จากปี 49 ถึง 67 เสียงจากสามนักสู้บนท้องถนน นิรโทษกรรมต้องมีมาตรา 112

หลัง #นิรโทษกรรมประชาชน กำลังรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายยุติคดีการเมืองย้อนกลับไปตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน การย้อนกลับไปฟังความสำคัญของการยุติคดีจากปากผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยบนท้องถนนตั้งแต่ปีดังกล่าวจึงสำคัญยิ่งกว่าช่วงเวลาอื่นใด

ด้วยเหตุนี้ วงเสวนา “นิรโทษกรรมประชาชน (สักที!) #เสียเวลาฉิบหาย” เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อาคาร All Rise จึงรวมสามนักสู้ร่วมยุคสมัยอย่าง หนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง แหวน-ณัฏฐธิดา มีวังปลา พยาบาลอาสาจากเหตุการณ์ปี 2553 และ นก-นภัสสร บุญรีย์ หรือป้านก ผู้เคลื่อนไหวแทบทุกการชุมนุมตั้งแต่ปี 2535 มาร่วมวงเสวนา

เหตุการณ์ขัดแย้งรุนแรงในอดีตและการรัฐประหารมักตามมาด้วยการดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชนบ่อยครั้ง มีทั้งมุ่งทำให้ชีวิตต้องพบเจอความลำบาก ใช้ปิดปากเพื่อขังลืม ไปจนถึงบีบให้ต้องหลบหนีหรือยอมสิ้นอิสรภาพ เส้นทางเสรีภาพของประชาชนตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันจึงเดินมาสู่ข้อสรุปของการนิรโทษกรรม ที่ทุกปากต่างเรียกร้องให้รัฐบาลควรให้ความสนใจในขณะนี้

“คดีการเมืองคือคดีเจาะยาง” หนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์

สมบัติเล่าถึงการถูกคดีการเมืองในช่วงการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เนื่องจากเขาจัดตั้ง “กลุ่ม 19 กันยาต่อต้านรัฐประหาร” และเคลื่อนไหวเรื่อยมาจนถูกพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คปค. และพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร แจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท

“คดีนี้จบไปด้วยกที่ศาลยกฟ้อง… คดีนี้มีความสับสนนิดหน่อยตอนที่คนที่มาฟ้องผมเขาได้รับมอบอำนาจจากพล.อ.สนธิ ใส่ชุดทหารมาเลย ตอนมาฟ้องผมพอขึ้นบัลลังก์ก็อ้างว่าตัวเองเป็นอัยการทหาร เอาหลักฐานทั้งหมด เช่น จาก กอ.รมน (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) และฝ่ายความมั่นคง อ้างอิงมา คดีนั้นผมว่าความให้ตัวเอง ประโยคแรกที่ผมถามพยานฝ่ายโจทก์ซึ่งก็คืออัยการคนนั้นว่า ที่ยืนอยู่ข้างหน้าผมเนี่ย ทำหน้าที่เป็นอัยการทหารหรือว่าเป็นทนายของโจทก์ เขาชะงักไปสักพักแล้วบอกว่าเป็นการฟ้องส่วนตัว”

การถูกดำเนินตดีครั้งแรกชี้ให้เห็นถึงปัญหาในเชิงกฎหมายแล้ว อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีเหล่านี้เขามองว่าเป็นเพียงการกลั่นแกล้งทางการเมืองเท่านั้น

“มันมีคดีจำนวนหนึ่งเราเรียกว่าคดีเจาะยาง หมายความว่าเขาไม่ได้คาดหวังผลของคดี แต่เขาจะเอาคดีเหล่านี้เกี่ยวไว้ก่อน พอมีคดีคุณก็ต้องไปที่สถานีตำรวจ ไปรับหมาย ปรึกษาทนาย ศึกษาข้อเท็จจริง เตรียมการต่อสู้คดี คุณก็จะมีเวลาไปเคลื่อนไหวทางการเมืองน้อยลง… เอาคดีเกี่ยวขาคุณไว้แบบนี้ เหมือนยางล้อรถที่ถูกเจาะยาง มันจะแฟ่บ คุณวิ่งไปได้แต่จะไปได้ช้า”

“พอมีการยึดอำนาจ (ปี 2557) ผมก็ถือหลักพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าผมเป็นพลเมืองดีนะ พอมีคนเอาอาวุธมายึดอำนาจสามัญสำนึกผมบอกว่ามันไม่ถูกต้อง เขาเรียกผมไปรายงานตัวแล้วจะให้ผมไปยอมรับ คสช. ทั้งที่ผมไม่รู้มันเป็นองค์กรประเภทไหนนะเกิดมาเพิ่งเคยได้ยิน ผมก็ยึดหลักว่าผมไม่ว่าง… พอโดนจับเสร็จก็นึกว่าจะโดนแค่ขัดคำสั่ง คสช. ซึ่งต่อมาก็มีโทษปรับกับโทษจำคุกสองปี ถูกจับไปค่ายทหาร แล้วเขาก็เพิ่มว่าที่ผมไปโพสต์เนี่ยเป็นภัยความมั่นคง โดนมาตรา 116 พอผมเข้าเรือนจำปุ๊บศาลทหารก็เอาคดีมาตรา 112 มาใส่อีกคดีหนึ่ง”

“มีคนเอารูปที่ผมโพสต์รูปๆ หนึ่งมาล้อ จริงๆ เป็นรูปของพวก กปปส. รูปนั้นผมไม่ได้เป็นคนทำนะเขาแชร์กันในโซเชียล เคยออกทีวีด้วย เขาก็ใช้ไอ้สิ่งนี้มาเกี่ยวคดีผม”

เมื่อถูกถามถึงสิ่งที่รู้สึกหนักอึ้งที่สุดจากการถูกคดีทางการเมือง สมบัติตอบเอาไว้สองประการ หนึ่งคือการถูกละเมิดสิทธิจนรู้สึกไร้อำนาจ สองคือการคุกคามคนในครอบครัวของเขา

“หนึ่ง สิ่งที่ผมเจอก็คือ ผมอยู่ในบ้านแล้วก็มีคนผลักประตูเข้ามา เอาปืนกลสั้นจ่อกบาลเหมือนในหนังเลย ถูกมัดตาโยนขึ้นรถ ติดต่อคนอื่นก็ไม่ได้ สภาวะแบบนั้นผมรู้สึกไร้อำนาจ… เราบอกไม่ถูกเลย เราคิดว่าตัวเองมีศักดิ์ศรี ตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด สอง ในทางการเมืองผู้คนมีความหลากหลายไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผม เวลาเราวิพากษ์วิจารณ์กันไปมาก็ประเมินเรื่องนี้ไว้แล้วว่าพอจะรับมือได้ แต่ผมไม่เคยคิดว่าเรื่องนี้จะเลยเถิดไปถึงลูกสาวผม เหมือนที่ก่อนหน้านี้มีจิตแพทย์ด้านเด็กและเยาวชนเขียนบทความสั่งสอนลูกสาวผม”

สำหรับท่าทีต่อการเกิดกฎหมายนิรโทษกรรมในปัจจุบัน สมบัติให้ความเห็นไว้ดังนี้

“ปี 2557 มีคณะกรรมการปรองดอง ออกมาวิเคราะห์รับฟังปัญหากันแต่ก็พอเป็นพิธี ไม่เกิดผลไม่เกิดมาตรการใดๆ แต่ครั้งนี้ผมพอมีความหวังอยู่บ้าง… รอบนี้กระบวนการนิรโทษกรรมอาจจะพอมีมักผลอยู่บ้าง”

“หากการนิรโทษกรรมไม่รวมมาตรา 112 อาจจะลดความขัดแย้งได้ไม่มากนัก หากไม่รวมมาตรา 112 หรือกรณีที่ดินแดงเข้าไปด้วยจะทำให้เกิดการอภิปรายอีก แล้วประเด็นนี้จะกลายเป็นเป้า หากใครใช้ประโยชน์จากกระแสสังคมตรงนี้ให้การนิรโทษกรรมรวมคดีพวกนี้ได้จะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ และบรรยากาศของบ้านเมืองจะกลับเข้ารูปเข้ารอยเลย”

“พรรคการเมืองอย่าทิ้งประชาชน” แหวน-ณัฏฐธิดา มีวังปลา

แหวนเป็นพยาบาลอาสาขณะเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่คนเสื้อแดงในปี 2553 ทำให้เธอต้องขึ้นให้การในฐานะพยานคนสำคัญของการสังหารผู้เสียชีวิตทั้งหกศพที่วัดปทุมวนาราม จนทำให้ภายหลังเธอถูกคดีทางการเมืองเล่นงานตามมา

“จากการปฏิบัติหน้าที่ตรงนั้นทำให้เราเห็นทหารที่อยู่บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสแทบทุกจุดสำคัญเลย มีการเล็งยิงลงมาตลอดในเต็นท์ยาของพวกเรา ถล่มยิงแบบผิดหลักสากลไม่ใช่การยิงขู่ ทุกบาดแผลของศพถูกยิงตัดเส้นเลือดใหญ่ที่ต้นแขน ต้นขา ตัดขั้วหัวใจ และที่ท้ายทอย นั่นคือวิถีของการเล็งสังหารสั่งฆ่า”

“ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) เวนคืนพื้นที่ในวัดปทุมแล้วบอกว่าเจออาวุธสงครามอยู่ในเต็นท์ยา ทำให้เราต้องออกมาแถลงข่าวว่าอาวุธที่คุณเจอไม่ได้เกี่ยวกับเรา เรามีทั้งภาพทั้งคลิปวิดีโอ… หลังเราชนะคดีในปี 2556 ก็ถูกใส่ร้ายในปี 2558 ด้วยคดีก่อการร้ายและคดีมาตรา 112 ถูกฝากขังลืมไปสามปีหกเดือน”

คดีมาตรา 112 ถูกนำมาใช้กับแหวนภายหลังที่ได้รับการประกันตัวจากคดีก่อการร้าย โดยแหวนถูกอายัดตัวหลังได้รับการประกันตัวทันทีในยามวิกาล รวมถึงยังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ซึ่งสร้างคำถามในใจของแหวนมาจนถึงปัจจุบัน

“ยัดเยียดมาตรา 112 โดยบอกว่าเราส่งอีเมลทั้งสิ้น 17 ฉบับในวันที่ 23 มีนาคม 2558 ซึ่งเราอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2558 เพราะฉะนั้นเราไม่มีสิทธิที่จะส่งบทความหรือข้อความถึงใครทั้งสิ้น”

“การถูกขังลืมอยู่ในทัณฑสถานหญิงก็ดีเรือนจำก็ดี เราไม่คาดคิดค่ะ คุณบอกว่าประเทศไทยมีเสรีภาพ เป็นสยามเมืองยิ้ม แต่ ณ วันหนึ่งระบบกล่าวหาที่รัฐบังคับใช้กับประชาชน ด้วยกฎหมายจากปลายปากกาของภาครัฐ เอามาใช้กับประชาชน สิ่งที่เรารับไม่ได้เลยคือเราไร้สิทธิในการประกันตัว ทนายยื่นไปมากกว่าสิบครั้ง ถูกตำรวจ ทหาร อัยการ คัดค้าน ศาลทหารสั่งไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่าเป็นบุคคลผู้มีอิทธิพลทางการเมือง”

“ที่ผ่านมาเราเคยเห็นแต่การนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายกระทำ ผู้ทำการรัฐประหาร บุคคลเหล่านี้ได้รับการนิรโทษกรรมจากการนิรโทษกรรมตัวเองเรียบร้อยไปแล้ว แล้วประชาชนละ ตลอดเวลาร่วมสิบปีประชาชนคือเหยื่อ เหยื่อทางกฎหมาย ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารจะมีประชาชนที่ถูกจับกุมเยอะมากและถูกดำเนินคดีหนักกันทั้งนั้นเลย”

“กฎหมายไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติแต่มาจากประชาชน หากการนิรโทษกรรมจะสำเร็จได้ก็ต้องมาจากประชาชน หวังว่าการนิรโทษกรรมนี้พรรคการเมืองทุกพรรคจะไม่ทอดทิ้งประชาชน อยากให้พรรคการเมืองทุกพรรคหันมามองประชาชนบ้าง ในเมื่อคุณมาจากเสียงของประชาชนก็ขอให้ฟังเสียงของประชาชนบ้าง”

“ลี้ภัยต้องได้กลับบ้าน ถูกขังต้องได้ออก” นก-นภัสสร บุญรีย์

นกเล่าว่าตัวเองเฉียดการถูกคดีการเมืองครั้งแรกจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ขณะเดินผ่านการชุมนุมที่สนามหลวง และร่วมเคลื่อนขบวนขับไล่พล.อ.สุจินดา คราประยูร

“วันนั้นเคลื่อนขบวนประมาณหนึ่งท่วมเพื่อไปสมทบที่สนามม้านางเลิ้ง ตอนนั้นมันเลยเวลาเคอร์ฟิวแล้ว มาถึงแยกเฉลิมกรุงก็ถูกดักยิง ผู้ชายถูกจับประมาณ 250 คน ผู้หญิงประมาณ 25 คน ป้าก็เข้าไปในตู้โทรศัพท์จะโทรเรียกเพื่อนมาเพิ่ม มันยิงดะเข้ามาเลยเราก็กระโดดหลบออกมาหมอบข้างถนน”

หลังจากเหตุการณ์นั้น นกได้เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในเวลาต่อมา และร่วมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งช่วงปี 2561 จนถูกคดีการเมืองเล่นงานตามมา

“คนอยากเลือกตั้งเคลื่อนขบวนไปสี่ครั้ง ป้าก็โดนไปสี่ครั้ง ไปทุกแมทช์โดนทุกแมทช์ คดีสุดท้ายเพิ่งจบไปปีที่แล้วนี้เอง ห้าปีเต็มๆ มันเสียเวลามากเลยนะ จะไปทำงานทำการคือไม่ได้เลย แล้วไม่มีใครจะมารับเรา (เข้าทำงาน) เพราะว่า เดี๋ยวก็ลาไปคดีนั้นเดี๋ยวก็ลาไปคดีนี้”

“ถ้านิรโทษกรรมรวมมาตรา 112 ได้ก็คงจะดี ถ้ากฎหมายมาตรา 112 มันดีจริงก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้ อันนี้พูดถึงนิดพูดถึงหน่อยก็จับยัดเข้าคุก เขียนได้ก็น่าจะแก้ได้ แก้ไม่ได้ก็ยกเลิกกันไปเลย” 

“อานนท์ (นำภา) พูดกับป้าว่าอีกสี่ปีเขาจะได้ออกมาหลังการเลือกตั้ง ป้าก็อยากจะให้เขาได้ออกมาก่อนสี่ปี ไม่อยากให้ลูกเขาที่แม่เขาต้องอุ้มไปทุกครั้งเวลาเยี่ยมพ่อต้องซึมซับว่า ใครทำพ่อเขา คุณมองลูกมองเมียเขาสงสารเขาบ้างไหม เมื่อโซ่นี้อยู่ที่ขาพ่อเด็กจะซึมซับยังไง คุณก็เห็นเวลาลูกเขาไปหาพ่อ เพราะฉะนั้นมาตรา 112 มันน่าจะแก้ได้ นิรโทษกรรมได้ ไม่อยากให้รอถึงสี่ปีพ้นเลือกตั้งไปแล้วถึงจะได้ออก สงสาร”

“นิรโทษกรรมมันก็ต้องรวมมาตรา 112 เพราะเด็กๆ ที่ลี้ภัยไปกันก็เยอะ ถามว่าเขาอยากจะกลับมาไหม เขาอยากจะกลับมานะ ไม่ยกเลิกมาตรา 112 หรือนิรโทษกรรมให้เขาก็ไม่ได้กลับมา หลายคนพ่อแม่ตายก็ไม่ได้กลับมา… ถ้านิรโทษกรรมไปเลยเด็กๆ ก็ได้กลับบ้าน เด็กที่ติดคุกอยู่ก็ได้ออกมา”

“อยากฝากถึงพรรครัฐบาลว่า ถ้าคุณทำนิรโทษกรรมที่รวมคดีมาตรา 112 ด้วย ความรักความศรัทธาอาจจะกลับมา ทุกวันนี้เราหมดศรัทธากับคุณ แต่ถ้าคุณทำตรงนี้ความศรัทธาก็อาจจะกลับมา”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *