เปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม: ไปให้ไกลกว่ายุติการดำเนินคดี ต่อนักโทษการเมือง

8 กุมภาพันธ์ 2567  ที่โคลัมโบ คราฟต์ วิลเลจ  จังหวัดขอนแก่น  เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนและแอมเนสตี้ประเทศไทย จัดงาน “Amnesty Regional Meet Up: นิรโทษกรรม ประชาชน เปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม” เพื่อชวนประชาชนทำความรู้จักและเข้าใจเรื่อง “นิรโทษกรรมประชาชน” รวมถึงการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีผู้ร่วมวงเสวนาได้แก่ ทรงพล สนธิรักษ์  ผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม, รศ.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, เฝาซี ล่าเต๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยมี ณัฐพร อาจหาญ นักพัฒนาเอกชน เป็นผู้ดำเนินรายการ 

บรรยากาศที่ไม่ปกติในคดีการเมือง 

พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเล่าว่า ในบรรยากาศที่ไม่ปกติก็จะเจอปัญหาหลายอย่าง ฝ่ายรัฐที่มีอำนาจจะมีแนวคิดหนึ่งที่บ่อยครั้งจะเป็นการโยนภาระในคดีที่เป็นการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าการกระทำจะเข้าข้อกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ขอดำเนินคดีไว้ก่อน เกิดเป็นภาวะของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติกับผู้ออกมาใช้สิทธิในการแสดงออกทางการเมืองอย่างการชุมนุม ในลักษณะที่ว่า “พี่ไม่รู้หรอกว่าเองทำอะไร แต่ต้องดำเนินคดีก่อนนะ เดี๋ยวนายพี่ว่า..” ทั้งที่ในฐานะผู้ถือกฎหมายควรต้องทำให้ชัดเจนและโปร่งใสให้มากที่สุด ดังนั้นการเลือกดำเนินคดีไว้ก่อน จึงมีเจตนาที่ต้องการจะ “ปิดปาก” กันไม่ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพ

ทนายพัฒนะเล่าอีกว่า ถ้าอย่างดีคือถูกดำเนินคดีไป แล้วเจ้าหน้าที่ทำสำนวนไปตามจริง ก็ดีไป แต่ในหลายๆ ครั้ง การทำสำนวนนั้นก็ไม่ปกติ เช่น ข้อหาไม่ได้เข้าข้อกฎหมายก็ไปคิดพิสดารขึ้นมา จากที่บางครั้งปกติการกระทำนั้นไม่ผิด ก็สามารถมีความผิดขึ้นมาได้จากเรื่องราวที่เกี่ยวโยงกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งตัวนักเคลื่อนไหวเองก็เสมือนตกอยู่ในสถานะ ทนได้ก็ทนไป

คนที่ต้นทุนต่ำ ที่อาจจะมาชุมนุมเพียงครั้งเดียวแล้วถูกดำเนินคดีนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับประชาชนคนหนึ่ง ในส่วนของทนายสิทธิเองก็จะช่วยได้เท่าที่ช่วยคือเป็นทนายความให้กับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเหล่านี้

ทนายให้ภาพอีกว่า สถานการณ์กระบวนการยุติธรรมช่วงรัฐประหาร มาจนถึง หลังการเลือกตั้งที่ผ่านไปสองหน ถ้าให้พูดตรง ๆ ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังมีการฟ้องยิ่งโดยเฉพาะมาตรา 112 นั้นเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งได้มีข้อสังเกตในช่วงปี 2561-2563 ที่จะเป็นช่วงที่พล.อ.ประยุทธ์ แสดงออกว่า จะไม่ใช้มาตรา 112 ซึ่งคิดว่าสถานการณ์คงจะดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า ถ้าโดนฟ้องมาตรา 112 นั้น ศาลอาจจะตัดสินว่าคุณไม่ผิด 112 แต่คุณผิดมาตรา 116 แทน ซึ่งเป็นข้อหายุยงปลุกปั่น ถามว่าในคำสั่งฟ้องได้ฟ้องมาตรา 116 ไหมก็ไม่ได้ฟ้องมา ในฐานะทนายที่สู้คดี ก็สู้ในองค์ประกอบที่ว่าเราไม่ได้ผิด มาตรา 112 ปรากฏว่าคำพิพากษาก็ออกมาว่า ไม่ผิด มาตรา 112 แต่ผิด มาตรา 116 แทน ในฐานะทนายเองก็รู้สึก จึ้ง พอสมควร เพราะเรียนกฎหมายมาก็ไม่เคยเจออะไรแบบนี้

