นิรโทษกรรมประชาชนต้องรวมคดีมาตรา 112 ฟังสี่เสียง ทำไมสภาควรออกกฎหมายยุติคดีการเมือง

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจัดกิจกรรม Le Truck รัก ณ ทองหล่อ ที่สวนครูองุ่น ทองหล่อ เพื่อรวบรวมรายชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ #นิรโทษกรรมประชาชน พร้อมจัดวงพูดคุย “ทอล์คชิลล์ๆ กับผู้ใช้เสรีภาพแสดงความเห็น แต่กลับถูกปิดปาก” โดย ช่อ-พรรณิการ์ วานิช จากคณะก้าวหน้า อ้อม-ปาณิสรา จากกลุ่มพยาบาลอาสา Nurse Connect จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ จากสื่อ Spokedark และโดม-ทันธรรม วงษ์ชื่น นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นผู้ร่วมวงเสวนา

ทั้งสี่คนนี้ต่างเป็นผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง บางคนถูก “ปิดปาก” ผ่านการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป และบางคนก็เหตุการณ์ “ปิดปาก” และทนไม่ได้กับสถานการณ์แบบนั้น นอกจากนี้พวกเขายังมุ่งสนับสนุนการยุติคดีการเมือง โดยเห็นตรงกันว่าหากในอนาคตจะมีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้นก็ต้องรวมคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าไปด้วย อีกทั้งยังมีมุมมองที่ไม่แตกต่างกันในสาเหตุของคดีการเมืองที่เกิดขึ้นว่า เป็นเพียงการทำให้ประชาชนเกิดความเกรงกลัวที่จะใช้สิทธิเสรีภาพ และเพื่อโจมตีศัตรูทางการเมืองให้ได้รับความยากลำบากทางกฎหมายเท่านั้น

ดังนั้นการเกิดนิรโทษกรรมจึงเป็นทางออกขั้นต่ำที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของปัญหาคดีการเมืองในยุคปัจจุบัน แต่เหตุผลของแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง สามารถอ่านได้ที่นี่

“ชีวิตคนไม่ใช่ผักปลา” ช่อ-พรรณิการ์ วานิช และการต่อรองไม่ได้ในการนิรโทษกรรม

พรรณิการ์ระบุว่า ตัวเองเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างมากจาก “นิติสงคราม” และเป็นยุคที่รัฐนิยมใช้กฎหมายในการจัดการผู้เห็นต่างมากกว่ากำลังที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จนมีการดำเนินคดีการเมืองสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

“ช่วงที่ช่อเป็นนักข่าวเป็นช่วงรอยต่อระหว่างคุณยิ่งลักษณ์กับคุณประยุทธ์ ตอนนั้นก็มีคดีการเมืองและคดีมาตรา 112 เยอะเหมือนกัน ตอนนั้นว่าเยอะแล้วแต่ตอนนี้เยอะกว่า และมีแนวโน้มว่าจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ”

“ส่วนใหญ่คนที่บอกว่าไม่เห็นด้วยกับนิรโทษกรรมประชาชนมักอ้างว่า บ้านเมืองต้องมีขื่อมีแป ต้องรับโทษตามกฎหมายสิจะให้ไปนิรโทษกรรมได้อย่างไร ฟังดูเหมือนจะถูกต้อง… คนที่เชื่อแบบนี้ช่อถือว่าเป็น Potential Voter ได้นะเพราะเราเข้าใจตรรกะเขาได้ ขอแค่เราอธิบายเขาได้ อย่างเวลาที่คุณบอกว่าผิดกฎหมายก็ต้องรับผิด เพราะกฎหมายปกป้องไม่ให้เราไปละเมิดคนอื่น แต่หลักการเป็นรัฐนั้นกฎหมายมีไว้คุ้มครองประชาชน แต่มันมีบางกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อลงโทษ กลั่นแกล้ง หรือกดขี่ประชาชน”

