ในงานเสวนาเรื่อง “การจดทะเบียนสมรสของคนรักเพศเดียวกัน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลงานวันสิทธิความหลากหลายทางเพศ ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 ที่หอประชุมอนุสรณ์สิบสี่ตุลา มีตัวแทนของนักกิจกรรมสังคมด้านต่างๆ ร่วมให้ความคิดเห็นถึงความเป็นไปได้ ที่จะให้กฎหมายไทยยอมรับการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน
ยืนยันกฎหมายการสมรสเพศเดียวกันยังจำเป็น
ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ นักกิจกรรมด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า ส่วนตัวอยากทำงานผลักดันกฎหมายการสมรสของคนเพศเดียวกัน เพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งการยอมรับจากครอบครัว สังคม เพราะวันนี้มีหลายคู่อยู่ด้วยกันได้อยู่แล้วไม่มีปัญหา แต่ผู้ใหญ่จะมองว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง เบาๆ หวิวๆ ง่ายๆ เดี๋ยวก็เลิกกัน ถ้ามีกฎหมายมารับรอง น่าจะทำให้ความสัมพันธ์นี้มั่นคงกว่าที่เป็นอยู่ แต่กฎหมายอย่างเดียวคงไม่พอ ยังต้องทำงานรณรงค์สร้างความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน
“หลายคนบอกว่า ทำไมเราต้องมาจดทะเบียน ทุกวันก็อยู่ด้วยกันได้อยู่แล้ว ไม่เห็นมีความจำเป็นอะไร การยกทรัพย์สินให้กันก็สามารถทำได้ด้วยการเขียนพินัยกรรม แต่เราไม่น่าจะต้องเขียนพินัยกรรม เราน่าจะสามารถจดทะเบียนให้การรับรองคู่ของเราได้” ฉันทลักษณ์กล่าว
สำหรับความจำเป็นของกฎหมายการสมรสนั้น ฉันทลักษณ์มองว่า คู่หญิงรักหญิงซึ่งมักมีแนวโน้มว่าจะใช้ชีวิตคู่ด้วยกันนาน จะต้องการกฎหมายฉบับนี้มาช่วยสนับสนุนคุ้มครองชีวิตคู่ให้มีความมั่นคงมากขึ้น ขณะที่ชายรักชายอาจจะรู้สึกว่าจำเป็นบ้างไม่จำเป็นบ้าง
เครือข่ายเตรียมเดินหน้าผลักดัน แต่ไม่รีบร้อน
ฉันทลักษณ์ กล่าวต่อว่า มีความพยายามเรียกร้องมานานมากแล้ว แต่ยังไม่มีคนที่จะมาร่วมทำด้วยอย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้ประมาณปีสองปี มีข่าวว่า เกย์นทีล่าลายเซ็นต์สำหรับผลักดันกฎหมายจดทะเบียนสมรส แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวมากไปกว่านั้น ซึ่งในส่วนของเครือข่าย เพิ่งคุยกันว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนน่าจะทำงานเคลื่อนไหวร่วมกันได้ในปีหน้า ส่วนจะสำเร็จอีกสัก ยี่สิบหรือสามสิบปีก็ไม่เป็นไร
นอกจากนี้ ฉันทลักษณ์ยังแสดงความกังวลว่า ในปัจจุบันกฎหมายการแต่งงานระหว่างหญิงชาย ก็ยังไม่เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นอาจจะต้องคุยในแวดวงคนรักเพศเดียวกันด้วยว่า เราต้องการกฎหมายการจดทะเบียนที่คล้ายๆ แบบที่มีอยู่ หรือเราต้องการกฎหมายใหม่ ที่มีความเท่าเทียมมากกว่านี้
โอด! เพื่อนกะเทยเคลื่อนไหวน้อย เน้นชัด! กฎหมายต้องมีไว้เป็นทางเลือก
