#ส่องประชามติ: สรุปข่าวการจับกุมฐาน “ฉีกบัตร” ประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาฯ

ไอลอว์เก็บรวบรวมข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ เกี่ยวกับการจับกุมดำเนินคดี และการใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 หรือ พ.ร.บ.ประชามติฯ และกฎหมายต่างๆ กับการฉีกบัตรลงคะแนน ในการลงประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 

คมชัดลึก รายงานว่า เวลา 8.05 น. ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 47 เขตทุ่งครุ กทม. พิพัฒน์ แพสุวรรณรักษ์ อายุ 69 ปี ได้ฉีกบัตรออกเสียงประชามติออกเป็น 2 ส่วนเนื่องจากเข้าใจผิด เจ้าหน้าที่ได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานไว้ หากพบว่ามีพยานหลักฐานอื่นที่เชื่อมโยงอันอาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ประชามติฯ หรือกฎหมายอื่นจะดำเนินคดีต่อ ก่อนปล่อยตัวโดยที่ยังไม่แจ้งข้อกล่าวหา 

คมชัดลึก รายงานอีกครั้งว่า เวลา 09.30 น. ที่หน่วยออกเสียงประชามติที่ 16 จ.พะเยา สุรพันธุ์ บรรจบ อายุ 48 ปี เข้าใจผิดคิดว่าต้องฉีกบัตรตามรอยประ และตรงรอยประก็มีการแบ่งออกเป็น 2 สี อย่างชัดเจน จึงฉีกออกเป็น 2 ส่วน เพื่อจะแยกใส่กล่องละใบ โดยกล่าวว่า ไม่มีเจตนาในการทำให้บัตรเสียหรือทำลายบัตรให้เสียหาย

ต่อมา มติชนออนไลน์ รายงานว่า เวลา 10.00 น. ที่หน่วยออกเสียงประชามติที่ 8 กาญจนบุรี เมือง หนุนภักดี อายุ 89 ปี ฉีกบัตรลงคะแนนด้วยความไม่รู้และไม่มีเจตนาที่จะกระทำผิดเนื่องจากเข้าใจผิดเพราะบัตรประชามติมี 2 ข้อ จึงเข้าใจว่าต้องแบ่งใส่ 2 กล่อง ดังนั้นจึงได้ฉีกบัตรแยกเป็น 2 ส่วน เพื่อที่จะหย่อนลงหีบบัตร ซึ่งทาง กกต.จะดำเนินการเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อไป 

คมชัดลึก รายงานต่อว่า เวลา 10.30 น. ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 101 เขตบางนา กทม. มลฤดี อ่ำสกุล อายุ 54 ปี ได้ฉีกบัตรลงประชามติ หลังจากเข้าคูหากากบาทในช่องเรียบร้อยแล้ว จากการสอบสวนมลฤดีระบุว่า ตนเข้าใจผิดและไม่มีเจตนา เจ้าหน้าที่ยังคงไม่ปักใจเชื่อและรอการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ กกต.ประจำหน่วยลงประชามติ 

ประชาไท รายงานว่า เวลา 11.00 น. ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 8 อ.เมือง จ.สุรินทร์ มีการฉีกบัตรลงประชามติ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมและควบคุมตัวสมบัติ บุตรสาลี อายุ 42 ปี หลังตรวจสอบพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินระดับ 360 มิลลิกรัม ต่อมาสมบัติรับว่าได้ดื่มสุรา เหล้าขาว 40 ดีกรี ก่อนออกจากบ้านมาออกเสียงลงประชามติ เกิดฟิวส์ขาดฉีกบัตรลงประชามติเพราะคิดว่าอยู่ในอากาศบนดาวจระเข้ 

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ไทยรัฐรายงานว่า ที่หน่วยลงประชามติที่ 12 อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ สมจิตร กองแก้ว อายุ 67 ปี ฉีกบัตรลงประชามติ เหตุจากการเข้าใจผิดคิดว่าจะขอบัตรใหม่ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ส่งตำรวจดำเนินคดี 

คมชัดลึก รายงานต่อว่า เวลา 11.30 น. ที่เขตบางพลัด กทม. โสภณ ชูติมานนท์ อายุ 75 ปี กระทำการลักษณะเดียวกันกับบุคคลทั้ง 2 ข้างต้น โดยฉีกแบ่งบัตรลงคะแนนเสียงประชามติออกเป็นสองส่วน เพราะเข้าใจผิดคิดว่าต้องฉีกออกเป็น 2 ส่วนแยกกัน เบื้องต้นยังไม่มีการแจ้งข้อหาการกระทำผิดใดๆ 

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เวลา 12.00 น. ที่หน่วยออกเสียงประชามติ สำนักงานเขตบางนา ปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ นายกสมาคมเพื่อเพื่อนและนักกิจกรรมทางการเมือง สวมเสื้อยืดโดยมีคำว่า “NO COUP” เข้าไปยังหน่วยออกเสียง ก่อนตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” พร้อมฉีกบัตรลงคะแนน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวไปสอบสวนที่ สน.บางนา 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ปิยรัฐถูกตั้งข้อหา 4 ข้อหา ทำลายเอกสารของผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 188 และ 358 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 59 และ 60(9) พ.ร.บ.ประชามติฯ เสร็จสิ้น ก่อนได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ด้วยเงินประกัน 20,000 บาท ในเวลาประมาณ 22.56 น. 

นอกจากนี้ จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัตร และทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ ผู้บันทึกภาพและวิดีโอการฉีกบัตรถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาด้วย ฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียง ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 60 (9) ด้วย ก่อนได้รับการประกันตัวเวลาประมาณ 3.30 น.

