People GO มองร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หวั่นรัฐบาลเลือกตั้งจะกลายเป็น “รัฐบาลธุรการ”

ความคืบหน้าคดีผู้ร่วมกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” 8 คน ถูกออกหมายเรียกในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จากการจัดกิจกรรมของเครือข่าย People GO เมื่อวันที่ 19 และ 20 มกราคม 2561 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก่อนทั้งหมดจะเดินเท้าไปถึงจ.ขอนแก่น ก่อนหน้านี้ทั้งแปดคนไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.คลองหลวง และทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวให้กลับบ้านโดยไม่ต้องยื่นประกันตัว 
 
1 พฤษภาคม 2561 ผู้ต้องหาทั้งแปดคน เดินทางมารายงานตัวต่ออัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี เป็นครั้งที่สาม เพื่อฟังคำสั่งว่า จะฟ้องคดีหรือไม่ พร้อมกับทนายความและพี่น้องที่มาให้กำลังใจราว 40 คน วันนี้อัยการก็ยังไม่สั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ โดยอ้างว่า ฝ่ายผู้ต้องหายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไปถึงอัยการสูงสุดขอให้สั่งไม่ฟ้องคดีเนื่องจากการดำเนินคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทำให้อัยการจังหวัดธัญบุรีต้องรอผลตอบรับของหนังสือฉบับดังกล่าวก่อน และนัดให้ผู้ต้องหามารายงานตัวใหม่อีกครั้งวันที่ 5 มิถุนายน 2561
 
จากนั้นเครือข่าย People GO ได้พูดคุยกันต่อถึงจุดยืนต่อร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยนิมิตร์ เทียนอุดม กล่าวว่า เรากำลังจะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมด้วยแผนปฏิรูป ผูกพันรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งอย่างน้อย 5 ชุด ให้ต้องมีนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติเท่านั้น ผิดไปจากนี้ไม่ได้ จะทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะกลายเป็นเพียง “รัฐบาลธุรการ” ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญต่อพี่น้องประชาชน ทั้งที่เราไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการร่าง พวกเราจึงนิ่งเฉยจากกระบวนการนี้ไม่ได้
นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติพูดเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องคนจน เรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่คนจนไม่มีส่วนร่วมในการคิดด้วยเลย ในร่างยุทธศาสตร์ชาติมีแผนจัดทำที่อยู่อาศัยหนึ่งล้านหน่วย แต่นโยบายที่ผ่านมาอย่างบ้านเอื้ออาทร คนจนในชุมชุนแออัดไม่ได้เข้าไปอยู่จริง เพราะเมื่อจะไปซื้อก็ขาดคุณสมบัติ เช่น ไม่มีงานประจำ ไม่มีสลิปเงินเดือน หรือเงินเดือนไม่ถึง ฯลฯ
นุชนารถ กล่าวว่า คนจนไม่สามารถซื้อที่ดินเองได้ ในขณะที่รัฐครอบครองที่ดินมากมาย หนึ่งในสามของประเทศ เอาไปทำอย่างอื่น เช่น ใช้ประโยชน์กับกองทัพ ใช้กับคนบางกลุ่ม คนส่วนใหญ่ของประเทศ คือ คนจน เป็นคนที่นำพาเศรษฐกิจของประเทศ กลับไม่มีโอกาสเข้าถึงที่ดิน ร่างยุทธศาสตร์ชาติที่กำลังทำอยู่ คนเดือดร้อนไม่มีโอกาสไปร่าง จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ที่โครงสร้างใหญ่ 
 
อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์ชาติพูดเรื่องการเกษตรอย่างกว้างๆ เป็นประเด็นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งปัญหาของภาคเกษตรจริงๆ เป็นปัญหาจากโครงสร้าง เกิดจากการออกนโยบายอย่างเดียวแล้วให้ทำตามกันทั้งประเทศ ทั้งที่การเกษตรของแต่ละท้องที่ไม่เหมือนกันเลย ตัวอย่างเช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับสกลนคร เคยประกาศว่า อยากเป็นเมืองสมุนไพร แต่สิ่งที่รัฐบาลทำ คือ อนุมัติให้สร้างโรงงานน้ำตาลโดยไม่ศึกษาว่า ทำอย่างไรเขาจะเป็นเมืองสมุนไพรได้
อุบล ระบุว่า ทางแก้ปัญหาสำคัญ คือ ต้องสร้างนโยบายอย่างมีส่วนร่วม สร้างนโยบายจากพื้นที่ แต่เท่าที่พยายามอ่านร่างยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ไม่เห็นมีเรื่องการกระจายอำนาจเลย ทั้งที่เป็นเรื่องแรกๆ ที่ควรทำ 
 