“ร้อยละ 90 ของมันคือโทษทางความคิด ในสากลโลกโทษทางความคิดต่อให้มีความผิดก็ไม่ใช่ความผิดอาญา ไม่เอาคนไปติดคุกหรือประหารชีวิต ประเทศที่ลงโทษคนที่ทำผิดทางความคิดถึงขั้นจำคุกหรือประหารชีวิตมีแต่ประเทศเผด็จการ ถามว่าทำไม ก็หลักการง่ายๆ ของประชาธิปไตยว่าทุกคนมีสิทธิคิด ความคิดไม่ได้ทำให้ใครตาย ในทางกฎหมายความคิดคุณไปละเมิดใครไม่ได้ เช่น คิดจะแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้มีใครตาย แต่ถ้าคุณลงโทษคนด้วยมาตรา 112 มีคนตายมาแล้วนะคะ”

“ถ้าจะตอบคำถามนี้ว่า คนผิดต้องโดนลงโทษ แล้วถ้าความผิดนั้นเป็นเพียงความคิด จะให้ติดคุกเจ็ดปี-สิบปีเลยเหรอ ถึง 54 ปีเลยเหรอ เพราะหนึ่งการกระทำมันนับเป็นหนึ่งความคิด แล้วเดี๋ยวนี้หนึ่งการกระทำมันไม่ใช่การไปลอบปลงพระชนม์ มันไม่ใช่ไง เพราะเป็นแค่หนึ่งคอมเมนท์ ความผิดเลยมีหลายกรรม บางทีเป็นสิบคอมเมนท์คุณก็นับไปคูณสี่คูณห้า กลายเป็นโทษ 60 ปี ความผิดทางความคิดทำให้คุณติดคุกห้าสิบปี ทั้งที่ทุกคนทราบกันดีว่าฆ่าคนตายในประเทศนี้ติดคุกไม่เกิน 20 ปี ติดจริงไม่เกินสิบปี นี่ขนาดโทษที่คุณไปละเมิดคนอื่นจนทำให้เขาตายนะ”

“ใครมีคุณย่าคุณยายที่บ้าน หรือคุณพี่ข้างบ้านที่เป็นอนุรักษ์นิยมแล้วบอกว่า บ้านเมืองต้องมีขื่อมีแป หากนิรโทษกรรมจะทำให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ลองถามเขาดูว่า ถ้าเป็นกฎหมายที่ลงโทษคนเพียงเพราะความคิดของเขาจนคนเห็นต่างไม่มีที่ยืนในสังคม มันจะนิรโทษกรรมไม่ได้เลยเหรอ หรือแก้กฎหมายให้โทษกับความผิดได้สัดส่วนกันมันทำไม่ได้เลยเหรอ แบบนี้จะเป็นการเริ่มต้นบทสนทนาที่อาจจะทำให้เราคุยกับเขาต่อได้”

เมื่อถูกถามคำถามว่า ถ้าได้การนิรโทษกรรมเฉพาะบางคดีแต่คดีมาตรา 112 ไม่ถูกนับรวมอยู่ด้วยจะคิดเห็นว่าอย่างไร พรรณิการ์ตอบว่า

“ฟังดูเหมือนจะถูกว่า ไม่ได้ศอกเอาคืบก็ยังดี คำถามคือนี่เป็นการต่อรองราคาปลาในตลาดเหรอคะ ทำไมต้องมีการต่อรองว่าไม่ได้สิบเอาห้า ไม่ได้ห้าเอาสาม การนิรโทษกรรมการแก้ไขกฎหมายต้องใช้หลักการในการพิจารณา ไม่ใช่การต่อราคาปลาในตลาด หลักการของมันคืออะไร เรานิรโทษกรรมเพราะความผิดที่ถูกตัดสินเป็นโทษทางความคิด การกระทำกับโทษไม่ได้สัดส่วน สังคมจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรหากจับคนที่เห็นต่างเข้าคุกไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะรอลงอาญาแต่ก็ตัดสินไปแล้วว่าเขาผิด หลักการนี้แล้วคุณเอาอะไรมาไม่นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112”

“คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ดี คดีมาตรา 112 ก็ดี ต่างมีโทษหนัก แล้วยอมรับกันไหมว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในประเทศไทยไม่ได้ใช้ปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์จริงๆ มันกลายเป็นการปราบปรามคนเห็นต่าง… ดังนั้นเราปิดชื่อกฎหมายเลยแล้วเอาหลักการเป็นตัวตั้ง ถ้าคุณต่อรองกันได้แปลว่าคุณไม่ได้ตัดสินใจบนหลักการ ดิฉันไม่รู้นะว่าถ้าไม่ใช้หลักการแล้วจะใช้อะไรพิจารณาเรื่องนี้ แล้วถ้าจะไม่รวมมาตรา 112 เพื่อให้คดีคนอื่นรอด คุณจะอธิบายกับลูกและภรรยาของอานนท์ นำภา ยังไง จะอยู่กันแบบนี้จริงๆ เหรอ อยู่เหมือนเราเป็นผักเป็นปลาที่ต่อรองชีวิตกันได้”

“ไหนๆ เราจะทำเรื่องยิ่งใหญ่อย่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้งที จะทำออกมาทุเรศทุรังทำไม ถ้าจะนิรโทษกรรมก็ว่ากันตามหลักการว่า เราทำเพื่ออะไร บนหลักการอะไร เพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไปโดยคนที่เห็นต่างกันอยู่ร่วมกันได้… ถ้าคุณยังเห็นว่าประชาชนควรจะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของประเทศประชาธิปไตย ก็อย่าต่อรองกันในเรื่องแบบนี้”

“สุดท้าย ถ้าเข้าพิจารณากฎหมายสามวาระ ในวาระที่สองขั้นพิจารณารายมาตราแล้วจะแพ้ ก็ให้แพ้กันตรงนั้น อย่าให้มันแพ้แต่ต้นโดยการบลัฟ เจรจาต่อรองเหมือนชีวิตคนเป็นผักปลา… เราทำตามหลักการ ถ้าจะแพ้ในวาระที่สองก่อนการผ่านกฎหมายก็ให้มันรู้กันไปว่ามันแพ้ในคณะกรรมาธิการสัดส่วนของพรรคไหน จะได้เลือกกันถูกในการเลือกตั้งรอบหน้า”

“เจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับการนิรโทษกรรมบ่อยที่สุดในประเทศไทย คือ ผู้บัญชาการทหารบก นิรโทษกรรมตัวเองโดยง่ายดายมาก ส่วนประชาชนจะนิรโทษกรรมทีมันเลือดตาแทบกระเด็น คนที่พูดว่าทำผิดต้องรับโทษเดี๋ยวบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ตอนที่ทหารนิรโทษกรรมตัวเองเขาเคยออกมาพูดแบบนี้หรือเปล่า”

“เราไม่เริ่มแค่ขั้นต่ำ” อ้อม-ปาณิสรา กับการดันเพดานข้อเรียกร้องนิรโทษกรรมประชาชน

ปาณิสราเล่าถึงเรื่องราวของตัวเองว่า เธอรวมถึงเพื่อนในกลุ่ม Nurse Connect ถูกคณะกรรมการการจัดสรรวัคซีนโควิด-19ดำเนินคดีจากการวิจารณ์มาตรการรับมือไวรัสโควิด-19 ที่ผิดพลาดของรัฐบาล สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายจำนวนมากถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีผู้เห็นต่าง และใช้เป็นกลยุทธ์สำหรับการฟ้องปิดปากประชาชน

“ผู้ถูกฟ้องร้องต้องเหนื่อยไปพิสูจน์ตัวเองในชั้นศาล นี่ไม่ใช่คดีเดียวที่กลุ่ม Nurse Connect เจอ มีบุคลากรทางการแพทย์อีกหลายคนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก”

“ในมุมแรกอาจจะเหมือนมันโจมตีแค่บุคลากรทางการแพทย์ เป็นคดีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา แต่ถ้ามองลึกลงไปจะพบว่ามันส่งผลต่อคนไข้ ต่อประชาชนอย่างแน่นอน การที่บุคลากรทางการแพทย์รู้สึกกลัวที่จะออกมาส่งเสียงเรื่องการบริหารจัดการไวรัสโควิด-19 ที่ผิดพลาด หรือมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ถ้าเราแสดงออกในเรื่องนี้ไม่ได้ ระดับต่อไปไม่ใช่แค่กับตัวเราแล้วแต่จะทำให้มีบุคลากรทางการแพทย์ออกมาส่งเสียงน้อยลงเรื่อยๆ”

“มันคล้ายกับคดีมาตรา 112 ที่ไม่ได้ส่งผลแค่ต่อคนที่ถูกดำเนินคดี เพราะคนที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีก็ต้องหาทางทุกอย่างให้ไม่โดนคดี ต้องป้องกันตัวเอง ความกลัวก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกมาก”

ด้วยเหตุนี้ อ้อมจึงมองว่าการนิรโทษกรรมประชาชนจึงควรเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่เมื่อถูกถามว่า หากคดีการเมืองได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมดยกเว้นคดีมาตรา 112 จะรู้สึกอย่างไร อ้อมตอบว่า

“หลักในการต่อรองเบื้องต้นคือต้องดันไปให้สุดก่อน ไม่ใช่ว่าเราทำขั้นต่ำไปตั้งแต่แรกแล้วค่อยไปขอเอาเพิ่มทีหลัง เบื้องต้นคิดว่าไม่เห็นด้วยกับการไม่รวมคดีมาตรา 112 เข้าไปด้วย เพราะถ้าจะไปก็ต้องดันกันไปด้วยกันทั้งหมดเป็นก้อนเดียว”

“เบื้องต้นอยากรวมตัวคนที่เห็นด้วยตรงนี้ยื่นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่รวมหกประเด็นข้อหาไม่มีละเว้นตรงไหนเลย นิรโทษกรรมทันที ส่วนประเด็นอื่นก็อยากจะให้ครอบคลุมทั้งหมดด้วยการยื่นคณะกรรมการพิจารณาอีกที”

“กระบวนการเป็นประชาธิปไตยมันต้องทำไปเรื่อยๆ หากกระแสแผ่วลงแล้วทุกคนหยุดแค่นี้แล้วจะทำยังไงต่อละ เราต้องสะสมชัยชนะไปเรื่อยๆ แล้วประชาธิปไตยจะเข้าใกล้ประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะเข้าใกล้อำนาจที่มันเป็นของเรามากขึ้น”

“ประสบการณ์สอนว่าอย่าต่อรอง” จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ และความสำคัญของพลังมวลชน

วิญญูเล่าถึงประสบการณ์ตัวเองว่า ถูกดำเนินคดีจากการทวีตข้อความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีผ่านทางทวิตเตอร์ เนื่องจากคดีของเขาเป็นคดีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา วิญญูมองว่าคดีของเขามีความรุนแรงน้อยกว่าคดีมาตรา 112 ของคนอื่น แต่ก็สะท้อนว่าคดีการเมืองเช่นนี้มุ่งเป้าสร้างความหวาดกลัวเพราะอยากให้คนออกมาแสดงออกน้อยลงเช่นกัน อีกทั้งยังมุ่งสร้างความลำบากให้แก่ผู้ถูกฟ้อง เช่น การแจ้งความเอาผิดข้ามจังหวัดจนต้องเสียเวลาเดินทางมากขึ้น เป็นต้น

“จริงๆ แล้วมันเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้คนแสดงออกกันน้อยลง หรือไม่กล้าแสดงออกกัน” วิญญูกล่าว

นอกจากนี้การนำคดีการเมืองมาใช้ยังทำให้ผู้ถูกดำเนินคดีต้องเสียทุนทรัพย์มาก ทั้งค่าเดินทาง ค่าทนายความ ค่ารวบรวมหลักฐานข้อมูล รวมถึงทุนสำคัญอย่างหนึ่งที่คือการเสียเวลามาขึ้นศาลในคดีเหล่านี้ จนกลายเป็นผลกระทบวงกว้างมากกว่าแค่กับตัวผู้ถูกดำเนินคดีเอง

อย่างไรก็ตาม วิญญูได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการพูดถึงการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในปัจจุบันเอาไว้ดังนี้

“อยากให้ทุกคนหนักแน่น ไม่ใช่แค่เฉพาะคดีทางการเมืองอย่างเดียวแต่ต้องช่วยกันส่งเสียงให้รวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย เพราะดูเหมือนมีความพยายามในการแยกคดีมาตรา 112 ออกมา… ผมคิดว่าเราต้องหนักแน่นในการให้รวมคดีมาตรา 112 เข้าไป”

“ต้องตอบจากมุมส่วนตัวเพราะแต่ละพันคดีก็มีสถานการณ์แตกต่างกันออกไป ถ้าไปก็ต้องไปด้วยกันทุกคดี จากประสบการณ์ที่เรียนรู้มา เขาต่อรองอะไรมาแล้วคิดว่าเขาจะให้เรามากขึ้นตามที่เราต้องการก็มักจะไม่ได้ เขาบอกอะไรมาก็มักไม่เป็นเช่นนั้น เช่น เขาบอกว่ายกเว้นอันนี้ได้ไหม ค่อยไปว่ากันทีหลังได้ไหม ซึ่งเวลาผ่านมากี่ยุคกี่สมัยก็ไม่เคยทำแบบนั้นสักที เราไปให้สุดแล้วเสียงประชาชนต้องหนักแน่น ตอนไหนที่เขายื้อหรือพยายามดันกลับเราก็ต้องยิ่งเสียงแข็ง ผลักดันให้ไปได้พร้อมกันทั้งหมด”

“เราต้องรวมตัวกันหนักแน่น ต้องอดทนกันนิดหนึ่ง คนมีอำนาจบางทีมันจะมีความอึดและหน้าด้านกว่าพวกเรา พวกเราต้องช่วยกันครับ”

เมื่อถูกถามว่ากระแสสังคมดูสนใจประเด็นเหล่านี้น้อยลงหรือไม่ วิญญูแสดงความเห็นว่า

“มันคงไม่ฮอตเท่าช่วงเลือกตั้งหรอกครับ แต่ถ้าถามถึงความสนใจของประชาชนในเรื่องการเมืองก็ไม่ได้เบาบางลงไปนะ เพียงแต่ว่าในเรื่องของการแสดงออกคงไม่ได้เข้มข้นเท่าช่วงก่อนและระหว่างเลือกตั้ง แต่ไปที่ไหนก็ยังมีแต่คนพูดคุยกับเราเรื่องการเมือง… ไปที่ไหนก็มีคนคุยหมด เลยคิดว่าอาจจะไม่ได้มีการแสดงออกกันมากแต่ความสนใจยังอยู่ เหนื่อยล้า ท้อ ก็คงมีบ้าง คนรุ่นใหม่และผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีหัวใจรุ่นใหม่คงรู้สึกว่าไม่สนใจไม่ได้แล้ว ไม่ส่งเสียงไม่ได้แล้ว มันคืออนาคตของพวกเขา ชีวิตของพวกเขา”

“ผมเลยอยากฝากทุกคนว่ามันอาจจะมีความพยายามพูดว่า มันไม่เกิดขึ้นหรอก มันหมดกำลังใจกันหมดแล้ว ผมว่ามันคือความพยายามที่จะพูดเพื่อให้การเคลื่อนไหวฝั่งประชาธิปไตยท้อแท้กันลงไป เป็นการ Gaslighting (ปั่นหัว) กันมากกว่า… ขอให้ทุกคนคอยจังหวะ รอติดตาม มีลงชื่อกันแบบนี้แล้วค่อยออกมาแสดงพลังกัน มันไม่ได้แผ่วไปหรอกอย่าเพิ่งท้อกัน”

“เราถูกรัฐบิดเบือนให้หลงลืม” โดม-ทันธรรม วงษ์ชื่น และนิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นได้จริง

ทันธรรม เล่าเรื่องราวของตัวเองว่า เขาต่อสู้ทางการเมืองมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการเห็นนักเรียนแสดงออกทางการเมืองแล้วถูกกลั่นแกล้ง จึงเข้าไปให้กำลังใจผู้ร่วมชุมนุมจนกระทั่งได้เข้าไปมีส่วนในการเคลื่อนไหว ช่วงหนึ่งในฐานะทนายความเขาได้เข้าไปช่วยเหลือนักเรียนที่ถูกครูลงโทษโดยกักขังหน่วงเหนี่ยวในโรงเรียนเพราะนักเรียนคนนั้นออกมาแสดงความเห็น จนได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างทั้งที่ดีขึ้นและแย่ลง

