สรุปเสวนา: วิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.แร่ เอื้อเอกชนทำเหมืองง่าย ภาคประชาชนคัดค้าน

วันที่ 11 ธันวาคม 2559 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ของประเทศไทย จัดเวทีวิเคราะห์กฎหมายแร่ฉบับใหม่ ในหัวข้อ “พ.ร.บ.แร่ นี่มันแย่จริงๆ” นอกจากนี้เครือข่ายประชาชนผู้รับผลกระทบในพื้นที่จากหกพื้นที่สะท้อนปัญหาและคัดค้านร่าง พ.ร.บ.แร่

 

ย้อนเล่าร่าง พ.ร.บ.แร่ สนช.แก้ไขเล็กน้อยหลักการสำคัญไม่แตะ

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม พูดถึงที่มาของร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 คาดว่าจะถูกบังคับใช้ภายใน 30 – 60 วันนี้ ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่จะใช้แทน พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่นี้เป็นกฎหมายที่ทุกรัฐบาลพยายามผลักดันให้แก้ไข แต่ยังไม่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากภาคประชาชนคัดค้านมาตลอด โดยเฉพาะประเด็นที่มีการบัญญัติว่า “แร่เป็นของรัฐ” จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลยุคปัจจุบัน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) นำเสนอร่างกฎหมายแร่อีกครั้ง มีการปรับปรุงถ้อยคำให้ดีขึ้น 

เนื้อหาใจความหลักของร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่นี้เป็นที่สนใจในหลายประเด็น ประการแรก กพร.ต้องการมีสิทธิในที่ดินที่เป็นพื้นที่เหมืองแร่ (mining zone) เพื่อลดทอนความล่าช้าและขั้นตอนในการขอใช้พื้นที่จากกฎหมายฉบับอื่น เช่น กฎหมายป่าไม้ หรือกฎหมายอุทยาน ดังนั้นเมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน กพร.จะสามารถแบ่งพื้นที่เหมืองแร่และประกาศให้เอกชนสัมปทานได้เลย ประการที่สองต้องการลดขั้นตอนการขออนุมัติประทานบัตร จากเดิมต้องใช้เวลา 310 วัน ต้องการให้ลดเหลือ 100 – 150 วัน เพื่อเอื้อต่อการลงทุน และประการที่สามต้องการ one-stop service เพื่อให้ กพร. เป็นหน่วยงานเดียวที่ดำเนินงานขออนุมัติเกี่ยวกับเหมืองแร่ ซึ่งร่างล่าสุดที่ผ่าน สนช. ก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ กพร.คาดหวังไว้ แม้เนื้อหาจะดีขึ้นเล็กน้อยแต่หลักการสำคัญยังไม่ได้ถูกแก้ไข

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม

 

วิเคราะห์ 5 ประเด็นร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ เอื้อเอกชนทำเหมืองง่าย

เลิศศักดิ์กล่าวต่อถึงประเด็นในร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่นี้ที่เพิ่งผ่าน สนช. ว่า ยังคงมีห้าประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหา ประกอบด้วย 

ประเด็นที่หนึ่ง มาตรา 13 กพร.สามารถนำพื้นที่แหล่งแร่ให้เอกชนทำสัมปทานได้ แต่อาจมีขั้นตอนต้องขออนุญาตหน่วยงานอื่นเล็กน้อย

ประเด็นที่สอง มาตรา 49 มีการแบ่งประเภทของการทำเหมืองแร่ออกเป็นสามประเภท ประเภทที่หนึ่งเหมืองแร่ขนาดเล็ก 100 ไร่ เอกชนไม่จำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายกเทศบาลสามารถอนุมัติได้ เช่น หากพบพื้นที่ที่สามารถใช้ทำเหมืองถ่านหินได้ 1,200 ไร่ ตาม พ.ร.บ.ฉบับเดิมต้องขอพื้นที่หลายแปลงติดต่อกัน และต้องทำ EIA จนกว่ารัฐมนตรีจะอนุมัติ หากเป็นพื้นที่อ่อนไหวทางนิเวศน์ต้องดำเนินเรื่องใช้เวลาประมาน 400 – 500 ไร่ แต่หากใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ สามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงย่อย ๆ ตามการแบ่งประเภทเพื่อเลี่ยงขั้นตอนดำเนินการที่ซับซ้อน