ฐิติญานันท์ หนักป้อ นักกิจกรรมอีกท่านหนึ่ง กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มคนข้ามเพศ(Transgender) หรือกลุ่มกะเทยเองยังไม่ค่อยเคลื่อนไหวเรื่องนี้มากนัก กฎหมายนี้อาจเป็นทางเลือก แต่อาจจะไม่ใช่ทุกคน บางคู่ต้องการแต่บางคู่ไม่ต้องการ แต่กฎหมายปัจจุบันมันไม่มีทางให้เราเลือก ไม่มีกฎหมายอะไรมารองรับสำหรับคู่ที่ต้องการจริงๆ ซึ่งวัตถุประสงค์จริงๆ ของการจดทะเบียน เช่น เรื่องมรดก หรือการใช้สวัสดิการโรงพยาบาลต่างๆ ส่วนนี้น่าจะสำคัญมากกว่าจดทะเบียนหรือไม่จด
ฐิติญานันท์เห็นว่า เนื่องจากวัฒนธรรมไทยสามารถภาคภูมิใจได้โดยไม่ต้องจดทะเบียน ที่เห็นตามข่าวหนังสือพิมพ์ มีการสู่ขอ มีพิธีกรรม มีงานแต่งงาน ก็เหมือนได้ประกาศให้คนรู้แล้ว อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าสามารถใช้ชีวิตคู่ได้ ไม่ค่อยรู้สึกว่าต้องออกมาเรียกร้องเท่าไร
ฐิติญานันท์ หนักป้อ ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่
นักกฎหมาย ระบุมาตราที่เป็นอุปสรรค พร้อมเสนอแก้คำนำหน้านามด้วย
ด้าน อ.วราภรณ์ อินทนนท์ โครงการจัดตั้งคณะนิติธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ให้มุมมองในแง่กฎหมายว่า ปัจจุบัน ข้อจำกัดของกฎหมายไทย อยู่ในกฎหมายครอบครัว บรรพ5 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในมาตรา 1448 ที่กำหนดไว้ว่า การสมรสจะทำได้ก็ต่อเมื่อ “ชายและหญิง” อายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์
อ.วราภรณ์เล่าต่อว่า มีอีกหลายมาตราที่เป็นอุปสรรค เช่น มาตรา 1457 กำหนดว่า การสมรสตามกฎหมายจะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น มาตรา 1458 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อ “ชายหญิง” ยินยอมเป็นสามีภรรยากันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ และมาตรา152 เรื่องต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด
อ.วราภรณ์ ได้เสนอแนวทางแก้ไขกฎหมายไว้ด้วยว่า ต้องเริ่มจากมีมุมมองความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่แค่คนรักเพศเดียวกัน แต่ยังมีเรื่องคนข้ามเพศ(TG) ดังนั้น การจะแก้ไขกฎหมายทางเพศ ต้องเริ่มจาก การแก้ไขสถานะทางเพศของบุคคลที่แปลงเพศแล้ว ควบคู่ไปกับกฎหมายการสมรสของคนเพศเดียวกันด้วย
ศาสนายังเป็นอุปสรรค ต้องนำสังคมไม่ใช่ตาม
อ.เค็นเน็ต ด็อบสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนา กล่าวว่า ศาสนาพูดง่ายๆ ก็คืออุปสรรค ที่แท้จริง บทบาทของศาสนาจะต้องเป็นฝ่ายนำวัฒนธรรม ปัญหาคือส่วนมากศาสนาจะตามวัฒนธรรม สังคมจะเคลื่อนที่หรือว่าเปลี่ยนความคิด ศาสนาก็จะตามไป ไม่เหมือนกับสมัยของพระเยซู หรือพระพุทธเจ้า ทั้งสองพระองค์ยอมที่จะนำเพื่อให้วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลง ในประเทศไทย เราจะต้องรอให้สังคมยอมรับเราก่อน เพราะศาสนาจะไม่นำ
อ.เค็นเน็ตมองว่า ศาสนาจะอนุรักษ์นิยมมากที่สุด เราได้เห็นในโลกของเราโดยไม่ต้องยกตัวอย่าง จึงมีช่องว่างระหว่างความคิดของสังคม การยอมรับของสังคม และการยอมรับของศาสนา ขอเรียกว่า religious gap
“ปัญหาของศาสนา คือ จะต้องแบ่งเป็น ชายและหญิง ถ้าเป็นประเภทที่สามที่ลำบาก ซึ่งนั่นไม่ใช่หลากหลาย ยังเป็นสอง นี่คือข้อที่เราต้องสู้ ความหลากหลายจะต้องเกิดขึ้นในโลกของเรา” อ.เค็นเน็ตกล่าว
สี่ศาสนายังให้ค่าการสมรสไม่เหมือนกัน
เรื่องการแต่งงาน อ.เค็นเน็ตอธิบายถึงมุมมองของแต่ละศาสนาว่า สำหรับคาทอลิกถือเป็นหนึ่งในเจ็ดศาสนพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ คริสตจักร จึงจะควบคุม ดูแล ป้องกันไม่ให้หลุดจากมือ คาทอลิกจึงเป็นเหมือนตำรวจคอยป้องกันการแต่งงาน แต่โปรแตสแต๊นท์ เข้าใจว่าการแต่งงานเป็นสัญญาระหว่างคู่สมรส (social contract) บทบาทของศาสนาจึงเป็นที่ปรึกษา เป็นครูสอน ไม่ป้องกัน
ศาสนาอิสลามเข้าใจว่าการแต่งงานเป็นการตกลงภายในสังคม (social arrangement) ส่วนศาสนาเป็นฝ่ายป้องกันสังคมอิสลาม ไม่นำ แต่ป้องกัน มีโอกาสที่จะห้าม แต่สังคมอิสลามเองก็หลากหลาย แต่ละที่เป็นอิสลามแต่ไม่เหมือนกันเลย ส่วนพุทธศาสนา ถือเป็น การตกลงภายในสังคมเช่นกัน และอยู่ภายใต้ธรรมะ เหมือนความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง ระหว่างเพื่อนภายในสังคม และไม่มีธรรมะเฉพาะสำหรับชีวิตสมรสชาวเกย์ จะอยู่ภายใต้ธรรมะของสังคม
อ.เค็นเน็ต หนึ่งในผู้ที่จดทะเบียนสมรสกับคนเพศเดียวกันจากรัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา เล่าถึงชีวิตหลังการจดทะเบียนให้ฟังว่า แต่งงานแล้วมันไม่มีอะไรเปลี่ยนไป พ่อแม่ของเค้า สังคมของเรา ยอมรับเราแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง กระดาษที่เราได้จากไอโอวามันไม่เกี่ยวเลย ผมทำเพราะอยากให้เข้าใจว่า มันมีตัวอย่างที่หนึ่งในโลกที่ทำได้
ดร.ปณิธี สุขสมบูรณ์ อ.เค็นเน็ต ด็อบสัน อ.วราภรณ์ อินทนนท์
บทเรียนเนเธอร์แลนด์ 40 ปี ค่อยเป็นค่อยไป
ด้าน ดร.ปณิธี สุขสมบูรณ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าประสบการณ์จากการไปศึกษาที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีกฎหมายยอมรับการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน ว่า ต้องย้อนไปดูบริบททางสังคมของเนเธอร์แลนด์ในปี 1960 ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ครอบครัวเดี่ยว ที่มี พ่อ-แม่-ลูก ไม่ได้เป็นบรรทัดฐานหลักของสังคมอีกต่อไป มีรูปแบบที่หลากหลายเกิดขึ้น เช่น หญิงกับชายที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันแบบแต่งงาน อยู่คนละบ้านก็มี มีรูปแบบพ่อหรือแม่ที่เลี้ยงลูกคนเดียว และมีรูปแบบหญิงรักหญิง ชายรักชาย
ดร.ปณิธีเล่าว่า ในช่วงนั้น ศาสนากับการควบคุมวิถีชีวิตคนในสังคมเริ่มเสื่อมอำนาจลง เนเธอร์แลนด์เป็นโปรเตสแตนท์การควบคุมจึงน้อย และขณะเดียวกันก็มีการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ในประเด็นอื่นๆ ด้วยเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน
ดร.ปณิธีเล่าต่อว่า ในปี 1985 กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเกย์ (Gay Rights Movement) เรียกร้องให้รัฐสภาออกกฎหมายอนุญาตให้คนเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้ จนกระทั่งปี 1995 รัฐสภาถึงตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ของการร่างกฎหมาย ใช้เวลาไปสิบปี จนปี 2001 กฎหมายถึงมีผลบังคับใช้ ให้ได้รับสิทธิเหมือนหญิงชายที่สมรสกัน
“ในแง่กฎหมายเรียกว่า the law of small change คือไม่ได้เปลี่ยนในทันทีทันใด แต่เป็นกฎหมายที่ค่อยๆ เปลี่ยนทีละนิดในสังคมดัชต์ พร้อมกับการเปลี่ยนทัศนคติของผู้คน ที่มองเรื่องครอบครัวที่หลากหลายและมองความหลากหลายทางเพศประกอบกันไปด้วย” อ.ปณิธี กล่าว
อ.ปณิธียังได้อธิบายด้วยว่า การที่คู่สมรสในเนเธอแลนด์จดทะเบียนสมรสกันได้ จะนำไปสู่สิทธิตามกฎหมายอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น สิทธิของคู่หญิงรักหญิงในการเป็นผู้ปกครองของเด็กที่เกิดจากสเปิร์มบริจาค สิทธิของคู่ชายรักชายในการรับเด็กมาเลี้ยง สิทธิในการรับบำนาญของคู่สมรส สิทธิการตัดสินใจกรณีตัดสินใจตายอย่างสงบ สิทธิรับค่าเลี้ยงดูหลังการหย่าร้าง สิทธิในการลดหย่อนภาษี
เน้นความหลากหลายทางครอบครัว ควบคู่ความหลากหลายทางเพศ
ดร.ปณิธี กล่าวถึงโอกาสในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในประเทศไทยว่า เนเธอร์แลนด์ใช้เวลา 40 ปีในการเปลี่ยน สำหรับในไทย การเคลื่อนไหวทางกฎหมายต้องควบคู่ไปกับเคลื่อนไหวทางสังคมด้วย การเคลื่อนไหวเรื่องความหลากหลายทางเพศก็จำเป็น แต่ยังไม่พอ ต้องไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวเปลี่ยนทัศนคติเรื่องความหลากหลายของครอบครัวด้วย
ดร.ปณิธีกล่าวอีกว่า สังคมไทยยังมีวิธีคิดแคบๆ ว่า ครอบครัว คือ ชายหญิงที่สมรสกันตามกฎหมาย แม้กระทั่งชายกับหญิงที่อยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนยังถูกผลักให้เป็นคนชายขอบเหมือนกัน พื้นที่ของครอบครัวที่หลากหลายจึงยังไม่มีเสียงออกมา แต่เชื่อว่าในอนาคต รูปแบบครอบครัวที่หลากหลายจะมีเยอะ เพราะฉะนั้นสังคมจะต้องปรับตัว คงจะต้องมีกฎหมายออกมารองรับ
“ถ้ามองเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว จะว่าไปก็เป็นแนวคิดตะวันตกที่มองแบบปัจเจก ถ้ามองแบบนั้นอาจจะได้รับสิทธิในแง่พื้นที่ที่จะรักเพศเดียวกันใช้ชีวิตกับคนเพศเดียวกันได้ แต่ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนทัศนคติว่าครอบครัวมีหลากหลาย คุณก็จะยังไม่มีพื้นที่ในการสร้างครอบครัว และในการจดทะเบียนสมรสด้วย” ดร.ปณิธีฝากไปยังนักกิจกรรมที่จะเดินหน้าเรียกร้องในประเด็นเหล่านี้ต่อไป