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ระบหลักประกันสุขภาพ หรือ “บัตรทอง” เป็นมรดกสุดท้ายของรัฐบาลประชาธิปไตยที่ยังเหลืออยู่ เพราะเป็นระบบที่ออกแบบเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม มีกรรมการที่เป็นตัวแทนประชาชน มีการจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อเสนอสิทธิประโยชน์จากประชาชนผู้รับบริการ แต่ร่างยุทธศาสตร์ชาตินั้นเป็นการรวบอำนาจ จะมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ดูแลระบบสุขภาพทั้งหมด เรียกได้ว่า เป็น “พ่อของทุกองค์กร” แต่มีสัดส่วนของภาคประชาสังคมน้อย 
กรรณิการ์ ประเมินว่า ตั้งแต่กระบวนการยุทธศาสตร์ดำเนินมา มีความพยายามตั้งกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติให้ได้ เป็นเป้าหมายภายใต้รัฐบาลทหาร ถ้าเราไม่ล้มยุทธศาสตร์ชาติเรื่องนี้ อาจทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพล้าหลังไปกว่ายุคแม่การะเกด 
สมชาย กระจ่างแสง เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น ไปหยิบยกเรื่องที่ไม่ควรทำขึ้นมา แต่กลับไม่ทำสิ่งที่ควรจะทำ ตัวอย่างเช่น ปัญหาสังคมผู้สูงวัยไม่ถูกพูดถึงหรือเตรียมการเพื่อคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยเลย จะมีก็แค่ขยับอายุบำนาญ ซึ่งเป็นเรื่องของคนจำนวนน้อย 
สมชาย เสนอไปยังพรรคการเมืองที่กำลังเดินสายกันอยู่ว่า ขอให้มีนโยบายมุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยกเลิกพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แล้วพวกเราจะเทคะแนนเสียงให้อย่างถล่มทลาย แต่ถ้าพรรคการเมืองยังฟังแล้วไม่สนใจจะทำ พวกเราภาคประชาชนคงต้องจัดตั้งพรรคการเมืองกันเอง
 
เลิศศักดิ์ คําคงศักดิ์ เครือข่ายประชาชนต่อต้านการทำเหมืองแร่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในยุทธศาสตร์ชาติด้านสิ่งแวดล้อม มีโครงการบริหารจัดการลุ่มน้ำที่ดูแล้วไม่ต่างจากโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ในรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งถูกวิจารณ์และคัดค้านอย่างหนัก แต่กลับทำได้ในรัฐบาลทหาร แสดงถึงความโง่เขลาเบาปัญญาของยุคที่เสรีภาพการแสดงออกถูกกดไว้
เลิศศักดิ์ บอกด้วยว่า ร่างยุทธศาสตร์ชาติมุ่งลดการใช้ถ่านหิน แต่แผนพลังงานกลับไม่ได้เดินไปทางนั้น โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินยังมีอยู่ ในร่างยุทธศาสตร์ชาติยังพูดถึงเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ หรือเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็พยายามสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และในภาคอื่นๆ ที่จะลดเงื่อนไขของกฎหมาย ทำให้ปล่อยมลพิษได้มากเป็นพิเศษ งดเว้นการใช้ผังเมือง 3-4 จังหวัด ทำให้อาจเกิดโรงงานไปตั้งในพื้นที่สีเขียวมากๆ ได้ ยุทธศาสตร์ชาติแบบนี้จึงมีลักษณะหน้าไว้หลังหลอก
เลิศศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างยุทธศาสตร์ยึดแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท ไม่มีเงินออม แต่รัฐบาลก็ไปขึ้นเงินเดือนให้กับทหารและข้าราชการ เพิ่มสวัสดิการให้ข้าราชการมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าคนทั่วไป ยุทธศาสตร์ชาติแบบนี้จึงล้มเหลว การเขียนยุทธศาสตร์ ต้องเป็นการกำหนดภาพกว้างๆ ที่คนส่วนใหญ่จะเห็นไปด้วยกันได้ แต่ว่าร่างยุทธศาสตร์ชาตินี้เอาคนที่สร้างความขัดแย้งในสังคม คือ คสช. ไปร่าง จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่คนจะเห็นไปในทางเดียวกัน 
ขั้นตอนหลังจากนี้ ร่างยุทธศาสตร์ชาติ จะถูกเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ประมาณวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 และส่งให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ในวันที่ 8 มิถุนายน 2561 ด้าน สนช. จะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นในวันที่ 8 กรกฎาคม 2561 คาดว่า ยุทธศาสตร์ชาติฉบับจริงจะประกาศใช้ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2561