ประเด็นที่สาม มาตรา 105 จากเดิมที่ต้องขอใบอนุญาตทำโรงประกอบโลหกรรมต่างหาก แต่ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ บริษัทเอกชนไม่ต้องขออนุญาตทำโรงประกอบโลหกรรมในเขตเหมืองแร่ หากได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ ซึ่งโรงประกอบโลหกรรมเป็นแหล่งเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการถลุงแร่ที่ต้องใช้สารเคมีประกอบ

ประเด็นที่สี่ มาตรา 132 กพร.สามารถนำแหล่งแร่ที่สนใจดำเนินเรื่องขอประทานบัตรจาก กพร. และทำ EIA เองได้ จากนั้นสามารถนำไปเปิดให้เอกชนประมูลได้ เอกชนรายนั้นไม่ต้องทำประทานบัตรและ EIA ทั้งนี้เพื่อเร่งรัดการลงทุน 

ประเด็นที่ห้า ในบทเฉพาะกาล มาตรา 188 วรรคสอง ระบุว่า สัญญาที่อนุญาตให้ทำประทานบัตรใน พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นสัญญาที่ทำขึ้นภายใต้มติ ครม. ไม่ใช่ พ.ร.บ.แร่ ดังนั้นหาก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านจะเกิดคำถามว่าสัญญาที่ทำผ่าน ครม.จะเป็นโมฆะหรือไม่ 

 

ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนในหกพื้นที่ สะท้อนผลกระทบทำเหมือง พร้อมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.แร่ 

ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนหกพื้นที่ ประกอบด้วยตัวแทนสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา จังหวัดสงขลา, ตัวแทนเครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก, ตัวแทนกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก, ตัวแทนกลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหวัดลำปาง, ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย และตัวแทนกลุ่มฮักบ้านฮั่นแม้ว จังหวัดเลย ขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็นคัดค้านร่าง พ.ร.บ.แร่ ที่เพิ่งผ่าน สนช. 

โดยตัวแทนเครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก กล่าวว่า คนภาคตะวันออกไม่ได้ประโยชน์จากร่าง พ.ร.บแร่ฉบับนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่แหล่งผลิตผลไม้ อาหาร ที่เลี้ยงคนทั้งประเทศ เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารที่คนภาคตะวันออกต้องการปกป้องพื้นที่ ต้องการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะหากมีเหมืองจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาในเชิงนโยบายค่อนข้างมหาศาลต่อทรัพยากร และการจัดสรรพื้นที่

ขณะที่ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด เล่าถึงผลกระทบจากพื้นที่ได้รับจากเหมืองทองว่า ในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ได้รับผลกระทบด้านแหล่งอาหาร “เครือข่ายต่อสู้มากว่าสิบปี สู้เพื่อบ้านเกิดของเรา ว่าเราไม่เอาเหมือง ถูกดำเนินคดีนับสิบยี่สิบปี นี่เหรอที่รัฐบอกว่ารักประชาชน ไม่จริงหรอกค่ะ เราโดนมาแล้ว จากภาคราชการทุกส่วน ถูกมัดมือมัดเท้าคุมตัวสี่ทุ่มถึงตีสี่ หากประชาชนไม่ลุกขึ้นมาก็อยู่ไม่ได้ รัฐเอาสารพิษลงมาให้เป็นมรดกชุมชน ชุมชนปฏิเสธ” ชุมชนอยากได้แหล่งน้ำ ความยั่งยืน ชีวิตของคนชนบท ผูกพันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย แต่รัฐทำให้เราเสียไป ชุมชนที่เคยสามัคคี รักใคร่ปรองดอง หายไปหมด 

สุดท้ายตัวแทนกลุ่มฮักบ้านฮั่นแม้ว เล่าถึงเหตุการณ์ที่มีบริษัทขออนุญาตเข้าไปสำรวจพื้นที่ แต่ไม่ได้ทำตามกฎระเบียบ ไม่ได้ขออนุญาตจากกรมทรัพยากร ชุมชน และอบต. เขาเข้าไปสำรวจ ปักเสาหมุดในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แผ้วถางพืชไร่จนเสียหาย และมีการข่มขู่ หากชาวบ้านแจ้งความจะถูกแจ้งความกลับฐานบุกรุกพื้นที่ป่า ทั้งๆ ที่ชาวบ้านทำกินมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ดังนั้นกรณีร่าง พ.ร.บ.แร่ ให้ กพร. สามารถขอประทานบัตรและทำ EIA ได้ด้วยตัวเอง จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจมากที่สุด