“คดีอาญาเหมือนกัน แต่บางคดีแรงเพราะการเมือง” ฟังเสียง ต๊ะ-คทาธร กับความสองมาตรฐานคดีการเมืองไทย

ต๊ะ-คทาธร นักกิจกรรมกลุ่มทะลุแก๊ส พูดถึงการถูกคุมขังจากคดีครอบครองวัตถุระเบิดในงานเสวนา “ความหวังต้องเป็นจริง” โดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำและเครือข่าย #นิรโทษกรรมประชาชน เมื่อวันที่ 9กุมภาพันธ์ 2567 ณ อาคาร All Rise รัชดา-ลาดพร้าว ซึ่งยิ่งสะท้อนความสองมาตรฐานของคดีการเมืองในระบบยุติธรรมไทย และสภาพจิตใจของผู้ที่ถูกรัฐละเมิดสิทธิโดยมิชอบ

“วันที่ผมออกศาลก็ได้เจอกับคนที่โดนคดีวัตถุระเบิดเหมือนกัน เขาถูกตัดสินรอลงอาญาหนึ่งปี ผมงงเลย เพราะตัวผมถูกตัดสินหนึ่งปีสามเดือนให้อยู่ในเรือนจำ ระบบยุติธรรมในประเทศเรามีความต่างอย่างชัดเจนระหว่างคนที่ต่อสู้ทางการเมืองกับคนที่ออกมามีเรื่องชกต่อยเฉยๆ มันมองเราเป็นอาชญากรเลย”

“อย่างหนึ่งที่ผมเห็นเลย ในวันจับมีคนที่โดนคดีเดียวกันกับผมคือวัตถุระเบิด ผมถามว่าเป็นระเบิดแบบไหน เป็นประทัดที่ผสมกับก้อนหิน เขาบอกว่าไม่รู้ว่าได้ประกันกันไหม แต่ผมก็บอกว่าคงได้ประกันมั้งเพราะไม่ใช่คดีร้ายแรงอะไร ก็แค่ประทัด เขาได้ประกัน อยู่แค่เจ็ดวันเขาได้ประกันเลย แต่ตัวผมต้องโยกย้ายไปอยู่แดนสาม แดนสี่ สุดท้ายไปอยู่แดนแปด ไม่ได้ประกันสักที”

“สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะพูดต่อกระบวนการยุติธรรมไทยกับการเห็นต่างของนักต่อสู้ทางการเมือง ก็อยากให้หยุดซะ ให้มันเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นคดีไหนก็เป็นคดีอาญาเหมือนกัน แต่เพราะเป็นการเมืองเข้ามาเหรอมันเลยดูหนัก คดีหนึ่งได้ประกันอีกคดีหนึ่งไม่ได้ประกัน เอาผมอยู่เจ็ด-แปดเดือน ไม่ได้ประกันออกมาหายใจสักครั้งเดียว อยู่ได้ก็เพราะคนข้างนอก อยู่ได้ก็เพราะมีคนเรียกร้องให้อย่างตะวัน (ทานตะวัน ตัวตุลานนท์) ที่อดอาหารประท้วงให้ปล่อยตัว ถ้าไม่มีตรงนี้ไม่รู้ว่าผมจะออกมาในสภาพไหน เพราะในเรือนจำมันแย่มาก คิดเรื่องตายได้ทุกวัน”

“ไม่มีใครสมควรต้องเข้าเรือนจำเลยแค่ออกมาต่อสู้ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคดีไหน วัตถุระเบิดอาจจะดูรุนแรงไปแต่ที่ผ่านมาเราถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ คฝ. (เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน) พวกเขาไม่เห็นโดนคดีอะไรบ้างเลย ยิงคนตาบอดไปกี่คนแล้วเพราะกระสุนยาง ไม่เห็นมีใครติดคุกเลย แล้วมันไม่ใช่แค่กระสุนยางด้วยที่ผมโดนมา มันมีกระสุนลูกแก้ว เขาซื้อมาใหม่เพื่อยิงผู้ชุมนุมช่วงการชุมนุมที่ดินแดง ต้องขนาดนี้เลยเหรอ”

“ตอนอยู่ข้างนอกผมมีความคิดหลายอย่างนะ แต่พอผมก้าวเดินเข้าไปในเรือนจำผมมีความคิดเดียวเลย คือ ผมพร้อมที่จะตายทุกวัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นผมพร้อมที่จะสู้ ใครทำอะไรผมก็ไม่ยอม ต่อให้ผมถูกผ้าขาวห่อออกมาผมก็ยอม”

“สิ่งที่ทำให้ผมหายกลัวได้ วันหนึ่งผมได้เจอกับผู้ชายคนหนึ่งชื่อพี่เอกชัย (เอกชัย หงส์กังวาน) เขาได้เดินมาหาผมแล้วถามว่าใช่ต๊ะที่โดนคดีวัตถุระเบิดไหม เขาบอกผมว่าไม่ต้องกลัวคนข้างนอกรู้เรื่องแล้ว ผมต้องขอบคุณพี่เอกชัยมากที่วันนั้นเดินมาหา ถ้าผมไม่ได้เจอพี่เอกชัยวันนั้นผมคงจะอยู่กับความกังวล ความกลัว ไปจนถึงไม่รู้เมื่อไหร่”

“ถึงแม้วันนี้ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเท่าไหร่กับประชาชน แต่ผมก็ยังดีใจที่ทุกคนออกมาต่อสู้เรียกร้องให้ประเทศเราอยู่ หลายคนบอกว่าเดี๋ยวกาลเวลาก็เปลี่ยนแปลงไปเอง ถ้าเราอยู่เฉยๆ ให้กาลเวลาเปลี่ยนแปลงไปเอง คิดว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน ถ้าเราไม่ออกมาทำอะไรสักอย่าง”

คทาธรถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขณะกำลังเดินทางจากย่านดินแดงไปยังแยกราชประสงค์ เพื่อร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 10 เมษา 53 #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม เมื่อวันที่ 10เมษายน 2565 โดยถูกตำรวจยึดโทรศัพท์ไม่ให้ติดต่อญาติ เขาถูกฝากขังในชั้นสอบสวนตั้งแต่วันที่ 11เมษายน 2565 ซึ่งศาลไม่ให้สิทธิประกันตัวเรื่อยมาจนกระทั่งมีคำพิพากษาจำคุกหนึ่งปี สามเดือน 15 วัน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ในข้อหาครอบครองวัตถุระเบิด และขัดขวางการทำงานของเจ้าพนักงาน ภายหลังเขาตัดสินใจไม่ขอยื่นประกันเพื่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์คำพิพากษา และตัดสินใจรับโทษจนครบกำหนดในวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 นับเป็นผู้ถูกฝากขังยาวนานที่สุดในปี 2565 รวมระยะเวลา 331 วัน หรือเกือบหนึ่งปี

วันที่ 18 มกราคม 2567 คทาธรยังถูกแจ้งจับกุมในคดีมาตรา 112 หลังอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมเยาวชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. ร้องทุกข์กล่าวโทษเมื่อสองวันก่อนหน้า โดยกล่าวหาว่าคทาธรและเพื่อนเป็นผู้โพสต์รูปภาพชายใส่เสื้อและกางเกงสีดำ สวมหมวกกันน็อค พร้อมถือกระดาษสองแผ่นเขียนข้อความไม่เหมาะสม บริเวณหน้าพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี หน้าวัดสุทัศน์ เขาถูกนำตัวไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง เป็นเวลา 1 คืน ก่อนที่จะถูกนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญาในวันที่ 20 มกราคม 2567 และในเวลา 13.13 น. ศาลอนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราวโดยให้วางหลักประกัน 180,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