“มันมีหลายมิติ มิติแรกมองว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ คือการทำให้คนที่ถูกตัดสินว่าผิดได้รับการยกเว้นโทษ แต่จริงๆ แล้วมันมีหลายมิติ ทั้งกลไกการออกกฎหมาย การบังคับใช้ และความกล้าแสดงออกทางการเมืองของผู้คนในสังคม”

“ทุกคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในตอนนี้มีคนที่ออกมาด้วยใจจริง และคนที่อยากจะออกมาแต่กลัวเพราะกลไกของรัฐสร้างให้เรากลัว ให้เราไม่รู้ว่าเรามีสิทธิขนาดไหน กลไกของรัฐทำให้เราถูกลิดรอนสิทธิต่างๆ ครั้งล่าสุดที่เรามีการนิรโทษกรรมก็ประมาณปี 2535 ซึ่งมันนานมาก”

“ก่อนหน้านี้มีการต่อสู้ทางการเมืองเขาก็มีการนิรโทษกรรม เอาง่ายๆ สมัยนักศึกษาเข้าป่า ตอนนั้นถือปืนยิงกันนะ ก็สามารถนิรโทษกรรมได้ แต่เราลืมไปแล้วว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริงในยุคสมัยนี้ เราถูกรัฐบิดเบือนให้เรากลัว… ถ้าเกิดเรารู้ตรงนี้แล้วผลักดันให้การนิรโทษกรรมที่อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ คนก็จะออกมาแสดงความคิดเห็นกันมากขึ้น”

“ในด้านกฎหมายเอง รัฐธรรมนูญของเราในเรื่องของหลักการชุมนุมได้ให้สิทธิไว้อยู่แล้วตามมาตรา 44 ให้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธได้ แต่ตอนนี้ที่ทุกคนโดนคดีเล็กคดีน้อยไปจนถึงคดีมาตรา 112 ก็ต้องกลับมาดูว่าแล้วเขาสมควรโดนคดีแบบนั้นหรือเปล่า ขอเปรียบเทียบคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดของคดีท่อก๊าซที่หาดใหญ่ ชาวบ้านไปชุมนุมเป็นพันคน มีการสลายการชุมนุม ตอนนั้นศาลตัดสินว่าเป็นการชุมนุมที่สงบปราศจากอาวุธแม้ว่าชาวบ้านจะถือคราดถือมีดกัน แต่ไม่ได้มีการทำร้ายกันนะ เขายังบอกว่านั่นคือการชุมนุมที่สงบปราศจากอาวุธ สิ่งที่เราทำจึงเป็นการทำถูกและถูกคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่เราถูกบิดเบือน”

“เราออกมาต่อสู้ทางความคิด ความคิดเป็นอาวุธของเรา ในทางกลับกันเจ้าหน้าที่รัฐเอาอะไรมาเป็นอาวุธกับเรา เขาใช้ความรุนแรง ใช้การกระทำทางกายภาพ ลิดรอนสิทธิมากมาย ผมเลยว่ามันสมเหตุสมผลที่จะนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐเขามีอำนาจอยู่ในมืออยู่แล้ว การนิรโทษกรรมแล้วบอกว่าสิ่งที่คุณทำจะไม่ถูกนิรโทษกรรมนะ จะเป็นเครื่องเตือนใจให้เจ้าหน้าที่ให้มีความเกรงกลัวว่าการกระทำนั้นมิชอบ เขาจะไม่อยากไปยุ่งในองคาพยพที่ลิดรอนสิทธิของผู้ใช้เจตนาดีสำหรับการเปลี่ยนแปลงประเทศ”

“มันเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจอยู่แล้วผยองในอำนาจ แล้วเอาอำนาจนั้นมาลิดรอนสิทธิเพียงเพราะเขารู้อยู่แล้วว่าจะได้รับการนิรโทษกรรม”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *