตั้งแต่ต้นทางจะควบคุมผลลัพธ์ปลายทางได้ยาก “ระบบที่ดูมั่วซั่วสุดท้ายแล้วง่ายที่สุดและเอื้อให้เกิดการใช้เงินอย่างมหาศาลสูงสุด คนมีเงินมหาศาลเท่านั้นถึงทำเรื่องนี้ได้ นั่นก็คือซื้อปลายทาง เก็บเงินปลายทาง…คุณจะเลือกกันมายังไงไม่รู้ได้มา 200 คนแล้วซื้อตอนจบที่เดียว จ่ายเงินที่พูดมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า สว.ได้รับเลือกมาจะยอมขายตัวทั้งหมด แต่ทุกท่าน เรามองตากันแล้วเราคิดว่าเขาซื้อได้ไหม อย่างน้อยที่สุดสักร้อยคน มันเป็นไปได้ไหม เป็นไปได้มันเป็นไปได้อยู่แล้วจริงๆแล้วไม่ต้องซื้อถึงร้อยด้วยซ้ำถูกไหม ภายใต้ระบบนี้คุณซื้อสว.สัก 70 มันก็จบเกมส์แล้ว ซื้อถูกกว่าสส.ด้วยซ้ำไป พอพูดแบบนี้แล้วก็กลับมาสู่ว่าอ้าว ถ้างั้นก็จบเลิกกลับบ้านไม่ต้องแล้ว เราไม่ต้องคิดอะไรแบบนี้แล้ว”

“ช่อกลับคิดว่า ภายใต้ระบบที่เปิดให้ซื้อปลายทางได้อย่างเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดไม่ต้องมานั่งปวดหัวไขว้ไปเก็งมา ฉันกำเงินไว้ซื้อปลายทางจบชัวร์ คล้าย ๆกับเวลาเราคิดเรื่องสส.แล้วซื้องูเห่าคือแทนที่จะจ่ายเงินให้คุณได้เป็นสส. คุณไปจ่ายเงินซื้อสส.ที่มันเป็นแล้วถูกกว่า บางทีลงไป 200 ล้านยังไม่ชนะเลย แต่ว่าซื้อสส.นี่ 10-20 ล้านเขาก็ซื้อกันได้แล้ว ในทางกลับกันช่อกลับคิดว่า วิธีคิดแบบนี้มีจุดอ่อนใหญ่มากอยู่ ไม่รู้จะเป็นจุดอ่อนว่านะเรามองโลกในแง่ดี แต่ถ้าเกิดว่าคนที่เข้าไปมันซื้อไม่ได้ล่ะ ทำยังไง เราก็ไม่ต้องการคนที่ซื้อไม่ได้ 200 คนเช่นเดียวกัน เราต้องการคนที่ซื้อไม่ได้ 70 คนเช่นเดียวกัน กลุ่มซักกลุ่มนึงที่มีกันเหนียว 80 กันเหนียวสุด ๆ ร้อยคนที่ซื้อไม่ได้เป็นไปได้ไหม ร้อยคนที่ซื้อไม่ได้จะได้มาอย่างไร”

“ในขณะที่ฝั่งนึงคิดว่า วิธีที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุดคือการซื้อที่ปลายทาง ประชาชนควรคิดกลับ ประชาชนคิดกลับมาสู่แคมเปญที่ทางไอลอว์พยายามทำอยู่ ถ้าเขาคิดว่า เขาซื้อปลายทางเราต้องจัดการที่ต้นทาง เราต้องคิดกลับกับเขาไม่งั้นก็ไม่ชนะ ที่ต้นทางทำยังไง เรียกร้องสูงมาก แม้แต่จะไปจับโกงในการเลือกว่าจะฉ้อฉลกันยังไงเนี่ยต้องอายุ 40 แล้วเสียตังค์ 2,500  เพื่อเข้าไปจับโกง ยังไม่ต้องคิดว่าไปโหวตหรือไปเป็นสว. …แต่มีวิธีนี้วิธีเดียว ดิฉันคิดเหมือนตอนเราทำแคมเปญประกันสังคม ทำไมเขาถึงไม่ประชาสัมพันธ์ เพราะเขารู้ว่ายิ่งประชาสัมพันธ์แล้วมีคนไปเลือกเยอะ คะแนนจัดตั้งจะยากมาก คะแนนจัดตั้งจะแพ้ เพราะฉะนั้นเราจึงทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม ในขณะที่เขาพยายามปกปิดไม่ให้คนรู้ว่าต้องมีการไปลงทะเบียนเพื่อเลือกบอร์ดประกันสังคม เราทำในสิ่งตรงกันข้ามเราบอกว่าทุกคน กรุณาไปลงทะเบียนเพราะว่าทุกท่านที่เป็นผู้ประกันตนจะต้องไปเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ในวันนั้นสำเร็จหรือเปล่าไม่รู้เพราะเราก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องยากมาก มันยุ่งยากจะต้องเข้าไปในเว็บไซต์กรอกลงทะเบียนอะไรก็ตาม แต่เราก็ทำ”

“สุดท้ายแล้วมันก็เห็นได้ชัดว่าเมื่อประชาชนจัดตั้งกันเองชนะการจัดตั้งทั้งมวล เมื่อประชาชนตื่นตัวแล้วรู้ว่าเราคือผู้ที่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ และเลือกคนที่ดีประชาชนทำ ต้องไปขวนขวายลงทะเบียนแบบไหนยังไง ประชาชนก็ทำ ขอแค่ให้เขารู้ และสุดท้ายแล้วคะแนนจัดตั้งก็พ่ายแพ้ไปยังหมดรูป…นี่คือตัวอย่างความสำเร็จของการคิดมุมกลับกับผู้มีอำนาจที่ออกแบบระบบ เราประชาชนซึ่งไม่ได้เป็นผู้ออกแบบระบบ ทำที่ต้นทางเรียกร้องกันเอง ถ้าไม่มีเงิน 2,500 ไม่เป็นไรมันน่าจะต้องมีคนที่มีเงิน 2,500และพร้อมที่จะจ่ายและมีอายุเกิน 40 ที่จะพร้อมเข้าไป แล้วก็ถามว่าเอาแล้วเข้าไปแล้วจะรู้ได้ไงว่าเลือกใครเราก็เชื่อในวิจารณญาณของตัวเอง 92 ปีแล้วที่ประชาชนคนไทยถูกดูถูกว่าถ้าให้โอกาสคุณในการเลือก คุณจะโง่และเลือกคนที่ให้เงินคุณ  92 ปีที่เราต่อสู้กับแนวคิดแบบนี้ว่า ถ้าปล่อยให้ประชาชนเลือกประชาชนจะไม่มีวันเลือกคนที่ดี ต้องให้คุณพ่อรู้ดีเลือกให้ เพราะฉะนั้นในครั้งนี้ ท่านไม่ต้องกลัวหรอกว่าเข้าไปแล้วท่านไม่รู้จะเลือกใครถามจริงท่านกลัวเหรอท่านจะเป็นคนที่ไม่รู้จริงๆเหรอว่าในวันนั้นเข้าไปแล้วเราจะเลือกใครดีในกลุ่มนี้ ช่อเชื่อว่าเมื่อถึงวันนั้นท่านรู้ว่า ท่านควรจะเลือกใคร…”

“ระบบนี้ระหว่างเรากับคุณธรรมนัสประสบการณ์เท่ากัน ช่อพูดอย่างนี้ทำไมถึงยกคุณธรรมนัสคือใครที่อยู่ในวงการเลือกตั้ง/นักเลือกตั้งเขาก็รู้ว่ากันว่าคุณธรรมนัสมือหนึ่ง ในสมรภูมินี้เรากับธรรมนัสเท่ากันเพราะว่าครั้งแรกเหมือนกัน ประสบการณ์ศูนย์วัดกันสักตั้ง ธรรมนัสกับประชาชนใครจะจัดตั้งเก่งกว่ากัน อันนี้สมมตินะไม่ได้บอกว่าคุณธรรมนัสแกจะจัดตั้ง เดี๋ยวกันมาฟ้องหมิ่นประมาทดิฉัน คุณธรรมนัสเป็นตัวอย่างของนักการเมืองมืออาชีพแล้วกัน วันนี้วัดกันว่าภายใต้ประสบการณ์ศูนย์กับระบบเลือกตั้งที่มั่วซั่วสุดจะบรรยายนี้ เสียงที่ประชาชนจัดตั้งกันเองจะชนะเสียงที่ผู้มีอำนาจจากบ้างหรือไม่ แพ้ไม่เป็นไรก็แพ้มาหลายรอบแล้ว แต่ถ้าชนะครั้งนี้เราจะได้สว.ของประชาชนที่มีอำนาจในการสรรหากกต. สรรหาปปช. สรรหาศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรต่างๆที่เป็นต้นกำเนิดของความขัดแย้งและวิกฤติในการเมืองไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมาล้วนผ่านมือของสว.ในการสรรหา เพราะฉะนั้นถ้าแพ้ไม่เป็นไรแพ้มันก็เฮงซวยเท่าปัจจุบันนี้เสมอตัว แต่ถ้าชนะขึ้นมาประเทศไทยไม่มีวันเหมือนเดิมไม่ใช่แค่ที่สภาล่างอีกต่อไปแต่รวมถึงที่วุฒิสภาด้วยเพราะฉะนั้นเป็นสมรภูมิที่พวกเราไม่มีอะไรจะเสีย เสี่ยงกันดูสักตั้งนึงแล้วก็ลุ้นกันว่าการจัดตั้งกันเองของประชาชนจะพาเราไปได้ไกลถึงไหน”

ย้อนฟังที่นี่

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