มติชนออนไลน์ รายงานต่อว่า เวลา 12.30 น. ที่หน่วยออกเสียงที่ 3 อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ วินัย บุญจีน ครูชำนาญการ โรงเรียนบ้านห้วยระหงส์เข้าใจผิดฉีกบัตรออกเสียงแยกออกเป็น 2 ส่วนและนำไปหย่อนลงในหีบบัตร ก่อนถูกควบคุมตัวไปแจ้งพนักงานสอบสวน สภ.บ้านติ้วเพื่อดำเนินคดี 

คมชัดลึก รายงานอีกว่า เวลา 15.00 น. ที่หน่วยออกเสียงที่ 26 อ.ท่าสองยาง จ.ตาก รัตนาภรณ์ เจนจบเอี่ยมลออ อายุ 21 ปี ได้ฉีกบัตรลงคะแนนออกเป็น 2 ส่วนในลักษณะแนวตั้งและให้เหตุผลว่า ไม่รู้ว่าจะกาอย่างไรจึงฉีกบัตร โดยรัตนาภรณ์เป็นบุคคลพื้นที่สูง เชื้อสายกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ

เวลา 18.00 น. มีรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า การออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี พบมีการฉีกบัตรจำนวน 2 ราย รายแรก คือนายประพันธ์ จักรเขียว 49 ปี หน่วยออกเสียงที่ 5 อ.ฮอด จ. เชียงใหม่ ส่วนรายที่ 2 คือนายกวี ปันสมุทร 58 ปี หน่วยเลือกตั้งที่ 8 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยหากพบว่ามีเจตนาจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ

นอกจากที่กล่าวข้างต้นแล้วยังมีรายงานจากมติชนออนไลน์ว่า พบผู้ฉีกบัตรลงคะแนนในอีกหลายพื้นที่ ดังนี้

  • ที่หน่วยออกเสียงที่ 114 โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต เขตพระโขนง กทม. สมเกียรติ เกรียงไกร อายุ 78 ปี ฉีกบัตรเป็น 2 ส่วน
  • ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 3 โรงเรียนวัดใหม่อมตรส เขตพระนคร กทม. ชวัลพร ยุทธนาประวิต กรรมการประจำหน่วยทำบัตรฉีกขาด
  • ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 33 ร.ร.ผดุงสิทธิ์วิทยา กทม. สุพัตรา เกษจรัล อายุ 59 ปี ฉีกบัตรเป็น 2 ส่วน
  • ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 8 หน้าหมู่บ้านคาซาลีน่า 2 เขตมีนบุรี กทม. นภดล รักษาพล อายุ 18 ปี มีสิทธิ์ลงคะแนนครั้งแรก อ่านหนังสือไม่ออก เห็นใบลงประชามติมีสองสีและเส้นแบ่งกลางจึงเข้าใจว่าต้องมีการฉีกแบ่งเป็นสองส่วน
  • ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 8 ร.ร.สุเหร่าทรายกองดิน (2) เขตมีนบุรี สมศรี เอกตระกูล อายุ 55 ปี เห็นว่าบัตรมีสองสี และมีเส้นรอยปรุแบ่งกลาง จึงฉีกออกจากกัน
  • ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 20 ในหมู่บ้านพฤกษา เสมาฟ้าคราม จ.ปทุมธานี ยุรี วันเพ็ญ อายุ 67 ปี เกิดจากเข้าใจผิด
  • ที่หน่วยที่ 44 อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี บุญเด็จ จอมแก้ว อายุ 67 ปี และแวว ยอดขาว อายุ 70 ปี ฉีกบัตรโดยอ้างไม่รู้เพราะเห็นว่ามีสองสี จึงคิดว่าต้องฉีก
  • ที่หน่วยออกเสียงประชามติ จ.นครสวรรค์ ไพบูลย์ ศนภรัตน์ อายุ 54 ปี ฉีกบัตรลงคะแนน อ้างว่าเข้าใจผิดคิดว่าต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ขณะที่หงิด คล้ายแป้น อายุ 76 ปี ผู้ป่วยโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ได้ฉีกบัตรออกเสียงลงประชามติเช่นกัน
  • ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 57 สมาคมแต่จิ๋ว จ.ตรัง พบวราภรณ์ สุทธินนท์ อายุ 62 ปี ฉีกบัตร อ้างว่าไม่มีเจตนา

ด้านเว็บไซต์สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า ที่หน่วยออกเสียงที่ 6 ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม สัก เขียวสลุง ทำการฉีกบัตรออกเสียงออกเป็นสองส่วน เนื่องจากเข้าใจผิดว่าต้องฉีกบัตรเป็นสองส่วน

จากการรายงานตลอดมา เห็นได้ว่า มีผู้ฉีกบัตรลงคะแนนจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หรือเป็นคนชาติพันธุ์ โดยส่วนใหญ่ผู้ฉีกบัตรอ้างว่าเป็นความเข้าใจผิด ไม่มีเจตนาในการกระทำ สำหรับการเจตนาฉีกบัตรลงคะแนนเพื่อแสดงออกทางการเมือง ที่อาจจะถือว่ามีความผิด มีรายงานเพียงกรณีเดียว 

ความผิดฐานฉีกบัตร ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งบัตรลงคะแนนถือเป็นทรัพย์สินของ กกต. ดังนั้นจึงต้องรอทาง กกต.มาร้องทุกข์ภายใน 7 วันก่อนจะดำเนินการต่อไป

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