พอถึงเวลาพ้นปี 2563 พลเอกประยุทธ์ ก็แสดงท่าทีชัดเจนว่า จะใช้ทุกมาตรา ซึ่งหมายรวมถึงมาตรา 112 ด้วยในความหมาย ซึ่งนี่คือสภาพความเป็นจริงของสถานการณ์กระบวนการยุติธรรมกับคดีความทางการเมือง มีการแจ้งข้อกล่าวหาทุกวัน มีการฟ้องคดีเพิ่มขึ้นทุกวัน และมีผู้ต้องหาที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวในข้อหานี้ มากขึ้นทุกวัน

การดำเนินคดีการเมืองกับนักกิจกรรม สร้างความหวาดกลัวให้คนไม่กล้าเรียกร้องฯ

ทรงพล สนธิรักษ์  กล่าวถึงความผิดหวังในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างที่ต้องเรียกว่า รัฐบาลเผด็จการ เพราะกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ มันไม่เหมือนขั้นตอนที่เราเคยเรียนมาที่ว่าจะมีการพิจารณาตามระบบระเบียบ หรือตามตัวบทกฎหมาย ซึ่งเราคาดหวังว่ากระบวนการจะสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชน หรือคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ที่ผ่านมาจากที่ออกไปชุมนุม ก็จะถูกดำเนินคดีเกือบทุกครั้ง ในบางการชุมนุมไม่ได้ขึ้นปราศรัยหรือขึ้นไปพูดเพียงแค่ไปร่วม ตำรวจก็เล็งว่า สามารถดำเนินคดีใครได้แค่เพียงอยู่ในพื้นที่ชุมนุม แค่มารวมกัน ก็จะมีการยัดคดี โดยเฉพาะในช่วงที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงโควิด-19 ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีการระบาดอย่างรุนแรง แต่การบริหารจัดการในลักษณะที่เป็นรัฐบาลเผด็จการที่ไม่ได้มีการรับมือที่ดีพอนั้น เราก็ต้องออกมาพยายามประท้วงจนตอนนั้นไม่ได้รู้สึกกลัวว่าจะโดนคดี “แต่สุดท้าย ผมคนเดียวก็โดนไป 22 คดี จากการที่เขาไล่ฟ้องทุกวัน ในทุกครั้งที่เราไปชุมนุม”

ก่อนที่ทรงพล จะไล่เรียงลำดับจากต้นน้ำที่เจ้าหน้าที่ก็จะฟ้องคดี หาจำเลย เสมือนหนึ่งว่าทำผลงานให้กับนาย ส่งสำนวนไปยังกลางน้ำ ให้กับอัยการ ซึ่งก็จะรวบรวมสำนวนฟ้อง ส่งให้กับศาล เป็นการโยนความรับผิดชอบไปให้กับศาลในชั้นปลายน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ศาลมักจะตัดสินว่าผิดแม้เพียงแค่ไปร่วม แม้ว่าทนายจะโต้แย้งว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยอ้างถึงปฏิญญาสากลที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพไปให้ศาลพิจารณา แต่ศาลก็ไม่ได้พิจารณาในจุดนั้น แม้สถานการณ์ตอนนั้นมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการห้ามฝ่าฝืนการออกมาร่วมชุมนุม แต่สถานการณ์ความเป็นจริงเรามีมาตรการที่พยายามทำให้รัดกุมที่สุดในการชุมนุมแต่ละครั้งเพื่อให้ไม่มีเงื่อนไขในการกล่าวหาได้ ซึ่งก็ไม่เป็นผล

การถูกดำเนินคดีจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เฉพาะที่ตนเจอนั้นก็ถือได้ว่านอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเองที่ต้องไปรายงานตัวประจำแล้ว ยังเสมือนหนึ่งว่าสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวให้กับคนที่เห็นเราถูกกระทำ ทำให้เขาไม่กล้าออกมาเรียกร้อง หรือใช้สิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญ

เปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรมโดย Transitional Justice

รศ.อลงกรณ์ อรรคแสง เล่าถึงคำว่าการ “เปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม”  เป็นคำที่ต่างประเทศมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่พูดถึงมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา เพื่อใช้ในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีความแตกแยก โดยเฉพาะสังคมที่ผ่านความเป็นเผด็จการ ผ่านอำนาจนิยมมา ซึ่งคำนี้ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Transitional Justice หรือเรียกสั้นๆ ว่า TJ

คำที่ว่า นิรโทษกรรม เป็นแขนงหนึ่งและองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ TJ เกิดขึ้นได้ โดยเป้าหมายของ TJ คือต้องการทำให้สังคมที่ขัดแย้งกลับไปสู่การปรองดอง ซึ่งจะมีหลายมาตรการที่ทำให้เกิดการปรองดอง สำนักงานเลขาธิการสหประชาติให้นิยามว่า TJ คือกระบวนการและกลไกที่ครบวงจร เป็นความพยายามของสังคมที่ตกลงร่วมกันเพื่อจัดการกับมรดกของการละเมิดที่เกิดกับประชาชนในอดีต ว่าจะจัดการอย่างไร เป็นแนวคิดและกระบวนการที่ครอบคลุมเครื่องมือและกลไกทางกฎหมาย การเมือง และวัฒนธรรม

กฎหมายนิรโทษกรรมคือมุมหนึ่ง แต่ถ้าจะก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ ให้เกิดความปรองดองและความยุติธรรมในการเปลี่ยนผ่าน เราต้องมองในมิติการเมืองและมิติทางวัฒนธรรมด้วย

พัฒนาการและกระบวนการของ TJ เริ่มต้นที่การตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริง ยกตัวอย่างเช่น เราเกิดความขัดแย้ง เรามีคณะกรรมการที่ลุกขึ้นมาแสวงหาความจริงตรงนี้หรือไม่ ?

ถัดมาเป็นการรำลึก เพื่อให้เรื่องนี้ไม่ได้อยู่เพียงในอากาศ มันจำเป็นจะต้องมี Memorial มีความทรงจำบางอย่างนอกจากกฎหมายนิรโทษกรรม อาจจะต้องมีการผลักดันไปถึงการสร้างอนุสรณ์สถานว่าด้วยการทำร้ายประชาชน ด้วยกฎหมายรุกป่า ด้วยคำสั่งคสช. เป็นต้น การจะทำให้ความทรงจำเหล่านี้ให้คนตระหนักมากกว่าการพูดกันลอย ๆ คือจะทำยังไงให้เรื่องราวความขัดแย้งเข้าไปอยู่ในภาพยนตร์ ในละคร ในหนังสือ เพื่อให้ชนรุ่นหลังรับรู้ว่า คนรุ่นปู่ย่าตายายของพวกเขานั้นมีความขัดแย้งทั้งในเรื่องการเมือง เรื่องที่ดินป่าไม้ เพื่อที่ให้ชนรุ่นหลังจะได้ไม่ทำซ้ำรอยกับอดีต มันต้องมีสิ่งนี้ ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม 

การนิรโทษกรรมเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่จะนำสังคมออกจากความขัดแย้ง

เฝาซี ล่าเต๊ะ อธิบายถึง Concept ของคำว่านิรโทษกรรม คือ การลืม แต่ไม่ได้หมายความให้ลืมว่าเจ้าหน้าที่รัฐเคยทำอะไรกับเราบ้าง แต่หมายถึงว่าเราทุกคนหรือว่าเจ้าหน้าที่รัฐเองต้องลืมว่า เราเคยถูกดำเนินคดีอะไรบ้าง หมายความว่า คดีที่ยังอยู่ในชั้นสอบสวนก็ต้องยุติ คดีที่รอสั่งฟ้องก็ต้องไม่ฟ้อง คดีที่ตัดสินแล้วก็ต้องยุติ แม้กระทั่งหากมีคนโดนจำคุกแล้วก็ต้องสั่งปล่อยตัว แต่การนิรโทษกรรมก็ย่อมมีขอบเขตเหมือนกันในแง่ที่ว่า การนิรโทษกรรมใดบ้างที่ไม่เข้าข่ายของการนิรโทษกรรม เพราะถือว่าผิดตามหลัก เช่น คดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คดีซ้อมทรมาน คดีบังคับสูญหาย คดีการฆ่านอกระบบต่างๆ

ตามหลักการของสหประชาชาติ การนิรโทษกรรมหรือกฎหมายนิรโทษกรรมที่ไม่ถือว่าดี คือการนิรโทษกรรม ‘ตนเอง’ และอีกหนึ่งการนิรโทษกรรมที่ไม่ดีนั้นคือนิรโทษกรรมแบบ ‘เหมาเข่ง’ เพราะถือว่าเป็นการนิรโทษกรรมที่ไม่มีขอบเขต และเป็นการนิรโทษกรรมที่ไม่ถูกหลัก

ในส่วนของกฎหมายการนิรโทษกรรมฉบับประชาชนนั้น มีขอบเขตอยู่ในแง่ที่ว่า เรากำหนดขอบเขตของตัวกฎหมายอย่างชัดเจนว่ามีกฎหมายลักษณะใดบ้างที่เข้าข่ายในการนิรโทษกรรมภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งปัจจุบันสถิติทางการเมืองไม่ได้มีเพียงผู้ต้องคดีทางการเมืองเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่หมายถึงว่า กระบวนการนิติรัฐ-นิติธรรมไทยและสถาบันทางการเมืองไทยนั้นไม่ได้อยู่ในหลัก นิติรัฐ-นิติธรรม อย่างแท้จริง ซึ่งตัวพรบ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ อาจจะเป็นตัวช่วยในการฟื้นฟูหลักนิติรัฐ-นิติธรรม ของไทยกลับมาเข้าที่เข้าทางอย่างเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง

การนิรโทษกรรมเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่จะนำสังคมออกจากความขัดแย้งจากหลายปีที่ผ่านมา อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา ที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น 2 ครั้ง มีกลุ่มการชุมนุมทั้งกลุ่มพันธมิตร นปช. กปปส. หลายๆ กลุ่ม รวมถึงกลุ่มราษฎร 2563 ซึ่งหมายความว่ามีความขัดแย้งจากหลากหลายสีเสื้อ ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐ และในเฉพาะในการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 ได้มีการดำเนินคดีไปแล้วเกือบ 2,000 คดี มีคนถูกจำคุกไปเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของทางเราในฐานะ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ร่างพรบ.ฉบับนี้ขึ้นมา

สำหรับประโยชน์ของการนิรโทษกรรม ประเทศไทยอาจจะกลับมามีหน้ามีตาในเวทีโลก เพราะมีการประกาศกร้าวว่าจะลงสมัครเป็นคณะกรรมการสมัชชาของสหประชาชาติ ที่ต้องผ่านการเลือกตั้งจากเวทีโลก ซึ่งการที่มีกฎหมายปิดปากประชาชนนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้รับการรับรองจากเวทีโลก การนิรโทษกรรมประชาชนจะเป็นกลไกสำคัญที่นำพาประเทศไทยออกจากความขัดแย้ง นำการเมืองไปอยู่ภายใต้นิติรัฐ-นิติธรรม โดยหลักนิติรัฐ-นิติธรรม มีความอิสระอย่างแท้จริงไม่ถูกควบคุมและแทรกแซง ซึ่งหากว่าไม่รวมมาตรา 112 เข้าไปในนิรโทษกรรม ความขัดแย้งก็จะไม่สามารถจบลงไป เพราะความขัดแย้งส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่ประชาชนออกมาพูดเรื่องบางเรื่องไม่ได้ พูดในเรื่องบางเรื่องแล้วโดนดำเนินคดี พูดในเรื่องบางเรื่องแล้วถูกจำคุก ซึ่งความขัดแย้งก็จะไม่สามารถจบลงได้

ข้อเสนอแนะส่งต่อไปยังรัฐบาล

ทรงพล สนธิรักษ์ นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่ม “ทะลุขอนแก่น” มองว่าการนิรโทษกรรมเหมือนเป็นประตูบานแรกที่ลดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ยิ่งเป็นรัฐบาลชุดใหม่ที่เราคาดหวังว่าคงต่างกับรัฐบาลเผด็จการในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา “ผมคาดหวังว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชนควรได้รับการผลักดันเข้าไปสู่สภาและพิจารณาให้เกิดการบังคับใช้ได้จริง” เป็นประตูบานแรกให้นักเคลื่อนไหวและผู้ได้รับผลกระทบที่เกิดจากกฎหมาย ได้ยุติลงด้วยกฎหมาย ส่วนขั้นต่อ ๆ ไปควรมีคณะกรรมการค้นหาความจริงในแต่ละเหตุการณ์ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย

พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การนิรโทษกรรม ในการถูกดำเนินคดี หากจะเล่าในมุมประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐก็คือว่า ตัวเจ้าหน้าที่เองก็จะได้ไม่ต้องมีภาระมาเป็นพยาน ไม่ได้มีภาระต้องมาขึ้นศาล ต้องมาเบิกความ เพราะในสภาวะปัจจุบันก็มีคดีความที่ค้างอยู่ที่ศาลว่ากันเป็นหลักพันคดี อย่างน้อยที่สุดตัวเจ้าหน้าที่เองก็ไม่ต้องมาเป็นพยาน คดีก็ยกหายไป ก็เอาเวลานี้ไปคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนทั่วไป เอาสรรพกำลังที่มีไปใส่ใจกับคดีอื่น ๆ เช่น คดียาเสพติด คดีที่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชนโดยตรง ลักวิ่งชิงปล้น ไม่ต้องมาเปลืองเวลาเสียทรัพยากร เกิดความสะดวกกับทุกฝ่าย แต่ต้องไม่ลืมในส่วนของเจ้าหน้าที่ ที่ใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตกับประชาชน ใช้อำนาจในทางที่ไม่ดี กลั่นแกล้งประชาชน อันนี้ก็ต้องแยกออกไป ไม่ใช่จะเหมารวมไปได้ทั้งหมด

รศ.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระบุว่ากฎหมายนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ของบ้านเรา เรามีมาแล้ว 23 ฉบับ แต่โดยส่วนใหญ่มันคือการนิรโทษกรรมให้กับ คนทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ แต่การนิรโทษกรรมให้กับพี่น้องประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวก็มี คือเหตุการณ์การเมืองปี 2516, 2519, 2535 ถามว่ามันได้อะไรกับการนิรโทษกรรม ก็คงต้องถามกลับว่า ถ้าไม่นิรโทษกรรมแล้วได้อะไร อันนี้หมายถึงถามกลับไปยังภาครัฐ เพราะหน้าที่นิรโทษกรรมคือหน้าที่ที่รัฐต้องทำ ซึ่งองค์ประกอบความเป็นรัฐมีสี่อย่าง คือ “ดินแดน” “อธิปไตย” “ประชากร” และ “รัฐบาล” ซึ่งรัฐบาลไม่ใช่แค่ ครม. แต่หมายถึง ทุกองคาพยพที่ใช้อำนาจในนามของรัฐ

และ 1 ใน 4 ของรัฐคือประชากร หากคุณ ไม่ นิรโทษกรรม ยกตัวอย่างเช่น พี่น้องประชาชนที่ถูกดำเนินคดีในคดีรุกป่า 40,000 กว่าคดี คือแทนที่คุณจะเริ่มต้นใหม่ ทำให้เขาลืมตาอ้าปาก ไม่ต้องเทียวขึ้นโรงขึ้นศาล ถ้าปลดล็อคแล้วมาเซ็ทกันใหม่ เขาก็กลับมาทำมาหากินได้ แทนที่จะเอาชีวิตเอาเงินที่หาได้ ไปขึ้นโรงขึ้นศาล เขาก็จะได้ทำมาหากินซื้อข้าวซื้อของ เสียภาษี เอาไปพัฒนาประเทศต่อ

เฝาซี ล่าเต๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบายของแอมเนสตี้แห่งประเทศไทย ระบุว่าแนวคิดง่าย ๆ เลย ว่าไม่ควรมีใครถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกผ่านการชุมนุม แต่สิ่งที่รัฐทำก็คือการใช้กฎหมายปิดกั้นการกระทำดังกล่าว ซึ่งหากไม่มีการนิรโทษกรรม นั่นหมายความว่า ปัญหาหลาย ๆ อย่างจะบานปลายและไม่ได้รับการแก้ไข อย่างพี่น้องบางกลอย ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องต่าง ๆ ซึ่งมี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ออกมาควบคุมและมีคนถูกดำเนินคดี ฉะนั้นการที่ยังใช้กฎหมายเข้ามาควบคุมประชาชนทำให้ประชาชนไม่สามารถเสนอปัญหากับรัฐได้ มันเป็นระยะห่างระหว่างรัฐกับประชาชนที่จะเข้าหากัน ซึ่งการนิรโทษกรรม อาจจะเป็นการลดระยะห่างระหว่างรัฐกับประชาชน เพื่อประชาชนสามารถที่จะเสนอปัญหากับรัฐโดยตรงโดยที่ไม่มีระยะห่างดังที่กล่าวมา

ในตัวการนิรโทษกรรม ก่อนจะออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตอนนี้ต้องหยุดการดำเนินคดีเพิ่มก่อน จากการแสดงออกทางการเมืองหรือออกมาเคลื่อนไหว อยากให้ภาครัฐหยุดและตั้งสติและกลับมามองก่อนว่าสังคมโลก สังคมไทยและประชาชนเองเขาพูดเรื่องอะไรกันอยู่ ซึ่งหากไม่มีคดีเพิ่มขึ้น เราก็กลับมาดูที่ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ว่าลักษณะควรจะเป็นลักษณะไหน และขอให้มองว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นั้นเกี่ยวข้องและต้องการส่วนร่วมจากพวกเราทุกภาคส่วน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *