นิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่าย จุดเริ่มต้นสลายความขัดแย้งคดีการเมือง

7 กุมภาพันธ์ 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จัดกิจกรรม นิรโทษกรรมทัวร์ ที่ตลาดนกฮูก จังหวัดนนทบุรี โดยมีจุดรับลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่กำลังรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา นอกจากการลงชื่อที่จุดรับลงชื่อ ยังสามารถลงชื่อได้ทางเว็บไซต์ https://amnestypeople.com

ภายในงาน ยังมีวงเสวนาประเด็น ทำไมต้องนิรโทษกรรม โดยพูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และประกายดาว พฤกษาเกษมสุข จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และวงพูดคุยกับ นายแพทย์ เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมกับกิจกรรมปราศรัยความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านส่งท้าย

นิรโทษกรรมประชาชน จุดเริ่มต้นสลายความขัดแย้งคดีการเมือง

พูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน นิรโทษกรรม (ลบล้างคดี) คดีหกประเภท ได้แก่ คดีตามประกาศ/คำสั่งคสช. คดีพลเรือนในศาลทหาร คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีพ.ร.บ.ประชามติฯ และให้มีคณะกรรมการ ประกอบด้วยตัวแทน พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ผู้ถูกดำเนินคดี จากยุคสมัยต่างๆ วินิจฉัยว่าคดีอื่นๆ คดีใดเข้าข่าย การนิรโทษกรรมบ้าง แต่มีคดีที่ไม่เข้าข่ายนิรโทษกรรมตามร่างกฎหมายนี้ คือ กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม เกินกว่าเหตุ ผู้ก่อกบฏทำรัฐประหาร ข้อแตกต่างจากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับอื่นๆ ที่หลายพรรคการเมืองเสนอ คือร่างที่พรรคการเมือง เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอ ไม่มีการนิรโทษกรรมมาตรา 112 แต่นิรโทษกรรมข้อหาอื่นๆ ขณะที่ร่างภาคประชาชนครอบคลุมมาตรา 112 ด้วย

สำหรับเหตุผลที่ต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน การนิรโทษกรรม เป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทา-เยียวยาผู้ถูกดำเนินคดี เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองจากสถานการณ์ที่คนออกมาแสดงความคิดเห็นแต่ถูกดำเนินคดี เช่น ช่วงปี 2553 ที่คนเสื้อแดงออกมาชุมนุม มีผู้ถูกดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาอื่นๆ รวมประมาณ 1,700 คน

ด้านประกายดาว พฤกษาเกษมสุข จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เล่าว่า พ่อของเธอ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกดำเนินคดีทางการเมือง มาตรา 112 ถึงสองครั้ง โดยคดีล่าสุดยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล นอกจากคุณพ่อ คนที่อยู่รอบตัวของเธอหลายคนก็ต้องลี้ภัย ร้ายแรงที่สุดคือถูกอุ้มหาย ประสบการณ์ส่วนตัวที่เกิดขึ้นทำให้เธอได้รับผลกระทบทางจิตใจ และไม่มีความหวังต่อกระบวนการยุติธรรมหรือรัฐไทย หวังเพียงแต่ว่าการเคลื่อนไหวนิรโทษกรรมประชาชนจะช่วยเปิดทางให้เห็นแสงสว่างได้

ขอเพียงได้กลับบ้าน: เสียงจากผู้ลี้ภัยคดีทางการเมือง

ภายในงานยังช่วงพิเศษ ถ่ายทอดคลิปวิดีโอจากคนจากแดนไกล จอม เพชรประดับ และเอกภพ เหลือราหรือตั้ง อาชีวะ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองร่วมพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัว และการนิรโทษกรรมประชาชน

จอม เพชรประดับ เล่าว่าเขาลี้ภัยทางการเมืองไปสหรัฐอเมริกาหลังการรัฐประหารในปี 2557 โดย คสช. ช่วงแรกถูกตั้งข้อหาไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ระหว่างที่ไปอยู่สหรัฐอเมริกาเขาก็ทำคลิปวิดีโอลงบนยูทูบ เขาเล่าต่อไปว่าชีวิตของผู้ลี้ภัยที่ต้องอยู่ต่างบ้านต่างเมืองไม่ได้สุขสบาย ต้องปรับตัวกับบุคคลที่ไม่รู้จัก และไม่ได้อยู่กับครอบครัว มีความโดดเดี่ยว อ้างว้าง แม้ว่ารัฐบาลประเทศเหล่านั้นจะให้ความช่วยเหลือ แต่ก็อยู่ในระดับพื้นฐาน ไม่ได้สามารถอยู่สบายๆ ได้ การทำงานก็ต้องแข่งขันกับคนในประเทศนั้น ซ้ำยังมีข้อจำกัดทางภาษาหรือความรู้อื่นๆ

จอมบอกว่า สิ่งที่เป็นความหวังเดียว ความปรารถนาเดียวของเขาคือการกลับมาใช้ชีวิตที่ประเทศไทยโดยไม่ต้องมีคดีติดตัว มีชีวิตอย่างปลอดภัย

การที่เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เป็นความหวังของผู้ลี้ภัย จอมกล่าวว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่ขอสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ และเรียกร้องให้สภาผ่านร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชน โดยเฉพาะผู้ต้องหาคดี มาตรา 112 รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาอื่นๆ ตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 จะได้รับการนิรโทษกรรมจริงๆ

เอกภพ เหลือราหรือตั้ง อาชีวะ เล่าเรื่องราวของเขาว่า หลังการปราศรัยในกิจกรรมหนึ่งในราชมังคลากีฬาสถาน เขาได้รับเบอร์โทรศัพท์แปลกๆ ที่โทรมาต่อว่าเขาว่าทำไมต้องทำลายสถาบันฯ และเมื่อ 13 ธันวาคม 2556 ศาลอาญาอนุมัติหมายจับเอกภพ มีการถ่ายเอกสารหมายจับของเขาแปะตามสถานที่ต่างๆ หลายที่ จนเขารู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกล่าแม่มด หลังจากนั้น ก็มีเหตุการณ์ปาระเบิด-นำน้ำมันไปราดหน้าบ้านเพื่อเผาบ้านของเขา นั่นเป็นเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจลี้ภัยทางการเมือง

“นิรโทษให้คนเป็น ทวงความยุติธรรมให้คนตาย”

นายแพทย์ เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่า นักโทษการเมือง เกิดขึ้นก็เพราะประชาชนมีอุดมการณ์ทางการเมืองเห็นต่างกับรัฐจึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยสันติวิธี ที่ผ่านมามีการชุมนุมครั้งสำคัญๆ สี่ครั้งที่เหวงมองว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธี ได้แก่ การชุมนุมพันธมิตร การชุมนุมของ นปช. การชุมนุมของ กปปส. และการชุมนุมราษฎร ปี 2563-2567 ที่มีเยาวชนจำนวนไม่น้อยออกมาชุมนุมและถูกดำเนินคดีด้วยข้อหา มาตรา 112

เหวงเล่าประสบการณ์จากการชุมนุมในอดีตที่ผ่านมา เช่น การชุมุนม 6 ตุลาคม 2519 ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อาวุธ ใช้กระสุนจริง และกำลังทำร้ายประชาชน ต่อมาในการชุมนุมพฤษภาคม 2535 ก็มีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กระสุนจริงยิงประชาชนอีก แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่สังหารประชาชนกลับไม่ถูกลงโทษ ซ้ำยังมีเหตุการณ์รัฐประหารตามมา และผู้ที่ทำรัฐประหารก็นิรโทษกรรมตัวเอง เวลาผ่านมาในปี 2553 ก็มีเหตุการณ์การชุมนุมโดยกลุ่มนปช. แต่เหตุการณ์ก็ฉายซ้ำเดิมเมื่อรัฐใช้อำนาจปราบปรามประชาชนอีก

ดังนั้น การนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจึงมีความจำเป็น “นิรโทษให้คนเป็น ทวงความยุติธรรมให้คนตาย” ไม่ใช่แค่คนเป็นที่ได้รับความยุติธรรม แต่เป็นการทวงคืนความเป็นธรรมให้กับวีรชนที่เสียชีวิตเพราะออกมาเรียกร้องทางการเมืองด้วย เหวงเห็นว่า ในเมื่อเป็นคดีที่สืบเนื่องจากการชุมนุมโดยสันติวิธี แม้แต่คดีของผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตร หากยังมีคดีที่ตกค้างอยู่ สืบเนื่องจากการชุมนุมขับไล่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เขาก็ควรได้รับการนิรโทษกรรม

อดีตแกนนำ นปช. มองว่า หากจะคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม รัฐควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออก การดำเนินคดีหรือแม้แต่การใช้กำลังทางกายภาพกับประชาชนล้วนเป็นความรุนแรงที่รัฐใช้กับประชาชน ดังนั้น หากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนร่วมทำร้ายประชาชน ก็ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม หากไม่สามารถนำเจ้าหน้าที่รัฐเข่นฆ่าประชาชนมาลงโทษได้ ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ก็อาจกระทำความรุนแรงกับประชาชนซ้ำได้อีก