เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

“มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ไม่มีอัตราโทษปรับหรือบทลงโทษอื่นๆ หมายความว่า สำหรับการกระทำความผิด 1 ครั้ง หรือในทางกฎหมายเรียกว่า 1 กรรม เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำใดเป็นความผิด ศาลมีดุลพินิจที่จะกำหนดโทษจำคุกให้กับจำเลยเป็นจำนวนเท่าไรก็ได้ระหว่าง 3-15 ปี น้อยกว่านั้นไม่ได้ และมากกว่านั้นไม่ได้ และหากมีการกระทำการหลายครั้ง ถูกดำเนินคดีแยกเป็นหลายกรรม การกำหนดโทษก็จะทวีคูณเพิ่มขึ้นตามจำนวนการกระทำ

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้

Print

1. มงคลโทษจำคุก 75 ปี ลดเหลือ 50 ปี

มงคล ถิระโคตร หรือ บัสบาส พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงรายวัย 30 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องจากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 27 โพสต์ ซึ่งการโพสเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 บัสบาสถูกจับกุมหลังจากการมานั่งอดอาหารประท้วงอยู่ที่หน้าศาลอาญา ศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาว่ามีความผิดใน 14 กรรม ที่เป็นข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 และยกฟ้องอีก 13 กรรม ที่เป็นข้อความเกี่ยวกับอดีตพระมหากษัตริย์หรือไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่ถูกกล่าวถึงได้ พิพากษาจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้เหลือกระทงละ 2 ปี รวมโทษจำคุก 28 ปี ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาเห็นว่า บัสบาสมีความผิดเพิ่มเติมอีก 11 กระทง ตามอุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์ โดยเห็นว่ามีการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดเหลือกระทงละ 2 ปี รวมจำคุกเพิ่มอีก 22 ปี รวมโทษจำคุกจากการโพสเฟซบุ๊ก 25 ข้อความ ทั้งหมดเป็น 75 ปี ลดเหลือ 50 ปี

2. อัญชัญโทษจำคุก 87 ปี ลดเหลือ 43 ปี 6 เดือน

อัญชัญ วัย 65 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) อดีตข้าราชการที่ใกล้เกษียณอายุก่อนถูกจับกุม ผู้ถูกฟ้องว่าได้กระทำผิดรวม 29 กรรม จากการอัพโหลดไฟล์และคลิปข้อความเสียงของผู้ใช้นามแฝงว่า ‘บรรพต’ จำนวน 19 คลิป ลงในยูทูบ 3 บัญชี รวม 23 ครั้ง และเฟซบุ๊กส่วนตัว 1 บัญชี รวม 6 ครั้ง ซึ่งไฟล์และคลิปข้อความเสียงดังกล่าวถูกพิพากษาว่ามีเนื้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ

ภายใต้กระบวนการยุติธรรมของคณะรัฐประหารคสช. อัญชัญถูกจับกุมในเดือนมกราคม 2558 และถูกควบคุมตัวในค่ายทหารที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นเวลา 5 วันในช่วงแรกซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของ “ศาลทหาร” เธอตัดสินใจต่อสู้คดี ซึ่งขณะนั้นคำขอประกันตัวของเธอถูกปฏิเสธซ้ำหลายครั้ง ทำให้ต้องถูกคุมขังเป็นเวลาทั้งสิ้น 3 ปี กับอีก 281 วัน ก่อนจะถูกปล่อยชั่วคราวในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท คดีตกอยู่ภายใต้ศาลทหารจนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2562 เมื่อย้ายคดีที่พลเรือนถูกพิจารณาคดีในศาลทหารไปยังศาลยุติธรรม อัญชัญให้การรับสารภาพ ศาลอาญาตัดสินโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวมเป็นจำคุก 87 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือกระทงละ 1 ปี 6 เดือน เท่ากับพิพากษาจำคุก 29 ปี 174 เดือน หรือประมาณ 43 ปี 6 เดือน

3. วิชัยโทษจำคุก 70 ปี ลดเหลือ 35 ปี

วิชัย  พนักงานขายของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง วัย 35 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องจากการนำชื่อและภาพถ่ายของเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งมาใช้เปิดบัญชีเฟซบุ๊ก เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเฟซบุ๊กของเพื่อนร่วมงานคนดังกล่าว ก่อนโพสต์ข้อความ ภาพ และคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อความ วิชัยเล่าให้ทนายความฟังว่า เพื่อนร่วมงานคนดังกล่าวหลอกขายพระเครื่องปลอมให้เขา และเคยไปแจ้งความกับตำรวจไว้แล้ว แต่คดีไม่มีความคืบหน้า เขาจึงตัดสินใจใช้วิธีปลอมเฟซบุ๊กของเพื่อนร่วมงานที่หลอกขายพระเครื่องปลอมให้ แล้วโพสต์

ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาว่า วิชัยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุกกรรมละ 7 ปี รวมทั้งหมด 70 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 35 ปี

4. พงษ์ศักดิ์โทษจำคุก 60 ปี ลดเหลือ 30 ปี

พงษ์ศักดิ์ หรือ Sam Parr” ชาวจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเคยทำงานภาคธุรกิจการท่องเที่ยว วัย 47 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องว่าใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชี ‘Sam Parr’ โพสต์รูปภาพและข้อความพาดพิงพระมหากษัตริย์ฯ ในปี 2556 และ 2557 รวม 6 ข้อความ

เขาถูกคุมขังในเรือนจำจนกระทั่งคดีสิ้นสุดโดยไม่ได้ยื่นประกันตัว เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ พงษ์ศักดิ์ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ตั้งแต่ในค่ายทหารจนถึงชั้นศาลศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุกในข้อหากระทำผิดตาม มาตรา 112 กรรมละ 10 ปี รวม 60 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 30 ปี 

5. ศศิพิมลโทษจำคุก 56 ปี ลดเหลือ 28 ปี

ศศิพิมล พนักงานโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ วัย 29 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องว่าโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ในชื่อ ‘รุ่งนภา คำภิชัย’ จำนวน 7 ข้อความ ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2557 และถูกจับกุมโดยทหารภายใต้กระบวนการยุติธรรมของคสช.

ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่พิพากษาว่า ศศิพิมลมีความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และมาตรา 112 จำนวน 7 กรรม พิพากษาให้จำคุกกรรมละ 8 ปี รวมเป็นโทษจำคุก 56 ปี จำเลย ลดเหลือจำคุก 28 ปี

6. เธียรสุธรรมโทษจำคุก 50 ปี ลดเหลือ 25 ปี 

เธียรสุธรรม ประกอบธุรกิจส่วนตัว วัย 58 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องว่า ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ใหญ่ แดงเดือด” โพสต์ภาพและข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จำนวน 5 ข้อความ

ในช่วงรัฐประหารโดยคสช. เธียรสุธรรมถูกควบคุมตัวในค่ายทหารด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึก ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลงโทษจำคุกรวม 5 กระทง กระทงละ 10 ปี รวมโทษทุกกระทงจำคุก 50 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 25 ปี 

7. “แม็กกี้” โทษจำคุก 50 ปี ลดเหลือ 25 ปี

แม็กกี้” ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชาวยโสธร วัย 26 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ถูกฟ้องว่า ทวีต 18 ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนตุลาคม 2566

ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่าแม็กกี้มีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวม 18 ข้อความ โดยศาลพิพากษาให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จาก 14 ข้อความ จำคุกข้อความละ 3 ปี รวมเป็นจำคุก 42 ปี และให้ลงโทษฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความอันน่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ จาก 4 ข้อความ จำคุกข้อความละ 2 ปี รวมเป็นจำคุก 8 ปี ทั้งสองฐานความผิดมีโทษจำคุกรวม 50 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 25 ปี

8. ธารา โทษจำคุก 30 ปี ลดเหลือ 18 ปี 24 เดือน 

ธารา พ่อค้าขายสมุนไพรบนโลกออนไลน์ วัย 61 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องจากการถูกกล่าวหาว่าเป็น “เครือข่ายบรรพต” เผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จำนวน 6 คลิป ด้วยการฝังลิงก์ให้คลิกได้บนเว็บไซต์ okthai.com ซึ่งเขาเป็นเจ้าของ ระหว่างวันที่ 6-25 มกราคม 2558 ธาราถูกแยกดำเนินคดีและแยกฟ้องจากคนอื่น ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “เครือข่ายบรรพต” เข่นเดียวกับอัญชัญ และถูกฟ้องถึง 6 กรรม ขณะที่จำเลยรายอื่นส่วนใหญ่ รวมทั้งตัว “บรรพต” เองถูกฟ้องเพียง 1 กรรม

ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาว่าการกระทำของธาราเป็นความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1), (3), และ (5) แต่ให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด คือ มาตรา 112 ให้จำคุกกรรมละ 5 ปี แต่ลดโทษลง 1 ใน 3 เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เหลือโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี 4 เดือน รวมความผิดทั้งสิ้น 6 กรรม ต้องโทษจำคุกรวม 18 ปี 24 เดือน หรือ 20 ปี 

9. “วุฒิ” โทษจำคุก 36 ปี ลดเหลือ 12 ปี 72 เดือน

วุฒิ” ช่างเชื่อมชาวเพชรบูรณ์ วัย 51 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องจากกรณีถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความ ในช่วงปี 2564 ในคดีนี้เขาต้องการปฏิเสธเพื่อต่อสู้คดี แต่ศาลไม่รับคำให้การปฏิเสธและรับคำให้การเพียงที่เขารับสารภาพเท่านั้น

 ศาลอาญามีนบุรีพิพากษาว่า การกระทำของ “วุฒิ” เป็นความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 36 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 12 ปี 72 เดือน (หรือประมาณ 18 ปี)

10. บุรินทร์ โทษจำคุก 19 ปี 20 เดือน ลดเหลือ 10 ปี 16 เดือน

บุรินทร์ ช่างเชื่อมวัย 29 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี ผู้ที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ในฐานะมวลชนอย่างสม่ำเสมอ ถูกฟ้องว่า พูดคุยตอบโต้กับพัฒน์นรี (แม่จ่านิว)โดยการพิมพ์ข้อความโต้ตอบกันในกล่องสนทนาของเว็บไซต์ Facebook โดยมีข้อความว่า “อยู่ยากจริงๆ บ้านเมืองทุกวันนี้” “มันจะยากยิ่งกว่านี้เพราะตอนนี้เขากำลัง….” และข้อความอื่นๆ อีกเกี่ยวกับการแย่งชิงราชบัลลังก์และพิมพ์ข้อความในเฟซบุ๊กของเขาว่า “อยากให้มันรู้ว่ากูลำบากเพราะมึงไอ้…” เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559

ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาว่าบุรินทร์มีความผิด 2 กรรม กรรมแรก คือ ฐานดูหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท จากการโต้ตอบกันในกล่องสนทนา ลงโทษจำคุก 7 ปี เนื่องจากบุรินทร์เคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษมาไม่ถึงห้าปี จึงให้เพิ่มโทษ 1 ใน 3 รวมเป็นจำคุก 9 ปี 4 เดือน เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน กรรมที่สอง ความผิดฐานหมิ่นประมาณพระมหากษัตริย์ จากการโพสต์บนเฟซบุ๊ก ลงโทษจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 ปี 8 เดือน

รวมทั้งสองกรรมแล้วบุรินทร์ถูกตัดสินโทษจำคุก 10 ปี 16 เดือน

Print
Print