2 ปี สนช.: ผ่านกฎหมายอย่างน้อย 179 ฉบับ แม้ผ่านกฎหมายน้อยลง แต่ปัญหายังมีอยู่

หากนับตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2557 จนถึงวันที่ 1 กันยายน 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. จะมีอายุเกิน 2 ขวบปีแล้ว ซึ่งใน 2 ปีที่ผ่านมา มีกฎหมายวิ่งเข้าสู่ สนช. ทั้งสิ้น 202 ฉบับ แบ่งเป็นกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบแล้ว 179 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณา 23 ฉบับ ทั้งนี้ มีกฎหมายที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 171 ฉบับ และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีก 8 ฉบับ

ข้อมูลในสารบบร่างพระราชบัญญัติของเว็บไซต์ สนช. ที่มีการปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 เฉพาะส่วนผู้เสนอกฎหมายที่ระบุว่า คสช. เป็นผู้เสนอกฎหมาย 21 ฉบับ และ ครม. เป็นผู้เสนอ 182 ฉบับ และ สนช. เป็นผู้เสนอเอง 29 ฉบับ

นับตั้งแต่ 20 สิงหาคม 2558 เวลาที่ สนช. ใช้พิจารณากฎหมาย “เร็ว” ที่สุดคือ 1 วัน อย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559, ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (มาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นการถาวร) และเวลาที่ใช้ในการพิจารณากฎหมาย “นาน” ที่สุด 240 วัน อย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ รองลงมา คือ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ จำนวน 203 วัน

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการพิจารณาให้ความเห็นกฎหมายของ สนช. ในปีที่สองว่า มีอัตราพิจารณาเห็นชอบกฎหมายเฉลี่ยต่อเดือนต่ำลง จากปีที่แล้วที่พิจารณากฎหมายเฉลี่ยเดือนละ 9 ฉบับ แต่ในปีนี้พิจารณาผ่านกฎหมายเฉลี่ยเดือนละ 5 – 6 ฉบับ

แม้ว่าการพิจารณาให้ความเห็นชอบกฎหมายโดยเฉลี่ยจะลดน้อยลง แต่ทว่า เสียงสะท้อนความไม่พอใจต่อกฎหมายที่ผ่านโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง ที่ให้ทหารกองหนุน อาทิ ผู้เคยผ่านการเกณฑ์ ผู้เคยผ่านการเรียนรักษาดินแดน (รด.) หรือแม้กระทั่งผู้ผ่านการเกณฑ์ทหารที่จับใบดำได้ กลับมาฝึกวิชาทหารอีกครั้งในฐานะกำลังพลสำรองเพื่อการเตรียมความพร้อมในกิจการของกระทรวงกลาโหม โดยหากฝ่าฝืนไม่เข้ารับราชการทหารมีโทษสูงสุดติดคุกสี่ปี ในส่วนของนายจ้างหากไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างซึ่งต้องรับราชการทหารในวันลามีโทษปรับสองหมื่นบาท

หรืออย่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ที่เปิดช่องตั้งสถานประกอบการฯ ผลิตพลังงานนิวเคลียร์ได้ แต่หลักเกณฑ์การควบคุมหลายเรื่อง เช่น การทิ้งกากกัมมันตภาพรังสี ยังไม่ชัด ต้องรอดูกฎกระทรวง แม้กำหนดให้ต้องทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังไม่ใช่ EIA ยังมีข้อสังเกตอีกหลายประการที่ต้องจับตาดูในระยะยาว เป็นต้น

 

2 ปี สนช. กับการแต่งตั้ง สรรหา 48 คน ใน 12 หน่วยงาน 

ตลอดสองปี สนช.พิจารณาแต่งตั้ง สรรหา ผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานสำคัญต่างๆ ไปแล้วอย่างน้อย 12 หน่วยงาน และมีบุคคลอย่างน้อย 48 คน ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานเหล่านี้ บุคคลสำคัญ เช่น

  • อุดม รัฐอมฤต คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ศป.) และล่าสุดได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
  • ดิสทัต โหตระกิตย์’ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และสมาชิก สนช. ครั้งเมื่อดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
  • พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด และสมาชิก สนช. ครั้งเมื่อดำรงตำแหน่งรองอัยการสูงสุด ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการสูงสุด
  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญสองครั้ง คือ รัฐธรรมนูญ 2550 และร่างรัฐธรรมนูญ 2558 (ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ) ได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  • พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอดีตสมาชิก สนช. ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

 

การประชุมพิจารณากฎหมายในรอบปีที่ผ่านมา เฉลี่ย สนช. 170 คนต่อฉบับ

ครบรอบ 2 ปีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากเดิมที่มีสมาชิกจำนวน 220 คน ตอนนี้ สนช.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 ให้มี สนช.เพิ่มอีก 30 คน รวมทั้งสิ้น 250 คน 

โดยวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลว่า สนช.ที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจที่มีความสำคัญ เพราะคาดว่าอีก 1 ปี 4 เดือน จะมีกฎหมายจำนวนมากเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. โดยเป็นกฎหมายตามนโยบาย 100 ฉบับ และกฎหมายที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้ต้องพิจารณาประมาณ 80 ฉบับ จึงจำเป็นต้องมีบุคคลที่มากขึ้น เพื่อให้มีความหลากหลาย รอบคอบ 

ภารกิจที่มากขนาดนี้ ชวนดูสถิติจำนวนการเข้าประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายของ 220 สนช. ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร

นับตั้งแต่การประชุม สนช. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 – 19 สิงหาคม 2559

  • ช่วงเวลาดังกล่าว สนช.ประชุมไปทั้งสิ้น 78 ครั้ง
  • พิจารณากฎหมายไป 138 ฉบับ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย 67 ฉบับ
  • เฉลี่ยต่อฉบับมี สนช. เข้าประชุม 170 คน ไม่เข้าประชุม 50 คน
  • กฎหมายที่มีผู้ร่วมประชุมมากที่สุด 196 คน คือ ร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง ในวาระสาม ขั้นเห็นชอบประกาศใช้เป็นกฎหมาย
  • กฎหมายที่มีผู้ร่วมประชุมน้อยที่สุด 129 คน คือ ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ในวาระสาม ขั้นเห็นชอบประกาศใช้เป็นกฎหมาย
  • การประชุมแต่ละครั้งต้องมี สนช.ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง คืออย่างน้อย 110 คน ในทุกวาระการประชุม