ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ยันนิรโทษกรรมคือการคืนความยุติธรรม

2 กุมภาพันธ์ 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดงาน “Thailand’s Road to the UN Human Rights Council: หนทางสู่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ประเทศไทยจะทำได้หรือเปล่า?” ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand: FCCT) เพื่อประเมินความพร้อมและแสดงข้อกังวลต่อความพยายามชิงตำแหน่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ของประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมปี 2567

ในงานดังกล่าวได้มีการจัดเสวนา “Voice of the People to the Government” ซึ่งหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้คือ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รองศาสตราจารย์ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโตและหนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองของไทย โดยปวินได้กล่าวถึงบทบาทของเขาในการทำแคมเปญปล่อยตัวนักโทษการเมืองจากมาตรา 112 การถูกคุกคามโดยเจ้าหน้ารัฐ และความหวังในอนาคตสำหรับนักโทษตามมาตรา 112 โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการตัดสินพรรคก้าวไกลในประเด็นการรณรงค์หาเสียงแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน และการที่ประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

สิ่งสำคัญคือการคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ซึ่งรวมถึงเด็กที่ถูกดำเนินคดีและผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำด้วยอัตราโทษสูงสุดถึง 50 ปี

จากแคมเปญปล่อยตัวนักโทษการเมืองสู่ผู้ลี้ภัย


ปวินเริ่มเล่าว่าสถานการณ์ของตนเองอาจจะแตกต่างกับคนอื่น เนื่องจากก่อนการลี้ภัย ตนก็ได้อาศัยอยู่ในต่างประเทศมาอย่างน้อย 20-30 ปีแล้ว แต่หลังจากการรัฐประหาร ก็ถูกเรียกปรับทัศนคติเพราะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในแคมเปญมาตรา 112 จึงได้เริ่มการลี้ภัย

“ในส่วนที่ผ่านมางานแรก ๆ ที่ผมทำคือเหตุการณ์เมื่อปี 2011 ตอนนั้นยังกลับไทยได้ ผมมีส่วนในการทำแคมเปญเพื่อปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่โดนมาตรา 112 โดยเฉพาะในกรณีของ “อากง” ทำแคมเปญฝ่ามืออากง จริง ๆ แล้วโครงการนั้นผมไม่ได้คิดมากว่าจะทำเรื่อง 112 แต่ เห็นว่ามีคนไทยเชื้อสายจีน อายุ 62 ปี ถูกต้องโทษ 20 ปี ในเรือนจำด้วยเหตุผลของการถูกกล่าวหาว่าส่ง SMS ไปในมือถือของบุคคลท่านหนึ่ง ผมรู้สึกว่าบทลงโทษมันหนักเกิน มันขาดความสมดุลในการทำผิด ถึงแม้ว่าอากงจะทำผิดจริง การส่งสี่ข้อความ ไม่เหมาะสมที่จะต้องโทษ 20 ปี ทำให้ผมลุกขึ้นมาทำแคมเปญปล่อยตัวอากง จึงทำให้ผมรู้สึกว่าอยากศึกษามาตรา 112 จากวันนั้นเป็นต้นมาผมไม่เคยหยุด จนผมเองก็โดนมาตรา 112”

“ความสนใจของผมในฐานะคนไทยคนหนึ่งและในฐานะนักวิชาการ ผมทำงานวิจัยเยอะมากเกี่ยวกับมาตรา 112 และสถาบันกษัตริย์ ล่าสุดมีหนังสือผมออกมา กลายเป็นหนังสือต้องห้าม ทั้ง ๆ ที่คนที่แบนหนังสือยังไม่อ่านหนังสือผมเลย หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับมาตรา 112 และสถาบันฯโดยตรง ความเกี่ยวพันของผมกับประเด็นนี้เลยมีมาถึงทุกวันนี้”

“ประเด็นการคุมคาม ผมเข้าใจมาก ต้องออกตัวก่อนว่า ผมพยายามจะช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทุกคน ผมถือว่าเป็นหนึ่งในคนที่อยู่แนวหน้าในการช่วยเหลือ นอกจากนี้ผมยังช่วยรับรองออกเอกสารว่าบุคคลเหล่านี้ลี้ภัยทางการเมืองจริง ทั้งในแง่การเป็นนักวิชาการและในฐานะผู้ลี้ภัย จะมีใครรู้เรื่องผลกระทบจากมาตรา 112 เท่ากับคนที่โดนเอง ผมเองยังโดนคุกคามโดยการส่งคนไปที่บ้านพัก ไปหาคุณแม่ 2-3 ครั้ง แล้วหลังจากนั้นก็หยุดไป แต่ว่าผมไม่เชื่อว่ามันจะหยุดถาวร นอกจากนี้ผมยังโดนคุกคามหลายรูปแบบ และในรูปแบบของการส่งคนไปที่ทำงานของผม เพื่อพยายามด้อยค่าว่าผมล้มเจ้า ไม่ใช่นักวิชาการจริง และรวมถึงตอนที่ผมไปพบเจอคนไทยหรือไปสอน ก็มีการส่งคนมาตามดูผม จนกระทั่งในที่สุดก็มีการคุกคามร่างกายผมในปี 2019 มีคนบุกเข้ามาในอพาร์ทเม้นผมและทำร้ายผมด้วยสารเคมี”

คำตัดสินศาลก็ปิดปากสังคมไทยไม่ได้

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโตให้ความเห็นต่อกรณีคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นแก้ไขมาตรา 112 ว่า “ผมว่ามันเลยเถิดไปมาก ผู้นำทางการเมืองของไทย กลุ่มอำนาจนิยม ยังคงใช้แทคติคเดิมในการยืมมือสถาบันตุลาการในการเป็นผู้กำหนดกติการการเมือง เราอาจคิดว่าพวกเขามีความเป็นธรรมบ้าง เหมือนกับกีฬา มันต้องเป็นธรรม แต่เท่าที่ผมเห็น มันไม่ใช่และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกในการใช้เครื่องมือแบบนี้ มันเอียงเพื่อปกป้องผู้มีอำนาจ และสร้างความไม่สมดุลในกระบวนการรัฐสภาด้วย ต่อไปฝ่ายนิติบัญญัติจะเหลือหน้าที่อะไรบ้าง เมื่อออกกฎหมายไม่ได้ เมื่อมองลึก ๆ ผมคิดว่ามันเป็น “insecurity” (ไม่มั่นคง) อย่างหนึ่ง ของทั้งผู้ที่ปกป้องและของสถาบันฯเอง การใช้มาตรา 112 มากขนาดนี้มันบอกอะไรไม่ได้นอกจากความไม่มั่นคงของสถาบันฯ และผู้ปกป้อง”

“สังคมไทยไปไกลกว่านั้นแล้ว ผมคิดว่าไฟของเด็กรุ่นใหม่ ที่มองอนาคตของตัวเอง แล้วเห็นว่าการแก้ไขโครงสร้างด้านอำนาจของไทยเป็นสิ่งจำเป็นมาก ๆ สำหรับความอยู่รอดของเขา คุณอาจจะปิดกระบวนการรัฐสภาได้ แต่คุณไม่อาจปิดปากสังคมไทยได้ ถ้าเกิดว่าการตัดสินแบบนั้น ซึ่งแม้ว่าไม่น่าประหลาดใจ อาจทำให้ไม่มีใครกล้าละเมิด 112 ถ้ากฎหมายมันศักดิ์สิทธิ์จริงต้องไม่มีใครละเมิด แต่วันนี้การละเมิดเลยเถิดไปมาก วันนี้เราเห็นตัวเลขของคนที่ถูกจับและโทษของ “บัสบาส” ถึง 50 ปี จึงชี้วัดได้ว่าถึงแม้จะมีกฎหมาย 112 อยู่ แต่พวกเขาก็ไม่คิดว่าเขาจะหยุด สำหรับผมแล้วการตัดสินของศาลอาจปิดประตูได้ในจุดนึง แต่ผมคิดว่าไม่สามารถปิดประตูการพูดในพื้นที่สาธารณะได้”

ต่างประเทศสนใจคดี 112 กับเด็ก

งานหนึ่งของปวินในฐานะผู้ลี้ภัยคือ 112 Watch หรือการรณรงค์เพื่อสร้างความรับรู้ของปัญหาของมาตรา 112 ในสังคมระหว่างประเทศ แต่ก็ยังไม่ได้ปราศจากอุปสรรคเสียทีเดียว 

“ในระดับรัฐบาล ประเทศ (ประชาธิปไตยตะวันตก) ยังกังวลใจว่ามันอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งต่อสถาบันฯ หรือไม่ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จึงมีความ “ambivalent” (กำกวม) มาก เขาเห็นใจในสถานการณ์ของเรา แต่เกรงว่าจะถูกมองว่าไม่เป็นมิตรกับสถาบันฯ ผมคิดว่าในการทำแคมเปญถ้าพูดเรื่องมาตรา 112 โดยตรงอาจจะไม่ได้ ต้องพูดถึงผลกระทบด้วย เช่น เสรีภาพด้านวิชาการ ที่นักวิชาการไม่สามารถพูดถึงสถาบันฯ ได้ มีหลายกลุ่มที่สนใจที่จะปกป้องสิทธิในทางวิชาการ ในอังกฤษผมยังได้พูดคุยกับรัฐสภาของอังกฤษในกรณี “หยก” ที่เป็นเด็กอายุ 14 ถูกรัฐคุกคามโดยใช้มาตรา 112 มันเกี่ยวกับสิทธิของเด็ก ซึ่งตะวันตกให้ความสนใจอย่างมาก ผมจึงอยากฝากไว้ว่า ต้องหาทางให้ดี”

การนิรโทษกรรมคือการคืนความยุติธรรม

เมื่อถูกถามว่าคิดอย่างไรกับการนิรโทษกรรม ปวินก็ยังยืนยันว่ายังมีความหวัง การยกเว้นมาตรา 112 ในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเรื่องทีไม่สมเหตุสมผลเพราะที่ผ่านมากฎหมายมาตรานี้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

“การเอานิรโทษกรรมรวมกับคนที่โดนมาตรา 112 จะช่วยลดความแตกแยกทางสังคม แม้ว่าโต้เถียงได้ แต่ที่มันสำคัญคือการคืนความยุติธรรม เขาถูกเอาไปแล้ว ถ้าพูดอย่างเห็นแก่ตัว ผมกลับบ้านไม่ได้มาสิบปี ผมไม่เจอคนที่บ้านมากี่ปี ในที่สุดแล้วผมจะได้คืนรึเปล่า ในบางเรื่องมันก็สายไปแล้วสำหรับผม สำหรับความแตกแยกมันโต้เถียงได้ มันคงไม่มีสังคมไหนไม่มีความขัดแย้ง แต่การไม่คืนความยุติธรรมให้มันแย่มาก ๆ”

อย่าเสนอตัวลงคณะมนตรีฯ ถ้ายังแก้ปัญหาตัวเองไม่ได้

สำหรับการลงชิงตำแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชนชาติ ปวิน ผู้ในอดีตเคยรับราชการเป็นนักการทูตมาก่อน แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย “โดยเฉพาะผมเคยทำงานกระทรวงการต่างประเทศ มันเป็นวิสัยทัศน์ที่ย่ำแย่มากกับคนที่เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ  คงไม่ต้องกล่าวถึง UPR (Universal Periodic Review) ในช่วงปี 2020-2022 ที่เราถูกเพ่งเล็งในเรื่องสิทธิมนุษยชน มีข้อเสนอ 218 ข้อ จริงๆเรารับส่วนนึง ที่ไม่รับทั้งหมดเป็นเพราะมาตรา 112 ดังนั้นถ้าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาพวกนี้ได้ ทำไมถึงกล้าแบกหน้าตัวเองไปอาสาทำหน้าที่เหล่านั้น เช่นการเสนอตัวช่วยพม่าเรื่องประชาธิปไตยในขณะที่เราไม่มีความเป็นประชาธิปไตย คงต้องจบด้วยคำว่า เสนอหน้าเท่านั้นแหละครับ”

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