13 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17.00 น. หน้าศาลอาญา รัชดาฯ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวันและ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ถูกจับกุมตามหมายจับในคดีมาตรา 116 จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า “บีบแตร” ใส่ขบวนเสด็จและโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สั่งให้จอดรถ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีของตะวัน – แฟรงค์ เกิดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 ตะวันไลฟ์สดผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก Tawan Tantawan เป็นเหตุการณ์การเจรจากันระหว่างแฟรงค์ซึ่งเป็นคนขับรถ กับตะวัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่อยู่ในบริเวณนั้น
‘ นาทีที่ 00.00 เกิดเสียงบีบแตรขึ้น จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินมายังรถยนต์ที่ตะวันและแฟรงค์ใช้เดินทาง
ตะวัน : “ถนนก็ถนนประชาชน มีปัญหาอะไรพี่”
นาทีที่ 00.08 เสียงแตรหยุดลง
ตำรวจคนที่ 1 : “คุณแซงขบวนน่ะครับ”
ตะวัน : “ขบวนอะไรคะพี่”
แฟรงค์ : “ขบวนอะไรครับ ขบวนแล้วมันยังไงหรอครับ”
ตะวัน : “ขบวนมันทำไมคะพี่”
ตำรวจคนที่ 1 : “คุณต้องรอแป๊บนึง”
ตะวัน : “รออะไรคะพี่”
แฟรงค์ : “ประชาชนผมต้องรอขบวนหรอครับ”
ตำรวจคนที่ 1 : “ผมไม่ได้ปิดเลยนะ”
ตะวัน : “ไม่ เมื่อกี้ปิดอยู่ค่ะ”
ตำรวจคนที่ 1 : “คุณจะรีบไปไหน”
ตะวัน : “รีบค่ะพี่”
ตำรวจคนที่ 1 : “คุณจะรีบไปไหน”
ตะวัน : “ไม่แล้วขบวนพี่รีบไปไหน”
แฟรงค์ : “มีธุระครับ”
ตำรวจคนที่ 1 : “แล้วคุณจะรีบไปไหน ผมจะปล่อย คุณจะรีบไปไหน”
ตะวัน : “ไม่ ขบวนพี่รีบไปไหน ทำไมถึงใช้ถนน ถึงปิดได้สบายๆ ทำไมคะ”
ตำรวจคนที่ 1 : “ผมไม่ได้ปิด”
ตะวัน : “เมื่อกี้ติดอยู่”
ตำรวจคนที่ 1 : “ติดตรงไหนครับ”
ตะวัน : “เมื่อกี้ติดอยู่”
ตำรวจคนที่ 1 : “ติดตรงไหนครับ”
ตะวัน : “ก็เมื่อกี้อะติดอยู่ค่ะ ก็เลยงงว่าปิดทำไม”
ตำรวจคนที่ 1 : “ติดตรงไหน”
แฟรงค์ : “มันก็เห็นชัดเจน”
ตะวัน : “เมื่อกี้อ่ะค่ะ รถคันนี้ก็ติดอยู่ก็เลยถามว่าทำไม ไม่แล้วคือทำไมถึงต้องมีคนไหนที่ต้องสามารถไปได้อย่างสะดวกกว่ารถคันอื่นคะพี่ ตอบหนูได้ไหม ทำถึงต้องมีคันไหนคันหนึ่งที่มันไปได้สะดวกกว่ารถของประชาชน มันทำไมอะ”
นาทีที่ 00.57 เจ้าหน้าที่ตำรวจหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา
ตะวัน : “ถ่ายเลยพี่”
นาทีที่ 00.58 เกิดเสียงแตรขึ้น
ตะวัน : “ถ่ายเลยหนูก็อยากรู้เหมือนกันว่าทำไมนักหนา ติดขบวนเนี่ย มันทำไมเนี่ย เนี่ยแล้วก็ติดเนี่ย ไม่เข้าใจว่าทำไมมีขบวนเสด็จแล้วก็มาปิดเนี่ย”
นาทีที่ 01.23 เสียงแตรหยุดลง
แฟรงค์ : “กวักมือเรียกประชาชนไปท้าตีท้าต่อย”
นาทีที่ 01.26 เสียงแตรดังขึ้น
ตะวัน : “อ้าว กวักมือเรียกประชาชนไปท้าตีท้าต่อยด้วยคันนั้น”
นาทีที่ 01.30 เสียงแตรหยุดลง
แฟรงค์ : “มาดิ คิดว่าเจ๋งมากหรอพี่”
ตะวัน : “เอ้ย พี่ หนูถาม หนูถามเนี่ย”
แฟรงค์ : “คิดว่าเจ๋งมากหรอพี่ เป็นตำรวจแล้วเจ๋งมากอ๋อ”
ตำรวจคนที่ 2 : “ไม่ คุณก็ต้องรู้ว่ามันมีภารกิจ ไปดิไป”
ตะวัน : “มีภารกิจอะไร ทำไมมันถึงต้องมีรถคันนึงที่มันไปได้สะดวกกว่าคันอื่นเนี่ย”
แฟรงค์ : “มีภารกิจอะไรทำไมไปได้สะดวกกว่าชาวบ้านเขา”
ตำรวจคนที่ 2 : “เอ้า ครับ โชคดี”
แฟรงค์ : “โชคดีอะไร”
ตะวัน : “ไม่เช้าใจ ไม่เข้าใจเป็นอะไรกันนักหนากับแค่ขบวนเสด็จเนี่ย”
แฟรงค์ : “เป็นควยอะไรเนี่ย ไอ้เหี้ย”
ตะวัน : “เนี่ยแล้วก็มามีปัญหา ประชาชนก็มาติดเนี่ย ละก็มาบอกว่าปฏิบัติภารกิจ ทำภารกิจ ภารกิจอะไร ภารกิจอะไร”
นาทีที่ 02.07 เสียงแตรดังขึ้น
แฟรงค์ : “ควย”
นาทีที่ 02.09 เสียงแตรหยุดลง
ตะวัน : “เนี่ย…กว่าจะผ่านมาได้นะคะ เมื่อกี้ก็คือแบบไม่เข้าใจ งง (ถอนหายใจ) ก็ติดขบวนแล้ว อยู่ ๆ คือเราก็ขับมา รถประชาชนบนถนน ถนนก็มีให้รถขับอ่ะค่ะ หนูก็ขับกันมาแล้วกลายเป็นว่าตำรวจมันก็ปิดดัก แล้วก็ลงมาบอกว่าเขาก็ทำภารกิจนู่นนี่นั่น หนูก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมรถประชาชนมันต้องมารอรถใครหรอคะ ไม่เข้าใจจริงๆ แต่ว่าตอนนี้โอเคแล้วค่ะ ผ่านมาได้แล้ว ยังไงไว้ถ้ามีอะไรมาอีกจะมาอัพเดตนะคะ แต่ตอนนี้ก็คือโอเคผ่านมาได้ด้วยดี…แล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครตามอะไรมั้ยยังไง แต่ถ้ามี เดี๋ยวยังไงจะมาอัพเดตอีกทีค่ะ ขอบคุณ”
ตำรวจจับกุม ตั้งข้อหาม.116 ก่อความเดือดร้อนรำคาญ
หลังเกิดเหตุการณ์ได้สามวัน วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักข่าวต่างๆ เริ่มรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยใช้ถ้อยคำเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างๆ กันไปเพื่อให้เกิดภาพจำต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ เช่น สำนักข่าว Top News ใช้คำว่า “คุกคามขบวนเสด็จ” หรือชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ใช้คำเรียกว่า “ขัดขวางขบวนเสด็จ” หรือรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 ใช้คำว่า “ขวางขบวนเสด็จ”
13 กุมภาพันธ์ 2567 ท่ามกลางกระแสข่าวว่าตำรวจได้ขอออกหมายจับตะวันและแฟรงค์ ทั้งสองคนเดินทางไปที่ศาลอาญาตั้งแต่ช่วงเวลา 09.00 น. ซึ่งมีสื่อมวลชนอยู่บริเวณหน้าศาลจำนวนมาก และตะวันได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า หากตำรวจออกหมายจับพวกเขาแล้ว ก็ขอให้มาจับกุมที่นี่เลย ต่อมาเวลา 16.50 น. ตะวันและแฟรงค์ได้เดินออกมายืนบริเวณหน้าป้ายศาลอาญา รัชดาฯ ตำรวจได้เข้าแสดงหมายจับของศาลอาญา โดยผู้กำกับการสืบสวนนครบาล 9 เดินเข้ามาอ่านหมายจับ สน.ดินแดง ในหมายจับระบุกล่าวหาต่อตะวันใน 3 ข้อหา ดังนี้
1) ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน หรือ “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
2) ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
3) ร่วมกันด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ
ในส่วนของข้อกล่าวหาต่อแฟรงค์ประกอบไปด้วย 5 ฐานความผิด ดังนี้
1) ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน หรือ “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา
2) ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
3) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่
4) ร่วมกันด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ
5) ใช้เสียงสัญญาณเสียงยาวหรือซ้ำโดยไม่มีเหตุอันสมควร
แจ้งข้อกล่าวหาจากเหตุ “ถ่ายไลฟ์” ชักจูงให้ต่อต้านขบวนเสด็จ
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า
“เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 ตะวันผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และแฟรงค์ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้นั่งรถยนต์มาถึงบริเวณทางร่วมเข้าต่างระดับมักกะสันที่มี พ.ต.ท.ชญานิน พันธ์ภักดี สารวัตรงานศูนย์ควบคุมจราจรทางด่วน 2 บก.จร. ผู้กล่าวหาที่ 1 กับพวก เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่ถวายความปลอดภัย ขบวนเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งจะเสด็จผ่านในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้สั่งให้หยุดรถมาจากทางร่วมชั่วคราว เพื่อถวามความปลอดภัย แต่แฟรงค์ได้พยายามขับรถแทรกระหว่างรถยนต์ที่จอดชะลอด้านหน้าจำนวนหลายคัน ซึ่งไม่สามารถขับผ่านไปได้ เพราะผู้กล่าวหาที่ 1 ให้สัญญาณมือให้รถคันดังกล่าวหยุด แต่แฟรงค์กลับบีบแตรเสียงดังต่อเนื่องประมาณ 1 นาที โดยไม่มีสาเหตุ ขณะที่ตะวันเปิดกระจกและส่งเสียงตะโกนโวยวาย
เมื่อขบวนเสด็จได้ผ่านไป ผู้กล่าวหาที่ 1 ได้เปิดการจราจรให้รถยนต์จากทางร่วมวิ่งไปได้ แต่ปรากฎว่ารถคันดังกล่าวมีพฤติการณ์ขับรถออกไปด้วยความเร็ว เจ้าหน้าที่เห็นว่าอาจเป็นอันตรายต่อขบวนเสด็จจึงได้วิทยุแจ้งให้เจ้าหน้าที่คนอื่นทราบ จนรถคันดังกล่าวมาถึงบริเวณทางลงพหลโยธิน 1 (อนุสาวรีย์สมรภูมิ) เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำหน้าที่รถปิดท้ายขบวนจึงได้สกัดรถคันดังกล่าวไว้ไม่ให้สามารถแทรกเข้าไปร่วมในขบวนเสด็จได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงเดินเข้าไปพูดคุย
โดยตะวันได้ทำการไลฟ์สดผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว และยังส่งเสียงโวยวายต่อว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ส่วนแฟรงค์ก็บีบแตรลากยาว ส่งเสียงดังรบกวน ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน แฟรงค์ยังได้กล่าววาจาในลักษณะดูหมิ่น ดูถูก เหยียดหยาม ส.ต.อ.นพรัตน์ ผู้กล่าวหาที่ 2 ซึ่งกำลังปฎิบัติหน้าที่อีกด้วย
หลังเกิดเหตุ พ.ต.ท.ชญานิน ผู้กล่าวหาที่ 1 และ ส.ต.อ.นพรัตน์ ผู้กล่าวหาที่ 2 ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับตะวันในข้อหา ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ และดำเนินคดีแฟรงค์ในข้อหา ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน, ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ และใช้เสียงสัญญาณยาวหรือซ้ำโดยไม่มีเหตุอันควร
ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ยังระบุต่ออีกว่า ต่อมา พ.ต.ท.สรัล สุรเดชานนท์ รอง ผกก.สส.สน.ดินแดง ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ให้สืบสวนหาพยานหลักฐานจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานและจัดทำรายงานการสืบสวน โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในวันที่ 4 ก.พ. 2567 ตะวันได้ทำการไลฟ์สดเหตุการณ์ดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กตนเองที่เปิดเป็นสาธารณะ บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้ มีผู้ติดตามมากกว่า 37,000 คน ซึ่งประชาชนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้งในทางที่ “เห็นชอบด้วย” และ “ไม่เห็นชอบด้วย” สร้างประเด็นให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน
ต่อมา ยังพบว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 ตะวันได้โพสต์คลิปเหตุการณ์จากกล้องหน้ารถ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของตะวันกับแฟรงค์ที่เป็นการแสดงการต่อต้าน ท้าทาย และดูหมิ่นพระเกียรติยศต่อขบวนเสด็จของสมเด็จพระเทพฯ การกระทำดังกล่าวของตะวันและแฟรงค์เป็นการสร้างภาพตัวอย่าง ชักจูงให้คล้อยตามพฤติกรรมของตน เป็นการกระทำโดยมีเจตนาให้ปรากฏแก่ประชาชน ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต หรือส่งเสริมให้บุคคลแสดงความคิดเห็นต่อต้านขบวนเสด็จของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ พ.ต.ท.สรัล ผู้กล่าวหาที่ 3 จึงมาแจ้งความให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับทั้งสองข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)”
เปิดตัวบทดู ตะวันและแฟรงค์ถูกล่าวหาอย่างไรบ้าง
จากกรณีที่เกิดขึ้น กฎหมายที่ตำรวจใช้ดำเนินคดีต่อตะวันและแฟรงค์มี ดังนี้
1) ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 116 ผู้ใดกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอัน มิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กําลังข่มขืนใจ หรือใช้กําลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อ ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปี
มาตรา 136 ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 370 ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
2) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
…
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
3) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
มาตรา 14 การใช้เสียงสัญญาณ ผู้ขับขี่จะใช้ได้เฉพาะเมื่อจำเป็นหรือป้องกันอุบัติเหตุเท่านั้น แต่จะใช้เสียงยาวหรือซ้ำเกินควรไม่ได้
หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ตามข้อหายุยงปลุกปั่นในประมวลกฎหมายอาญา(ปอ.) มาตรา 116 ตะวันและแฟรงค์ กระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาและวิธีการอื่น ในที่นี้คือการโพสต์คลิปเหตุการณ์ถกเถียงกับตำรวจ และคลิปจากกล้องหน้ารถของตะวันและแฟรงค์ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นการต่อต้าน ท้าทาย และดูหมิ่นพระเกียรติยศต่อขบวนเสด็จของสมเด็จพระเทพฯ เป็นการสร้างภาพตัวอย่าง ชักจูงให้คล้อยตามพฤติกรรมของทั้งคู่จากโพสต์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งตะวันได้เขียนบรรยายประกอบไว้ว่า
‘นำคลิปหลักฐานมาให้ชมค่ะ ว่ามีการปิดถนนจริงๆ
เราเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องขบวนเสด็จไปแล้ว แต่กลับไม่เคยมีผู้ใหญ่คนไหนตอบ ซ้ำยังยัดคดีม.112 และถอนประกันจนเข้าคุก
นี่คือคำตอบที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ให้กับเรา
วันนั้นเรากำลังขับรถไปทำธุระส่วนตัว เจอขบวนเสด็จพอดี และโดนปิดถนนเหมือนเดิม เราไม่ได้รอและขับออกไปเลย เพราะทุกคนก็รีบเหมือนกัน เราขับไปตามทางที่เราจะไปทำธุระ ไม่ได้จะเร่งเพื่อไปหาขบวน และมันมีแต่คำถามในหัวว่า
“ทำไมถึงมีรถคันไหนไปได้สะดวกกว่ารถของประชาชน?”
ครั้งนี้ผู้ใหญ่ทั้งหลายในเมืองพุทธนี้จะให้คำตอบเด็กอย่างเราแบบไหนคะ?’
ทั้งนี้บทสนทนาโต้ตอบระหว่างตะวัน – แฟรงค์และเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่านไลฟ์สดเฟซบุ๊กก็มีการตั้งคำถามจากตะวันดังเช่นในโพสต์ว่า “…รถคันนี้ก็ติดอยู่ก็เลย ถามว่าทำไม แล้วคือทำไมถึงต้องมีคนไหนที่ต้องสามารถไปได้อย่างสะดวกกว่ารถคันอื่นคะพี่ ตอบหนูได้ไหม ทำถึงต้องมีคันไหนคันหนึ่งที่มันไปได้สะดวกกว่ารถของประชาชน มันทำไมอะ” และจาก‘คลิปเหตุการณ์จากกล้องหน้ารถ’ นาทีที่ 00.30 มีเสียงพูดว่า “ขบวนเสด็จอีกแล้ว” ต่อมานาทีที่ 00.40 “ถนนก็ถนนประชาชน ถนนก็ถนนประชาชน ปิดทำไม”
ไม่มีถ้อยคำยุยงให้ผู้ฟังไปก่อเหตุร้ายใดๆ
การที่ตะวันพูดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยถ้อยคำเหล่านี้ อาจใช้นำเสียงที่ไม่ได้แสดงความเคารพนอบน้อม แต่ถ้อยคำไม่ถึงขั้นสร้างความเกลียดชัง(Hate Speech) เช่น จะหมายเอาชีวิต หรือยุยุงให้ผู้อื่นที่รับฟังกระทำการยอย่างใดให้ผิดกฎหมายหรือให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัยได้ให้คำอธิบายในตำรากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ว่าในวรรคสองของอนุมาตรา 1 เป็นกรณีที่ผู้กระทำมีอำนาจกระทำได้ ซึ่งคำว่า “กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ” หมายถึง การกระทำตรงต่อเจตนารมนณ์แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยประสงค์จะให้ราษฎรมีเสรีภาพในการแสดง ความคิดเห็นได้ แม้กระทั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ถึงกับใช้กำลังทำร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำร้าย และจะติเตียนรัฐบาลโดยสุภาพก็สามารถทำได้เช่นกัน ในส่วนของความผิดตามมาตรา 116 ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย อธิบายไว้ในหนังสือ กฎหมายอาญา ภาค 2-3 อันมีสาระสำคัญว่า “การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ” ตามมาตรา 116 วรรคแรกนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องขององค์ประกอบในทางปฏิเสธที่มี ความสำคัญ เนื่องจากหากได้กระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ คือการชุมนุมโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 631/2491 ที่ตัดสินว่าการปราศรัยหาเสียง แม้จะใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมบ้างก็ไม่เป็นความผิด และการจะชี้ว่าการกระทำใดเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตควรพิจารณาจากเจตนาของผู้กระทำเป็นสำคัญ กรณีการใช้เสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นนั้นจะต้องมีฐานมาจากข้อเท็จจริง ซึ่งปรากฎในบทสนทนาที่ตะวันกล่าวว่า “ก็เมื่อกี้อะติดอยู่ค่ะ ก็เลยงงว่าปิดทำไม” ซึ่งผู้กล่าวถ้อยคำได้เชื่อโดยสุจริตว่าเป็นความจริงในการกล่าวข้อเท็จจริงออกไปเนื่องจากในสถานการณ์นั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดทางจราจรเพื่อรักษาความปลอดภัยในขบวนเสด็จจนทำให้ผู้ที่สัญจรอยู่ในบบริเวณนั้นถูกปิดกั้นและไม่สามารถเดินทางต่อได้
การแสดงความคิดเห็นของตะวันจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่ได้ใช้กำลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผนดินหรือรัฐบาล ไม่ได้ก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และไม่ได้เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย การกล่าวหาว่าบัญชีเฟซบุ๊กของตะวันมีบุคคลทั่วไปเข้าถึงได้ ซึ่งประชาชนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้งในทางที่ “เห็นชอบด้วย” และ “ไม่เห็นชอบด้วย” นั้นเป็นเรื่องปกติ และยิ่งมีคนไม่เห็นด้วยก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า การเผยแพร่ข้อความใดๆ ของตะวันไม่อาจเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดตามที่ตะวันและแฟรงกล่าว
แฟรงค์ไม่ได้โพสเฟซบุ๊ก แต่มีข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย
สำหรับข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาว่าทั้งคู่ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตาม ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งถูกหากล่าวหาพ่วงมากับความผิดในมาตรา 116 ซึ่งหมายความว่าหากการเผยแพร่คลิปเหตุการณษบนบัญชีเฟซบุ๊ก Tawan Tantawan ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116 ก็จะไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(3) ด้วย ส่วนการกล่าวหาแฟรงค์ให้เป็นจำเลยร่วมในข้อหานี้ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการโพสเนื้อหาใดๆ บนเฟซบุ๊ก ก็เป็นการกล่าวหาที่เกินไปจากข้อเท็จจริง
ถามตำรวจ-บีบแตรนาทีกว่า เดือดร้อนรำคาญหรือไม่?
ข้อกล่าวหาฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญตาม ปอ.มาตรา 370 คลิปจากกล้องหน้ารถชี้ให้เห็นภาพเหตุการณ์ที่ทั้งสองคนส่งเสียงดังพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขับรถมาขวางให้หยุดรถ ทำให้เกิดเสียงดังที่ปรากฎในไลฟ์เฟซบุ๊ก ซึ่งเมื่อพิจารณาว่า “มีเหตุอันสมควรหรือไม่?” นั้น จากภาพสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินมายังรถของทั้งสอง ตะวันพูดขึ้นว่า “ถนนก็ถนนประชาชน มีปัญหาอะไรพี่” จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตอบกลับว่า “คุณแซงขบวนน่ะครับ” และตลอดบทสนทนา โดยเนื้อหาเป็นการถามถึงความจำเป็นในการปิดกั้นถนน แต่ตำรวจไม่ได้ตอบหรือชี้แจง
นอกจากนี้จากคลิปกล้องหน้ารถ รถของตะวัน – แฟรงค์ขับอยู่บนเส้นทางซึ่งรถคันอื่นๆ ก็กำลังมุ่งหน้าไปเช่นกันแต่ในนาทีที่ 00.15 รถที่ขับอยู่เริ่มชะลอและจอดนิ่งในขณะที่รถของตะวัน – แฟรงค์ยังขับต่อไปเมื่อเกิดการจราจรที่ติดขัดทำให้เกิดเสียงแตรขึ้นตั้งแต่นาทีที่ 00.17 ถึงนาทีที่ 00.53 และในนาทีที่ 01.39 รถของเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามขับเข้าด้านหน้าเพื่อให้รถของตะวัน – แฟรงค์หยุดจากนั้นจึงเกิดเสียงแตรขึ้นในนาทีที่ 01.40 ถึงนาทีที่ 02.31 จึงกล่าวได้ว่า ข้อกล่าวหานี้มาจากการบีบแตรติดต่อกันสองรอบ รวมกันประมาณหนึ่งนาทีกว่าๆ
ตะวันถามเรื่องขบวนเสด็จ ไม่ถูกตั้งข้อหาดูหมิ่น
ในส่วนของความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานใน ปอ.มาตรา 136 ตะวันไม่ถูกตั้งข้อหานี้ ส่วนแฟรงค์ถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ จากบทสนทนาในไลฟ์เฟซบุ๊ก แฟรงค์เข้าใจว่า มีตำรวจแสดงท่าทีจะทำร้ายตนจึงพูดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคนที่ 2 ว่า “มาดิ คิดว่าเจ๋งมากหรอพี่” หรือ “คิดว่าเจ๋งมากหรอพี่ เป็นตำรวจแล้วเจ๋งมากอ๋อ” รวมถึง “เป็นควยอะไรเนี่ย ไอ้เหี้ย” จึงถูกตั้งข้อกล่าวหานี้
โดยหลักแล้วการดูหมิ่น หมายถึง การดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย ทำให้เสียหาย เป็นที่เกลียดชัง สบประมาทหรือด่า ส่วนกรณีคำหยาบคายไม่สุภาพ คำแดกดัน คำสาปแช่ง คำขู่อาฆาต คำปรับทุกข์ คำโต้เถียง คำกล่าวติชม ตามปกติวิสัยไม่เป็นการดูหมิ่น ฉะนั้นการกล่าวว่า “คิดว่าเจ๋งมากอ๋อ” เป็นคำแดกดันยังไม่ถึงกับดูหมิ่น หรือ “เป็นควยอะไรเนี่ย ไอ้เหี้ย” เป็นคำหยาบคาย ส่วนจะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือไม่ต้องพิจารณาไปตามพฤติการณ์แวดล้อมด้วย และขึ้นอยู่กับว่าก่อนหน้าที่แฟรงค์จะกล่าวคำเหล่านั้นตำรวจแสดงพฤติการณ์อย่างไรด้วย มีการท้าตีท้าต่อยจริงหรือไม่ ซึ่งไม่ปรากฏให้เห็นในคลิปที่เผยแพร่ออกมา
บีบแตรยาวเกินควร ยาวที่สุด 52 วินาที
ข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 14 การใช้เสียงสัญญาณหรือการบีบแตร ในกรณีนี้ผู้ขับขี่ คือ แฟรงค์ บีบแตรครั้งแรก 37 วินาทีเนื่องจากการจราจรที่ติดขัด ครั้งที่สอง 52 วินาที เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามขับรถแซงเข้าด้านหน้าเพื่อปิดล้อม ในที่นี้ไม่มีผู้ใดสามารถรู้ถึงเจตนาของผู้ขับขี่ได้ว่าใช้เสียงสัญญาณเพื่อป้องกันอุบัติเหตุหรือไม่ แต่อย่างไรก็ดีกฎหมายได้ระบุว่าแม้จะป้องกันอุบัติเหตุ “แต่จะใช้เสียงยาวหรือซ้ำเกินควรไม่ได้” จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎจากคลิปและไลฟ์เกิดเสียงแตรขึ้น 5 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ยาว 37 วินาที เหตุการณ์ก่อนหน้า คือ การจราจรเริ่มติดขัด
ครั้งที่ 2 ยาว 52 วินาที เหตุการณ์ก่อนหน้า คือ รถของเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามขับปิดล้อม
ครั้งที่ 3 ยาว 26 วินาที เหตุการณ์ก่อนหน้า คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายภาพ
ครั้งที่ 4 ยาว 5 วินาที เหตุการณ์ก่อนหน้า คือ แฟรงค์เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงท่าทีท้าต่อยตนเอง
ครั้งที่ 5 ยาว 3 วินาที เหตุการณ์ก่อนหน้า คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดทางให้ทั้งสองคนและกล่าวว่า ‘ไปดิไป’
ก่อนถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา ตะวันเคยกล่าวให้สัมภาษณ์ “ขอโทษ” และยอมรับผิดแล้ว กับการขับรถเร็วไม่ระมัดระวัง แสดงให้เห็นถึงความรับรู้ว่ามีส่วนผิดในพ.ร.บ.จราจรทางบกอยู่บ้าง แต่ทั้งสองคนไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหากับการขับรถเร็ว มีเพียงข้อกล่าวหาจากการบีบแตรยาวเกินควร ซึ่งทั้งสองคนยังไม่เคยกล่าวยอมรับผิดในเรื่องการบีบแตร