สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: ตีกรอบนโยบายให้คณะรัฐมนตรีทำงานเหมือนข้าราชการประจำ

ประเด็นว่าด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือรัฐบาล ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประเด็นที่พรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และนักวิชาการบางส่วน วิจารณ์ว่าให้อำนาจกับองค์กรตุลาการ และองค์กรอิสระ ตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีที่มาจากประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ซึ่งขัดแย้งกับหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างทุกฝ่าย นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอที่จะเสียเวลาส่วนใหญ่กับการต่อรองกันของพรรคร่วมรัฐบาล สร้างรัฐบาลเป็ดง่อย รัฐบาลรักษาการถาวร ที่ไม่มีสมาธิจัดการปัญหาโครงสร้างระยะยาว และรัฐบาลจะมีอายุสั้น เพราะต้องเผชิญความคลุมเครือในการพิจารณางบประมาณประจำปีและมาตรฐานทางจริยธรรมที่จะนำไปสู่การถอดถอนได้ 

ในทางตรงข้าม เอกสารชื่อ “กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไขข้อข้องใจ” ซึ่งเป็นคู่มือของวิทยากรครู ค. ที่ใช้ตอบข้อเห็นต่างของผู้ที่ไม่เห็นด้วย สำหรับประเด็นข้อวิจารณ์ต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ว่าก้าวก่ายอำนาจการบริหารของ ครม. คำตอบของ กรธ. คือ ร่างนี้เพียงแต่เพิ่มกลไกในการตรวจสอบการทำงาน สร้างความโปร่งใสในการดำเนินกิจกรรมของรัฐ และกำหนดความรับผิดชอบของ ครม. ให้ชัดเจนเท่านั้น ขณะที่คำถามว่าองค์กรอิสระจะมาควบคุมและทำให้รัฐบาลอ่อนแอจริงหรือไม่ คำตอบของกรธ. คือ เนื่องจากที่ผ่านมาการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารมีปัญหา ซึ่งองค์กรตรวจสอบก็จะมีอำนาจในการตรวจสอบเหมือนเดิม แต่ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น

การให้อำนาจองค์กรตุลาการ และองค์กรอิสระ เหนือฝ่ายบริหาร เป็นประเด็นข้อถกเถียงสำคัญของเรื่อง ครม. ในร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามนอกจากประเด็นนี้แล้ว ในส่วนของ ครม. ยังมีประเด็นอื่นที่น่าสนใจอีก ดังนี้ 

นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินแปดปี

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งเลือกจากบัญชีรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ นายกรัฐมนตรีแต่ละคนจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกินแปดปี ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ โดยครม. ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน

คุมเข้มคุณสมบัติ รมต. ต้องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

สำหรับคุณสมบัติของรัฐมนตรี ในร่างรัฐธรรมนูญค่อนข้างเข้มงวดอย่างมากหากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 โดยคุณสมบัติดั้งเดิม เช่น “การต้องคำพิพากษาให้จำคุก” รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาจำคุกไม่เกินสองปีขึ้นไป และได้รับการพ้นโทษมาถึงห้าปีในวันเลือกตั้งสามารถเป็นรัฐมนตรีได้ ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดหากพ้นโทษถึงห้าปีในวันเลือกตั้งสามารถเป็นรัฐมนตรี ส่วนร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน กำหนดหากพ้นโทษถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้งสามารถเป็นรัฐมนตรีได้ นอกจากนี้ในร่างรัฐธรรมนูญยังเพิ่มคุณสมบัติใหม่เข้ามา เช่น ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือ ไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง  

ตัวอย่างคุณสมบัติรัฐมนตรีที่น่าสนใจตามมาตรา 160 
– ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
– ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
– เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
– ไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
– ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
– ไม่เคยใช้ความเป็นรัฐมนตรีก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเอง

ครม.ต้องดำเนินนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติ

การบริหารราชการแผ่นดินในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะทำให้ ครม.ไม่มีอำนาจและไม่มีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย เนื่องจากมาตรา 162 กำหนดให้ ครม.ที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาซึ่งต้องสอดคล้องกับแนวทางที่เขียนไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากนี้ยังต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายด้วย ทำให้ ครม.ตามร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงเป็นเพียงองค์กรที่เข้ามาทำหน้าที่เพียงเข้ามาเพื่อทำงานประจำเท่านั้น ไม่สามารถกำหนดนโยบายสาธารณะด้วยตนเองได้

โดยเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีกำหนดให้ ครม. ต้องแถลงนโยบายตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เมื่อแถลงนโยบายแล้วต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติราชการแต่ละปี ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 ครม.เพียงแค่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเท่านั้นไม่มีกรอบให้ ครม.ต้องปฏิบัติตาม ทำให้การบริหารและการกำหนดนโยบายเป็นอิสระอย่างมาก

องค์กรอิสระสามารถทักท้วงการทำงานของ ครม.

ในด้านการบริหารราชแผ่นดินของ ครม. รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กำหนดไว้เหมือนกันคือ รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของ ครม.

ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันในมาตรา 164 ได้เพิ่มเติมการบริหารราชการแผ่นดิน นอกจาก ครม.ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาแล้วยังต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้  
(1) ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เปิดเผย และมีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขของประเทศและประชาชนส่วนรวม
(2) รักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
(3) ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
(4) สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ผาสุกและสามัคคีปรองดองกัน

ทั้งนี้ ตามร่างมาตรา 245 หาก ครม. บริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นตามข้อสอง องค์กรอิสระสามารถทักท้วงเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐ โดยผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินสามารถเสนอผลการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง ต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณา

หากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นพ้องด้วยกับผลการตรวจสอบดังกล่าว ให้ปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากที่ประชุมร่วมเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบนั้น ให้ร่วมกันมีหนังสือแจ้ง ครม.เพื่อทราบ

ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รัฐมนตรีแทนฝ่ายการเมืองได้

นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ถึง 2550 การสิ้นสุดคณะรัฐมนตรีเกิดขึ้นได้สามเงื่อนไข คือ 1) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เช่น นายกรัฐมนตรีถูกสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ ลาออก หรือเสียชีวิต 2) คณะรัฐมนตรีลาออก และ 3) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

หากเป็นไปตามเงื่อนไขข้อหนึ่งและข้อสองจะต้องเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร แต่หากเป็นในข้อสามจะต้องจัดการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรใหม่เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้ง ครม.ชุดต่อไป  

ในร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันยังคงเงื่อนไขทั้งสามข้อไว้เช่นเดิม แต่ได้เพิ่มเงื่อนไขใหม่ลงไปด้วย คือ กรณี ครม. แปรญัตติงบประมาณที่ตนมีส่วนใช้ ตามมาตรา 167 (4) ซึ่งกำหนดให้ ครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 ที่ระบุว่า   

         “ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวน ในรายการมิได้…”

         “ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้”

         “ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา มีจำนวนไม่น้อยกว่า หนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืน…ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา…ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืน…ถ้าผู้กระทำการดังกล่าวเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้กระทำการนั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพ…แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำการหรืออนุมัติให้กระทำการ หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติ และให้ผู้กระทำการดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย”

ในกรณีที่ ครม. สิ้นสุดลงทั้งคณะ ด้วยเหตุตามมาตรา 144 ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 168 กำหนดให้ระหว่างที่รอสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นๆ เฉพาะเท่าที่จำเป็นไปก่อน โดยให้ปลัดกระทรวงคัดเลือกกันเองให้คนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ในมาตราเดียวกันยังระบุว่า ในกรณีที่ “ครม.ที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปลาออกทั้งคณะ” ซึ่งหมายถึง ครม.รักษาการ สามารถลาออกอีกครั้ง เช่น หาก ครม.รักษาการหลังการยุบสภาเพื่อรอเลือกตั้งใหม่ตัดสินใจลาออก ก็จะเปิดโอกาสให้ปลัดกระทรวงต่างๆ ขึ้นมาทำหน้าที่บริหารประเทศแทน หรือในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรยังไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วยเหตุผลอื่นๆ การให้ปลัดกระทรวงขึ้นมาทำหน้าที่ ครม.แทนฝ่ายการเมืองก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน 

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น