สมชัยสับหน้าที่สว.ค้ำจุนคนแต่งตั้ง ระบบเลือกกันเอง ‘มั่ว’ จนคาดการณ์ยาก

27 มีนาคม 2567 เวลา 17.50 น. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร่วมกับคณะกรรมการนักศึกษาคณะนิติศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (LL.B.) จัดเสวนาในหัวข้อ “กระบวนการเลือก สว. ชุดใหม่: ที่มา การทำงาน และความสำคัญ” โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. พรรณิการ์ วานิช คณะก้าวหน้า และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) 

ไล่เรียงที่มาสว. สับหน้าที่หลักคือค้ำจุนคนแต่งตั้ง

สมชัยระบุว่า เวลาเราพูดถึงวุฒิสภา เราอยากจะให้ดูถึงสิ่งที่เป็นฟังก์ชันหรือหน้าที่ที่เขาคิดว่าควรจะเป็น เปรียบเทียบกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริง ซึ่งสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน “เวลาที่เขาออกแบบวุฒิสภา เวลาเขาเขียนในกฎหมายถึงความจำเป็นต้องมีวุฒิสภา เขาจะพูดแบบนึงเขาบอกว่า คือหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย หน้าที่ในการกำกับตรวจสอบรัฐบาล หน้าที่ในการให้คำเสนอแนะนำต่อรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน คือเป็นเหมือนกับว่า เฮ้ยไม่มีไม่ได้ มันจำเป็นต้องมีเพราะว่าสส.อย่างเดียวไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องมีกระบวนการในการกลั่นกรองที่ต่อเนื่องจากสส. คือสส.ให้ออกกฎหมายไปเสร็จแล้วก็ต้องมีสว.มาดักท้ายนิดหนึ่ง ดูสิว่าสิ่งที่ออกนะครับมันครบถ้วนสมบูรณ์เหมาะสมหรือเปล่า”

“เพราะฉะนั้นในแง่ของการมองบทบาทที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย ตามสิ่งที่เขาเจตนาต้องการให้มี มันก็เป็นเจตนาในการกลั่นกรอง ในการที่จะมาช่วยการทำงานของสส.ให้มันเกิดความครบถ้วนสมบูรณ์ รอบคอบมากขึ้น นี่คือสิ่งที่อยู่ในแนวความคิดในเชิงทฤษฎี แต่ถามว่าที่ผ่านมาทั้งหมดตั้งแต่ 2475 ซึ่งความตอนนั้นยังไม่มีสว.แต่ก็เรียก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง ซึ่งมาจากการแต่งตั้งแต่ว่าก็ทำหน้าที่คล้าย ๆ สว. มาคานซึ่งกันและกันจนกระทั่งมีสว.จริงๆ ในรัฐธรรมนูญ 2489 เริ่มที่จะมีวุฒิสภาเกิดขึ้นถามว่าฟังก์ชั่นของวุฒิสภา หน้าที่ของวุฒิสภาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้ง มาจากกระบวนการต่างอะไรยังไงก็แล้วแต่… ผมว่า หน้าที่หลัก ๆ คือหน้าที่ในการค้ำจุนคนที่แต่งตั้งเขาเท่านั้นเอง นี่คือภาพที่มันเกิดขึ้นจริง สว.ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลก็จะเป็นฝ่ายที่คอยปกป้องคอยดูแล คอยที่ว่าจะพิทักษ์รักษาตัวรัฐบาลให้คงอยู่ยืนยาวยาวนาน” 

การได้มาซึ่งสว.มีความเปลี่ยนแปลงในปี 2540 ที่ให้สว.มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง แต่มีข้อครหาว่าสว.ไม่ปลอดการเมืองและเกิดสภาผัวเมีย จนนำมาซึ่งการออกแบบใหม่ในปี 2550 คือ เลือกตั้ง 76 จังหวัด/คนและสรรหาเข้าไปประกบอีก 74 คน โดยเชื่อว่า การสรรหาดังกล่าวจะได้คนที่มีประสบการณ์คนที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปเจือในสว. ทำให้ทำงานได้ดีขึ้น แต่เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “ปลาสองน้ำ” ที่ฝ่ายเลือกตั้งและสรรหาคิดต่างกัน นำมาสู่การออกแบบในปี 2560 หลังจากการรัฐประหาร การออกแบบครั้งนี้ตัวบทของรัฐธรรมนูญว่าอย่างหนึ่ง บทเฉพาะกาลเป็นอีกแบบหนึ่ง “และบทเฉพาะกาลที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารและเป็นรัฐธรรมนูญปี ’60 เป็นไปเพื่อค้ำจุนผู้มีอำนาจอย่างชัดเจน สว.ที่มาจากบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญปี ’60  มาจากการแต่งตั้งของคสช. 194 คน จากโดยตำแหน่งอีกหกคน…มาจากการคัดเลือกกันเองแต่ท้ายที่สุดก็ต้องให้คสช. เป็นฝ่ายจิ้มเอา 50 คน มันก็กลายเป็นว่า มาจากคสช.เกือบทั้งหมด…บทบาทของชุดนี้ก็จะเป็นบทบาทที่จะค้ำจุนรัฐบาล”

ระบบ ‘มั่ว’ คาดเดายาก หวั่นได้คนขาดอุดมการณ์กวาดต้อนเข้ามุ้ง

การเลือกกันเองของสว.ในปี 2567 เป็นบทหลักของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยสว.ชุดใหม่นี้จะมี 200 คนจาก 20 กลุ่มอาชีพ โดยผู้สมัครจะต้องเลือกกันเองหกครั้งในระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ เป็นการเลือกในกลุ่มอาชีพและเลือกไขว้กลุ่มอาชีพ  “ถามว่าการออกแบบแบบนี้โดยเจตนาต้องการอะไร ต้องการที่จะทำให้สว.มีความหลากหลายมากที่สุดเพราะเป็นกลุ่มอาชีพต่างๆถึง 20 กลุ่มอาชีพ…คือสิ่งนี้ ถามว่าคาดการณ์ถึงผลที่จะเกิดขึ้นท้ายที่สุดได้ไหม ณ วันนี้คาดการณ์อะไรไม่ได้เลย ผมไม่เชื่อว่าใครจะออกแบบจนกระทั่งสามารถยึดครองวุฒิสภา ในขั้นแรกของการที่ได้ชื่อ 200 คนเข้าไป ผมไม่เชื่อว่า จะมีใครออกแบบการจัดการจนกระทั่งสามารถที่จะยึดครองสว.ทั้ง 200 คนได้  นี่คือภาพที่ผมคิดว่าทุกคนเสี่ยงหมด ผู้มีอำนาจเก่า ผู้มีอำนาจเดิม ประชาชน ภาคประชาสังคมต่างๆทุกคนทุกฝ่ายไม่มีใครสามารถคาดการณ์ถึงผลที่จะเกิดขึ้นได้เลยว่า 200 คนจะเป็นคนของใครแล้วก็จะมีคนของสัดส่วนฝ่ายได้เขาไปมากหรือน้อยแตกต่างกันยังไงบ้าง ไม่มีใครคาดการณ์ได้ผมมองแบบนี้ แต่พอออกแบบระบบมั่วจนกระทั่งประเภทว่าคาดการณ์ไม่ได้เลยว่าท้ายสุดจะเป็นอย่างไร”

“แต่สิ่งซึ่งน่าเป็นห่วงหลังจากนี้คืออะไร หลังจากที่มีสว. 200 คนแล้วเข้าไปในสภา ถ้าคนเหล่านี้เป็นคนที่ขาดอุดมการณ์อย่างแท้จริง ขาดเจตจำนงในการที่จะทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง การกวาดต้อนซื้อคนที่เป็นสว.แล้วให้เข้าไปอยู่ในมุ้ง ในพวก ในกลุ่มสังกัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น นี่คือภาพที่ผมมองว่า มันไม่เกิดขึ้นก่อน การเกิดขึ้นก่อนมันก็คือเรื่องของการที่ว่ามันจะต้องวางแผนการให้คุณเกณฑ์คนไปลงระดับอำเภอเสร็จแล้วเลือกไขว้เลือกอะไรก็แล้ว แต่ภายใต้ระบบการออกแบบที่ถูกออกแบบให้เลือกถึงหกขั้น…. ยากที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จ ทุ่มแค่ไหนก็แล้วแต่จะฝ่ายได้ทุ่มแค่ไหนก็แล้วแต่ ท้ายสุดขอเลือกไขว้กันเละเหมือนกันก็คือท้ายที่สุดก็คือมันจะไม่ได้ผลตามที่เขาต้องการ”

“ภาพของการเมืองจากนี้ไป เราเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงที่มาของสว.ครั้งใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นการทดลองของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศอีกครั้งหนึ่ง จะเป็นการทดลองในการออกแบบที่มาของสว.อีกครั้งหนึ่ง แต่จะเป็นการทดลองแล้วประสบความสำเร็จหรือไม่ ท้ายที่สุดมันได้คนที่เข้าไปทำหน้าที่เราที่ต้องการหรือเปล่า อันนี้ตอบไม่ได้เลย แล้วก็ผมใช้คำว่ามันอาจจะเป็นการทดลองครั้งสุดท้าย ท้ายสุด เปลี่ยนเป็นแบบนี้แล้วมันก็ยังไม่ได้เรื่องไม่ได้ราวต่อไปสิ่งที่เราต้องรณรงค์คือไม่ต้องมีมันหรอกสว. เลิกมันไปเถอะ”

ย้อนฟังทั้งหมดได้ที่นี่

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